×

ทำไมท่าทีเกาหลีเหนือจึงเปลี่ยนไป? วิเคราะห์สันติภาพบนทางแพร่งในมุมมองผู้เชี่ยวชาญนโยบายเกาหลี

25.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้นำเกาหลีเหนือปรับเปลี่ยนนโยบายโดยเข้าหาชาติตะวันตกมากขึ้น ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือความมั่นคงของประเทศ เมื่อถึงจุดเปลี่ยนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
  • ผศ.ดร.ปิติ เปรียบเทียบว่านาทีนี้โลกมีคนบ้าสองคน คนแรกคือคิมจองอึน อีกคนชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะฉะนั้นคนบ้าคนเดิมก็อาจเกิดความลังเลแล้วว่าหากอีกคนเอาจริงขึ้นมา สถานการณ์ของตนก็จะไม่ต่างอะไรไปจากมูอัมมาร์ กัดดาฟี (อดีตผู้นำเผด็จการลิเบีย), บาชาร์ อัล-อัสซาด (ประธานาธิบดีซีเรีย) หรือแม้แต่ซัดดัม ฮุสเซน (อดีตผู้นำอิรัก)
  • ถึงแม้สถานการณ์ตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีจะคลี่คลายลงอย่างมาก แต่การรวมชาติยังไม่มีทางเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เนื่องจากต้องรอปัจจัยสนับสนุนที่สุกงอมจากในประเทศ โดยเฉพาะเจตจำนงของประชาชนซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญ

ท่ามกลางสัญญาณบวกที่เกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสายบนคาบสมุทรเกาหลีตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่การนัดคุยกันระหว่าง คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือกับ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ การระงับทดลองอาวุธนิวเคลียร์ที่เปรียบเหมือนหมากต่อรองทรงพลังที่สุดของเปียงยาง ไปจนถึงกระแสข่าวที่ว่าสองเกาหลีเตรียมทำสนธิสัญญาสันติภาพเพื่อยุติสถานภาพความเป็นคู่สงครามในสงครามเกาหลีตั้งแต่ปี 1950 ทำให้หลายๆ คนอดตั้งความหวังไม่ได้ว่าหนึ่งในปมขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนที่สุดในโลกกำลังจะคลี่คลายไปในทางที่ดี

 

อย่างไรก็ตาม การที่อะไรๆ ดูจะราบรื่นไปหมดในช่วงนี้กลับทำให้เกิดคำถามใหม่ขึ้นตามมาว่า สันติภาพที่ทั่วโลกรอคอยมานานหลายทศวรรษกำลังจะเกิดขึ้นภายในชั่วพริบตาเดียวได้จริงหรือ

 

THE STANDARD ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการเมืองเกาหลี และจะมาไขข้อสงสัยว่าทำไมผู้นำเกาหลีเหนือจึงปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างกะทันหันเช่นนี้ รวมถึงวิเคราะห์โอกาสที่เกาหลีเหนือจะปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทร ซึ่งเป็นปัญหาที่คาราคาซังมานาน ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรวมชาติระหว่างสองเกาหลี

 

แต่ก่อนอื่นเราขอพาไปทบทวนเหตุการณ์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง จนนำไปสู่ความคืบหน้าทางการทูตครั้งสำคัญบนคาบสมุทรเกาหลี

 

 

ลำดับเหตุการณ์สำคัญก่อนคิมจองอึนทำเซอร์ไพรส์คนทั้งโลก

1 มกราคม 2017 – คิมจองอึนประกาศว่าเกาหลีเหนืออยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปที่มีรัศมีโจมตีครอบคลุมพื้นที่ทุกส่วนของสหรัฐฯ วันถัดมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาพูดท้าทายว่าเรื่องแบบนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้น

 

4 กรกฎาคม 2017 – เกาหลีเหนือทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) แบบ ‘ฮวาซอง-14’ โดยคิมจองอึนระบุว่าเป็นของขวัญสำหรับสหรัฐฯ เนื่องในวันประกาศอิสรภาพ หรือวันชาติของสหรัฐฯ

 

28 กรกฎาคม 2017 – เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ‘ฮวาซอง-14’ อีกครั้ง โดยครั้งนี้ไต่ระดับความสูงมากกว่าครั้งก่อน และสามารถคำนวณเป็นระยะทางได้ไกลถึงแผ่นดินสหรัฐฯ นอกจากนี้คิมจองอึนยังคุยโวว่าขีปนาวุธใหม่ล่าสุดนี้สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ด้วย

 

 

9 สิงหาคม 2017 – ทรัมป์ขู่ว่าเกาหลีเหนือจะเจอกับ ‘ไฟและความเดือดดาล’ ในแบบที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน หากเกาหลีเหนือยังดึงดันสร้างภัยคุกคามแก่สหรัฐฯ มากกว่านี้ จากนั้นเกาหลีเหนือได้ตอบโต้โดยประกาศจะยิงขีปนาวุธไปตกใกล้เกาะกวมของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

29 สิงหาคม 2017 – ญี่ปุ่นประท้วงหลังเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธพิสัยกลางพุ่งข้ามประเทศญี่ปุ่นไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

3 กันยายน 2017 – เกาหลีเหนือทดสอบระเบิดไฮโดรเจน ซึ่งเป็นการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 และมีอานุภาพร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา พร้อมกับบอกว่าระเบิดไฮโดรเจนนี้สามารถติดตั้งเป็นหัวรบบนขีปนาวุธข้ามทวีปได้

 

19 กันยายน 2017 – ทรัมป์แจ้งต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าสหรัฐฯ จะบดขยี้เกาหลีเหนือให้สิ้นซาก หากสหรัฐฯ ถูกบีบให้ต้องป้องกันตนเองและปกป้องชาติพันธมิตร นอกจากนี้ทรัมป์ยังเย้ยหยันคิมจองอึนว่าเป็น ‘มนุษย์จรวด’

 

29 พฤศจิกายน 2017 – เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปครั้งที่ 3 ด้วยระยะทางที่สามารถโจมตีได้ไกลถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

 

1 มกราคม 2018 – คิมจองอึนกล่าวสุนทรพจน์ในวันขึ้นปีใหม่ว่าเขามีปุ่มจุดระเบิดนิวเคลียร์บนโต๊ะทำงานของเขา ขณะที่ทรัมป์โต้กลับว่าเขามีปุ่มนิวเคลียร์ที่ใหญ่กว่า ทรงอานุภาพกว่า และใช้ได้ผลด้วย

 

9 มกราคม 2018 – เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ประชุมกันที่หมู่บ้านปันมุนจอมในเขตพรมแดน โดยเกาหลีเหนือตกลงส่งทัพนักกีฬาและกองเชียร์เข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองพย็องซัง ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกครั้งแรกในรอบหลายปีบนคาบสมุทรเกาหลี

 

7 มีนาคม 2018 – ชุงอุยยอง ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของเกาหลีใต้เปิดเผยภายหลังเดินทางกลับจากกรุงเปียงยางว่า คิมจองอึนได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะหารือในปัญหาพิพาทเรื่องนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ พร้อมแสดงความพร้อมที่จะระงับการทดลองนิวเคลียร์และขีปนาวุธ

 

9 มีนาคม 2018 – โดนัลด์ ทรัมป์ ตอบรับคำเชิญของคิมจองอึน โดยทำเนียบขาวระบุว่าการประชุมสุดยอดระหว่างสองผู้นำจะมีขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม

 

 

18 เมษายน 2018 – ทรัมป์ยืนยันว่า ไมค์ ปอมเปโอ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ได้พบหารือกับคิมจองอึนในกรุงเปียงยาง และระบุว่าความสัมพันธ์ที่ดีได้ก่อตัวขึ้นแล้วก่อนหน้าการประชุมซัมมิตระหว่างทรัมป์กับคิม

 

21 เมษายน 2018 – เกาหลีเหนือประกาศระงับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธพิสัยไกล รวมถึงเล็งปิดสถานที่ทดสอบนิวเคลียร์ทั้งหมด พร้อมหันมาโฟกัสกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะที่ทรัมป์ขานรับการตัดสินใจดังกล่าว โดยบอกว่าเป็นข่าวดีของคนทั้งโลก

 

22 เมษายน 2018 – เกาหลีใต้ยุติการกระจายเสียงโฆษณาชวนเชื่อผ่านลำโพงที่ติดตั้งบริเวณพรมแดนเกาหลีเหนือ ทั้งการรายงานข่าว เปิดเพลงป๊อป และวิจารณ์รัฐบาลคิมจองอึน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรก่อนการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีมุนแจอินกับคิมจองอึนที่หมู่บ้านปันมุนจอมในวันที่ 27 เมษายน

 

จากไทม์ไลน์ข้างต้นจะเห็นว่า คิมจองอึนได้ปรับเปลี่ยนท่าทีแบบกลับตาลปัตร ซึ่งสวนทางกับนโยบายที่เกาหลีเหนือยืดถือมานานตั้งแต่ยุคการปกครองของคิมอิลซุง (ปู่) และคิมจองอิล (บิดา) ทำให้หลายๆ คนอดสงสัยไม่ได้ถึงเบื้องหลังการตัดสินใจของผู้นำรุ่นที่ 3 ครั้งนี้

ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เมื่อโลกนี้มีคนบ้าสองคน คนบ้าคนเดิมจึงต้องยอมถอย

ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในนโยบายเกาหลี มองว่า เราสามารถแบ่งเหตุผลหลักๆ ของเรื่องนี้ออกเป็นเหตุผลส่วนตัวของคิมจองอึนหรือความมั่นคง กับเหตุผลด้านเศรษฐกิจ

 

สำหรับเหตุผลส่วนตัวของคิมจองอึนนั้น อาจารย์ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคนบ้า ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีใครอยากเข้าไปยุ่งด้วย หรือถ้ามีใครต้องการเข้าไปยุ่งด้วย ก็อาจเป็นเพียงการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์เพื่อป้องกันไม่ให้คนบ้าคลุ้มคลั่ง เพราะถ้าคลุ้มคลั่งขึ้นมา เขาอาจคว้ามีดไปไล่ฟันคนอื่นก็ได้ ดังนั้นการที่บางประเทศมีผู้นำที่เข้าขั้นบ้า ไม่ว่าจะบ้าอำนาจหรืออะไรก็ตามแต่ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นก็คือ หากมีประเทศอื่นเข้าไปยั่วยุเขา โดยเฉพาะเมื่อเขามีนิวเคลียร์ด้วยแล้ว เขาก็อาจจะใช้นิวเคลียร์ตอบโต้ประเทศเหล่านั้นก็เป็นได้

 

เพราะฉะนั้นในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังปี 1992 เป็นต้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือทั้งโลกมีคนบ้าอยู่เพียงคนเดียว ซึ่งก็คือผู้นำเกาหลีเหนือ หรือครอบครัวคิม ดังนั้นตระกูลคิมจึงอาศัยความบ้าคลั่งซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบนี้เล่นบทว่า ‘ฉันมีนิวเคลียร์นะ ฉันมีอำนาจต่อรอง เพราะฉะนั้นเธอจะต้องเอาใจฉัน’ ต่อให้ที่ผ่านมามีการกดดันหรือคว่ำบาตรรุนแรงหรือหนักหน่วงแค่ไหนก็ตาม สิ่งที่เราเห็นก็คือ ในที่สุดก็จะมีพันธมิตรของเกาหลีเหนือ ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือรัสเซียคอยให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีพรมแดนติดกับเกาหลีเหนือหรืออยู่ไม่ไกลกัน หากเกิดอะไรขึ้น ตัวเองก็จะเดือดร้อนด้วย

 

ดังนั้นต่อให้สหรัฐอเมริกาหรือสหประชาชาติมีข้อตกลงคว่ำบาตรเกาหลีเหนือรุนแรงเพียงใด ประเทศพันธมิตรเหล่านี้ก็ยังต้องส่งสินค้าจำเป็น เช่น ส่งพลังงาน ส่งอาหารไปให้เกาหลีเหนืออยู่ดี เพราะว่าตัวเองไม่อยากได้รับผลกระทบตรงนี้

 

ย้อนกลับมาที่เรื่องคนบ้า ซึ่งอาศัยข้อได้เปรียบจากนิวเคลียร์ในการข่มขู่ชาวบ้านไปเรื่อย หากเราเข้าไปยั่วยุ อาจทำให้เขากดปุ่มนิวเคลียร์ ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนไปกันใหญ่

 

แต่ประเด็นก็คือนาทีนี้ โลกมีคนบ้าสองคน อีกคนชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะฉะนั้นคนบ้าคนเดิมก็อาจเกิดความลังเลแล้วว่า หากอีกคนเอาจริงขึ้นมา สถานการณ์ของตนก็จะไม่ต่างอะไรไปจากมูอัมมาร์ กัดดาฟี (อดีตผู้นำเผด็จการลิเบีย), บาชาร์ อัล-อัสซาด (ประธานาธิบดีซีเรีย), หรือแม้แต่ซัดดัม ฮุสเซน (อดีตผู้นำอิรัก)

 

ดังนั้นผู้นำเกาหลีเหนือจึงเห็นว่า พวกเขาไม่สามารถงัดข้อกับทรัมป์ได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะไม่รู้ว่าถ้าวันดีคืนดีโดนัลด์ ทรัมป์ เอาจริงขึ้นมา อะไรจะเกิดขึ้น อย่างกรณีล่าสุดที่ทรัมป์สั่งให้ยิงจรวดร่อนโทมาฮอว์กไปถล่มคลังอาวุธเคมีของอัสซาดที่ซีเรีย เป็นต้น

 

ด้วยเหตุนี้เกาหลีเหนือเองจึงเริ่มมองแล้วว่า ณ สถานการณ์เช่นนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะนั่งลงคุยกับทรัมป์ จึงนำไปสู่การจัดประชุมซัมมิตระหว่างทรัมป์กับคิมจองอึนอย่างที่เราทราบกัน

 

 

แรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจที่เกาหลีเหนือต้องตัดสินใจ

ส่วนเหตุผลด้านเศรษฐกิจนั้น ถึงแม้เราจะเห็นว่าเกาหลีเหนือถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่ในอดีตเกาหลีเหนือจะมีการค้าขายกับจีนหรือรัสเซียอยู่ อย่างไรก็ดีในช่วงหลังๆ จะสังเกตได้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างเกาหลีเหนือกับจีนและรัสเซียได้ถดถอยลงอย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อดุลการค้า เพราะส่งออกได้น้อยลง ผลลัพธ์ในทางทฤษฎีก็คือเกาหลีเหนือจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่เกาหลีเหนือหวังพึ่งจากต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการซื้อนั้น ก็จะยิ่งลำบากขึ้นทุกที

 

ถึงแม้ภาพรวมระดับมหภาค (Macro) ของเกาหลีเหนือจะเป็นไปในแบบที่เห็น แต่ภาพเล็กลงในระดับจุลภาค (Micro) กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งที่เราเห็นจากภาพ Micro คือเงินดอลลาร์ เงินยูโร และเงินหยวนได้ไหลเข้าไปหมุนเวียนค้าขายในตลาดมืดของเกาหลีเหนือมากขึ้น คนเกาหลีเหนือเองก็เริ่มที่จะนำเงินดอลลาร์และเงินยูโรไปใช้ผลิตและซื้อขายสินค้ากันเอง

 

เพราะฉะนั้นร้านค้าเล็กๆ ที่ซื้อขายกันภายในชุมชนและมีการเก็บสะสมเงินตราต่างประเทศจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้เศรษฐกิจในภาพรวมจะดูกระท่อนกระแท่น แต่เศรษฐกิจระดับชุมชนกลับสร้างโอกาสให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งขัดแย้งกับหลักการสำคัญที่สุดของเกาหลีเหนือ นั่นก็คือหลักการ ‘จูเช’ (Juche)

 

จูเช คือ State Ideology หรืออุดมการณ์รัฐของเกาหลีเหนือที่พูดถึงการพึ่งพาตนเอง (Self-reliant) แบบเข้มข้น จูเชจะมาพร้อมแนวคิด ‘ซองกุน’ (Songun) หรือทหารต้องมาก่อน สองคอนเซปต์นี้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยจูเชให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตนเองใน 3 ด้าน

 

ด้านแรกเรียกว่า ‘จาจู’ (Jaju) หรือเอกราชทางการเมือง กล่าวคือต้องไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น มุ่งเน้นเรื่องอำนาจอธิปไตย ความมั่นคง และการเมืองต้องมาก่อน

 

ส่วนด้านที่ 2 คือ ‘จาลิป’ (Jarip) ซึ่งให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเอง โดยปิดประเทศและผลิตของใช้เอง

 

และด้านสุดท้ายคือ ‘จาวี’ (Jawi) ซึ่งพูดถึงกลไกทางการทหารเพื่อป้องกันตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการซองกุนที่ให้ความสำคัญกับทหาร

 

เมื่อดูจากหลักการซองกุนและจูเชแล้ว จะเห็นว่าเศรษฐกิจเกาหลีเหนือกำลังถูกท้าทายจากประชาชนรายย่อยที่เริ่มนำเงินตราต่างประเทศไปซื้อขายในระบบใต้ดิน

 

แต่ในด้านดีก็มี เพราะที่ผ่านมาเกาหลีเหนือสามารถทำให้นานาชาติเห็นว่า พวกเขาไม่มีทางตกเป็นเป้าโจมตีเหมือนกับลิเบียที่ถูกโค่นล้มระบอบการปกครองของผู้นำกัดดาฟี หรือถูกถล่มด้วยโทมาฮอว์กเหมือนกับซีเรีย เนื่องจากพวกเขามีอาวุธนิวเคลียร์ถึงขนาดที่ประเทศมหาอำนาจต้องยอมมาคุยด้วย

 

เพราะฉะนั้นการที่เกาหลีเหนือเลือกเวลานี้ในการยุติการทดลองนิวเคลียร์และขีปนาวุธจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และส่งผลดีต่อคิมจองอึนเอง

 

                      

สันติภาพถาวรระหว่างสองเกาหลีต้องรอดูยาวๆ

สำหรับการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีมุนแจอินกับคิมจองอึน ซึ่งจะจัดขึ้นที่หมู่บ้านพักรบในปันมุนจอมในวันศุกร์นี้นั้น ผศ.ดร.ปิติ มองว่าให้จับตา ชุงอุยยอง ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสูงสุดของประธานาธิบดีมุนแจอิน เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการเจรจากับเกาหลีเหนือ เพราะอย่าลืมว่าการจัดประชุมซัมมิตในแต่ละครั้ง ย่อมหมายถึงว่าทุกสิ่งทุกอย่างได้ผ่านการเจรจาเสร็จสิ้นแล้ว เพียงแต่รอผู้นำไปจับมือและลงนามเท่านั้น

 

สำหรับสนธิสัญญาสันติภาพเพื่อยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการนั้น อาจารย์มองว่ายังต้องใช้เวลาอีกนาน หรือถ้ามีข้อตกลงเกิดขึ้นจริงก็อาจเป็นข้อตกลงที่ไม่มีผลผูกพันแบบรวดเร็วทันใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นการเริ่มต้นกระบวนการเซ็นสัญญาสงบศึกมากกว่า เพราะเรื่องนี้ยังต้องรอดูกันยาวๆ  

 

และในความเป็นจริงแล้ว ก็เริ่มมีคนตั้งคำถามด้วยซ้ำว่าการเซ็นสัญญาสงบศึกสามารถทำได้จริงหรือ เพราะมีคนวิเคราะห์ไว้ว่าผู้ที่ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงเมื่อปี 1953 ไม่ใช่ลีซังมัน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น แต่เป็นผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ในสงครามเกาหลี ดังนั้นจึงมีข้อถกเถียงตามมาว่า ถ้าจะยุติสงครามกันจริงๆ ใครจะเป็นคนเซ็น ระหว่างเกาหลีใต้หรือสหรัฐฯ หรือสหประชาชาติ เพราะในตอนนั้นสหรัฐฯ ทำหน้าที่เป็นผู้นำของกองกำลังสหประชาชาติ ซึ่งตรงนี้อาจเป็นประเด็นทางกฎหมายที่ต้องมาถกเถียงกัน

 

 

การรวมชาติยังห่างไกลความจริง

อาจารย์ปิติมองว่า เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยังไม่มีทางก้าวไปถึงการรวมชาติในเร็วๆ นี้แน่ เพราะกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลานานมาก เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่สุดของการรวมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของออสเตรีย เวียดนาม หรือเยอรมนีในอดีตก็คือเจตจำนงของคนในประเทศว่าต้องการรวมชาติหรือไม่

 

คำถามคือ คนเกาหลีเหนือต้องการรวมกับเกาหลีใต้ไหม ตรงนี้ไม่มีใครรู้ เพราะเราไม่เคยได้ยินเสียงสะท้อนจากคนเกาหลีเหนือ แล้วคนเกาหลีใต้ล่ะ ต้องการรวมชาติไหม?

 

คำตอบคือ ณ ปัจจุบันคนที่สนับสนุนประธานาธิบดีมุนแจอินส่วนใหญ่คือคนในวัย 30 ปีลงมา ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ออกไปประท้วงขับไล่ปาร์คกึนฮเยที่ลานหน้าพระราชวังคย็องบก คนกลุ่มนี้ไม่ได้รู้สึกผูกพันกับเกาหลีเหนืออีกต่อไป เพราะคนที่รู้สึกว่าเกาหลีเหนือเป็นญาติพี่น้องคือคนหลังวัยเกษียณเสียส่วนใหญ่ หรือพูดง่ายๆ คือเป็นวัยรุ่นในช่วงปี 1950 ลองนึกดูว่าถ้าคุณอายุ 20 ในปี 1950 ปัจจุบันคุณจะต้องมีอายุมากกว่า 80 ปี เพราะฉะนั้นคนพวกนี้จึงไม่มีบทบาทอะไรแล้ว และก็เหลือจำนวนน้อยลงเต็มที

 

แต่ก็มีบ้างที่คนรุ่นลูกจะมีความรู้สึกผูกพันอยู่ อาจเป็นเพราะได้ยินพ่อแม่พูดถึงลุงป้าน้าอาที่พลัดพรากไปอยู่เกาหลีเหนือ แต่ปัจจุบันคนเหล่านั้นมีอายุปาเข้าไป 60 ปีแล้ว ส่วนคนที่มีบทบาททางการเมือง คนที่เป็นผู้นำ หรือคนที่ออกมาสนับสนุนรัฐบาลจะเป็นกลุ่มคนวัยรุ่น ซึ่งมองว่าการรวมชาติอาจสร้างภาระให้กับเกาหลีใต้ด้วยซ้ำ

 

เพราะฉะนั้นเมื่อประชาชนไม่ได้มอบอำนาจให้รัฐบาลเดินหน้ารวมประเทศ กระบวนการไปสู่จุดนั้นจึงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะประชาชนคิดว่าคนที่เสียตังค์เยอะที่สุดก็คือคนเกาหลีใต้ และคนที่จะควักกระเป๋าออกมาจ่ายเพื่อให้สามารถรวมชาติได้สำเร็จก็คือคนทำงานที่จ่ายเงินในรูปภาษี ดังนั้นพวกเขาจึงยังไม่เห็นความสำคัญของการรวมชาติ

 

ผศ.ดร.ปิติ กล่าวต่อไปว่า การรวมชาติจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัยสนับสนุนที่สุกงอมจริงๆ เช่น เกาหลีใต้เข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ขาดแรงงานหรือทรัพยากรขั้นรุนแรง แล้วชาวเกาหลีใต้เห็นว่าเกาหลีเหนือมีศักยภาพเพียงพอที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ เมื่อนั้นจึงจะมีโอกาสรวมชาติกันได้สำเร็จ         

 

 

ขอบเขตการปลดอาวุธนิวเคลียร์

มาถึงอีกหนึ่งคำถามสำคัญว่าด้วยเงื่อนไขการปลดอาวุธนิวเคลียร์ (Denuclearization) อาจารย์ปิติกล่าวว่าให้ดูที่ขอบข่าย Denuclearization ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญสู่ความสำเร็จในการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ โดยเราอาจแบ่งขอบเขตออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้

 

1. เกาหลีเหนือสามารถเก็บอาวุธนิวเคลียร์ได้ต่อไป รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ได้ต่อ แต่ต้องเป็นโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งข้อนี้อเมริกาคงไม่เอาด้วยแน่ เพราะทรัมป์เพิ่งออกมาเน้นย้ำความต้องการให้เกาหลีเหนือทำลายระเบิดนิวเคลียร์ทิ้งทั้งหมด

 

2. เกาหลีเหนือสามารถเก็บอาวุธได้ต่อไป แต่ห้ามพัฒนานิวเคลียร์ต่อ รวมถึงห้ามวิจัย ทดลองหรือทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นนิวเคลียร์เพื่อสันติหรือความมั่นคง ซึ่งข้อนี้แม้จะอยู่ในระดับกลางๆ ที่พอรับได้ แต่ก็สร้างความหวาดระแวงให้กับสหรัฐฯ อยู่ดี

 

3. เกาหลีเหนือเก็บอาวุธได้ต่อไป แต่ห้ามพัฒนาต่อ และต้องนำอาวุธออกมาแสดง พร้อมอนุญาตให้นานาชาติเข้าไปสำรวจว่าเก็บอาวุธไว้ที่ไหนบ้าง

 

4. เกาหลีเหนือต้องนำอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดออกมาแสดง พร้อมอนุญาตให้นานาชาติเข้าไปสำรวจแหล่งเก็บอาวุธ และหารือกันว่าจะนำอาวุธนิวเคลียร์ไปเก็บที่ไหนต่อหรือทำลายอย่างไร

 

 

ซึ่งตามทัศนะของ ผศ.ดร.ปิติ เกาหลีเหนือน่าจะเลือกขอเก็บอาวุธไว้เพื่อเป็นหมากต่อรอง หรือก็คือข้อ 3 ในขณะที่สหรัฐฯ ต้องการให้เป็นอย่างหลังสุดคือทำลายนิวเคลียร์ทั้งหมดโดยไม่มีข้อแม้

 

ส่วนในระยะยาวอาจารย์เชื่อว่า หากเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้สามารถรวมชาติกันได้ เกาหลีใต้อาจต้องการให้มีการพัฒนานิวเคลียร์ต่อ เพราะหากรวมชาติได้สำเร็จ ประเทศเกาหลีจะมีขนาดใหญ่ขึ้น มีทรัพยากรมากขึ้น และหากมีนิวเคลียร์ด้วย จะทำให้เกาหลีกลายเป็นชาติมหาอำนาจที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก

 

ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว เกาหลีใต้อาจต้องการรักษาโครงการนี้ไว้ เพียงแต่ต้องหาวิธีการที่สามารถเก็บไว้ได้โดยไม่ถูกประณาม เพราะเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไม่ได้มีเฉพาะองค์ความรู้ด้านอาวุธ แต่ยังสามารถต่อยอดในด้านพลังงานและการแพทย์ด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นประเด็นที่น่าขบคิดในอนาคตว่า หากรวมชาติกันได้สำเร็จจะมีการวางแผนในเรื่องนี้อย่างไร

 

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าการเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ หรือเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้จะลงเอยอย่างไร ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เพราะในอดีต เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็เคยมีบทบาทสำคัญในการเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีนับแต่นั้นมา

 

กรณีของเกาหลีเหนือก็เช่นกัน การเดินทางเยือนเปียงยางของชุงอุยยอง หรือแม้แต่ไมค์ ปอมเปโอ ว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐฯ อาจกลายเป็นปฐมบทแห่งการเจริญสัมพันธไมตรีสู่ภาวะปกติระหว่างสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือก็เป็นได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X