×

No Time to Die (2021) การแลนดิ้งอันผ่าเผยของพยัคฆ์ร้ายบันลือโลก

13.10.2021
  • LOADING...
No Time to Die

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • ส่วนที่ทำให้ เจมส์ บอนด์ ของ แดเนียล เคร็ก ผิดแผกแตกต่างจากบอนด์คนอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ และเป็นสิ่งที่ผู้สร้างฟูมฟักมาตั้งแต่ตอนแรก Casino Royale และขึ้นถึงจุดพีกใน Skyfall ก็คือการพลิกให้พวกเราได้เห็นอีกด้านหนึ่งของตัวละครนี้ ซึ่งไม่ใช่โหมดพยัคฆ์ร้ายสายลับ ทว่าเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่รู้ร้อนรู้หนาว รู้สึกรู้สม ผิดหวังสมหวัง แอบซ่อนอดีตที่เจ็บปวดขื่นขม และในช่วงที่เจ้าตัวพลั้งเผลอ ผู้ชมก็ได้รับรู้ด้านที่อ่อนไหวเปราะบาง
  • ความได้เปรียบของ แดเนียล เคร็ก มากกว่านักแสดงคนอื่นๆ อยู่ตรงที่เขาไม่ได้แค่มารับช่วงต่อคาแรกเตอร์ เจมส์ บอนด์ ทว่า Casino Royale (2006) คือการรีบู๊ต หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นเสมือนการล้างไพ่ครั้งมโหฬาร และมันมีส่วน (ไม่มากก็น้อย) ช่วยให้เคร็กไม่ต้องแบกรับเงื่อนไข ขนบแบบแผนที่ตกทอดกันมายาวนานจนเริ่มเทอะทะมากขึ้นเรื่อยๆ และสามารถไปต่อได้ในวิถีทางของตัวเองที่ไม่รุ่มร่ามเกินไปนัก
  • หลังจาก 15 ปีผ่านพ้นไป พร้อมกับหนัง James Bond ในรัชสมัยของเขาสิริแล้ว 5 เรื่อง สามารถพูดได้เต็มปากว่าคำครหาและเสียงติฉินนินทา จากเมื่อครั้งที่ชื่อของ แดเนียล เคร็ก ถูกประกาศให้เป็นผู้สืบทอดคาแรกเตอร์ เจมส์ บอนด์ ถัดจาก เพียร์ซ บรอสแนน หลายคนคงจำได้ว่าถูกแฟนพันธุ์แท้ล้วนร้องยี้ไปตามๆ กัน นั้นได้มลายหายไปปลิดทิ้ง และมันแปรเปลี่ยนไปเป็นการร่ำลาด้วยความอาลัยอาวรณ์ และพระเอกของเราแทบไม่เหลืออะไรให้ต้องพิสูจน์อีกแล้วทั้งในแง่ทักษะการแสดง และในแง่การเป็นเจมส์ บอนด์ ที่แฟนๆ ให้การยอมรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

 

“ใครคือ เจมส์ บอนด์ ที่ดีที่สุด”

 

นี่เป็นคำถามโลกแตกที่นอกจากไม่มีคำตอบตายตัว ยังสันนิษฐานได้ไม่ยากว่า คำตอบที่ได้ก็คงไม่ค่อยจะตรงกัน และตัวแปรก็น่าจะเกี่ยวพันกับการที่นักดูหนังคนนั้นๆ เติบโตมากับการขึ้นครองราชย์ของใคร (ฌอน คอนเนอรี, จอร์จ เลเซนบี, โรเจอร์ มัวร์, ทิโมธี ดาลตัน, เพียร์ซ บรอสแนน หรือ แดเนียล เคร็ก) รวมถึงนักแสดงคนนั้นๆ ปรากฏตัวในหนัง James Bond ตอนที่โอเคหรือไม่

 

และในขณะที่ ฌอน คอนเนอรี ผู้ล่วงลับน่าจะเป็น ‘007’ ที่ได้รับเสียงโหวตแน่นหนากว่าเพื่อน ส่วนหนึ่งเพราะเขาแสดงนำในหนัง James Bond ตอนที่ใครๆ ยกย่องว่าครบเครื่อง (Goldfinger, From Russia with Love) อีกทั้งบุคลิกภาพและฝีไม้ลายมือทางการแสดงของคอนเนอรีก็ยังเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างพระเอกนักบู๊ หนุ่มเจ้าเสน่ห์ และสายลับเจ้าสำอาง เหนืออื่นใด เขาสร้างเบ้าหลอมของความเป็น เจมส์ บอนด์ ที่ใครก็ตามที่มาทีหลังล้วนถูกนำไปเทียบเคียง

 

แต่ก็น่าเชื่อว่าหลังจาก No Time to Die เจมส์ บอนด์ ลำดับที่ 25 และเป็นตอนล่าสุด ผ่านการรับรู้ของผู้ชม คำถาม (ที่ไม่เป็นแก่นสารเท่าไรนัก) ข้างต้นน่าจะยิ่งนำไปสู่การอภิปรายถกเถียงที่เข้มข้นดุเดือดมากขึ้นว่า ใครคือ เจมส์ บอนด์ ที่ดีที่สุด

 

 

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ชื่อของแดเนียล เคร็ก ถูกประกาศให้เป็นผู้สืบทอดคาแรกเตอร์ เจมส์ บอนด์ ถัดจาก เพียร์ซ บรอสแนน หลายคนคงจำได้ว่าแฟนพันธุ์แท้ที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าข้าวเจ้าของตัวละครนี้ล้วนร้องยี้ไปตามๆ กัน ทั้งในความไม่มีเสน่ห์ดึงดูด หรือแม้กระทั่งความจืดชืดของแดเนียล เคร็ก เมื่อเทียบกับบอนด์คนก่อนๆ แถมเขายังมีผมสีบลอนด์ซึ่งผิดธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมา (และมันดูเป็นผู้ร้ายมากกว่าพระเอก) หรืออีกนัยหนึ่ง นอกจากเคร็กจะไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ จุดสตาร์ทของเขายังอยู่ในตำแหน่งติดลบ

 

แต่หลังจาก 15 ปีผ่านพ้นไป พร้อมกับหนัง James Bond ในรัชสมัยของเขาสิริแล้ว 5 เรื่อง สามารถพูดได้เต็มปากว่าคำครหาและเสียงติฉินนินทาข้างต้นก็มลายหายไปปลิดทิ้ง และมันแปรเปลี่ยนไปเป็นการร่ำลาด้วยความอาลัยอาวรณ์ เพราะเป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า No Time to Die คือ ‘ซีเคร็ตเซอร์วิส’ หรือปฏิบัติการลับในสมเด็จพระราชินีนาถครั้งสุดท้ายของเคร็ก และพระเอกของเราแทบไม่เหลืออะไรให้ต้องพิสูจน์อีกแล้วทั้งในแง่ทักษะการแสดง และในแง่การเป็นเจมส์ บอนด์ ที่แฟนๆ ให้การยอมรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

 

จะว่าไปแล้ว ความได้เปรียบของแดเนียล เคร็ก มากกว่านักแสดงคนอื่นๆ ก็ตรงที่เขาไม่ได้แค่มารับช่วงต่อคาแรกเตอร์เจมส์ บอนด์ ทว่าหนังเรื่อง Casino Royale (2006) คือการรีบู๊ต หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นเสมือนการล้างไพ่ครั้งมโหฬาร และมันมีส่วน (ไม่มากก็น้อย) ช่วยให้เคร็กไม่ต้องแบกรับเงื่อนไข ขนบแบบแผนที่ตกทอดกันมายาวนานจนเริ่มเทอะทะมากขึ้นเรื่อยๆ (เช่น หนังจะต้องเปิดด้วยปฏิบัติการสั้นๆ ของบอนด์ ฉากไตเติลที่แนะนำตัวละคร เพลงที่มักจะต้องใช้ชื่อเดียวกับหนัง ฉากหยอกล้อเชิงชู้สาวกับมิสมันนีเพนนี เลขาของเอ็ม ฉากที่เอ็มมอบหมายภารกิจให้กับบอนด์ ฉากที่บอนด์ถูกส่งไปพบคิวซึ่งจะคอยแนะนำของเล่นหรือแก็ดเจ็ตนานัปการ ตามด้วยการเดินทางท่องโลก อันส่งผลให้หลายครั้งโดนค่อนขอดว่าเป็นหนังแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว) และสามารถไปต่อได้ในวิถีทางของตัวเองที่ไม่รุ่มร่ามเกินไปนัก

 

 

แต้มต่ออีกอย่างของแดเนียล เคร็ก เมื่อเทียบกับบรรดาเจมส์ บอนด์ ผู้ซึ่งมาทีหลัง ฌอน คอนเนอรี คนอื่นๆ ก็ตรงที่หนังแต่ละเรื่องไม่ได้จบอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตอน แต่ทั้งห้าภาคเรียงกันมาดังนี้ Casino Royale (2006), Quantum of Solace (2008), Skyfall (2012), Spectre (2015) และ No Time to Die (2021) ถูกออกแบบให้เกาะเกี่ยวกันภายใต้โครงสร้างการเล่าเรื่องที่อาจจะมองได้ว่าเป็น ‘Rise and fall’ หรือการเริ่มต้นและสิ้นสุด การแจ้งเกิดและการแตกดับของ เจมส์ บอนด์

 

และอย่างหนึ่งที่สามารถสรุปได้แน่ๆ ก็คือ สิ่งที่เรียกว่าเป็น ‘เส้นทางอาชีพ’ ของเจมส์ บอนด์ระหว่างนี้ ไม่น่าจะนำพาให้เขาลงเอยด้วยการเป็นพนักงานดีเด่นของบริษัทด้วยประการทั้งปวง หรืออันที่จริง ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ MI6 หรือหน่วยสืบราชการลับอังกฤษอยู่ในสภาพระหองระแหงนับตั้งแต่วันแรกที่เจ้าตัวได้รับการโปรโมตขึ้นเป็นสายลับที่มีรหัสนำหน้าด้วยเลข ‘00’ (ซึ่งแปลว่าได้รับอนุญาตให้ฆ่าคนได้) เขาถึงกับถูกสั่งพักงานในช่วงต้นของ Spectre และถ้าหากจะไม่เป็นการเปิดเผยเนื้อหาเกินไป บอนด์ของเราในหนังเรื่อง No Time to Die ก็อยู่ในสถานะจารชนแปรพักตร์

 

หรือเมื่อลองนึกย้อนทบทวน แฟนพันธุ์แท้เจมส์ บอนด์คงจะระลึกชาติได้ว่าในหนังเรื่อCasino Royale เอ็ม (จูดี้ เดนช์) เจ้านายโดยตรงของบอนด์เคยพูดทำนองว่าบอนด์ไม่สมควรได้รับการอัปเกรดเร็วขนาดนี้ หรืออีกนัยหนึ่งมันคือความผิดพลาด อันนำมาซึ่งประโยคอวดดีของบอนด์ที่เอ่ยทำนองว่า ยังไงๆ อายุขัยของสายลับรหัส ‘00’ ก็สั้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น “ความผิดพลาดครั้งนี้ก็คงกินเวลาไม่นานนัก”

 

แต่ว่าไปแล้ว ความเป็นคนนอกคอกและทำตัวแตกแถวของบอนด์ก็ไม่ได้เป็นแรงเสียดทานเพียงอย่างเดียวของตัวละคร ย้อนกลับไปตั้งแต่ตอน Skyfall คำถามที่ผู้สร้างโยนใส่ตัวละครและรวมถึงผู้ชมให้ช่วยกันครุ่นคิดก็คือ เจมส์ บอนด์ ซึ่งเป็นสายลับยุคสงครามเย็นยังคงเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโลกศตวรรษที่ 21 และโดยเฉพาะช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 อย่างไร เพราะระเบียบโลกเปลี่ยนไปแล้วแบบหน้ามือหลังมือ ระบบการจารกรรมข้อมูลผ่านสายลับเป็นเรื่องล้าหลัง เทคโนโลยีทำให้เจมส์ บอนด์ และหน่วยงานคร่ำครึโบราณอย่าง MI6 เป็นไดโนเสาร์ที่กำลังสูญพันธุ์

 

 

โดยปริยาย อย่างหนึ่งที่ดูเหมือนเกาะกุมความรู้สึกของเจมส์ บอนด์ เวอร์ชันแดเนียล เคร็ก ตลอดเวลา ไม่ว่าเจ้าตัวจะแสดงออกมาตรงๆ หรือไม่ ก็คือความเคลือบแคลงสงสัยในการดำรงอยู่ของตัวเอง และไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลนี้หรือไม่อย่างไร ตลอดสิบห้าปีและหนังห้าภาคที่ผ่านพ้นไป คนดูได้เห็นบอนด์ปลดระวางตัวเองถึงสองครั้งสองครา (ซึ่งก็แปลความได้ว่าเขาก็ไม่ได้คิดถึงหรือห่วงหาอาทรหน้าที่การงานของตัวเองนัก) อีกทั้งข้อน่าสังเกตก็คือ บรรดาปฏิบัติการทั้งหลายแหล่ของเขาก็ไม่ใช่ ‘Business as usual’ หากมักจะมีเรื่องส่วนตัวเข้าไปปะปนเกี่ยวข้อง

 

แต่พูดอย่างถึงที่สุดจริงๆ ส่วนที่ทำให้เจมส์ บอนด์ของแดเนียล เคร็ก ผิดแผกแตกต่างจากบอนด์คนอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ และเป็นสิ่งที่ผู้สร้างฟูมฟักมาตั้งแต่ตอนแรก Casino Royale และขึ้นถึงจุดพีกใน Skyfall ก็คือการพลิกให้พวกเราได้เห็นอีกด้านหนึ่งของตัวละครนี้ ซึ่งไม่ใช่โหมดพยัคฆ์ร้ายสายลับ ทว่าเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่รู้ร้อนรู้หนาว รู้สึกรู้สม ผิดหวังสมหวัง แอบซ่อนอดีตที่เจ็บปวดขื่นขม และในช่วงที่เจ้าตัวพลั้งเผลอ ผู้ชมก็ได้รับรู้ด้านที่อ่อนไหวเปราะบาง

 

ไม่มีข้อกังขาว่ากลไกดราม่าลักษณะดังกล่าวยังคงเป็นเชื้อเพลิงอันเร่าร้อนและทรงพลังของ No Time to Die และส่วนที่น่าเจ็บปวดขื่นขมเมื่อพิจารณาจากสิ่งที่หนังบอกเล่าในซีเควนซ์เปิดเรื่องก็ชวนให้สรุปได้อย่างหนึ่งว่า คนที่ทั้งชีวิตอยู่กับความลับ การปิดบังอำพราง ความหวาดระแวง ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและการหักหลังอย่าง เจมส์ บอนด์ คงจะไม่มีวันได้พบเจอกับชีวิตที่สงบสุข แม้ดูเหมือนว่าสิ่งนั้นจะอยู่เพียงแค่เอื้อมคว้า หรือพูดง่ายๆ เขาเป็นตัวละครที่ถูกสาปให้ไม่มีตอนจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

 

สถิติตัวเลขอย่างหนึ่งที่ควรบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็คือ No Time to Die เป็นหนัง James Bond ที่กินเวลาฉายยาวนานที่สุดถึง 163 นาที ซึ่งจะว่าไปแล้ว มันเป็นผลพวงจากการที่หนังของ แครี โจจิ ฟุกุนากะ พยายามรวบรวบหลายสิ่งเข้าไว้ด้วยกัน

 

 

เรียงกันมาคร่าวๆ ได้ตั้งแต่การตระเตรียมให้ตัวหนังเป็นเสมือนงานเลี้ยงอำลาอาลัยเจมส์ บอนด์ ของเคร็กในฐานะที่มันจะเป็นการปรากฏตัวครั้งสุดท้าย การบอกเล่าปฏิบัติการล่าสุดซึ่งก็ซับซ้อนในตัวมันเอง หมายความว่าต้นสายปลายเหตุของความชั่วร้ายงวดนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์การสเปกเตอร์โดยตรง และปะทุมาจากเส้นสนกลในของหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษนั่นเอง การสอดแทรกมุกตลกและอารมณ์ขันเพื่อให้หนังไม่ดูตึงเครียดจนเกินไป และเมื่อพูดถึงแล้วก็พูดเลย ฉากปฏิบัติการร่วมระหว่างบอนด์กับซีไอเอฝึกหัดที่ชื่อพาโลมา (อนา เดออามาส) เป็นห้วงเวลาที่สนุกสนานครื้นเครง (ฉากที่ดีที่สุดได้แก่ตอนที่บอนด์หน้าแหกเมื่อคิดว่าตัวเองมีเสน่ห์ระดับที่ใครๆ อยากขึ้นเตียงด้วย) ขณะที่การเล่นกับความสับสนของการใช้รหัส 007 ซึ่งมีสถานะเป็นสมบัติผลัดกันชม ก็สร้างบรรยากาศทีเล่นทีจริง และแน่นอน ยังมีฉากแอ็กชันผาดโผนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการขับรถไล่ล่า ฉากชกต่อยกันด้วยหมัดลุ่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

 

ไหนๆ ก็ไหนๆ ปัญหาของ No Time to Die เป็นเรื่องของการจัดสรรปันส่วนที่มากไปน้อยไป ข้อสำคัญ ส่วนที่เรียกว่าองก์สามของหนังยืดยาดไปนิด อันส่งผลให้โมเมนตัมหรือแรงเหวี่ยงของหนังดูไม่หนักแน่นหรือสม่ำเสมอเท่าที่ควร ยิ่งเมื่อคำนึงว่าตัวร้ายของเรื่องงวดนี้ (รามี มาเล็ค) ไม่ได้มีรังสีอำมหิตหรือความวิปริตอย่างที่เรารู้สึกหรือสัมผัสได้เหมือนอย่างตัวร้ายในหนังเรื่อง Skyfall ภารกิจกู้โลกครั้งสุดท้ายของบอนด์ก็เลยดูเจือจางลงไปเล็กน้อย

 

แต่ก็นั่นแหละ ทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่ปลีกย่อยและยกประโยชน์ให้ได้ไม่ยากเมื่อคำนึงว่าในท้ายที่สุดแล้ว ผู้สร้าง กระทำในสิ่งที่ ‘ไม่เคยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสารบบของหนัง James Bond’ และเมื่อพินิจพิเคราะห์ในภาพรวม มันชวนให้สรุปได้ว่า ตลอดทั้งห้าตอนที่ผ่านพ้นไป คนทำหนังไม่ได้พยายามสร้างซูเปอร์ฮีโร่ที่ใครก็เอาชนะไม่ได้ แต่ทว่าเป็นตัวละครที่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของโลกที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง

 

และด้วยทัศนคติหรือวิธีคิดแบบนี้นี่เองที่ทำให้แฟนๆ เชื่อมั่นได้ว่า เจมส์ บอนด์ จะเป็นตัวละครที่ไม่มีวันตาย

 

NO TIME TO DIE (2021)

กำกับ-แครี โจจิ ฟุกุนากะ           

ผู้แสดง-แดเนียล เคร็ก, เลอา เซดู, รามี มาเล็ค, ลาชานา ลินช์, ฯลฯ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising