เสริมศักดิ์ วงศ์สิทธิโชค ผู้อำนวยการ ฝ่ายค้าตราสารการเงิน บริษัท หลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยังไม่แนะนำให้เพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เนื่องจากมองว่าเป็นความเสี่ยงจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะยาวจากการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่จะเห็นภาพนี้ได้ชัดเจนมาก
โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนตราสารหนี้ระยะยาวสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 1.3% และประเมินว่ามีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 2% ได้จากปัจจัยเรื่องนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับขึ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น เหล็ก น้ำมัน ที่ส่งสัญญาณปรับเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ หากอัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้ระยะยาวปรับเพิ่มขึ้นถึงระดับ 2% โดยประมาณ นักลงทุนควรพิจารณาการลงทุนอีกครั้ง และแนะนำให้ปรับสัดส่วนการลงทุนมาเน้นสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น แม้จะเชื่อว่าอัตราผลตอบแทนจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จะใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน
ส่วนตลาดตราสารหนี้ไทยนั้นปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐอายุ 10 ปี อยู่ที่ราว 1.6% ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นมาจากระดับที่เคยติดลบ และคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องใช้เวลาเช่นเดียวกัน
สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุน ส่วนใหญ่ผู้จัดการกองทุนจะดูแลเรื่องการปรับพอร์ตให้อยู่เป็นประจำ และตราสารที่ไปลงทุนก็จะมักจะเป็นตราสารระยะกลางอายุ 3-5 ปีเป็นส่วนมาก การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวครั้งนี้จึงไม่ใช่ปัจจัยที่ต้องกังวลมากนัก
ด้าน สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการปรับตัวที่ค่อนข้างกระโดด โดยราคาพันธบัตรติดลบในอัตราที่ลดลง และอัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ บล.กสิกรไทย ยังคงมองเป้าหมายอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะ 10 ปี อยู่ที่ 1.5% เช่นเดิม และมองว่าการปรับตัวรอบนี้เป็นการตอบรับอัตราเงินเฟ้อที่ถูกคาดหวังว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
“ส่วนอัตราเงินเฟ้อประเทศไทยน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก จึงยังมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงหรือตลาดหุ้นอยู่เช่นเดิม”
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล