×

ปีที่ 3 ของโควิด-19 การระบาดใหญ่จะสิ้นสุดลงได้อย่างไรในปี 2022

31.12.2021
  • LOADING...

“เรากำลังจะเข้าสู่ช่วงหลังการระบาด (Post-Pandemic Period) ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ดำเนินไปถึงจุดสิ้นสุดตามธรรมชาติ” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2010 ดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ในขณะนั้น ได้ประกาศว่า การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ A/H1N1/2009 ยุติลงแล้ว นับเป็นระยะเวลาเพียงปีกว่าหลังพบการระบาดเมื่อเดือนเมษายน ปี 2009

 

10 ปีถัดมา โลกต้องตกอยู่ในการระบาดใหญ่ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่อีกครั้ง แต่ครั้งนี้กลับเป็นไวรัสโคโรนา หรือโรค ‘โควิด-19’ ซึ่งพบระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อปลายปี 2019 และแพร่กระจายไปทั่วโลก จน WHO ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2020 และยกระดับเป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2020 

 

ปี 2021 เป็นระยะเวลา 1 ปีเต็มที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับโควิด-19 การระบาดผ่านไประลอกแล้วระลอกเล่าอย่างไม่มีทีท่าว่าจะเพลาลง เรากำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ที่ทุกคนคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็น ‘ปีสุดท้าย’ ของการระบาดใหญ่ 

 

การระบาดใหญ่จะสิ้นสุดอย่างไร

หากมองการระบาดใหญ่เป็นสงครามระหว่างมนุษย์กับไวรัส ผลลัพธ์จะมีอยู่ 3 ทาง คือ ชนะ แพ้ และเสมอกัน ในทางระบาดวิทยาชัยชนะของมนุษย์จะมีอยู่ 2 คำ คือ ‘การกวาดล้าง’ (Eradication) หมายถึง การทำให้เชื้อโรคหมดสิ้นไปจากทุกพื้นที่ ซึ่งมนุษย์เคยประสบความสำเร็จในการกวาดล้างไข้ทรพิษได้สำเร็จมาแล้วด้วยการปลูกฝี และที่ WHO กำลังดำเนินการอยู่คือ โรคโปลิโอ

 

ส่วนอีกคำคือ ‘การกำจัด’ (Elimination) หมายถึง การลดจำนวนผู้ป่วยให้เหลือน้อยที่สุดในพื้นที่ที่มีขอบเขตชัดเจน เช่น โรคหัด และโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะตรงกับแนวคิดโควิดเป็นศูนย์ (Zero COVID) ในบางประเทศ เช่น จีน ที่ดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้นเมื่อพบผู้ติดเชื้อ และยังไม่มีทีท่าว่าจะเปิดประเทศ แม้ว่ากำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

 

สำหรับการแพ้คงเป็นผลลัพธ์ที่มนุษย์ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น กว่าจะถึงผลลัพธ์นี้คงต้องผลัดกันแพ้-ชนะอย่างยาวนาน หรืออาจมองว่าการเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่า 5 ล้านคนทั่วโลกเป็นความพ่ายแพ้ก็ได้

 

ส่วนการเสมอ ไวรัสจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ที่หมุนเวียนระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลกตามฤดูกาล และมนุษย์จะคอยควบคุม (Control) ไม่ให้แพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เช่น ไข้หวัดใหญ่ที่กลุ่มเสี่ยงต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี หรือโรคไข้เลือดออกที่มีการรณรงค์เรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกฤดูฝน ซึ่งตรงกับแนวคิดอยู่ร่วมกับโควิด-19 (Living with COVID-19) ที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้ในขณะนี้

 

“เป็นไปได้ยากที่เราจะสามารถกำจัดโควิด-19 ได้” ดร.ทิโมธี บริเวอร์ ศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) ให้สัมภาษณ์เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาสอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน “ไวรัสปรับตัวในการแพร่จากคนสู่คนได้เป็นอย่างดีจนไม่มีวันหายไป จะมีช่วงเวลาที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและลดลงเช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ในทุกปี”

 

อย่างไรก็ตาม “โรคประจำถิ่นไม่ได้หมายความว่าไม่อันตราย” ดร.มาเรีย ฟาน เคิร์กโฮฟ หัวหน้าทีมเทคนิคของ WHO ยกตัวอย่างโรคมาลาเรียที่ยังคงเป็นโรคที่รุนแรง แม้จะเป็นโรคประจำถิ่น 

 

การระบาดใหญ่จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

“คุณไม่ได้กำหนดไทม์ไลน์ ไวรัสต่างหากที่กำหนด” ดร.แอนโทนี เฟาชี ที่ปรึกษาระดับสูงด้านโรคติดเชื้อของสหรัฐฯ เคยกล่าวประโยคนี้ไว้เมื่อ 26 มีนาคม 2020 เขาพูดถึงการกำหนดวันผ่อนคลายมาตรการของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังเพิ่มสูงขึ้น “ไม่สำคัญว่าคุณจะพูดว่าอย่างไร หนึ่งสัปดาห์ สองสัปดาห์ สามสัปดาห์ คุณจะต้องไปตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่”

 

ความจริงสหรัฐฯ เคยเข้าใกล้การใช้ชีวิตตามปกติมากที่สุดเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยรายใหม่ลดลงจากจุดสูงสุด 300,000 รายต่อวัน (90 รายต่อแสนคน) ในสัปดาห์แรกของปี 2021 เหลือ 10,000 รายต่อวัน (3 รายต่อแสนคน) ในเดือนมิถุนายน ขณะเดียวกันประชาชนครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ประกาศให้ผู้ได้รับวัคซีนครบไม่ต้องสวมหน้ากากอีกต่อไป

 

แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้เร็วขึ้น และประสิทธิผลของวัคซีนลดลงตามเวลา CDC ต้องกลับมาแนะนำการใส่หน้ากากภายในอาคารอีกครั้ง

 

ส่วน ดร.แอนโทนี เองก็ใช่ว่าไม่เคยกำหนดไทม์ไลน์ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020 เขาคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะสามารถกลับมาเปิดกิจการและกิจกรรมได้ตามปกติหากมีประชาชนได้รับวัคซีนเพียงพอ “ผมคิดว่าเราสามารถไปถึงตรงนั้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ถ้าเราดำเนินการฉีดวัคซีนอย่างเหมาะสมและจริงจัง” ทว่า จากคำให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2021 ไทม์ไลน์นี้กลับถูกเลื่อนออกไปเป็น ‘ฤดูใบไม้ผลิ ปี 2022’ 

 

ยังไม่แน่ว่าการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนในปลายปี 2021 จะทำให้ไทม์ไลน์การควบคุมโควิด-19 ได้ในต้นปีหน้าต้องเลื่อนไปอีกหรือไม่ เพราะผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสร้างสถิติใหม่เป็น 500,000 รายต่อวัน (150 รายต่อแสนคน) ทั้งนี้ สหรัฐฯ อาจไม่ใช่ตัวอย่างถิ่นประจำของโควิด-19 ที่ดี เพราะจนถึงปลายปี 2021 ยังมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม เพียง 60% ของประชากรทั้งหมด

 

“ปี 2022 จะต้องเป็นจุดสิ้นสุดการระบาดใหญ่ของโควิด-19” ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ WHO คนปัจจุบัน เป็นอีกคนหนึ่งที่ขีดเส้นให้กับไวรัสไว้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา

 

ทำอย่างไรถึงจะสิ้นสุดการระบาดใหญ่

ย้อนกลับไปอ่านแถลงการณ์ของ ดร.มาร์กาเร็ต ที่กล่าวถึงในตอนต้น เขาบรรยายถึงสถานการณ์ในขณะนั้นว่า ‘ระดับ’ และ ‘รูปแบบ’ การระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ต่างไปจากที่สังเกตได้ในช่วงการระบาดใหญ่ โดยมีระดับความรุนแรงใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และไม่มีรายงานการระบาดนอกฤดูกาล (Out-of-Season Outbreaks) ทั้งในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้

 

นั่นคือไวรัสเป็นผู้กำหนดไทม์ไลน์อย่างแท้จริง เมื่อคณะผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ไวรัส H1N1 รุนแรงลดลงและระบาดตามฤดูกาล WHO จึงประกาศว่าการระบาดใหญ่สิ้นสุดลง แต่ขณะเดียวกันก็กล่าวถึงฝั่งมนุษย์ด้วยว่า ประชากรในบางพื้นที่มีสัดส่วนผู้ติดเชื้อ 20-40% และมี ‘ภูมิคุ้มกัน’ ที่ป้องกันโรคแล้ว รวมถึงบางประเทศรายงานความครอบคลุมของ ‘วัคซีน’ ดี โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงและทั่วชุมชน

 

“การระบาดใหญ่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และมีแนวโน้มที่จะสร้างความประหลาดใจ ไม่มีการระบาดใหญ่ครั้งใดที่เหมือนกัน” ดร.มาร์กาเร็ต กล่าวในตอนท้ายของแถลงการณ์

 

“การระบาดใหญ่ครั้งนี้กลับกลายเป็นโชคดีกว่าที่เรากลัวเมื่อปีที่แล้ว” เขาสรุปความโชคดีในการระบาดใหญ่ครั้งนั้นไว้ 3 ประการ คือ 

 

  1. ไวรัสไม่ได้กลายพันธุ์ในรูปแบบที่มีความรุนแรงขึ้น
  2. ไวรัสไม่ดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ (ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 1999) เป็นวงกว้าง
  3. วัคซีนที่ผลิตขึ้นตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดและมีความปลอดภัย

 

เปรียบเทียบกับโควิด-19

 

  1. ไวรัสกลายพันธุ์ตลอดเวลา บางสายพันธุ์มีความรุนแรงขึ้น และทุกครั้งที่มีสายพันธุ์ใหม่จะแทนที่จนสายพันธุ์เก่าหายไป
  2. เราเพิ่งจะมียาต้านไวรัสที่จำเพาะกับไวรัสชนิดนี้ (ยาแพ็กซ์โลวิดและโมลนูพิราเวียร์เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉินเมื่อปลายปี 2021)
  3. เมื่อไวรัสยังคงกลายพันธุ์ วัคซีนที่ผลิตจึงไม่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด และยังฉีดวัคซีนไม่ทันกับความเร็วในการระบาด

 

ไวรัสยังต่างออกไปจากไวรัสโคโรนา 2 สายพันธุ์ก่อนหน้า คือโรคซาร์ส (ปี 2002-2004) ที่ระบาดไม่หนักและหยุดระบาดไปโดยไม่ต้องใช้วัคซีน และโรคเมอร์ส (ปี 2012-ปัจจุบัน) ที่มีความรุนแรงสูงและระบาดประปราย

 

แม้การระบาดใหญ่จะยืดเยื้อ แต่ ดร.ทีโดรส ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ปี 2022 จะต้องเป็นจุดสิ้นสุดของ ‘การระบาดใหญ่’ โดยต้องเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่แห่ง ‘ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน’ (Solidarity) ด้วย ทั้งสองประเด็นนี้เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะ WHO ต้องการให้ทั่วโลกได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70% ภายในกลางปี 2022 ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศในการกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรม

 

ปัจจุบันสายพันธุ์โอไมครอนกำลังระบาดคู่กับสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดอยู่ก่อนหน้า ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และยอดผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและเสียชีวิตพุ่งขึ้นอีกครั้ง เราไม่สามารถควบคุมการกลายพันธุ์ของไวรัสได้ แต่เราสามารถควบคุมวัคซีนและยาต้านไวรัสได้ ดังนั้นไทม์ไลน์ที่เป็นไปได้ของมนุษย์คือ การเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุดและเร่งกระจายยาต้านไวรัสให้ทั่วถึง

 

“วิทยาศาสตร์ วิธีแก้ปัญหา และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” (Science, Solutions, and Solidarity) ดร.ทีโดรส สรุปบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมาในการแถลงข่าวครั้งสุดท้ายของปี 2021 

 

ไทม์ไลน์ที่กำหนดได้ในปี 2022

ไทยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 45 ล้านคนแล้ว (65% ของประชากร) น่าจะถึงเป้าหมายของ WHO ได้ไม่ยาก แต่เมื่อแยกตามกลุ่มเป้าหมายแล้ว ผู้สูงอายุในบางจังหวัดยังได้รับวัคซีนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรทั่วไป และไทยมีผู้ได้รับเข็มกระตุ้นยังมีเพียง 6 ล้านคนเท่านั้น (9%) ดังนั้นปี 2022 ยังต้องระดมฉีดวัคซีนต่ออีก 1 ปี เพื่อให้เปลี่ยนผ่านจากการระบาดใหญ่เป็นโรคประจำถิ่นได้อย่างปลอดภัย 

 

ส่วนยาต้านไวรัสทั้งแพ็กซ์โลวิดของบริษัท Pfizer และโมลนูพิราเวียร์ของบริษัท Merck ไทยไม่ได้รับอนุสิทธิบัตรให้ผลิตยาภายในประเทศเอง เนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์ประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลางตามที่บริษัทกำหนด ทำให้ต้องจัดซื้อยาจากต่างประเทศ ซึ่ง นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงความคืบหน้าเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2021 ว่า ยาทั้งคู่น่าจะนำเข้ามาใช้ในไทยได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

 

หวังว่ารัฐจะสามารถจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูงมาเป็น 2 เข็มแรกสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับและเป็นเข็มกระตุ้น เพราะการป้องกันโรคคุ้มค่ากว่าการรักษาในภายหลัง และจัดซื้อยาต้านไวรัสเพียงพอกับผู้ติดเชื้อทุกคน

 

ทั้งนี้ ในระดับโลก “ไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าเราทุกคนจะปลอดภัย” (None of us will be safe until everyone is safe.) ดร.ทีโดรส เคยเรียกร้องให้นานาประเทศร่วมมือกันในการหยุดการระบาดตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2020 จนกระทั่งผ่านมา 2 ปี สายพันธุ์โอไมครอนเริ่มระบาดจากทวีปที่มีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนต่ำที่สุด และเกือบครึ่งโลก (92 ประเทศ) ยังฉีดวัคซีนได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 40% ในปี 2021 ของ WHO

 

ถึงแม้ปีหน้าแหล่งผลิตวัคซีนจะสามารถผลิตวัคซีนได้มากขึ้น แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก็อาจทำให้ประเทศรายได้ต่ำขาดแคลนวัคซีนอีกรอบ หวังว่าประเทศมหาอำนาจจะตระหนักถึงความซับซ้อนของปัญหา และทุกประเทศจะสามารถเดินหน้าสู่ระยะ ‘หลังการระบาด’ ได้ภายในครึ่งปีแรก ส่วนถ้าสายพันธุ์โอไมครอนมีความรุนแรงลดลงจริง ก็จะทำให้เราเข้าใกล้จุดสิ้นสุดการระบาดใหญ่เร็วขึ้นอีก

 

ในระหว่างนี้ ถ้าไทยจะบริหารความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ก็น่าจะต้องเร่งฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกให้กับผู้สูงอายุ/ผู้มีโรคประจำตัวที่ยังไม่ได้รับวัคซีน รวมถึงเด็กอายุ 5-12 ปี ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเรียงลำดับความจำเป็นก่อน-หลัง และใช้ประโยชน์จากชุดตรวจ ATK ในการเฝ้าระวังโรค เป็น 3 มาตรการสำคัญเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกับการควบคุมการระบาดไม่ให้เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข 

 

“เรากำลังจะเข้าสู่ช่วงหลังการระบาด ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ดำเนินไปถึงจุดสิ้นสุดตามธรรมชาติแล้ว” ทุกคนคาดหวังให้ WHO ประกาศประโยคนี้ในเร็ววัน แต่เรากับโควิด-19 น่าจะต้องอยู่ร่วมกันเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising