×

อัยการสูงสุดชี้ขาด ไม่ฟ้องคดีอาญา ‘ธนาธร’ ปมถือหุ้นสื่อ วี-ลัค หลังศาล รธน. วินิจฉัยขาดคุณสมบัติ ชี้ พยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

โดย THE STANDARD TEAM
30.11.2022
  • LOADING...

วันนี้ (30 พฤศจิกายน) ธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด และ โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงข่าวคดีที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทุ่งสองห้อง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) คือ ผดุงวิทย์ ผดุงสรรพ์ ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นดำเนินคดีต่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 151 ประกอบมาตรา 42 (3) ต่อพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา โดยได้รับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 467/2563 ในข้อหารู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ กรณีถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด (หุ้นสื่อ)

 

ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งทางคดี คือสั่งไม่ฟ้องธนาธร ผู้ต้องหา ในความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3), 151 วรรคหนึ่ง แล้วจึงส่งสำนวนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1

 

ภายหลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีความเห็นแย้ง แล้วส่งสำนวนมายังอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณชี้ขาดความเห็นแย้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 วรรคสอง

 

คดีนี้อัยการสูงสุดได้พิจารณาคดีดังกล่าวแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาในความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3), มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา จำต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งปวงว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ต้องหาได้ทำการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อที่ตนได้ถือหุ้นไว้ให้แก่ผู้เป็นมารดา และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจจัดการแทน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 โดยมีบุคคล 3 คน เป็นพยานบุคคลและมีเอกสารตราสารโอนหุ้น, ทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นพยานเอกสารมาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการโอนหุ้นตามข้อบังคับของบริษัท และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 กล่าวคือ ต้องทำหลักฐานการโอนหุ้นเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน และมีการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว ซึ่งตามกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1141

 

แม้ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไต่สวน พยานของผู้ต้องหา ดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่ามีข้อพิรุธ ก็เป็นเรื่องพิรุธในข้อเท็จจริงของคำให้การพยานฝ่ายผู้ต้องหาเพียงฝ่ายเดียว แต่การดำเนินคดีอาญา โจทก์จะต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาแสดง หรือใช้นำสืบพิสูจน์ให้ศาลรับฟังเชื่อได้โดยปราศจากข้อระวังสงสัยว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ทั้งข้อพิรุธของผู้ต้องหา กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายแต่อย่างใด จึงไม่อาจนำเอาข้อพิรุธของพยานฝ่ายผู้ต้องหาตามที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อยืนยันว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาได้โดยลำพัง

 

นอกจากนี้ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและ/หรือพยานหลักฐานอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหามีพฤติกรรมใดเกี่ยวข้องกับบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ภายหลังจากวันที่ระบุว่ามีการโอนหุ้นไปแล้วที่จะทำให้มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหายังคงถือหุ้นอยู่ ในขณะเกิดเหตุหรือมิได้โอนหุ้นของตนให้แก่นางสมพรแต่อย่างใด ทั้งผู้ต้องหามิได้เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จึงไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นตามแบบ บอจ.5 ให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัททราบ การที่ผู้มีอำนาจจัดการแทนบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เพิ่งแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทล่าช้า จึงยังไม่อาจนำมารับฟังให้เป็นผลร้ายแก่ผู้ต้องหาได้ ประกอบกับคดีนี้มีผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดมา จึงเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะฟ้องและพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาได้

 

อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้องธนาธร ผู้ต้องหา ความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 151 ประกอบมาตรา 42 (3)

 

ธรัมพ์กล่าวว่า เมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญา ธนาธรจึงไม่มีความผิดในข้อหาคดีอาญา คือพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะสั่งฟ้องในคดีนี้

 

แต่ส่วนการวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกไปแล้ว ผลก็ต้องเป็นไปตามนั้น

 

ทั้งนี้ ต้องเรียนว่าเป็นการพิจารณากฎหมายคนละฉบับกัน อันนี้อัยการพิจารณาเฉพาะในส่วนของข้อหาคดีอาญา ซึ่งอัยการดูเรื่องเจตนาจากพยานหลักฐานทั้งหมดพบว่าธนาธรน่าจะไม่มีความผิดกฎหมายอาญา และขอย้ำว่าไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ท่านวินิจฉัยในเรื่องของคุณสมบัติต้องห้ามของธนาธรในการเป็น ส.ส.

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising