วันนี้ (30 กันยายน) เวลา 10.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานผลกระทบพายุโซนร้อนกำลังแรง ‘โนรู’ บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางใต้เล็กน้อย เคลื่อนผ่านสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ลงทะเลจีนใต้ตอนกลาง
พายุเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน เคลื่อนเข้าประเทศไทยบริเวณอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 28 กันยายน 2565 เวลา 18.00 น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 34 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักวันที่ 30 กันยายน – 1 ตุลาคม
- กรมอุตุฯ ออกประกาศพายุโนรูฉบับสุดท้าย เตือนระวังฝนตกหนัก-น้ำท่วมอีก 1 วัน แม้พายุอ่อนกำลังลงแล้ว
- ‘ช่วงเวลาแสนสั้นที่ฟ้าใส’ กับทิศทางพายุที่เริ่มอ่อนกำลัง หลังโหมกระหน่ำมาทั้งสัปดาห์
ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2565 มีสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร สระบุรี ชัยนาท และสระแก้ว รวม 35 อำเภอ 72 ตำบล 166 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,121 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย จากเหตุลมพัดต้นไม้ลมทับรถยนต์ ดังนี้
- เพชรบูรณ์ เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- อำนาจเจริญ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ และอำเภอลืออำนาจ รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- ศรีสะเกษ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอห้วยทับทัน อำเภอยางชุมน้อย อำเภอวังหิน อำเภอภูสิงห์ อำเภอน้ำเกลี้ยง และอำเภออุทุมพรพิสัย รวม 16 ตำบล 46 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,301 ครัวเรือน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- ยโสธร เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยโสธร และอำเภอคำเขื่อนแก้ว รวม 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ระดับน้ำลดลง
- อุบลราชธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อำเภอสว่างวีระวงศ์ และอำเภอพิบูลย์มังสาหาร รวม 12 ตำบล 44 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,026 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- มุกดาหาร เกิดวาตภัยในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอคำชะอี และอำเภอดอนตาล รวม 8 ตำบล 8 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1 ครัวเรือน อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
- ขอนแก่น เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น รวม 5 ตำบล 5 หมู่บ้าน ระดับน้ำลดลง
- ชัยภูมิ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอเนินสง่า อำเภอจัตุรัส อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอบ้านเขว้า รวม 9 ตำบล 20 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
- สระบุรี เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแก่งคอย และอำเภอวังม่วง รวม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- ชัยนาท เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชัยนาท อำเภอวัดสิงห์ อำเภอมโนรมย์ อำเภอหันคา และอำเภอสรรพยา รวม 9 ตำบล 25 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 750 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- สระแก้ว เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคลองหาด และอำเภอวังน้ำเย็น รวม 5 ตำบล 7 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 6 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
สำหรับสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ยังคงทำให้มีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และปราจีนบุรี รวม 5 อำเภอ 18 ตำบล 67 หมู่บ้าน ภาพรวมระดับน้ำลดลง และสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ปทุมธานี และสิงห์บุรี รวม 17 อำเภอ 132 ตำบล 685 หมู่บ้าน ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำทรงตัว
สำหรับการให้ความช่วยเหลือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัย ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทาง LINE ‘ปภ. รับแจ้งเหตุ 1784’ โดยเพิ่มเพื่อน LINE ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน ‘THAI DISASTER ALERT’