วันนี้ (31 มกราคม) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าเป็นเรื่องราชการทั่วไป ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่รองนายกฯ จะพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับการเตรียมการเลือกตั้ง
ซึ่งในวันนี้ได้รายงานเรื่องการเลือกตั้งในที่ประชุม ครม. เหมือนที่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวานนี้ (30 มกราคม) ซึ่งก็มี ครม. บางคนบอกว่าได้อ่านจากในหนังสือพิมพ์แล้ว
ส่วน พล.อ. ประยุทธ์เห็นชอบแนวทางเงื่อนเวลา 30 วัน เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมพร้อมเลือกตั้งหรือไม่นั้น วิษณุกล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ได้รับทราบ เพราะเป็นปัญหาของทุกพรรคการเมืองที่จะต้องช่วยกัน แต่เอาเป็นว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ไม่สามารถยุบสภาได้ตามที่ กกต. แจ้ง
พร้อมยืนยันว่าไม่ใช่การตื้อ การยื้อ หรือการถ่วงเวลาอะไรทั้งสิ้น หาก กกต. สามารถประกาศแบ่งเขตได้เร็วกว่านั้นก็จะเป็นอิสระมากกว่านั้น แต่ขณะนี้ทราบว่าขอเวลาประมาณ 1 เดือน หรือประมาณวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 สำหรับแบ่งเขต และให้เวลากับพรรคเล็กจัดทำไพรมารีโหวตและจัดตั้งสาขาพรรค
“ขณะนี้ กกต. ได้จัดทำร่างระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งส่งมาให้ ครม. พิจารณาแล้ว 2 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ฉบับที่ 2 เป็นเรื่องการทำไพรมารีโหวต ฉบับที่ 3 การตั้งสาขาพรรคการเมือง และฉบับที่ 4 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็น โดย 3 ฉบับจะจัดทำเสร็จภายในสัปดาห์นี้ ส่วนอีก 1 ฉบับ ซึ่งเป็นประกาศใหญ่จะเสร็จภายในสัปดาห์หน้า” วิษณุกล่าว
วิษณุกล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ กกต. จะส่งเรื่องไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดเปิดรับฟังความคิดเห็น คาดว่าต้องใช้เวลาจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จากนั้นจึงจะเริ่มกระบวนการการเลือกตั้งได้
ส่วนที่มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า จะมีการยุบสภาในวันที่ 15 มีนาคม วิษณุระบุว่า นั่นเป็นสมมติฐานบนเงื่อนไข 45 วัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ กกต. พูดไว้อยู่แล้ว ทั้งนี้เมื่อแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วจะยุบช้าหรือเร็วก็แล้วแต่ แต่ถ้าพูดเอาให้ทุกฝ่ายสะดวกหรือพรรคเล็กสะดวกก็ต้องบวกไปอีกประมาณ 15 วัน จึงกลายเป็น 45 วันเพราะเหตุนี้ แต่หากไม่เอาให้สะดวก 30 วันก็สามารถยุบได้แต่จะยุ่ง เหมือนเป็นการโยนหินถามทางว่าพรรคเล็กจะว่าอย่างไร เพราะพรรคใหญ่ไม่เดือดร้อน มีการซุ่มทำไพรมารีไว้อยู่แล้ว แต่พรรคเล็กยังไม่พร้อม ทั้งนี้เพื่อให้เกียรติและให้โอกาสแก่พรรคเล็ก กกต. จึงเห็นควรให้ใช้เงื่อนเวลา 45 วัน
เมื่อถามว่านิยามของพรรคเล็กคืออะไร วิษณุกล่าวว่า พรรคเล็กคือพรรคที่ยุ่งเกี่ยวกับสูตรการหาร 100 หรือ 500 หรือพรรคที่ปัจจุบันมี ส.ส. 1-2 คน เพราะครั้งที่แล้วไม่ได้เข้ามาจาก ส.ส. เขตเลย คราวนี้ไม่ได้แล้ว จึงต้องให้โอกาสเขาหน่อยว่าจะส่ง ส.ส. เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อ หรือไม่ จึงต้องให้เวลาเขา 15 วัน แต่ถ้าไม่นึกถึงหัวอกเขา 1 มีนาคมก็ยุบสภาได้ แต่ถ้าพรรคเกิดใหม่คือพรรคใหญ่ทั้งนั้น เพราะในยามอย่างนี้ยังอุตส่าห์เกิดพรรคอีก ต้องแน่ใจว่าตัวเองเป็นพรรคใหญ่
สำหรับกรณีที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นโยบายพรรคเสรีรวมไทย และอดีต กกต. ตั้งข้อสังเกตเรื่องการคำนวณจำนวน ส.ส. โดยนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมด้วย จะทำให้การแบ่งเขตเกิดความผิดพลาดหรือไม่นั้น วิษณุระบุว่า ไม่ทราบ ซึ่งตามหลักการแล้วคนต่างด้าวไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งอยู่แล้ว เฉพาะประชาชนชาวไทยเท่านั้น และใช้คำนวณเขตไม่ได้ด้วยเช่นกัน เหตุผลนี้จึงทำให้เขตในกรุงเทพมหานครลดลงจาก 36 เขตเหลือ 33 เขต เพราะนับไปนับมาแล้วมีคนต่างด้าวและผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งที่อายุต่ำกว่า 18 ปี