ศูนย์พยากรณ์สภาพอวกาศของ NOAA ออกแจ้งเตือนพายุแม่เหล็กโลก จากการพ่นมวลโคโรนาของดวงอาทิตย์ระดับ G4 ซึ่งเดินทางมาถึงโลกเมื่อคืนวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม พายุแม่เหล็กโลกดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต และเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงมีกิจกรรมทางธรรมชาติบนดวงอาทิตย์มากในช่วงวัฏจักรสุริยะที่ 25 และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้คนในไทยโดยตรง พร้อมเป็นโอกาสอันดีในการเฝ้าสังเกตดูปรากฏการณ์แสงออโรรา จากผู้สังเกตการณ์ในละติจูดสูง
ข้อมูลดังกล่าวมีการรายงานเป็นครั้งแรกโดยศูนย์พยากรณ์สภาพอวกาศ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากเฝ้าติดตามการพ่นมวลโคโรนา หรือ Coronal Mass Ejections (CMEs) เป็นการพ่นมวลอนุภาคที่มีประจุและมีพลังงานสูงกลุ่มใหญ่จากดวงอาทิตย์ มุ่งหน้ามาทางโลกด้วยความเร็วประมาณ 4 ล้านกิโลเมตร/ชั่วโมง พร้อมประกาศเฝ้าระวังการเกิดพายุแม่เหล็กโลกระดับ G4 ในเบื้องต้น
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ชี้แจงว่า เมื่ออนุภาคมีประจุใน CMEs เดินทางมาถึงโลก มันจะปะทะเข้ากับสนามแม่เหล็กโลก ทำให้เกิดความปั่นป่วนในสนามแม่เหล็ก เรียกว่าพายุแม่เหล็กโลก หรือ Geomagnetic Storm โดยความปั่นป่วนนี้จะเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าที่พื้นผิวโลก หากกระแสไฟฟ้าเพิ่มเติมส่วนนี้เข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้า จะทำให้หม้อแปลงเกิดความเสียหายและสามารถทำให้เกิดไฟดับเป็นบริเวณกว้าง แต่ผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ตั้งอยู่ในละติจูดสูงหรือใกล้บริเวณขั้วโลก
สำหรับประเทศไทยที่ตั้งอยู่ใกล้แนวเส้นศูนย์สูตร เป็นบริเวณที่ถูกปกป้องโดยสนามแม่เหล็กโลกได้ดีกว่าแนวใกล้ขั้วโลก ทำให้มีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าหรือเห็นปรากฏการณ์แสงเหนือ
ผลกระทบส่วนมากจากการเกิดพายุแม่เหล็กโลกมักตกอยู่กับยานอวกาศหรือดาวเทียมที่โคจรรอบโลก เนื่องจากอาจทำให้ระบบสื่อสารและการนำทางขัดข้อง ไฟฟ้าลัดวงจร หรือสร้างความเสียหายให้ดาวเทียมไม่สามารถใช้งานได้ อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อชีวิตบนโลกทางอ้อม แต่ยังไม่มีรายงานผลกระทบดังกล่าวในปัจจุบัน
การวัดความรุนแรงของพายุแม่เหล็กโลกใช้มาตราแบบ G-Scale จาก G1 ถึงระดับ G5 โดยยิ่งมีค่าตัวเลขสูงเท่าไร ก็จะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ โลกได้เผชิญกับพายุแม่เหล็กโลกระดับ G5 ในช่วงระหว่างวันที่ 10-13 พฤษภาคม 2024 นับเป็นพายุแม่เหล็กโลกที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 1989 และทำให้มีผู้สังเกตเห็นแสงออโรราได้จากละติจูดที่ต่ำลงมากกว่าปกติ (ไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากไทยเช่นกัน)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เวลา 22.15 น. ตามเวลาประเทศไทย ศูนย์พยากรณ์สภาพอวกาศของ NOAA รายงานว่าอนุภาคมีประจุใน CMEs ดังกล่าวเดินทางมาถึงโลกแล้ว ด้วยความเร็วประมาณ 2.41 ล้านกิโลเมตร/ชั่วโมง พร้อมกับระดับคำเตือนเป็น G3 หรือความรุนแรงปานกลาง แต่ยังมีการติดตามสถานการณ์ความรุนแรงของ CMEs อย่างต่อเนื่อง ก่อนยกระดับประกาศเตือนเป็นระดับ G4 เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 11 ตุลาคม
NOAA ได้รายงานความคืบหน้าล่าสุดต่อสำนักงานจัดการเหตุฉุกเฉินของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (FEMA) รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการรับมือและกู้ภัย โดยเฉพาะผลที่อาจมีต่อบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากเฮอริเคนเฮลีนและมิลตัน จากข้อจำกัดในการใช้งานดาวเทียมสื่อสาร ระบบไฟฟ้า และการนำทางผ่านดาวเทียม
ในปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในช่วงที่จะมีกิจกรรมทางธรรมชาติบนดวงอาทิตย์ เช่น การปะทุต่างๆ และจุดบนดวงอาทิตย์มากสุดในช่วงวัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle) รอบที่ 25 ซึ่งเป็นวัฏจักรรอบละประมาณ 11 ปีที่จะพบกิจกรรมบนดวงอาทิตย์มาก-น้อยสลับกันไป ทำให้มักมีรายงานการแจ้งเตือนพายุแม่เหล็กโลกหรือการเฝ้าระวังจากหน่วยงานที่พยากรณ์สภาพอวกาศอยู่บ่อยครั้ง
ภาพ: NASA
อ้างอิง:
- https://www.swpc.noaa.gov/news/g4-severe-storm-watch-10-11-october
- https://www.swpc.noaa.gov/news/cme-arrival-earth-has-occurred-and-warnings-have-been-issued
- https://www.swpc.noaa.gov/news/wednesday-oct-9th-severe-geomagnetic-storm-media-briefing
- https://www.facebook.com/NARITpage/posts/pfbid02TUVnPRbb96nzWPub3Y6mDD8rLRZqWDyqBhheqw3F8ZyuWHLUViJQmZ9gqgw2Zdcol
- https://www.swpc.noaa.gov/noaa-scales-explanation
- https://www.swpc.noaa.gov/news/g4-severe-geomagnetic-storm-levels-continue-be-observed