เป็นเวลากว่า 100 ปีแล้วที่เงินดอลลาร์มีสถานะเป็นสกุลเงินหลักในการค้าขายแลกเปลี่ยน หรือใช้เป็นทุนสำรองหลักของประเทศต่างๆ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสหรัฐอเมริกาได้ประสบการไหลเข้าของทองคำจำนวนมหาศาลจากประเทศต่างๆ ที่นำมาฝากไว้ในสภาวะสงคราม เพื่อการเก็บรักษาที่ปลอดภัยกว่า เนื่องจากสหรัฐฯ มีกำลังทหารที่ใหญ่และแข็งแกร่ง ณ เวลานั้น
ต่อมาในปี 1944 ข้อตกลง Bretton Woods ทำให้ดอลลาร์มีบทบาทสำคัญมากขึ้น เนื่องจากข้อตกลงนั้นคือการที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินสกุลต่างๆ จะถูกผูกเข้ากับเงินดอลลาร์ซึ่งผูกกับราคาทองคำอีกที สิ่งนี้ทำให้ความต้องการถือครองดอลลาร์เพิ่มขึ้นและกระจายไปยังหลายพื้นที่ทั่วโลก จากการที่ประเทศสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าโดยใช้ดอลลาร์ได้โดยตรง และจำเป็นจะต้องมีดอลลาร์ในคลังสำรองไว้ เพื่อรักษาเสถียรภาพและอัตราแลกเปลี่ยนเงินของตน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 1960 การส่งออกของญี่ปุ่นและประเทศในยุโรปนั้นมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันสูงกว่า สหรัฐฯ จึงมีการนำเข้าสินค้าที่มากกว่าการส่งออก ซึ่งทำให้มีปริมาณเงินดอลลาร์มหาศาลถูกกระจายไปตามประเทศต่างๆ ก่อนที่ระบบจะล่มสลายไปในปี 1971 อันเป็นผลมาจากความไม่มั่นใจถึงสัดส่วนเงินดอลลาร์กับทองคำที่ค้ำประกันไว้ หรือในปี 2008 จากเหตุการณ์ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก สร้างความไม่มั่นใจในรัฐบาลและสกุลเงินประเทศต่างๆ ส่งผลให้นักลงทุนวิ่งเข้าหาดอลลาร์เพื่อความสบายใจ เพราะสถานะที่เป็นเงินทุนสำรองของโลก
อย่างไรก็ดี วิกฤตทางการเงินต่างๆ เหล่านี้ในอดีต บวกกับความสามารถในการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศอื่นๆ ทำให้บางประเทศอยากจะขยับออกจากระบบที่ตนสามารถถูกตัดออกจากระบบเศรษฐกิจโลกได้
‘รัสเซีย-จีน’ หัวขบวนลดความสำคัญของดอลลาร์
ท่ามกลางความกังวลต่อการผูกขาดทางการเงินและความสามารถของสหรัฐฯ ในการใช้ดอลลาร์ ‘เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ’ ส่งผลให้บางประเทศเริ่มทดลองหาตัวเลือกใหม่ๆ เพื่อลดอำนาจดังกล่าวของสหรัฐฯ และเพื่อให้ตนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
อย่างการลงโทษทางเศรษฐกิจ (Economic Sanctions) จากชาติตะวันตกต่อรัสเซียอันเนื่องมาจากสงครามกับยูเครน เป็นเหตุให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัสเซียและจีนในการทำการค้าระหว่างการโดยใช้ระบบการเงินของตน เพื่อที่จะให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ และลดบทบาทการพึ่งพาของตนต่อเงินดอลลาร์
นับตั้งแต่เริ่มมีการบุกยูเครนในช่วงต้นปี 2022 ปริมาณการแลกเปลี่ยนโดยใช้หยวน-รูเบิลเพิ่มสูงขึ้นกว่า 80 เท่า ดังรูปด้านล่างที่แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และยังมีรายงานจากทางสำนักข่าว Vedomosti ของรัสเซียอีกว่า รัสเซีย-อิหร่านกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาคริปโตเคอร์เรนซีที่มีทองคำเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน
นอกเหนือจากรัสเซียและจีน บางประเทศก็ริเริ่มวางแผนที่จะค่อยๆ De-Dollarize เช่นเดียวกัน ดังนี้
- บราซิลและอาร์เจนตินาได้เจรจาหารือถึงการสร้างสกุลเงินกลางสำหรับสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอินเดียกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาที่จะใช้เงินรูปีของอินเดียมาซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่น้ำมัน อ้างอิงจากแหล่งข่าว Reuters
- เป็นครั้งแรกในรอบ 48 ปีที่ซาอุดีอาระเบียและประเทศที่ส่งออกน้ำมันรายใหญ่เปิดรับการซื้อขายน้ำมันโดยใช้สกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์
นักวิเคราะห์มองดอลลาร์ยังจะคงอำนาจต่อไปในระยะสั้นถึงกลาง
แม้ว่า De-Dollarization กำลังเป็นเทรนด์ที่ประเทศต่างๆ กำลังหาวิธีในการนำมาใช้ ทว่านักวิเคราะห์หลายคนมองว่าตัวเลือกอื่นๆ ยังคงมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในการยอมรับสกุลเงินทางเลือกหรือสภาพคล่องที่ยังไม่มากพอ ความได้เปรียบของเงินดอลลาร์คือมูลค่าตลาดที่ยังคงแข็งแกร่งทั่วโลก
Peter Earle นักเขียนด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีประสบการณ์ในตลาดหลักทรัพย์กว่า 20 ปี ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า “ผมมองว่าการที่จะไม่มีการซื้อขายโดยใช้เงินดอลลาร์เป็นเรื่องที่ยากมาก”
เขาได้อ้างอิงถึงขนาดเศรษฐกิจและเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าที่กว้างขวางของสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีต้นทุนและความเสี่ยงในการที่จะออกจากระบบที่ค่อนข้างสูง ซึ่งการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เขามองว่าจะไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ และอาจใช้เวลาเป็นสิบปี
ถึงแม้จีนจะผลักดันการใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เพื่อหวังแทนที่ดอลลาร์ จากการทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ เช่น คาซัคสถาน, ปากีสถาน, สปป.ลาว และบราซิล Earle ก็ยังมองว่าความเป็นไปได้นั้นค่อนข้างน้อยมาก “ต่อให้จะเป็นหลายสิบปีที่การเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะเกิดขึ้น ผมยังไม่เห็นความเป็นไปได้ที่เงินหยวนจะขึ้นมาเป็นสกุลเงินที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ”
สำหรับรัสเซีย แม้มูลค่าธุรกรรมการของเงินหยวนแซงหน้าดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินต่างประเทศที่ถูกใช้เยอะที่สุด อันมาจากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นกับจีน และการถูกตัดขาดจากระบบการเงินสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสถานะของหยวนจะสามารถมาแทนดอลลาร์ได้ เพราะหยวนยังคงผูกติดอยู่กับดอลลาร์ และมีการควบคุมปริมาณที่ให้ซื้อขายได้ในแต่ละวันที่ 2% กำหนดโดยธนาคารกลางจีน และยังมีปัจจัยการควบคุมเงินทุนไหลออก ทำให้หยวนไม่สามารถรองรับการไหลเข้าออกอย่างเสรีของเงินทุนได้
ด้าน Chamath Palihapitiya นักลงทุนสายสตาร์ทอัพชื่อดัง และอดีตผู้บริหาร Facebook ออกมากล่าวถึงความกังวลเรื่อง De-Dollarization ว่า “เป็นเรื่องที่ถูกพูดให้เกิดกระแสความสนใจและความกลัว แต่จริงๆ แล้วแทบจะไม่มีนัยสำคัญเท่าไร” โดยให้เหตุผลคล้ายกับ Earle ต่อความเป็นไปได้ที่น้อยที่หยวนจะแทนดอลลาร์ได้บนเวทีโลก
ในขณะเดียวกัน Carson Group บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน มองว่าความเชื่อมั่นและประวัติศาสตร์ที่พิสูจน์มายาวนานว่าหยวนจะทำให้ดอลลาร์ยังคงรักษาเบอร์ 1 สกุลเงินสำรองของโลกเอาไว้ได้ไปอีกนานพอสมควรเลยทีเดียว
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’ กระทบเศรษฐกิจโลก
อ้างอิง: