วันนี้ (8 ตุลาคม) คณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลประกาศให้ มาเรีย เรสซา นักข่าวชาวฟิลิปปินส์ ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ Rappler ฟิลิปปินส์ และ ดีมิทรี มูราตอฟ นักข่าวชาวรัสเซีย บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ Novaya Gazeta เป็นผู้คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2021 ไปครอง
โดยคณะกรรมการพิจารณารางวัลระบุว่า มาเรีย เรสซา ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เปิดโปงการใช้อำนาจในทางมิชอบ ต่อสู้กับการใช้ความรุนแรงและการเติบโตขึ้นของอำนาจนิยมภายในบ้านเกิดของเธออย่างฟิลิปปินส์ สิ่งที่เธอทำสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นผู้ปกป้องสิทธิในการแสดงความคิดเห็น โดยปราศจากความกลัว ซึ่งสำนักข่าว Rappler ของเธอแสดงจุดยืนในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของปรธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงที่นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คน ขณะที่รัฐบาลทำสงครามต่อต้านอาชญากรรมและยาเสพติด
ขณะที่ ดีมิทรี มูราตอฟ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ สำหรับความพยายามในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการพูดภายในรัสเซียตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา หลังจากเผชิญความท้าทายและเงื่อนไขต่างๆ ที่พยายามจะจำกัดสิทธิและเสรีภาพเหล่านั้น นับตั้งแต่ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ Novaya Gazeta ในปี 1993 มีสื่อมวลชนภายใต้สังกัดของหนังสือพิมพ์นี้ถูกสังหารไปแล้วอย่างน้อย 6 ราย แต่กระนั้นมูราตอฟก็ไม่ได้ละทิ้งแนวทางและปณิธานของหนังสือพิมพ์ ที่ต้องการจะนำเสนอความจริงและต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนเรื่อยมา
นับเป็นปีที่สปอตไลต์ของวงการรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพสาดส่องมายังบุคคลที่ทำงานในแวดวงของสื่อมวลชน ที่ยังคงเดินหน้าต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและนำเสนอความจริงในสังคมได้รับรู้ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญของประชาธิปไตยและสันติภาพ
อ้างอิง:
เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2016-2020)
2016: ฮวน มานูเอล ซานโตส ประธานาธิบดีโคลอมเบีย
2017: คณะกรรมการรณรงค์เพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ (ICAN)
2018: นาเดีย มูราด หญิงสาวชาวยาซิดี ชนกลุ่มน้อยของอิรัก และนายแพทย์เดนิส มุกเวเก สูตินรีแพทย์ชาวคองโก
2019: อาบีย์ อาเหม็ด อาลี นายกรัฐมนตรีเอธิโอเปีย
2020: โครงการอาหารโลก (WFP)