ทุกครั้งที่เราได้ยิน ‘ข่าวการระบาด’ ของโรคที่ไม่คุ้นหู
โรคนั้นอาจเป็นโรคที่ไม่เคยพบมาก่อน (โรคอุบัติใหม่) โรคที่ไม่ได้ยินมานานแล้ว (โรคอุบัติซ้ำ) หรือโรคที่พบบ่อยแต่ไม่ค่อยเป็นข่าว (โรคประจำถิ่น) แต่เราก็มักจะนึกถึงฝันร้ายโควิด-19 เมื่อ 5 ปีก่อน เกิดเป็นความกังวลว่าสถานการณ์จะเลวร้ายเช่นนั้นอีก ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ เราจะรับมือกับข่าวโรคระบาดอย่างไรไม่ให้ตื่นตระหนก
ในฐานะแพทย์ระบาดวิทยา ขอแนะนำให้ใช้ ‘คำถาม 3 ข้อ’ ในการรับมือกับข่าวโรคระบาด และยกตัวอย่างข่าว ‘โนโรไวรัสระบาด’ ที่กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนในขณะนี้
ถามตัวเองก่อน 3 ข้อ
ก่อนที่สิ่งที่เรารับรู้จะกลายเป็นความกังวล ผมอยากให้ตั้งสติด้วยคำถามที่ผมประยุกต์มาจากขั้นตอนการทำงานของทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (Situation Awareness Team: SAT) ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวัง เตือนภัย ประเมินสถานการณ์ และรายงานโรคและภัยสุขภาพในพื้นที่ที่รับผิดชอบ สรุปเป็นคำถาม 3 ข้อ ดังนี้
- ข่าวจริงหรือไม่? เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของข่าว เริ่มจากตรวจสอบ ‘แหล่งข่าว’ คือมีที่มาชัดเจน เป็นบุคคลหรือหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานรัฐ สำนักข่าว เพราะบางครั้งอาจเป็นข่าวลือ จากนั้นตรวจสอบ ‘ข้อเท็จจริง’ โดยอาจเปรียบเทียบ (รีเช็ก) กับแหล่งข่าวอื่น หรือสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนั้นๆ
เมื่อตรวจสอบแล้วว่าเป็นข่าวจริง ก็ไปต่อกันที่ข้อถัดไป
- เราเสี่ยงแค่ไหน? เป็นการประเมินความเสี่ยงจากโรคนั้นๆ พิจารณาจาก ความเสี่ยง = โอกาสที่จะเกิด x ความรุนแรง แปลให้เข้าใจง่ายคือ ความเสี่ยงขึ้นกับว่าโรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับเราหรือไม่ และถ้าเกิดแล้วเราจะป่วยรุนแรงหรือไม่
ปัจจัยแรก เรามีโอกาสป่วยเป็นโรคนั้นหรือไม่ การตอบคำถามนี้เราควรมีความรู้เกี่ยวกับ ‘โรค’ ก่อน จากนั้นเปรียบเทียบกับ ‘ตัวเรา’ ว่าเกี่ยวข้องกับโรคนั้นเพียงใด
เราควรมีความรู้เกี่ยวกับโรคใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. เชื้อโรค เกิดจากเชื้ออะไร ติดต่อผ่านทางไหน มีพาหะนำโรคหรือไม่ 2. คน เกิดขึ้นกับใคร ที่ไหน และเมื่อไร เช่น กลุ่มอายุใดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด มีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทยหรือไม่ เมื่อเดือนอะไร 3. สิ่งแวดล้อม เกิดในสภาพแวดล้อมแบบใด เช่น ฤดูอะไรที่พบผู้ป่วยมากที่สุด หลังจากเกิดภัยพิบัติอะไรแล้วพบผู้ป่วยมากขึ้น
ตัวอย่างการเปรียบเทียบกับตัวเรา เช่น เรามีพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นช่องทางให้เชื้อเข้าสู่ตัวเราหรือไม่ เรามีอายุอยู่ในกลุ่มที่พบผู้ป่วยจำนวนมากหรือไม่ เราอยู่ในพื้นที่ที่มีรายงานโรคหรือไม่ เป็นต้น
ปัจจัยที่ 2 ถ้าป่วยแล้ว เราจะป่วยรุนแรงหรือไม่ พิจารณาจาก ‘อัตราป่วยตาย’ ว่าในคนป่วย 100 ราย พบเสียชีวิตกี่ราย เช่น โควิด-19 ในช่วงแรกมีอัตราป่วยตาย 2% บางโรคมีอัตราป่วยตายสูงกว่านั้น เช่น อีโบลา 25-90% และพิจารณาจาก ‘กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง’ ว่ากลุ่มใดที่ต้องนอนโรงพยาบาล/เสียชีวิตบ้าง ซึ่งมักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไป
นอกจากนี้ยังอาจพิจารณาจาก ‘การรักษา’ ว่ามียารักษาเฉพาะ เช่น ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัสหรือไม่
เมื่อพิจารณาทั้งสองปัจจัยแล้วก็จะสามารถสรุปได้ว่า เรามีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง-สูง
- เราควรทำอะไร? เป็นการระบุวิธีการป้องกันการป่วยและอาการรุนแรง ระดับความเข้มขึ้นกับความเสี่ยงที่เราประเมินได้ โดยการปฏิบัติตัวแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่
- การป้องกันโรค มีวัคซีนป้องกันโรคหรือไม่ มีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคอะไรบ้าง ซึ่งจะขึ้นกับวิธีการติดต่อ เช่น โรคติดต่อทางเดินหายใจ ป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือเป็นประจำ 2. การสังเกตอาการ อาการของโรคมีอะไรบ้าง อาการแบบใดที่ควรไปพบแพทย์ เพื่อจะได้รีบไปโรงพยาบาล และ 3. การรักษาโรค หากไม่มียารักษาเฉพาะก็จะเป็นยารักษาตามอาการ
ยกตัวอย่างข่าวโนโรไวรัสระบาด
โนโรไวรัส เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง มักพบการระบาดในฤดูหนาว หลายคนมักจะเชื่อมโยงโรคอุจจาระร่วงกับฤดูร้อน เพราะอากาศร้อนทำให้อาหารบูดเสียง่าย ซึ่งเป็นผลมาจาก ‘แบคทีเรีย’ เติบโตได้เร็วขึ้นเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทว่าตรงกันข้ามกับ ‘ไวรัส’ ที่มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้นเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลง จึงพบโรคอุจจาระร่วงในช่วงนี้ได้เช่นกัน
ข่าวโนโรไวรัสระบาดมี 2 ข่าวหลักด้วยกัน คือ การระบาดของโนโรไวรัสที่ประเทศจีน และการระบาดของโรคอุจจาระร่วงในงานกีฬาสีที่จังหวัดระยอง มีนักเรียนป่วยมากกว่า 1,400 ราย
เริ่มจากคำถามข้อแรก 1. ข่าวจริงหรือไม่? วิธีการตรวจสอบข่าวที่ผมใช้บ่อยคือการค้นหาในเว็บไซต์ Google ด้วยคำค้น ชื่อโรค ตามด้วยชื่อสถานที่ และเวลา และหากเป็นการระบาดในต่างประเทศควรใช้ภาษาอังกฤษ เช่น Norovirus China 2024 พบว่า
– การระบาดของโนโรไวรัสในหลายพื้นที่ของประเทศจีน เป็น ‘ข่าวจริง’ และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งประเทศจีนได้ออกคำแนะนำแนวทางการป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัสในโรงเรียนและสถานที่สำคัญ เช่น ศูนย์เด็กเล็ก และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
– การระบาดของโรคอุจจาระร่วงในงานกีฬาสีที่จังหวัดระยองจากโนโรไวรัส เพจกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ว่าเป็น ‘ข่าวปลอม’ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สาเหตุจากเชื้ออีโคไล และโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (แบคทีเรียที่พบในแหล่งน้ำ ดิน และอุจจาระ)
ทว่าเมื่อสืบค้นข่าวย้อนหลังกลับไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 เคยแถลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ว่า เกิดจากการติดเชื้อโนโรไวรัสที่ปนเปื้อนมากับน้ำและน้ำแข็ง ซึ่งหากอ้างอิงตามข่าวนี้ก็ไม่น่าจะใช่ ‘ข่าวปลอม’ แต่อย่างใด ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึง
ควรอธิบายเพิ่มเติมว่าเพราะอะไรที่ทำให้ข้อเท็จจริงถึงไม่ตรงกัน
- เราเสี่ยงแค่ไหน? โนโรไวรัสก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง สามารถติดต่อได้ง่าย เนื่องจากไวรัสจำนวนไม่ถึง 100 ตัวสามารถก่อให้เกิดโรคได้ ติดต่อผ่านการปนเปื้อนของอาหารและน้ำ พื้นผิวที่ปนเปื้อนอาเจียนหรืออุจจาระ และมีรายงานว่าติดต่อผ่านอากาศได้ โดยละอองขนาดเล็กเกิดจากการอาเจียนแรงหรือแรงดันน้ำหลังกดชักโครก แต่ไม่ใช่วิธีการติดต่อหลัก
เด็กและผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อโนโรไวรัสได้ ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ไข้ต่ำๆ มักหายได้เองภายใน 1-3 วัน แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ไม่มียาต้านไวรัส ดังนั้นอาการและความรุนแรงของโนโรไวรัสจึงใกล้เคียงกับโรคอุจจาระร่วงทั่วไป
เมื่อพิจารณาจากความสามารถในการติดเชื้อ และช่วงนี้เป็นฤดูหนาว ซึ่งอากาศเย็นต่อเนื่องหลายวัน ผมจึงประเมิน ‘โอกาสที่จะเกิด’ อยู่ในระดับปานกลาง ส่วน ‘ความรุนแรง’ อยู่ในระดับต่ำ ประมวลเป็นความเสี่ยง = โอกาสที่จะเกิด x ความรุนแรง ในระดับปานกลาง
- เราควรทำอะไร? โนโรไวรัสยังไม่มีวัคซีนป้องกัน จึงต้องเน้นที่สุขอนามัยส่วนบุคคล
โรคนี้ติดต่อผ่านอาหารและน้ำ จึงควรยึดหลัก ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ’ และ ‘สุก ร้อน สะอาด’ คืออาหารต้องปรุงสุก หากปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมงควรนำมาอุ่นร้อน น้ำและน้ำแข็งต้องสะอาด ที่สำคัญคือต้องล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่ เนื่องจากแอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อโนโรไวรัสได้
การรักษาเหมือนโรคอุจจาระร่วงทั่วไป คือ ดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชย ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง อาการจะดีขึ้นเองภายใน 1-3 วัน อาการที่ควรไปพบแพทย์คือ ถ่ายอุจจาระมากหรือเป็นมูกเลือด อาเจียนบ่อย ดื่มน้ำเกลือแร่ไม่ได้ อ่อนเพลีย
โดยสรุปเมื่อได้ยินข่าวการระบาดของโรค ผมแนะนำให้รับมือด้วยการถามตัวเองก่อน 3 ข้อ คือ 1. ข่าวจริงหรือไม่ เพราะบางครั้งอาจเป็นข่าวปลอม 2. เราเสี่ยงแค่ไหน ขึ้นกับโอกาสที่จะเกิด x ความรุนแรง ทำให้เราไม่กังวลมากเกินไป แต่ก็ไม่ชะล่าใจ และ 3. เราควรทำอะไรเพื่อป้องกันโรค ส่วนโนโรไวรัสไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ เป็นโรคประจำถิ่นที่มักพบการระบาดในช่วงฤดูหนาว การป้องกันและการรักษาเหมือนกับโรคอุจจาระร่วงอื่น ที่ต้องเน้นย้ำคือต้องล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่เท่านั้น
อ้างอิง: