ช่วง 2-3 ปีมานี้คนไทยส่วนใหญ่เริ่มรู้จักและคุ้นเคยกับสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าฝุ่น PM2.5 ที่แผ่ปกคลุมน่านฟ้าในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงปลายฤดูหนาวลากยาวมาถึงต้นฤดูร้อน
ทว่าหากย้อนไปก่อนหน้านั้น คนเชียงใหม่และอีกหลายจังหวัดทางภาคเหนือต้องใช้ชีวิตร่วมกับหมอกควันพิษมาร่วมทศวรรษแล้ว
ต้นตอหลักๆ ที่พบเห็นในหน้าสื่อพุ่งเป้าไปยังไฟป่าที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ควบคู่ไปกับการเผาผลผลิตทางการเกษตร
แต่เมื่อพยายามขุดหาสาเหตุที่แท้จริง สิ่งที่หลายฝ่ายเผชิญไม่ต่างกันคือปัญหาจิ๋วๆ ที่ว่านี้ซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายภายใน 2-3 ย่อหน้า สวนทางกับปริมาณหมอกควันที่รุนแรงจนเข้าขั้นวิกฤตในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยข้อมูลสถิติผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าตลอดระยะเวลา 3 เดือนแรกของปี (ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564) มีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศทั้งหมด 36,927 คน
ทั้งนี้พบว่าอาการป่วย 5 ลำดับแรก กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เป็นกลุ่มโรคที่มีผู้ป่วยสูงสุด มีผู้ป่วยถึง 10,039 คน รองลงมาเป็นกลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 8,367 คน ตามด้วยกลุ่มโรคตาอักเสบ 5,742 คน โรคหลอดเลือดสมอง 3,821 คน และคออักเสบ 3,510 คน
นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆ อาทิ โรคหลอดลมอักเสบ 2,222 คน โรคปอดอักเสบ 1,452 คน โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง 322 คน โรคหอบหืด 260 คน ไข้หวัดใหญ่ 217 คน โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 67 คน และโรคที่จะส่งผลกระทบระยะยาวอีก 908 คน
จำนวนตัวเลขผู้ป่วยที่ว่ามาสะท้อนให้เห็นว่าการจัดการและแก้ปัญหาหลายๆ ด้านยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มประสิทธิภาพ สิทธิที่ประชาชนจะมีอากาศบริสุทธิ์เพื่อหายใจได้เต็มปอด และสิทธิที่จะมีสุขภาพที่ดียังอยู่อีกไกลจากฝุ่นควันตัวร้ายนี้ รายงานพิเศษชิ้นนี้จะพาไปสำรวจเงื่อนปมต่างๆ อันเป็นที่มาของปัญหาดังกล่าว ผ่านข้อมูลและทัศนะจากแหล่งข่าวที่คลุกคลีอยู่ในพื้นที่ นักเคลื่อนไหวที่ติดตามประเด็นนี้มายาวนาน ไปจนถึงนักวิชาการที่พยายามชี้ให้เห็นถึงปัญหานี้มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว
ไฟป่ามาจากไหน ทำไมถึงชอบลุกลามในฤดูแล้ง
เมื่อพูดถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย หนึ่งในปัจจัยที่ถูกพูดถึงเป็นลำดับต้นๆ คือเรื่องไฟป่า ซึ่งแบ่งกว้างๆ ได้เป็นสองประเภท ประเภทแรกคือไฟป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งนานๆ ครั้งจะเกิดขึ้นสักที กับอีกแบบที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นถี่กว่า
เอาเข้าจริงแล้วไฟป่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แทบจะเรียกว่าเป็นของคู่กันด้วยซ้ำ เมื่อมีป่าย่อมมีไฟ เมื่อเชื้อเพลิงถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยที่เหมาะสม สภาพอากาศเป็นใจ เปลวเพลิงก็พร้อมจะลุกไหม้ได้ทันที
สำหรับไฟป่าประเภทแรกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากอธิบายในแง่ภูมิศาสตร์ เชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มีป่าผลัดใบจำพวกป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาค เมื่อป่าเหล่านี้เริ่มผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง มันจะแปรสภาพเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี พอเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้เพลิงลุกไหม้ตามธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่าหรือกิ่งไม้เสียดสีกัน เปลวเพลิงก็สามารถลุกลามกินพื้นที่หลายร้อยไร่ได้ในเวลาไม่นาน
แต่อย่างที่กล่าวไปว่า การเกิดไฟป่าประเภทนี้ นานๆ จะเกิดขึ้นสักที ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุตรงกันว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีมานี้ เกินกว่า 90% เป็นไฟป่าที่เกิดจากฝีมือมนุษย์
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักอนุรักษ์เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว ผู้พำนักอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ชี้ว่าโดยปกติแล้วไฟป่าทางภาคเหนือ มักจะเกิดในป่าที่ปรับตัวกับไฟได้ คือพื้นที่ในป่าเต็งรัง ซึ่งเป็นป่าที่ปรับตัวจากการใช้ไฟของมนุษย์มานับพันปีแล้ว แต่ความผิดปกติที่สังเกตเห็นชัดตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมปีที่แล้ว (2563) คือมีไฟที่ลุกไหม้ในป่าดิบ บนเขาที่อยู่ระดับสูงขึ้นไป ซึ่งน่าจะมีความชื้นมากพอ และเป็นไฟที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ
“สิ่งที่น่าสงสัยคือทำไมไฟมันไปลุกลามนอกเขตที่เราคุ้นเคย ผมเลยสงสัยว่ามีเหตุอะไรที่ไม่ปกติ จะมีการกลั่นแกล้งกันหรือเปล่า ผมไม่รู้ แต่มันคงไม่ได้เกิดการจากหาของป่าของชาวบ้าน หรือการเผาไร่อะไรทำนองนั้น ซึ่งมันสามารถระบุพื้นที่ได้”
แม้คณะรัฐมนตรีจะประกาศให้ ‘การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 โดยออกมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว หนึ่งในนั้นคือมาตรการ ‘ห้ามเผา’ ให้แต่ละจังหวัดนำไปบังคับใช้ในพื้นที่ แต่ดูเหมือนสถานการณ์ด้านฝุ่นควันในรอบปีที่ผ่านมากลับยังไม่ดีขึ้นเท่าไรนัก
ตรงกันข้ามดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศในพื้นที่เชียงใหม่ รวมถึงหลายจังหวัดในภาคเหนือ เช่น เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง นับเฉพาะช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลับพุ่งทะยานติดอันดับต้นๆ ของโลก หลายพื้นที่อยู่ในระดับที่ ‘เกินคำว่าอันตราย’ วัดค่า PM2.5 ได้เกิน 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกตั้งไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่าหนึ่งในปัญหาที่แท้จริงคือความไม่เข้าใจกันระหว่างชุมชนที่มีชีวิตอยู่ในป่ากับวิธีคิดแบบรัฐซึ่งใช้กฎหมายนำ ตัวอย่างเช่น มาตรการห้ามเผา ที่ทำให้การเผาทั้งหมดเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธรรมชาติของป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ต้องมีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นธรรมดาอยู่แล้ว รวมถึงการผลิตของชุมชนที่อยู่บนดอยบางส่วน จำเป็นต้องเผาเพื่อการทำไร่หมุนเวียน เป็นการเผาในลักษณะเพื่อการยังชีพ แต่เมื่อการเผาเป็นเรื่องผิดกฎหมายจากมาตรการที่เกิดขึ้น ทำให้มีการแอบเผา แอบจุดไฟ บางครั้งชาวบ้านอยากจุดแค่เฉพาะไร่ตัวเองก็จุดไม่ได้ ต้องออกไปจุดจากที่ไกลๆ ให้ลามมาถึงไร่ของตัวเอง ยิ่งทำให้เกิดไฟป่าได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ระบบนิเวศที่เป็นแอ่งกระทะของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ราบเพียง 10% พื้นที่ดอนเชิงเขา 30% และพื้นที่สูง 60% พอถึงช่วงแล้งคือเดือนมกราคม-เมษายน ที่มีการยกตัวของอากาศต่ำ เมื่อเกิดฝุ่นควันจากการเผาในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า ส่งผลให้การระบายอากาศทำได้น้อย เหมือนมีฝาชีครอบฝุ่นควันอยู่ในบริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กระทั่งหลังกลางเดือนเมษายนอากาศจึงจะยกตัวสูง ระบายอากาศได้ดี อากาศของเชียงใหม่และภาคเหนือจึงจะดีขึ้น
ภาวะที่ว่านี้สอดคล้องกับวิกฤตฝุ่นที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเวลาเดียวกัน สิ่งที่ต่างออกไปคือปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่นควันนั้นมาจากมลพิษของรถยนต์ การก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก
ใครเผา เผาทำไม?
เชื่อว่านี่คงเป็นคำถามที่ใครหลายคนอยากรู้ แต่การหาคำตอบที่แท้จริงดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก
หนึ่งในจำเลยที่ปรากฏตามสื่อกระแสหลักมาหลายปีคือ ‘การเผา’ ของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ มีทั้งการเผาขยะ เผาเพื่อเก็บหาของป่า เผาเศษซากจากการทำการเกษตร เผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การ ‘ชิงเผา’ เพื่อลดการสะสมของเชื้อเพลิงในป่า ไปจนถึงการเผาฟืนไฟในชีวิตประจำวัน
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สื่อมวลชนอาวุโส อดีตบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี ผู้ติดตามปัญหาสิ่งแวดล้อมมายาวนาน แจกแจงสาเหตุของปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองในภาคเหนือไว้อย่างกระชับ ผ่านบทความ ‘หมอกควันพิษภาคเหนือ ความสิ้นหวังเป็นแบบนี้เอง’ ใจความตอนหนึ่งว่า
“ทุกวันนี้ นอกจากความขุ่นมัวของท้องฟ้า ไฟป่า และทัศนวิสัยอันปกคลุมด้วยหมอกควันพิษแล้ว มีแต่ความเงียบราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น รัฐบาลและผู้มีอำนาจ ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่า ไปตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่ มอบนโยบายพอเป็นพิธี แจกสิ่งของ และถ่ายภาพร่วมกัน แล้วบินกลับไปบัญชาการอยู่ห้องในแอร์ที่กรุงเทพฯ ต่อไป ราวกับเป็นงานประจำที่ทำทุกวัน ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินอะไร ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยในจังหวัดต้องออกมาดับไฟป่าอย่างหนักหน่วง ปล่อยให้ชาวบ้านต้องช่วยเหลือตัวเอง ราวกับว่าไม่มีรัฐบาล ไม่มีผู้นำคนไหน ออกมาร่วมทุกข์ร่วมสุข หรือดับไฟกับชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย
“ก่อนหน้านี้หากรัฐบาลมีมาตรการระยะยาว ระยะสั้น ในการเตรียมการจัดการแก้ไขต้นเหตุของปัญหาไฟป่าอย่างจริงจัง คุณภาพอากาศคงจะไม่เลวร้ายเท่าตอนนี้ ทั้งๆ ที่รู้มาตลอดว่าต้นเหตุของปัญหาคืออะไร
“ปัญหาการเผาพืชไร่ โดยเฉพาะตอซังข้าวโพด หลังการเก็บเกี่ยว เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรมาส่งเสริมให้คนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อการส่งออก พื้นที่เกษตรและการบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพดได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“ทุกวันนี้พื้นที่ปลูกข้าวโพดทั่วประเทศมีประมาณ 7 ล้านไร่ และอยู่ในภาคเหนือถึง 4.5 ล้านไร่ หลังฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงนี้ การเผาพืชไร่ของชาวไร่ เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกต่อไปจึงยังทำกันสม่ำเสมอ เพราะชาวไร่ไม่มีวิธีอื่น แม้ว่าจะมีการออกประกาศห้ามเผา แต่ในทางปฏิบัติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นอกจากเผาพืชไร่ในพื้นที่ของตัวเองแล้ว ไฟยังลุกลามเข้าไปในป่าที่ติดกันอีก ไม่รวมถึงการบุกรุกป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพด และถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็จุดไฟเผา ลุกลามเป็นไฟป่า
“อีกปัญหาคือหมอกควันพิษที่ลอยมาจากการเผาซากไร่ประเทศเพื่อนบ้านหลายล้านไร่ จากนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวโพด เพื่อนำมาทำอาหารสัตว์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการเกษตร แต่ก็ยังไม่มีการเจรจาในระดับภูมิภาคเลยว่า จะจัดการปัญหานี้อย่างไร เปรียบเทียบกับเมื่อครั้งเกิดไฟป่าที่ประเทศอินโดนีเซีย จากการเผาป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นสวนปาล์ม จนควันลอยมาถึงประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์กดดันประเทศเพื่อนบ้านจนประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง
“อีกสาเหตุหนึ่งเกิดขึ้นไม่นาน คือกลุ่มนายทุนจากตัวเมืองที่ว่าจ้างชาวบ้านชาวเขาที่อาศัยใกล้ป่าหลายแห่งให้เลี้ยงฝูงวัวควายหากินในป่า และพอเข้าหน้าแล้งก็จุดไฟเผาป่า หวังจะเกิดหญ้าระบัดให้วัวควายได้กิน กลายเป็นสาเหตุสำคัญ เพราะเป็นการตั้งใจจุดไฟเผาป่า จนกลายเป็นไฟลามไปทั้งป่า
“และปัญหาอีกประการคือ ความขัดแย้งของชาวบ้านผู้อาศัยอยู่รอบอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่งกับเจ้าหน้าที่ จนเมื่อเกิดปัญหาไฟป่า คนที่ดับไฟป่ามีเพียงเจ้าหน้าที่ ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่กลับนั่งดูเฉยๆ”
ในมุมของ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้คลุกคลีกับปัญหาในพื้นที่มายาวนาน เปิดเผยว่า จากการทำงานสภาลมหายใจเชียงใหม่ในปีนี้ พบว่าจุดไฟไหม้เชียงใหม่เริ่มลดลงกว่าปีที่แล้ว แต่ฝุ่นควันกลับมากขึ้น เพราะมีปัจจัยของกระแสลมที่พัดพาเอาฝุ่นควันจากจังหวัดข้างเคียงและรัฐฉาน ประเทศเมียนมาเข้ามา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเผาไร่ข้าวโพดที่นำมาเลี้ยงสัตว์ของบริษัทเกษตรพันธสัญญายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง พร้อมเสนอว่าการแก้ปัญหาฝุ่นควัน จะทำเฉพาะจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งไม่ได้ เพราะฝุ่นควันไม่มีพรมแดน เลื่อนไหลไปมาได้อย่างอิสระ นอกจากการร่วมมือทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาในแต่ละจังหวัดแล้ว จึงต้องมีการแก้ภาพรวมในระดับประเทศด้วย
“ปัจจุบันรัฐมองเป็นอุบัติภัยและแก้แบบเฉพาะหน้า ซึ่งไม่มีทางสำเร็จครับ รัฐต้องทำแบบเดียวกับเรื่องโควิด-19 ทำจริงจังต่อเนื่องทั้งปี ให้บทบาทแก่อาสาสมัครชุมชนและจังหวัด โดยใช้ทุกกลไกของรัฐสนับสนุน ต้องมีการออกนโยบาย แผนงาน งบประมาณ ความรู้และการสื่อสารอย่างเป็นระบบ จึงจะเอาอยู่ในระดับประเทศ ขณะเดียวกันก็ร่วมมือกับเพื่อนบ้านไปพร้อมๆ กัน”
14 ปีแห่งความชินชา
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า จังหวัดเชียงใหม่รวมถึงหลายพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน ต้องผจญกับปัญหาฝุ่นควันจากไฟป่ามานานแล้ว และหากย้อนกลับไปดูร่องรอยในอดีต จะพบว่าคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้สัมผัสกับหมอกควันพิษมาตั้งแต่ 14 ปีที่แล้ว
เพจ iChiangMai เปิดเผยข้อมูลว่า ปี 2550 ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากมีการพัดพาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้ามาปกคลุมเมืองเชียงใหม่ที่วัดค่าได้สูงถึง 383 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐานที่ไทยกำหนดถึงสามเท่า
ต่อมาในปี 2551 เกิดปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้มีปริมาณฝนในพื้นที่มากขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์หมอกควันไม่รุนแรงและมีการเกิดไฟป่าลดลง แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายพื้นที่การเพาะปลูก ซึ่งเป็นหนึ่งต้นตอของปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ
ในปี 2553 ได้เกิดไฟป่าขึ้นอย่างรุนแรงต่อเนื่องหลายครั้ง กระจายตัวในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายให้พื้นที่ป่าหลายพันไร่ ส่งผลให้เกิดปัญหาภัยแล้ง ทำให้เชียงใหม่ 2 อำเภอต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยภิบัติ คืออำเภอสันทราย และอำเภอดอยสะเก็ด และในปีนั้นเองเชียงใหม่ได้ประกาศให้มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง รวม 9 อำเภอ 44 ตำบล 395 หมู่บ้าน
ในปี 2555 พบว่ามีผู้ป่วยโรคหืดเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้นสามเท่า โดยเพิ่มมากกว่าปีก่อนหน้าถึงสี่เท่า ข้อมูลจาก รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาทั่วโลกพบว่า หากพื้นที่ใดมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงกว่าค่ามาตรฐาน จะส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตด้วยระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 7-20% การป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 5.5% การตายและป่วยด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2-5% การตายและป่วยด้วยโรคหัวใจหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 5.3% ผู้สูงอายุป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจเพิ่ม 17% ผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่ม 7.6% และยังทำให้สภาพปอดในเด็กแย่ลง
ในปี 2556 มีการกำหนดมาตรการ ‘100 วันห้ามเผา’ แต่กลับใช้ไม่ได้จริง เนื่องจากไม่มีทางเลือกให้กับเกษตรกร สิ่งที่สะท้อนออกมาคือค่าฝุ่นละอองสูงสุดอยู่ที่ 229 ไมโครกรัมต่อลูกกบาศก์เมตร และการเกิดภัยแล้งขึ้นอย่างรุนแรง
ปี 2558 ปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากหมอกควันไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอเลื่อนการเดินทางประมาณร้อยละ 50 ส่งผลให้รายได้รวมจากการท่องเที่ยวของจังหวัดลดลงประมาณ 2,000 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี
เมื่อค่าฝุ่นควันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 ได้มีการพัฒนานวัตกรรมที่เรียกว่า ‘Dust Boy’ อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพและรายงานผล PM2.5 และ PM10 แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทุกคนเตรียมพร้อมรับมือกับมลพิษทางอากาศได้อย่างถูกต้อง
ปี 2562 เกิดประเด็นร้อนแรงบนโลกโซเชียลมีเดีย เมื่อมีการเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ แต่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้เหตุผลว่า ยังไม่สามารถประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากปัญหาหมอกควันได้ เนื่องจากติดขัดระเบียบบางประการ
ปี 2563 เกิดไฟป่าไหม้ดอยสุเทพอย่างหนัก มีการห้ามเผยแพร่ภาพถ่ายมุมสูงจากโดรน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ณ เวลานั้นพื้นที่เชียงใหม่ โดยเฉพาะบริเวณรอบดอยสุเทพ เต็มไปด้วยหมอกควันจากไฟป่า ส่งผลให้ค่าฝุ่นของจังหวัดเชียงใหม่สูงติดอันดับ 1 ของโลกหลายวัน
บัณรส บัวคลี่ ฝ่ายยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนนโยบาย สภาลมหายใจเชียงใหม่ และผู้ก่อตั้งเพจ WeVo สื่ออาสา สื่อท้องถิ่นที่ติดตามและรายงานความเคลื่อนไหวสถานการณ์ไฟป่าอย่างใกล้ชิด อธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ถ้ามองในภาพกว้าง ปัญหาไฟป่าคือสับเซ็ตหนึ่งของปัญหาฝุ่นควัน ซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศ เป็นเรื่องของอุตสาหกรรมเกษตรของมหาเศรษฐี มีคนเกี่ยวข้องตั้งแต่มหาเศรษฐีระดับแสนล้าน ร้อยล้าน สิบล้าน หนึ่งล้าน หนึ่งแสน คนรับเงินเดือนห้าหมื่น สามหมื่น ไปจนถึงชาวบ้านที่ไม่มีเงิน ตัวแปรเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเผาทั้งหมด และมีส่วนในการสร้างปัญหาฝุ่นควันทั้งหมด
“มหาเศรษฐีที่ทำอุตสาหกรรมเกษตร ก็ต้องเผา มหาเศรษฐีที่ทำน้ำตาล ก็ต้องเผา ชาวบ้านที่ขับปิกอัพที่ใช้งานมาเกิน 10 ปี ที่เป็นรถมาตรฐานยูโรสาม ก็มีส่วนกับการปล่อย PM2.5 ทุกคนเกี่ยวข้องหมดเลย มันเลยเป็น Conflict of Interest ที่ใหญ่มาก นี่คือภาพใหญ่ของปัญหาฝุ่นควันระดับประเทศ
“เมื่อมันเป็นปัญหาใหญ่ระดับนี้ เวลาเราสางมันออกมา ต้องค่อยๆ แกะ ต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่แค่ไฟ และต้องมองให้เห็นภาพใหญ่ที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดที่อยู่นอกกรอบของราชการ ไม่ใช่สิ่งที่ราชการเคยชิน ราชการจะเคยชินกับภารกิจของใครของมัน ดับไฟก็คือดับไฟ รับผิดชอบเฉพาะในส่วนของตัวเอง”
ทางออกและข้อเสนอแนะ
จากปัญหาและมูลเหตุต่างๆ ที่ไล่เลียงมา นำมาไปสู่คำถามสำคัญที่หลายฝ่ายพยายามช่วยกันขบคิดและเสนอแนวทางแก้ไข คือท้ายที่สุดแล้วเราจะแก้ปัญหาฝุ่นควันที่หนักหนาขึ้นทุกปีได้อย่างไร
ในประเด็นนี้ วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยว่า ขณะนี้ปัญหามลพิษทางอากาศ รวมทั้งฝุ่นละออง PM2.5 หลายพื้นที่รุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาในภาคเกษตร
ที่ผ่านมารัฐใช้มาตรการจัดระเบียบการเผา คือผู้ที่จะเผาเศษวัสดุทางการเกษตรต้องแจ้งฝ่ายปกครองทราบล่วงหน้า เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเผาพร้อมกันเกินกว่าที่ฝุ่นละอองจะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แล้วก่อตัวหนาแน่นจนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้งในช่วงก่อนฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ หลายจังหวัดจะประกาศห้ามเผาทุกชนิด แต่เกษตรกรยังลักลอบเผาไม่เปลี่ยนพฤติกรรม เนื่องจากเห็นว่าเป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดที่สุด
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาที่ว่ามา เขามองว่าการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรในการเตรียมแปลงและการเก็บเกี่ยว น่าจะเป็นมาตรการที่ลดการเผาในภาคเกษตรได้ แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยไม่มีศักยภาพในการเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรซึ่งมีราคาสูง
ข้อเสนอของเขาต่อเรื่องนี้คือ ภาครัฐและเอกชนควรร่วมกันให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขกับเกษตรกรระยะสั้นในการใช้เครื่องจักรกล เพื่อการเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงแทนการเผา เตรียมส่งเสริมและให้ความรู้กับเกษตรกร เพื่อจัดการแปลงสำหรับใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวในฤดูกาลใหม่ที่จะเริ่มขึ้น หากเป็นไปได้ควรร่วมกันวางแผนการผลิตในทุกพื้นที่เพื่อให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้มาตรการที่สำคัญอีกประการคือ ส่งเสริมให้มีตลาดสำหรับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทำให้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีราคาและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เช่น ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลหลายโรงเริ่มสนับสนุนการรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งควรขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ นอกเหนือจากนี้อาจพิจารณาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้า โดยใช้เศษวัสดุเหลือใช้จากข้าวและข้าวโพดด้วย มีงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่าการผลิตไฟฟ้าในลักษณะนี้ จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ และสามารถทำได้จริง เช่น ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าด้วยกำลังการผลิต 8 และ 10 เมกะวัตต์ ในช่วงเวลา 20 ปี โครงการจะสร้างมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ประมาณ 30 และ 90 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งจะเป็นมาตรการที่สร้างแรงจูงใจในการหยุดเผาได้ โดยทำควบคู่กับทุกมาตรการที่ว่ามา
ด้าน บัณรส บัวคลี่ เสนอว่า ในระยะสั้นก่อนเราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า นี่ไม่ใช่ไฟป่าตามฤดูกาล แต่เป็นเรื่องซับซ้อน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องผลประโยชน์ของคน
ข้อต่อมาต้องยอมรับว่าราชการมีกับดักของตัวเอง ฉะนั้นระเบียบของราชการเองก็มีปัญหาที่จะต้องสะสาง แก้ไข
ข้อสุดท้ายเราต้องขยับไปสู่การรวมพลังกันของทั้งสังคม ไม่ใช่แค่ปัญหาของราชการ ไม่ใช่แค่ปัญหาของชาวบ้าน คนใดคนหนึ่งจะมาแก้ไขเพียงลำพังไม่ได้ เพราะยังไงก็ไม่มีพลัง ต้องเปลี่ยน Mindset กันใหม่
“มนุษย์มันสู้กับไฟไม่ได้หรอก ต่อให้ใช้เฮลิคอปเตอร์ ตอนกลางคืนก็ขึ้นไม่ได้อีก พูดง่ายๆ ว่าศักยภาพเรายังไม่พอ ถ้าเกิดไฟไหม้ใหญ่กว่านี้ เราไม่มีทางควบคุมได้ สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก จะนำไปสู่ระเบียบใหม่ของทุกสังคมและทุกรัฐ รัฐจะต้องมีนโยบายใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก คนก็เหมือนกัน พฤติกรรมของคนในทุกสังคม ก็ต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นด้วย
“ปัญหาที่ผ่านมาคือเราแทบไม่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอะไรเลย ไม่มีใครสนใจเรื่องนี้ เอาแค่การเตรียมรับมือกับภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง ถามว่ามีใครในรัฐบาลที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงไหม ไม่มี เรื่องฝุ่นควันก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้ ถามว่าทำไมถึงไม่มี หนึ่ง ก็เพราะมันไม่มีเงินทอน สอง พลังทางสังคมที่สนใจเรื่องนี้ยังมีอยู่น้อยมาก ต้องรอให้ค่าฝุ่นที่กรุงเทพฯ ขึ้นเป็นสีส้ม สีแดง แล้วคนกรุงเทพฯ ออกมาโวยเพราะได้รับผลกระทบ ถึงจะออกมาแก้เป็นระยะ แต่เวลาที่เชียงใหม่หรือหลายๆ จังหวัดในภาคเหนือ ค่าฝุ่นขึ้นเป็นสีม่วง สีน้ำตาลแก่ กระทั่งทะลุมาตรวัด AQI ไปแล้ว แต่เสียงไม่ดังพอ เขาก็ไม่สนใจ
“มันเหมือนระเบิดเวลา สมมติว่าอีก 3 ปีข้างหน้า สถิติคนเป็นโรคปอดพุ่งขึ้นมาติดอันดับโลก หรือทุกคนมีญาติพี่น้องคนสนิทอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นโรคปอด ก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงๆ เพราะคนทนไม่ไหวแล้ว ต้องลุกขึ้นมากราดเกรี้ยวแล้ว รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องมองปัญหาที่ประชาชนโวยวายอยู่แล้ว แล้วก็ประเมินว่ามันใหญ่ขนาดไหน ซึ่งเอาจริงๆ เขาประเมินว่าเรื่องนี้ใหญ่ ถึงกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่การประเมินว่าใหญ่ของเขา ก็ยังถือว่าเล็กไป วาระแห่งชาติที่ทำออกมาก็ยังน้อยไป มันเลยกลายเป็นวาระแห่งชาติหน้า”
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ เสริมต่อจากประเด็นนี้ว่า สาเหตุที่เรายังไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่นควันได้ มาจากสามข้อหลักๆ ดังนี้
1. การยอมรับปัญหาของภาครัฐ กล่าวคือตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไทยตอบสนองเรื่องนี้แบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เหมือนเด็กเล่นขายของ ไม่มีเจตจำนงทางการเมืองที่เข้มแข็ง แน่วแน่ และต่อเนื่อง เราจึงยังไม่เห็นการลงแรง งบประมาณ และกำลังคนให้เพียงพอกับระดับความรุนแรงของปัญหา โดยเฉพาะการไม่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจในระยะยาว
อีกสิ่งที่ต้องตระหนักอย่างมาก คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลทุกปี ซึ่งมีผลต่ออนาคตเราทุกคน การแก้ปัญหานี้ยากและซับซ้อน แต่การทำความเข้าใจปัญหาในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างดีนั้น เป็นการติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง
2. การยอมรับต้นตอของปัญหาจากทุกภาคส่วน กล่าวคือในปัจจุบัน ปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือกลายเป็นปัญหาของชนชั้น คนเมืองก็ชี้นิ้ว ปรักปรำชาวบ้านชาวดอย ในขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนหลายกลุ่ม ก็พยายามออกมาปกป้องเรียกร้องให้มองประเด็นให้รอบด้าน เพราะปัญหามันไม่ได้เป็นเรื่องขาวดำขนาดนั้น
อย่างไรก็ดี การเห็นใจประชาชนรากหญ้านั้น ต้องไม่ใช่การเบี่ยงเบนประเด็นว่าต้นตอของฝุ่นควันในภาคเหนือไม่ได้มาจากการเผาป่า เผาไร่ แต่เป็นจากการจราจรในเมือง และภาคอุตสาหกรรม คำพูดดังกล่าวนั้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผลการวิเคราะห์เคมีของฝุ่น การแปรผันตามฤดูกาล และความสัมพันธ์กับจุดความร้อน
หากพวกเราบางกลุ่มยังไม่ยอมรับข้อเท็จจริงของต้นตอปัญหา และยังยินยอมให้มีการเผาในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่การเกษตรและไฟป่าที่ถูกจุดขึ้นอย่างกว้างขวาง ก็ไม่เห็นหนทางว่าปัญหานี้จะบรรเทาไปได้อย่างไร
3. หลายคนคิดง่ายๆ ว่าหากบังคับใช้กฎหมายยังเคร่งครัด หยุดการเผาอย่างเด็ดขาด ปัญหาก็จะจบไป แต่ในความเป็นจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะแค่คุกอาจยังไม่พอให้ขัง และจะเกิดปัญหาทางสังคมตามมา คือก่อให้เกิดความแตกแยกและต่อต้านจากประชาชนนับล้าน เพราะสุดท้ายแล้วคนเราต้องอยู่ต้องกิน
“บทสรุปสุดท้ายของผมจึงอยู่ที่ว่า ตราบใดที่ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่หมดไป ปัญหาฝุ่นควันจากการเผาก็ไม่มีวันหมดไปจากประเทศไทยและภูมิภาคเช่นกัน”
จะเห็นได้ว่าปัญหาฝุ่นควันและไฟป่าที่ลุกลามและหนักหนาขึ้นทุกปีนั้น มีความซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน จึงจะสามารถบรรเทาหรือแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องตระหนักว่านี่เป็นปัญหาเร่งด่วน เพราะยิ่งกระบวนการมีความล่าช้ามากเท่าใด นั่นหมายถึงคุณภาพความเป็นอยู่ที่ประชาชนทุกคนต้องแบกรับไว้ในทุกๆ ลมหายใจของชีวิต
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า