ผู้ชายคนนี้ไม่ได้ตลกอย่างที่คิด
ความรู้สึกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความผิดหวัง แต่เป็นความรู้สึกชื่นชมปนประหลาดใจที่มากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากพูดคุยกับ นนท์-ธนนท์ จำเริญ เป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง
เพราะฉากหน้าที่เขานำเสนอให้ทุกคนได้เห็นนับตั้งแต่โชว์เสียงร้องบนเวที The Voice Thailand เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน คือภาพของเด็กผู้ชายหัวไว เสียงดี มีอารมณ์ขัน เข้ากับทุกคนได้ง่าย เป็นน้องชายที่พี่ๆ เอ็นดู และเป็นศิลปินที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับผู้คนได้ทุกครั้งที่ปรากฏตัว
กระทั่งวันที่ไม่มีกล้องตัวไหนคอยจับ ไม่มีความคาดหวังว่าเขาจะต้องทำให้ใครหัวเราะ เราค่อยๆ ค้นพบแง่มุมน่าสนใจหลายอย่าง ที่นนท์พาเราไปสำรวจความคิดตั้งแต่วัยเด็กที่เริ่มเรียนรู้ความสำคัญของชีวิตจากการสูญเสียเพื่อนก่อนวัยอันควร, การรู้สึกว่าตัวเองประหลาดและไม่เข้าพวก, การรักษาสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงาน
การมองโลกว่าเป็น ‘สีเทา’ ไม่ใช่ขาวหรือดำ, การทำให้พ่อแม่มีความสุข, และบทบาทการเป็นยูทูเบอร์ในสังกัด Online Station ที่ทำให้เขาได้กลับมาเล่นเกมซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เขารักมากที่สุด รวมทั้งการพูดถึงเรื่อง ‘ความตาย’ อยู่หลายครั้ง โดยที่เราไม่ทันได้ถาม
และเป็นผู้ชายอายุเพิ่งครบ 25 ปี ที่ได้เตรียมโลงศพของตัวเองเอาไว้แล้ว
เท่าที่ติดตามมา เราสังเกตว่านนท์เป็นคนที่มีความสนใจหลายอย่างมาก คิดว่าอะไรคือพื้นฐานที่ทำให้มีความคิดแบบนี้
เริ่มตั้งแต่ตอนเด็กๆ ที่ผมซนมาก แขนหัก หัวแตก ต้องพาไปโรงพยาบาล จนมาเจอดนตรีที่รู้สึกว่าทำแล้วคนอื่นๆ ไม่ต้องมาตามเช็ดตามล้างหรือทำใครเดือดร้อน ซึ่งผมโชคดีโตมาในบ้านที่สอนมาดี ให้ลองทุกอย่างให้ตัวเอง จะซน เล่นดนตรี หรือทำอะไรก็ไม่มีใครห้าม
ผมสนุกกับการทดลองไปเรื่อยๆ ไม่ปิดกั้นตัวเอง พอเจออะไรไม่ชอบก็มาร์กเอาไว้ แล้วไม่ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ ถ้าเจอสิ่งที่ชอบก็มาร์กเอาไว้เหมือนกัน แต่ไม่ได้รู้สึกว่าผมหาตัวเองเจอเร็ว เพราะตอนนี้ผมรู้ว่าชอบดนตรี ชอบเล่นเกมมากที่สุด แต่ในอนาคตผมอาจจะชอบดริปกาแฟก็ได้ ตอนนี้ก็ยังพยายามหาสิ่งที่ชอบอยู่ตลอด ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่ชอบดีกว่า เพราะเดี๋ยวเราก็ตายครับ แถมก่อนตายต้องแก่ก่อนนะ กิจกรรมหลายอย่างต้องตัดไปอีก
“ต้องใช้ชีวิต เป็นคำที่ผมบอกเพื่อนๆ น้องๆ ทุกคนตลอดเลย อย่าลืมใช้ชีวิตนะเว้ย เพราะวันหนึ่งแก่ตัวไปแล้วชีวิตที่ไม่ได้ใช้มันไม่ใช่ชีวิต ไม่เบื่อเหรอวะ”
เหมือนที่หลายคนรู้สึกว่าความแก่น่ากลัวกว่าความตาย
ใช่ครับ ความแก่มันน่ากลัว ขนาดยังไม่แก่บางอย่างผมยังทำไม่ได้เลย เพราะหน้าที่การงานผมจะเล่นกีฬาที่เอ็กซ์ตรีมมากๆ ไม่ได้แล้ว อย่างผมเล่นสกูตเตอร์ล้อเดียวแล้วแขนหัก ทีมงานก็เดือดร้อน มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นมา ไม่ได้จบแค่ตัวเราอย่างเดียวแล้ว ทำให้หลายอย่างที่อยากทำต้องลดลงไป
แต่ยังไงผมก็ต้องใช้ชีวิต เป็นคำที่ผมบอกเพื่อนๆ น้องๆ ทุกคนตลอดเลย อย่าลืมใช้ชีวิตนะเว้ย เพราะวันหนึ่งแก่ตัวไปแล้วชีวิตที่ไม่ได้ใช้มันไม่ใช่ชีวิต ไม่เบื่อเหรอวะที่ต้องใช้ชีวิตตามคำสั่งคนอื่นตลอดเวลา แค่ทำในสิ่งที่ชอบบ้าง มีความคิดขบถ แต่เราไม่ทำเรื่องเลวร้าย ขอให้อยู่บนพื้นฐานที่เป็นตัวเองและไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
เริ่มค้นพบบาลานซ์ในการใช้ชีวิตตั้งแต่เมื่อไร
มาพร้อมกับการเห็นคุณค่าในตัวเอง มีช่วงหนึ่งที่ผมให้คุณค่าของตัวเองตามคำพูดของคนอื่น เคยพยายามค้นหาว่าต้องเป็นคนในวงการบันเทิงแบบไหน ผมถูกถามบ่อยมากกว่าทำไมเสร็จงานแล้วไม่ไปอาฟเตอร์ปาร์ตี้ แล้วมีช่วงที่พยายามต้องคุยกับเขาให้ได้ในหลายๆ เรื่อง แต่ด้วยความที่ผมไม่ใช่คนกินดื่ม ไม่สามารถไปแฮงเอาต์กับเขาได้ พอไปเขาก็จะอึดอัด เกร็งๆ กันว่าทำไมมึงไม่กินวะ
ผมค้นพบเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก เคยไปปาร์ตี้กับเพื่อนช่วงประมาณ ม.4 ไม่ได้ดื่มด้วยนะ แต่เห็นสภาพเพื่อนที่เมาเละเทะ รับผิดชอบตัวเองไม่ได้ อ้วกใส่ตัวผมเต็มไปหมด ตื่นมาแฮง เสียเวลาชีวิตเป็นวัน แล้วบอกว่าตอนเมาเป็นช่วงที่มีความสุขมากเลยนะ ซึ่งมันจะเป็นความสุขที่ดีได้ยังไง ในเมื่อเราไม่มีสติพอที่จะจดจำมันได้แล้ว
ผมเลยคิดว่าเป็นแบบนี้ไม่ได้ ผมเกิดมาแค่สองหมื่นวัน ผมอยากจำสองหมื่นวันนั้นให้ได้มากที่สุด อยากเล่าให้ลูกฟังได้ว่าพ่อเจออะไรมาบ้าง การเล่าประสบการณ์ตัวเองได้เท่ากับเราตัดเวลาที่ลูกต้องไปลองผิดลองถูกเองได้เยอะเหมือนกันนะ แต่ผมจะไม่ตัดสินอะไรเลยว่าอันไหนถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี พ่อแค่เล่าให้ฟังว่าเป็นอย่างนี้นะ ท้ายที่สุดจะถูกหรือไม่ถูกไม่เป็นไร ถ้าอยากจะลองก็ไปลองดู ผมอยากเป็นพ่อแบบนั้น
ถ้าเสร็จงานแล้วไม่ไปอาฟเตอร์ปาร์ตี้ นนท์จะไปทำอะไร
ช่วงหนึ่งไปยิงธนู (หัวเราะ) ตอนงานผมเยอะมาก 365 วัน ตีเฉลี่ยมกลมๆ ได้ 800 กว่างาน ใช้เสียงแบบไม่ได้พักจนเป็นตุ่มในเส้นเสียง ต้องหากีฬาที่ไม่ต้องพูดกับใคร เล่นเงียบๆ โฟกัสแค่ตัวเอง เพราะเวลาทำงานเราต้องอยู่กับคนอื่นเยอะมาก ซึ่งไม่ใช่แค่วงการบันเทิงนะ การทำงานทุกรูปแบบต้องทำงานกับคนอื่นทั้งหมด
มีเพื่อนผมหลายคนทำงานออฟฟิศ มาบอกว่าไลฟ์สไตล์ไม่ตรงกัน กูปรับตัวไม่ได้เลย แต่ก็ต้องไปกับพี่ๆ เพราะต้องพยายามหาสังคม จนเราถามกลับว่า อ้าว แล้วมึงไม่ถามตัวเองเลยเหรอว่านอกจากเขาไปไหนกัน แล้วมึงอยากไปไหนจริงๆ เพราะในบั้นปลายสุดท้ายตอนตายมึงต้องอยู่ในโลงคนเดียวนะ ต้องหาตัวเองให้ได้ก่อนไหม แล้วค่อยไปหาสังคมอื่นๆ
อย่างผมถ้าต้องไปงานปาร์ตี้กับเพื่อน ผมไม่อายที่จะไม่ดื่มแอลกอฮอล์นะ ตอนแรกๆ เพื่อนก็ถามว่าเพราะมึงทำงานในวงการหรือเปล่าวะ สร้างภาพนะเนี่ย สร้างภาพอะไร ไม่ต้องสร้างกูไม่กินอยู่แล้ว
ผมไม่ได้บอกว่าคนกินแอลกอฮอล์ผิดนะครับ ผมมีเพื่อนที่ดื่มกินปาร์ตี้ แต่เป็นคนที่ดี เป็นเพื่อนที่ดีมากหลายคน กับอีกอย่างคือผมไม่ไว้ใจตัวเอง ขนาดไม่เมาเรายังไม่ค่อยเต็ม ถ้าเมาจะขนาดไหน (หัวเราะ) ผมคิดว่าเป็นคนประหลาด มีหลายอย่างที่คนไม่เข้าใจ ซึ่งบางทีมันก็เศร้านะ
เริ่มรู้สึกว่าตัวเองประหลาดตั้งแต่ตอนไหน
ตั้งแต่เด็กๆ เลยครับ ผมเหมือนเป็นคนมีความขัดแย้งในตัวเองสูง คือพื้นฐานเป็นเด็กเนิร์ดมาก ชอบเล่นเกม ชอบดูการ์ตูนมาก อยากมีเพื่อนเป็นเด็กเนิร์ดแต่พวกเขาไม่เอา เขากลัวเพราะว่าผมตัวใหญ่ ตัวดำ หน้าตาหน้าเกลียด เรียกว่ากายภาพไม่เข้าพวก ยืนเฉยๆ คนก็กลัวแล้ว
บวกกับผมเป็นคนชอบตั้งคำถาม แล้วในโรงเรียนชอบบอกว่ามีอะไรจะถามไหม พอผมถามแล้วครูตอบไม่ได้ กลายเป็นกวนตีนดูหมิ่นเขา ยิ่งครูไม่เอาก็ต้องไปอยู่กับเด็กเกเร แล้วทำกิจกรรมด้วยนะ เล่นกีฬา เป็นประธานสี สภานักเรียนก็ลง มีเพื่อนหลายกลุ่มมาก
“กลุ่มผมมี 14 คน ตอนนี้เหลือ 7 คน ผมต้องพูดว่าขอให้ใครไม่มีใครตาย ขอไม่ต้องไปงานศพใครแล้วนะ”
เคยมีความรู้สึกว่า เราไม่อยากเป็นเด็กเกเร ต้องต่อต้าน ไม่ใช่เข้าร่วม บ้างไหม
มันไม่ใช่ว่าต้องเข้าร่วมหรือต่อต้าน แต่ผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วเราสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นอะไร คือผมมีความสุขที่ได้อยู่ในกลุ่มนั้นนะ แต่ขณะเดียวกันช่วงกำลังขึ้น ม.4 ผมรู้สึกว่าอยากเซ็ตตัวเองใหม่ อยากตั้งใจเรียนเพื่อสอบเข้าโรงเรียนที่พ่ออยากให้เรียน แล้วผมก็อยากเรียนด้วย
คุยกับเพื่อนตรงๆ ว่า เฮ้ย กูต้องตั้งใจเรียนแล้วว่ะ พวกมึงก็ตั้งใจเรียนกันด้วยนะ กลุ่มผมมี 14 คน ตอนนี้เหลือ 7 คน ตายไป 5 คน อีก 2 คนก็เละเทะ ทั้งมีเรื่องวิวาท อุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ หรืออะไรตามวัยเด็กที่มืดมนมาก ผมต้องพูดว่าขอให้ไม่มีใครตาย ขอไม่ต้องไปงานศพใครแล้วนะ ด้วยความที่พูดกันตรงไปตรงมา และเพื่อนอาจจะเกรงใจเรา เลยโชคดีว่าพอกลับไปอยู่กับกลุ่มเด็กเนิร์ด พวกเพื่อนอีกกลุ่มก็จะไม่แซวเรา
พอกลับมาอยู่กับเพื่อนอีกกลุ่มแล้วเป็นยังไง
ติงต๊องมาก (หัวเราะ) ต้องใช้เวลาปรับตัวเหมือนกันนะ เพราะเราเทไปกับเพื่อนอีกกลุ่มเยอะ แต่สุดท้ายไม่ใช่เรื่องยาก เราติงต๊องไปกับเขาได้ เพราะเรามีพื้นฐานความเนิร์ด ยังชอบดูการ์ตูน ชอบเล่นเกมหนักๆ อยู่
ด้วยความที่ผมมีเพื่อนหลายกลุ่มมาก ทำให้ผมเข้าใจความแตกต่างและเห็นความพิเศษในทุกๆ กลุ่ม อย่างกลุ่มเด็กกิจกรรมก็มีมุมที่พูดเก่งมาก ไม่รู้จริงสักอย่าง แต่ต้องพูด ต้องเอาตัวรอดไว้ก่อน เด็กเกเรก็จะภูมิใจในความโง่ของตัวเองมาก ไม่ได้มองเห็นว่าความโง่เป็นปัญหา ไม่อายที่จะยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ มันมีจุดแข็งและจุดอ่อนในทุกกลุ่มทุกสังคม ผมเลยได้พื้นฐานในการมองทุกเรื่องเป็นสีเทาๆ อยู่เสมอ
เหมือนนนท์จะไม่ได้จะถูกหล่อหลอมให้เป็นนนท์แบบทุกวันนี้จากอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ค่อยๆ หลอมรวมไปเรื่อยๆ
ใช่ครับ แต่จริงๆ มันแย่เหมือนกันนะ เพราะเราตอบตัวเองไม่ได้ว่าเราเป็นคนสปีชีส์ไหนกันแน่
คำถามที่ว่าเราเป็นคนแบบไหน สำคัญกับนนท์อย่างไรในตอนนั้น
สำคัญเพราะสังคมบอกให้เรานิยามตัวเองให้ได้ว่าเราเป็นอะไร ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนเด็กๆ ผมอยากเขียนหนังสือมือซ้าย แต่โดนครูตีบอกให้เขียนมือขวาเหมือนเพื่อน จนทุกวันนี้ผมเขียนหนังสือมือซ้ายห่วยแตกมาก ทั้งที่ถ้าผมได้เขียนมือซ้าย วันนี้ผมอาจจะวาดรูปเก่งมากก็ได้ใครจะรู้ แต่ตอนนี้ผมไม่มีเวลามาทำแบบนั้นแล้ว
แต่ไม่เป็นไร อย่างที่บอกว่านั่นคือชีวิตช่วงหนึ่ง ซึ่งมาถึงปัจจุบันผมจะไม่ให้ใครมาบอกแล้วว่าเราต้องทำอะไร แล้วกลับมาที่คำถามว่าเราอยู่หมวดหมู่ไหน ผมให้คำตอบกับตัวเองได้ว่าผมอยู่ในหมวดของคนที่ไม่เข้าพวก แล้วก็ไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวเองว่าอยู่ในหมวดไหนด้วย
“ปัจจุบันผมทำโลงศพตัวเองแล้วนะ เพราะพอเห็นเพื่อนตายแล้วเห็นพ่อแม่ต้องมาทำโลงศพ จัดการทุกอย่าง ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เลยเตรียมทุกอย่างไว้ก่อนเลย”
เท่าที่คุยกันมา นนท์เป็นคนอายุ 25 ปี ที่พูดถึงเรื่องความตายบ่อยมาก เริ่มรู้สึกสนใจในคำๆ นี้ตั้งแต่ตอนไหน
ช่วงที่เริ่มเห็นเพื่อนจากไป ผมรู้สึกว่าหลายคนยังมีหลายอย่างที่อยากทำแต่ไม่ได้ทำ แล้วผมไม่อยากเป็นแบบนั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งผมบวชอยู่ พอสึกออกมามีคนบอกว่ามึงทำใจดีๆ นะ เพื่อนคนหนึ่งคอหักจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ ทั้งที่มันใส่เซฟตี้ทุกอย่าง ทั้งหมวก ทั้งชุดแข่ง คอคือจุดเดียวที่มันไม่ได้ใส่เซฟตี้ ชีวิตมันไม่แน่นอนจริงๆ
ปัจจุบันผมทำโลงศพตัวเองแล้วนะ เพราะพอเห็นเพื่อนตายแล้วเห็นพ่อแม่ต้องมาทำโลงศพ จัดการทุกอย่าง ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เลยเตรียมทุกอย่างไว้ก่อนเลย
สมมติว่าตอนนี้ถึงเวลา นนท์รู้สึกว่าเราพร้อมที่จะไปแล้วหรือยัง
ถ้าจะไปก็ต้องไป แต่ใจผมรู้สึกว่ายังไปไม่ได้ เพราะผมยังมีพ่อแม่อยู่ หลายๆ คนพูดกันว่าขอเป็นคนแรกที่ไปก่อน เพราะไม่อยากเห็นคนในครอบครัวจากไปทีละคน แต่ผมไม่รู้สึกแบบนั้นเลย ผมขอส่งพ่อแม่ผมก่อน ผมอยากให้เขามีความสุขมากกว่านี้
เพราะพ่อแม่อยู่กับผมในช่วงลำบาก เป็นหนี้หลายล้านเพราะเซ็นค้ำประกันให้เพื่อน แล้วลูกก็ไม่แข็งแรง ไข้สูง 39 องศาตั้งแต่เกิด เกือบกัดนิ้วพ่อขาดตั้งแต่เด็ก แถมยังซนทุกวัน เดี๋ยวแขนหักขาหักต้องพาไปโรงพยาบาล เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่ทำให้ผมเริ่มทำงานด้วยตัวเองตั้งแต่ 7 ขวบ เพราะไม่อยากทำให้พ่อแม่เดือดร้อน
จนทุกวันนี้เราเริ่มอยู่ในช่วงที่ดีขึ้น อยากให้เขามีความสุขมากที่สุด ผมจะบอกตลอดเวลาที่พ่อแม่ทำอะไรไม่ค่อยรักตัวเอง อย่างพ่อผมขี้เกรงใจมาก เวลามาทำงานเขามีห้องรับรองศิลปินให้พ่อก็จะไม่ไปอยู่ ชอบไปอยู่ที่ลานจอดรถ จนมีครั้งหนึ่งมีคนเข้าใจว่าพ่อเป็น รปภ. ถามว่าลุงครับจอดรถตรงนี้ได้ไหม
ผมโมโหมากว่าทำไมถึงไม่รักตัวเอง ทำไมมานั่งร้อนๆ ตรงนั้น พ่อก็บอกเกรงใจโน่นนี่นั่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกรงใจ รู้สึกว่าต่อให้ไม่รักตัวเองพ่อก็ต้องรักผม พ่ออยู่กับผมในช่วงลำบากมาตั้งนาน ไม่คิดจะเก็บสุขภาพตัวเองมาอยู่ด้วยกันในวันที่มีความสุขบ้างเหรอ
ที่ผ่านมาเขาเสียเวลากับผมไปเยอะมาก ตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมาเขาก็ทำเพื่อผม ถ้าตอนผมเกิดพ่อแม่มีความทุกข์ขนาดไหน ตอนนี้พ่อแม่ต้องมีความสุขให้มากที่สุด ลงทุนซื้อบ้าน 20 ล้านให้อยู่ อยากแต่งตัวหล่อๆ สวยๆ ไปซื้อเลย ผมต้องคืนเขาให้ได้มากที่สุด แล้วหลังจากนั้นผมยินดีเลยที่จะรอส่งพ่อแม่จากไปทีละคน เพราะอย่างน้อยรู้แล้วว่าผมทำได้ดีที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรที่ผมเสียดายว่าทำตอนนั้นไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้พวกเขาวะ
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลที่รู้สึกว่ายังไม่อยากไป คือยังย้ำเหมือนเดิมว่าผมอยากใช้ชีวิต ยังรู้ไม่มากพอเลยว่ามีอันไหนบ้างที่เราทำได้หรือไม่ได้
มีเรื่องไหนบ้างที่ทำให้รู้สึกว่ายังไม่อยากจากไปในตอนนี้
เรื่องดนตรีก็ยังอยากทำอยู่ นอกจากนี้ก็คือการเป็นยูทูเบอร์ กับเล่นเกมที่ตอนนี้ทำอยู่กับสังกัด Online Station ผมชอบเล่นเกมมาตลอด ตั้งแต่ 8 ขวบ เล่น Ragnarok อยู่ในร้านเกม รับตีบวก ขายเงินในเกม ไม่กลับบ้าน ไม่หลับไม่นอนจนเลือดกำเดาไหล
แต่พอเริ่มทำงานร้องเพลงก็ไม่ค่อยได้เล่น เพราะรู้สึกว่าขอจัดการตัวเองให้เรียบร้อย สร้างความพร้อมให้ตัวเองก่อน ซึ่งใช้เวลานานเหมือนกันนะครับที่รู้สึกว่างานร้องเพลงเริ่มผลิดอกออกผล เราพร้อมจะกลับมาทำในสิ่งที่เราชอบสมัยเด็กๆ ได้แล้ว
อย่าให้พี่ได้ถือปืน พี่เตือนแล้วนะ!!! | I PLAY U ดู EP.2 – YouTube
“รู้สึกว่าคลิปของผมมันดีขึ้นได้อีก ถ้าเร่งทำมากเกินไปเหมือนลดมาตรฐานของตัวเอง แล้วดูถูกคนดูด้วย”
ทำไมเป็นยูทูเบอร์ต้องมีสังกัด ทั้งที่ถ้ามองจริงๆ นนท์น่าจะทำช่องของตัวเองได้อยู่แล้วหรือเปล่า
ผมเริ่มจากการเป็นคนดูของ Online Station มาก่อน อย่างที่บอกว่าผมชอบตั้งคำถาม เรื่องเกมก็เหมือนกัน แล้วการที่มี Online Station เขาเป็นเจ้าแรกๆ ในโลกออนไลน์ที่รู้จักและให้คำตอบผมได้ เวลาอ่านข่าวก็อ่านจากเขาเยอะ
ถ้ามองในเรื่องของเพลง เราอาจจะคล่องในระดับหนึ่ง แต่ถ้าไปเริ่มทางอื่นเหมือนต้องเริ่มใหม่ เราจะเอาอีโก้เดิมไปเริ่มต้นกับสิ่งใหม่ไม่ได้ การได้ทำงานกับทีม Online Station ดีมากตรงที่ผมได้ปรึกษาจากทีมงานที่มีความเข้าใจจริงๆ เขามีองค์ความรู้ มีทีมโปรดักชันที่ทำให้เรารู้สึกอุ่นใจในการทำงานตรงนี้
พอเริ่มมาทำตรงนี้ยังมีความรู้สึกว่านนท์เป็นสตรีมเมอร์หรือยูทูเบอร์ที่ไม่เข้าพวก หรือไม่เข้าหมวดหมู่ไหนอยู่ไหม
ผมชินแล้วครับ (หัวเราะ) ถ้าดูในแชนแนลก็จะเห็นว่าผมไม่ได้ลงถี่เหมือนคนอื่นๆ ซึ่งผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ นะครับ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่พอทำเร็วๆ แล้วมันดีขึ้นจริงๆ แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าสุดท้ายแล้วความถี่ก็ยังไม่สู้เรื่องของคุณภาพ
ผมคิดแบบนี้เหมือนตอนทำเพลง ฝืนตัวเองไม่เป็น กับ มีผลต่อหัวใจ ที่เพลงหนึ่งใช้เวลาปีครึ่ง เพราะผมอยากเล่าเรื่องของผมให้มันออกมาดีจริงๆ พี่แม็ค (ศรัณย์ วงศ์น้อย) เขาอยากปล่อย แต่ผมก็จะดื้อบอกว่าขออีกนิดหนึ่ง
มีผลต่อหัวใจ – นนท์ ธนนท์ [Official Music Video] – YouTube
ผมได้ฟังงานเพลงของเกาหลีรู้สึกว่าเขามาสเตอริงดีมาก เราพอมีงบทำมาสเตอริงแบบนั้นไหม ถ้าไม่มี เราสามารถลดตรงอื่นลงได้หรือเปล่า พี่เขาก็ซัพพอร์ตเราเต็มที่ และผมก็ดีใจที่เราไม่ดูถูกคนฟัง
ตอนทำYouTube ผมก็คิดคล้ายกัน คือผมขออีกนิดนะพี่ รู้สึกว่ามันดีขึ้นได้อีก ถ้าเร่งทำมากเกินไปเหมือนลดมาตรฐานของตัวเอง แล้วดูถูกคนดูด้วย ให้เขารอขึ้นอีกนิด จาก 2 สัปดาห์ต่อคลิป เป็น 3 สัปดาห์ต่อคลิปได้ไหม แล้วได้คอนเทนต์ที่สนุกกว่า ซึ่งมันอาจเป็นคอนเทนต์ที่ไม่โดนคนดูก็ได้นะ แต่ว่ามันโดนเราแล้ว อย่างน้อยเราก็ซื่อสัตย์กับตัวเอง
“อยากให้มองเวลาเล่นเกมเหมือนดูหนังหรือสื่ออื่นๆ ที่สุดท้ายอยู่ที่ตัวคุณเองว่ามีวิจารณญาณมากน้อยแค่ไหน”
นอกจากเล่นเกมแล้ว มีคอนเทนต์แบบไหนอีกบ้างอีกอยากทำ
หลายอย่างมากครับ ผมคิดไปถึงว่าอยากทำเกี่ยวกับข่าวเกมด้วยซ้ำในอนาคต เช่น รายงานข่าว บริษัทไหนปิดตัว บริษัทไหนเติบโต เกมไหนไม่มีภาคต่อ สรุปมุมมองของเรา แล้วแลกเปลี่ยนกันว่าแต่ละคนรู้สึกอย่างไร ให้มันลงลึกไปมากกว่าการเล่นเกมอย่างเดียว
เพราะปัจจุบันเกมไม่ใช่แค่เกมแล้ว แต่เป็นช่องทาง เป็นโอกาส เป็นอาชีพ เป็นสื่อที่ธุรกิจเติบโตพอๆ กับภาพยนตร์แล้ว นักแสดงฮอลลีวูดมาแสดงเป็น Motion Capture ตั้งหลายคนแล้ว หรืออย่างวงการอีสปอร์ต การแข่งขันของโปรเพลเยอร์นี่ซื้อตัวกันดุเดือดเหมือนนักฟุตบอลเลยนะ
เป้าหมายไกลๆ คือผมอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันวงการเกมให้ดีขึ้นด้วยนะ ผมอยากผลักดันเรื่องการซื้อเกมแบบถูกลิขสิทธิ์ ซึ่งพูดแบบนี้ไปเดี๋ยวมีคนด่าผมอีกว่า ใช่สิ มึงรวยแล้วไงถึงซื้อของแพงได้ อยากเริ่มตั้งแต่ช่วยทำความเข้าใจเลยว่าทำไมเกมถึงแพง เพราะมันมีค่าความคิด ค่าลิขสิทธิ์ โปรดักชัน และทีมงานมากมายที่ต้องลงทุนมหาศาล
ผมจำได้เลยว่าเวลาเล่นเกมเมื่อก่อนจะลำบากมาก ต้องไปซื้อบทสรุปภาษาญี่ปุ่นมาแปล สงสัยว่าทำไมเกมญี่ปุ่นทำภาษาอังกฤษ เมื่อไรจะมีภาษาไทยบ้าง จนเริ่มรู้ว่าเพราะตลาดที่ใช้ภาษาอังกฤษมีขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้และช่วยกันสนับสนุนทำให้เห็นว่าตลาดเกมในประเทศไทยใหญ่ จะทำให้บริษัทผู้ผลิตเกมเห็นศักยภาพการลงทุนที่คุ้มค่าในประเทศไทย
ตอนนี้เริ่มมีหลายเกมที่มีซับไตเติลภาษาไทยที่มาจากบริษัทใหญ่เลยนะ โอ้โห ผมดีใจมาก ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่ผมตื่นเต้นฉิบหายเลยนะ ทิศทางมันเริ่มดีขึ้นมากแล้ว ก็อยากช่วยผลักดันและสนับสนุนเรื่องนี้ให้มากขึ้นอีก
ในฐานะคนชอบเล่นเกมมากๆ รู้สึกอย่างไรบ้างที่ทุกวันนี้ยังมีคนบอกว่าเกมเป็นต้นเหตุของความรุนแรงหลายๆ อย่างอยู่เลย
ผมรู้สึกว่าคนที่เล่นเกมด้วยกัน เราพยายามทำให้วงการมันขาวที่สุด อยากให้มองเวลาเล่นเกมเหมือนดูหนังหรือสื่ออื่นๆ ที่สุดท้ายอยู่ที่ตัวคุณเองว่ามีวิจารณญาณมากน้อยแค่ไหน จริงๆ มันอาจจะผิดที่คนก็ได้ที่ไม่รู้จักควบคุมตัวเอง แล้วไปโทษสิ่งที่เกิดขึ้น
ส่วนตัวผมรู้สึกว่าอย่าไปโทษเกมเยอะ เพราะเกมมันพูดไม่ได้ แล้วผมไม่ได้ว่าทุกอย่างที่เกี่ยวกับเกมจะถูกทุกเรื่องนะ อย่างเช่น เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์นี่ผมก็ประณาม แต่ถ้าเป็นเรื่องเนื้อหาที่พรีเซนต์ อันนี้ตัวคนเล่นต้องมีวิจารณญาณในการรับชมเหมือนกัน
อย่างเวลามีข่าวคนปล้นแท็กซี่ แล้วบอกว่าเล่นเกม GTA (Grand Theft Auto) มาแล้วอยากทำตาม ถามจริงๆ ว่าฟังแล้วมันเมกเซนส์หรือเปล่า เราควรดูก่อนไหมว่าคนๆ นั้นมีพื้นฐานอย่างไร แรงจูงใจคืออะไร เขามีเหตุผลให้ต้องตัดสินใจทำแบบนั้นหรือเปล่า เราควรโฟกัสไปที่ตัวบุคคลมากกว่าเกมหรือเปล่า
สมมติอีกอย่างหนึ่ง เช่น ผมบอกว่าผมไปตุ๊ยท้องผู้หญิง หรือผมแก้พินัยกรรม ฆ่าพ่อตัวเอง แล้วบอกว่าอยากได้มรดกเพราะดูละครมา ถ้าเป็นแบบนี้คนจะไม่โฟกัสที่ละครมากเท่าเกม เขาจะบอกว่าฟังไม่ขึ้น จริงๆ เป็นเพราะมึงอยากได้มรดกต่างหาก แต่พอเปลี่ยนเป็นเกมขึ้นมา ฟีดแบ็กจะกลายเป็น ไม่ได้นะ ลูกฉันจะเล่นเกมนี้ไม่ได้นะ เพราะเขายังเด็กเกินไปที่จะแยกแยะได้
ถ้านนท์มีลูก จะให้ลูกเล่นเกมทุกเกมที่เขาอยากเล่นไหม
ให้เล่น แล้วผมนั่งเล่นด้วย เพราะนั่นคือความรับผิดชอบในฐานะพ่อแม่ของผม ผมคิดว่าลูกสามารถทำอะไรก็ได้ เล่นโทรศัพท์มือถือตั้งแต่เด็กก็ได้ แต่พ่อแม่ต้องอยู่ด้วยนะ ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว พอวันหนึ่งเหตุการณ์บานปลายแล้วโทษว่าสิ่งนั้นผิด พอมีปัญหายัดโทรศัพท์ให้ลูกเล่น แล้วไม่ยอมดูแลลูก ต้นเหตุมันคือผู้ปกครองหรือเปล่า ผมพูดถึงสื่อทุกอย่างเลยนะ ไม่ใช่แค่เรื่องเกม
สมมติเล่นเกมอย่าง GTA กับลูก แล้วลูกก็ไปปล้นรถ ยิงตำรวจ นนท์จะบอกลูกว่าอะไร
ทำเลย ทำให้เสร็จ แล้วบอกว่าลูกรู้ใช่ไหมว่าลูกทำแบบนี้ในโลกความเป็นจริงไม่ได้เด็ดขาดนะ ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ แต่ถ้าถึงตอนนั้นผมต้องดูพื้นฐานของลูกผมด้วยนะ เพราะเด็กทุกคนมีความแตกต่าง เราต้องเข้าใจพื้นฐานของเขาและสิ่งรอบข้าง แล้วค่อยๆ ปรับตัวกันไป
โอเค ผมยืนยันไม่ได้หรอกว่าพอถึงวันนั้นเข้าจริงๆ แล้วผมจะสอนลูกยังไง เพราะผมไม่รู้ว่าว่าลูกเป็นเด็กแบบไหน ถ้าเป็นเด็กไม่ดีก็ต้องทำให้เขาเป็นเด็กให้ดี แต่ที่แน่ๆ คือผมจะไม่ให้เขาเป็นเด็กไปตลอด ลูกมีหน้าที่เป็นลูก แต่ลูกไม่ได้มีหน้าที่เป็นเด็กของเราตลอดเวลา
สามารถติดตามแชนแนล YouTube ของนนท์ ธนนท์ ได้ที่
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล