×

เจาะลึกวัคซีน Novavax วัคซีนที่แพทย์หลายคนตั้งตารอคอย

16.06.2021
  • LOADING...
วัคซีน Novavax

HIGHLIGHTS

  • 90% คือประสิทธิภาพโดยรวมของวัคซีน Novavax ในการศึกษาเฟสที่ 3 ในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก หลายคนอาจไม่คุ้นกับชื่อวัคซีนมาก่อน หรือแม้แต่ชื่อเทคโนโลยีการผลิตว่า ‘วัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ’ (Protein subunit vaccine) แต่เท่าที่เคยได้ยินมามีแพทย์หลายคนตั้งตารอคอยวัคซีนนี้อยู่ไม่น้อย
  • คาดว่าวัคซีนกลุ่มนี้จะมีการใช้มากขึ้นในอนาคต เพราะจะมีการปรับเปลี่ยนชนิดของโปรตีนได้ไม่ยาก ทำให้สามารถผลิตเพื่อรองรับสายพันธุ์ดื้อยาในอนาคตได้ดี นอกจากนี้ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เคยโพสต์ใน Facebook ส่วนตัวว่า “เป็นวัคซีนที่จัดเก็บง่ายในตู้เย็น และมีผลข้างเคียงต่ำมาก”
  • สำหรับแผนการจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน ภายในปี 2564 ของไทย ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ไม่ได้ระบุถึงวัคซีน Novavax ไว้ และเนื่องจากไม่ได้เข้าร่วมโครงการ COVAX ไทยจึงน่าจะไม่ได้รับวัคซีนนี้ แต่เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงและผลิตโดยเทคโนโลยีที่เคยใช้มาก่อนแล้ว รัฐบาลจึงควรรีบเจรจากับบริษัทเพื่อนำเข้ามาใช้ในประเทศอีกยี่ห้อหนึ่ง

90% คือประสิทธิภาพโดยรวมของวัคซีน Novavax ที่บริษัทผู้ผลิตเผยแพร่ผลการศึกษาเฟสที่ 3 ในสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา หลายคนอาจไม่คุ้นกับชื่อวัคซีนมาก่อน หรือแม้แต่ชื่อเทคโนโลยีการผลิตว่า ‘วัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ’ (Protein subunit vaccine) แต่เท่าที่เคยได้ยินมามีแพทย์หลายคนตั้งตารอคอยวัคซีนนี้อยู่ไม่น้อย

 

ถ้าอยากรู้วัคซีน Novavax มากขึ้น ชวนอ่านบทความนี้ต่อกันเลยครับ 

 

เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต

วัคซีน Novavax เป็นวัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ ถ้าอ่านแล้วงง ขอตั้งต้นอย่างนี้ก่อนว่าวัคซีนโควิด-19 เกือบทุกชนิดพุ่งเป้าไปที่การใช้โปรตีน ‘หนาม’ (Spike) ของไวรัสในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพราะไวรัสใช้หนามเป็นเสมือนลูกกุญแจเสียบแม่กุญแจหรือ ‘ตัวรับ’ (Receptor) บนผิวเซลล์เปิดประตูเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย หากป้องกันไม่ให้ไวรัสไขกุญแจได้ก็จะไม่ติดเชื้อ

 

วัคซีนที่ฉีดเข้าไปจะเป็นแม่แบบให้กับร่างกายในการจำลองหนามของไวรัสขึ้นมา เช่น วัคซีน Pfizer และ Moderna ร่างกายจะจำลองโปรตีนหนามขึ้นมาจากเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ที่อยู่ในวัคซีน, วัคซีน AstraZeneca และ Johnson & Johnson เป็นวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) คือตัดต่อสารพันธุกรรมที่จะสร้างเป็นโปรตีนหนามให้ไวรัสอีกชนิดเพื่อนำเข้าสู่ร่างกาย 

 

ส่วนวัคซีน Sinovac และ Sinopharm เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย นอกจากโปรตีนหนามแล้ว ยังมีชิ้นส่วนอื่นที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย ในขณะที่วัคซีน Novavax นี้ (เข้าเรื่องแล้วนะครับ) ใช้กระบวนการผลิตโปรตีนหนามขึ้นมาแล้วฉีดเข้าสู่ร่างกาย เปรียบเทียบเป็น ‘อาหารสำเร็จรูป’ ซื้อแล้วกินได้เลย ไม่ต้องซื้อวัตถุดิบไปทำต่อที่บ้าน หรือต้องเติมน้ำร้อนก่อนเหมือนวัคซีนอื่น

 

กระบวนการผลิตนี้ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ แต่ก่อนหน้านี้เคยใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และไวรัสตับอักเสบบีมาแล้ว ผลิตโดยการตัดต่อสารพันธุกรรมที่จะสร้างเป็นโปรตีนให้กับยีสต์ ซึ่งสามารถเติบโตได้ง่ายและสังเคราะห์โปรตีนจำนวนมากได้ ส่วนวัคซีน Novavax ใช้การตัดต่อสารพันธุกรรมให้กับไวรัสชนิดหนึ่งเพื่อนำเข้าสู่เซลล์ของผีเสื้อกลางคืน (Moth) แล้วสังเคราะห์โปรตีนขึ้นมา

 

ประสิทธิภาพและความปลอดภัย

Novavax เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกา ได้รับทุนสนับสนุนจากกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการ COVAX) ทดลองเฟสที่ 1-2 ในออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม ถึง 6 มิถุนายน 2563 ในอาสาสมัคร 106 คน พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้และมีความปลอดภัย

 

ต่อมาทดลองเฟสที่ 2-3 ในแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม ถึง 25 พฤศจิกายน 2563 ในอาสาสมัครอายุ 18-84 ปี จำนวน 4,387 คน โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 21 วัน ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร NEJM เมื่อไม่นานมานี้ (20 พฤษภาคม 2564) พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 60.1% และมีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) ได้ถึง 51.0%

 

ส่วนการทดลองเฟสที่ 3 ที่อังกฤษ ในอาสาสมัครมากกว่า 15,000 คน อายุระหว่าง 18-84 ปี (27% เป็นผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี) พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 89.3% โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) เมื่อเปรียบเทียบกับผลการทดลองข้างบนถือว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่ามาก เพราะ B.1.351 เป็นสายพันธุ์ที่สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากกว่า

 

ล่าสุด (14 มิถุนายน) บริษัทเผยแพร่ผลการทดลองเฟสที่ 3 ผ่านสื่อมวลชน (ยังไม่ตีพิมพ์) ซึ่งทดลองในสหรัฐฯ และเม็กซิโก ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2563 ถึง 30 เมษายน 2564 ในอาสาสมัครกว่า 30,000 คน อายุ 18 ปีขึ้นไป (13% เป็นผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี) พบว่ามีประสิทธิภาพ

  • ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 90.4%
  • ป้องกันอาการปานกลางถึงรุนแรง 100%
  • ป้องกันไวรัสที่มีการกลายพันธุ์ 93.2% โดยเป็นการวิเคราะห์รวมทุกสายพันธุ์ที่กังวล (VoC) และสายพันธุ์ที่สนใจ (VoI) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ B.1.1.7

 

สำหรับความปลอดภัย พบว่าผลข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่รุนแรง แต่เข็มที่ 2 พบผลข้างเคียงเป็นสัดส่วนมากกว่า เช่น กดเจ็บหรือปวดบริเวณที่ฉีด 60% (เข็มแรกพบประมาณ 30-50%) อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะประมาณ 40% (เข็มแรกพบประมาณ 20% และไม่ต่างกับกลุ่มควบคุม) ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงพบจำนวนน้อยและพบใกล้เคียงกันในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและกลุ่มควบคุม

 

ข้อดี-ข้อจำกัดของวัคซีน 

ในแนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ของกรมควบคุมโรค นพ.ปพนสรรค์ เจียประเสริฐ และ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุถึงข้อดีของ ‘วัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของไวรัส’ มีความปลอดภัยสูง ใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ สามารถผลิตวัคซีนได้ง่าย รวดเร็ว และมีประสบการณ์จากการใช้วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันมาก่อน

 

ข้อจำกัดคือออกสู่ตลาดช้า แต่คาดว่าวัคซีนกลุ่มนี้จะมีการใช้มากขึ้นในอนาคต เพราะจะมีการปรับเปลี่ยนชนิดของโปรตีนได้ไม่ยาก ทำให้สามารถผลิตเพื่อรองรับสายพันธุ์ดื้อยาในอนาคตได้ดี นอกจากนี้ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เคยโพสต์ใน Facebook ส่วนตัวว่า “เป็นวัคซีนที่จัดเก็บง่ายในตู้เย็น และมีผลข้างเคียงต่ำมาก”

 

วัคซีน Novavax กับไทย

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน Stanley Erck ซีอีโอบริษัท Novavax ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNBC ว่า เตรียมยื่นขออนุมัติการใช้จากองค์การอาหารและยา (FDA) สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยบริษัทจะสามารถผลิตได้ 100 และ 150 ล้านโดสต่อเดือนภายในไตรมาสที่ 3 และ 4 ซึ่งวัคซีนที่ผลิตได้ในสหรัฐฯ อาจนำเข้าสู่โครงการ COVAX โดยตรง และมอบให้กับอินเดีย เพราะยังมีการระบาดอย่างรวดเร็ว

 

สำหรับแผนการจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน ภายในปี 2564 ของไทย ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ไม่ได้ระบุถึงวัคซีน Novavax ไว้ และเนื่องจากไม่ได้เข้าร่วมโครงการ COVAX ไทยจึงน่าจะไม่ได้รับวัคซีนนี้ แต่เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงและผลิตโดยเทคโนโลยีที่เคยใช้มาก่อนแล้ว รัฐบาลจึงควรรีบเจรจากับบริษัทเพื่อนำเข้ามาใช้ในประเทศอีกยี่ห้อหนึ่ง

 

สุดท้ายหลายท่านอ่านเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตวัคซีน Novavax น่าจะรู้สึกคุ้นว่านักวิทยาศาสตร์ของไทยก็กำลังพัฒนาวัคซีนชนิดเดียวกันนี้อยู่ ใช่แล้วครับ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นการผลิตโปรตีนหนามจากพืชใบยาสูบ เพื่อนำมาฉีดเป็นวัคซีน สำหรับความคืบหน้าคาดว่าจะเริ่มทดลองในคนภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X