×

ความจนมันน่ากลัว… แต่ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน

20.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

14 Mins read
  • แคมเปญ ‘ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน’ เริ่มต้นมาเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้ว โดยตั้งเป้าล่ารายชื่อไว้ที่ 6 หมื่นคน เพื่อให้เลิกใช้ ‘เงิน’ เป็นทุนทรัพย์ในการประกันตัว และวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้จะนำรายชื่อทั้งหมดยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่รัฐสภา
  • ระบบใช้เงินเป็นหลักประกันก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จึงเสนอให้ใช้ ‘ระบบประเมินความเสี่ยง’ แทน เพราะไม่ว่าคนรวยหรือจนล้วนแต่มีโอกาสหนี แต่ต้องไม่ใช่เพราะเงินที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกอิสรภาพในการสู้คดีนอกคุก

     ‘ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน’ คือแคมเปญล่าสุดที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาเป็นผู้นำรณรงค์เคลื่อนไหวในนาม ‘เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน’

     โดยหลักแล้ว จนกว่าศาลจะพิพากษาว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดและต้องรับโทษ รัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า รวมทั้งฉบับปัจจุบัน ปี 2560 ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ‘ในคดีอาญา บุคคลนั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์’

     แต่ทำไมยังมีคนจำนวนกว่า 6 หมื่นชีวิตต้องเข้าไปอยู่ในคุกระหว่างพิจารณาคดี ทำไมพวกเขาไม่ได้สิทธิ์ในการต่อสู้คดีนอกกรงขัง นั่นเป็นเพราะ ‘เงิน’ ที่ถูกกำหนดให้เป็นทุนทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันเพื่อการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งการตีราคาของอิสรภาพนอกคุกมีมูลค่าสูง ทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นต้องมีชีวิตอยู่ในเรือนจำที่แสนแออัดทั้งที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด เพียงเพราะเขาไม่มี ‘เงิน’ ประกันตัว

 

 

     เพื่อเรียกร้องการปฏิรูประบบประกันตัวที่ไม่ใช่แค่การยื่น ‘เงิน’ ได้มีการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org เพื่อนำไปยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ โดยวางเป้าหมายไว้ที่ 66,000 รายชื่อ และก่อนที่ท่านจะตัดสินใจว่าจะร่วมลงชื่อหรือไม่ THE STANDARD อยากชวนไปทำความเข้าใจเรื่องนี้จากเจ้าของแคมเปญเพื่อให้ได้ความกระจ่างชัดมากขึ้น

ดังนั้นในระหว่างศาลไม่พิพากษา ผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ควรมีสิทธิ์ได้ออกมาสู้คดีจนกว่าศาลจะพิพากษาว่าผิดและต้องติดคุก

 

จุดเริ่มต้นของแคมเปญ ‘ไม่มีใครต้องติดคุกเพราะจน’ มีที่มาอย่างไร

     โดยหลักของความยุติธรรม การที่ตำรวจจับผู้ต้องหามาว่าทำความผิดเรื่องหนึ่งเรื่องใด บ่อยครั้งมากที่เป็นการกล่าวหา บางทีหลักฐานยังไม่ชัดเจนนัก อัยการก็ส่งฟ้องต่อศาล ศาลก็เป็นคนพิพากษา ถ้าทำผิดจริงก็ติดคุกไปตามข้อหา ตามกฎหมายที่กำหนดโทษไว้

     ดังนั้นโดยหลักแล้วเราจะทำผิดและถูกลงโทษติดคุกต่อเมื่อศาลพิพากษา และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมรัฐธรรมนูญของเราทุกฉบับ อย่างฉบับปี 2560 ก็บัญญัติไว้ที่มาตรา 29 วรรค 2 ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด คนที่จะพิพากษาว่าใครทำผิดและต้องติดคุกมีแต่ศาลเท่านั้น

     ดังนั้นในระหว่างศาลไม่พิพากษา ผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ควรมีสิทธิ์ได้ออกมาสู้คดีจนกว่าศาลจะพิพากษาว่าผิดและต้องติดคุก เว้นแต่เป็นเหตุที่เรียกว่ามีหลักฐานมัดตัวแน่น ทำผิดซึ่งหน้า หากให้ประกันแล้วจะไปทำผิดซ้ำ อย่างนี้ก็มีเหตุให้ไม่ประกันตัว

     แต่ปัญหาของเราคือพอถึงเวลาให้ประกันตัวได้ ศาลไปใช้ระบบกำหนดด้วยเงินเป็นหลักประกัน หรือเรียกว่าเงินประกันนั่นเอง ทีนี้การใช้เงินเป็นหลักประกันมันทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างยิ่ง หนึ่ง ถามว่าเป็นธรรมหรือเปล่ากับคนไม่มีเงิน เพราะการใช้เงินมันกลายเป็นว่ามีเงินก็มีสิทธิ์ออกนอกคุกมาสู้คดีในระหว่างที่ศาลยังไม่พิพากษา แต่ถ้าหากไม่มีเงินก็ติดคุกอย่างเดียวนะครับ แล้วจำนวนเงินตามประกาศของประธานศาลฎีกา ปี 2548 ก็ไม่น้อยนะครับ

     คดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงถึงขั้นประหารชีวิต เงินประกันคือ 8 แสนบาท คดีที่มีอัตราโทษอย่างสูง จำคุกตลอดชีวิต อัตราเงินประกันคือ 6 แสนบาท คดีที่มีโทษต่ำกว่านั้นก็คิดปีละ 2 หมื่นบาท ถ้าคดีที่มีโทษอย่างสูง 20 ปี เขาไม่สนใจอย่างต่ำว่าเท่าไรนะ เช่น มีโทษ 5-20 ปี เขาไม่ดูขั้นต่ำครับ เขาดูว่าขั้นสูงสุดเท่าไร คดีที่มีโทษอย่างสูงจำคุก 20 ปีก็ 2 หมื่นบาทต่อปี คูณ 20 ปีก็ 4 แสนบาท คดีที่มีโทษอย่างสูง 10 ปีก็ 2 หมื่นคูณ 10 ปี 2 แสนบาท

     ถามว่าในประเทศไทยของเรานี่มีกี่คนครับที่จะมีเงิน 8 แสน 6 แสน 4 แสน หรือ 2 แสนบาท ผลลัพธ์คือต้องติดคุกไปทั้งๆ ที่ศาลยังไม่มีผลคำพิพากษา แล้วต่อไปหากศาลยกฟ้อง ใครจะคืนความเป็นธรรมให้เขาล่ะครับกับเวลาที่หายไป

 

มีเคสตัวอย่างที่พอจะเล่าให้ฟังได้บ้างไหม

     เมื่อไม่นานมานี้มีอยู่เคสหนึ่งเป็นคนขับแท็กซี่ เขารับผู้โดยสาร 2 คน แล้วก็ไปเจอด่านตรวจ ตำรวจก็เจอยาไอซ์ตกอยู่บนพื้นรถ เลยตั้งข้อหาทั้ง 3 คนนะครับ คือ 1 คนขับกับ 2 ผู้โดยสารว่ามียาเสพติดไว้เพื่อจำหน่าย ผู้โดยสาร 2 คนนี่มีเงินประกันครับ เลยไม่ต้องติดคุก ส่วนแท็กซี่ไม่มีเงินประกันตัวจึงต้องติดคุกไป 1 ปี ต่อมาศาลยกฟ้องว่าคนขับแท็กซี่ไม่ได้ทำความผิด เพราะ 2 คนที่เป็นผู้โดยสารสารภาพแล้วว่าตนเองเป็นเจ้าของยานั้น แล้วเวลา 1 ปีที่ผ่านไปในคุก ใครจะคืนความเป็นธรรมที่มันหายไปให้เขา

     เหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพียงเพราะว่าเรากำหนดให้ไปใช้เงินกับเรื่องนี้ ผู้พิพากษาในคดีนี้เล่าให้ผมฟังว่าพอยกฟ้อง เจ้าของอู่แท็กซี่ก็ดีกับลูกน้องนะครับ เขาก็มารับ ปรากฏว่าพาเด็กผู้หญิงมาด้วยคนหนึ่ง เป็นลูกสาวของคนขับแท็กซี่ ก่อนหน้านี้เคยเรียนโรงเรียนมัธยมแล้วต้องออกจากโรงเรียน เพราะพ่อมาติดคุก ส่งเสียไม่ได้ แล้วต้องมาทำงานอยู่ที่อู่ของเจ้าของอู่คนนี้

     เห็นไหม การเอาคนมาติดคุกไว้มันเกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย ถ้าเขามีลูก แล้วใครจะเลี้ยงดูลูกเขา ใครจะส่งเสียลูกเรียน แล้วคนที่จนคือใครครับ เขาขับแท็กซี่ เขาขับมอเตอร์ไซค์ แน่นอนว่าสถานะเขาก็หาเช้ากินค่ำ มันกระทบไปหมดเลย คนที่เกี่ยวข้องก็รอการส่งเสีย รอการรับผิดชอบจากคนที่เราเอาเขามาขังไว้

ในบรรดาความเหลื่อมล้ำทั้งหลายในประเทศไทย มันไม่มีเรื่องใดจะแย่หรือเลวร้ายไปกว่านี้แล้ว คนต้องติดคุกเพียงเพราะไม่มีเงินครับ

 

แล้วจำนวนคนที่ต้องเข้าไปใช้ชีวิตในคุกเพราะไม่มีเงินประกันมีมากขนาดไหน

     ที่เรามีตัวเลขต่อปีก็ประมาณ 6 หมื่นคน เป็นคนที่ติดคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัว สภาพของคุกไทยนี่ถูกสร้างมาขังคนเพียงแค่ 1 แสนคนเศษๆ แต่เราเอาคนไปขังไว้ 3 แสนคน แล้วในจำนวน 3 แสนคน มีจำนวน 1 ใน 3 ที่ศาลยังไม่พิพากษา แล้วประมาณ 2 ใน 3 ของ 1 แสนคนคือประมาณ 66,000 คน ศาลให้ประกันครับ แต่เขาประกันตัวไม่ได้ เพราะศาลไปกำหนดเป็นตัวเงิน และเขาต้องติดคุกไปทั้งๆ ที่ศาลยังไม่พิพากษา อันนี้คือสิ่งที่จะเรียกว่าความยุติธรรมได้อย่างไร มันคือความเหลื่อมล้ำอย่างถึงที่สุดนะครับ

     ในบรรดาความเหลื่อมล้ำทั้งหลายในประเทศไทย มันไม่มีเรื่องใดจะแย่หรือเลวร้ายไปกว่านี้แล้ว คนต้องติดคุกเพียงเพราะไม่มีเงินครับ ส่วนอีกคนหนึ่งเพียงเพราะมีเงินเลยไม่ต้องติดคุก ทีนี้คนเราควรจะติดคุกเพราะทำผิด ไม่ใช่ติดคุกเพราะไม่มีเงิน

     ปัญหาประการต่อมา ถ้าเราลองคำนวณดู ถามว่าการใช้เงินเป็นหลักประกันนี่ มันได้ผลไหมในการป้องกันให้คนไม่หนี เพราะการประกันตัวโดยหลักก็คือเพื่อจะเป็นหลักประกันว่าจำเลยจะกลับมาขึ้นศาลอีก แล้วการใช้เงินเป็นหลักประกัน ถามว่าจะป้องกันการหนีได้ไหม มันได้ผลไหมในการป้องกันการหนี คำตอบคือถ้าคนมีเงิน 8 แสนบาท ถ้าเขามีเงินมากขนาดนั้นในการประกันตัว เขาก็ทิ้งเงินจำนวนนั้นได้ครับ ถ้าเขาเห็นว่าเขาจะต้องโดนศาลพิพากษาติดคุกแน่ เขาก็ทิ้งเงินเลย

 

ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็น?

     เยอะแยะเลยนะครับ อย่าว่าแต่ 8 แสนเลย 5 ล้าน 30 ล้านก็มีมาแล้ว ดังนั้นเงินนี่นะครับ หนึ่ง เหลื่อมล้ำ สอง ไม่ได้ผลด้วย เราจึงต้องเปลี่ยนเป็นวิธีอื่นที่มันเป็นธรรมและได้ผลยิ่งกว่านี้

คุกควรเป็นสถานที่ในการเยียวยาคนให้กลับคืนสู่สังคมแบบเป็นพลเมืองดี แล้วพลเมืองที่ยังไม่ผิดเพราะศาลยังไม่พิพากษา การเอาไปขังรวมกับนักโทษนี่มันจะเป็นเรื่องดีหรือไม่

 

ความหมายของคำว่า ‘จน’ กับกระบวนการยุติธรรม มันมีภาพสะท้อนอย่างไรอีกบ้าง

     ในประกาศของประธานศาลฎีกา ปี 2548 เขาเขียนไว้ว่า ถ้าจำเป็นต้องกำหนดหลักประกันเป็นตัวเงินก็ให้พิเคราะห์ถึงฐานะของจำเลยประกอบด้วย แต่ในทางปฏิบัติเราไม่ได้ดู เพราะก็ต้องดูฐานะของจำเลยด้วยว่าเขามีกำลังพอที่จะเอาเงินมาประกันไหม

     เราไปคิดเอาว่าการกำหนดเงินประกันสูงๆ จะป้องกันคนไม่ให้หนีได้ ปรากฏว่าไม่จริงครับ ผมคิดว่านักกฎหมาย หรือพวกเราซึ่งทำงานในกระบวนการยุติธรรม เราต้องตั้งคำถามว่าเป้าหมายที่แท้จริงที่เราเรียกว่าความยุติธรรมคืออะไร แล้วที่เป็นอยู่มันเรียกว่ายุติธรรมได้ไหม เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง

     เรื่องมันง่ายมาก คน 66,000 คน ถ้าเพียงเขามีเงินประกันตัว เขาจะไม่ติดคุก นี่มันเรื่องความเป็นธรรม แล้วไงครับ ไม่มีใครอยากติดคุกก่อนจนกว่าศาลจะพิพากษา เขาอยากจะสู้คดีนอกคุก แต่เขาติดคุกเพราะเขาไม่มีเงิน อันนี้คือปัญหาอย่างยิ่ง แล้วคุกเรามันล้น เขาสร้างมารับแค่ 1 แสนคน แต่มีคนติดคุกตั้ง 3 แสน แล้วคนจำนวน 66,000 คนนั้น ความจริงเขาไม่ควรติดคุกถ้าเขาไม่มีเงิน นี่คือปัญหา คุกล้นก่อให้เกิดปัญหาใดครับ เพราะคุกไม่ใช่เพียงการลงโทษ เพราะคนที่ติดคุกอยู่ ถึงวันหนึ่งเมื่อพ้นโทษ เขาต้องกลับออกมาสู่สังคม

     ดังนั้นคุกต้องเป็นสถานที่ในการเยียวยาพี่น้องร่วมประเทศของเราซึ่งเขาเคยหลงผิด ทำผิดไป ให้เขาสำนึกผิดและกลับสู่สังคมในฐานะพลเมืองดีอีกครั้งหนึ่ง แต่คุกที่มันแน่นเกินไป ลำพังหาข้าวที่มันดีให้กินเพียง 3 มื้อก็ลำบากแล้ว และปัญหาข้อต่อมาคือทุกปีต้องมีการอภัยโทษ ปีหนึ่ง 3 หมื่นคน ทายสิครับว่าเพราะว่าอะไร เพราะคุกมันแน่นเกินไป จึงจำเป็นต้องระบายออกปีละ 3-4 หมื่นคน

     ดังนั้นการเป็นนักโทษชั้นดีจึงเป็นได้เร็วขึ้น ปัจจุบันศาลพิพากษาติดคุก 10 ปี แต่ติดจริงไม่ถึง 5 ปี คุกไทยจึงก่อให้เกิดปัญหาอีกข้อหนึ่งคือสถิติของการกระทำความผิดซ้ำเราสูงมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง เพราะปัญหาคุกมันล้นเกินไป

     นี่คือทั้งหมด สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเพราะการใช้เงินเป็นหลักประกัน ถ้าเกิดไม่มีการใช้เงินเป็นหลักประกัน จะมีคน 6 หมื่นคนที่เขาไม่ต้องติดคุกอยู่ในระหว่างนี้ แล้วก็อีกข้อหนึ่งก็คือว่า คุกควรเป็นสถานที่ในการเยียวยาคนให้กลับคืนสู่สังคมแบบเป็นพลเมืองดี แล้วพลเมืองที่ยังไม่ผิดเพราะศาลยังไม่พิพากษา การเอาไปขังรวมกับนักโทษนี่มันจะเป็นเรื่องดีหรือไม่

     ปัญหาของการเอาผู้ที่ศาลยังไม่พิพากษา หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาแต่ประกันตัวไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน หรือเพราะเหตุอื่น แล้วเอาไปขังรวมกับนักโทษในบางราชทัณฑ์ ในบางคุกอาจมีการแยกแดน แต่โดยหลักการแล้ว การอยู่ในคุกเดียวกันกับนักโทษ ถามว่าเขาจะเรียนรู้อะไรจากกัน คนซึ่งอาจจะไม่ได้คิดจะเป็นอาชญากรก็อาจเป็นอาชญากรเลยก็ได้เพราะเหตุนี้ เพราะฉะนั้นคุกต้องกลับไปสู่การทำหน้าที่เยียวยาคนให้กลับสู่การเป็นพลเมืองดี ส่วนคนที่เขายังไม่ใช่พลเมืองร้าย อย่าเอาเขามาขังไว้

คุกควรเป็นสถานที่ในการเยียวยาคนให้กลับคืนสู่สังคมแบบเป็นพลเมืองดี แล้วพลเมืองที่ยังไม่ผิดเพราะศาลยังไม่พิพากษา การเอาไปขังรวมกับนักโทษนี่มันจะเป็นเรื่องดีหรือไม่

 

การจะได้ประกันหรือไม่ ส่วนหนึ่งอยู่ที่ดุลพินิจของผู้พิพากษาใช่ไหม

     ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยหรือผู้ต้องหาไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนหนึ่งเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ การเอาเขาไปขังไว้ในคุกกับนักโทษนั่นผิดอยู่แล้ว มันขัดรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 110 เขียนว่า ในการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจะกำหนดหลักประกันหรือไม่ก็ได้ แล้วไม่มีตรงไหนเขียนนะครับว่าถ้ากำหนดหลักประกันแล้วต้องเป็นตัวเงิน ไม่ได้เขียนไว้เลย ที่เราเป็นปัญหาอยู่เพราะใช้ในทางปฏิบัติ เป็นประกาศภายในของศาลเอง และประกาศภายในของศาลก็เขียนไว้ว่า ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินก็ให้คำนึงถึงฐานะของจำเลยด้วย

     ว่าง่ายๆ คือใช้วิธีอื่นก่อน แล้วจริงๆ เป็นแค่คำแนะนำ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 110 นี่ เรื่องนี้เป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาแต่ละท่าน

ความพยายามไปสร้างมาตรฐานสิ่งที่เรียกว่ายี่ต๊อก ผลลัพธ์ก็คือการเป็นผู้พิพากษาก็เท่ากับไม่มีดุลพินิจอีกต่อไป

แต่ทำไมถึงไม่สามารถทำลายกำแพงตรงนี้ได้

     เราต้องเข้าใจว่าผู้พิพากษาเองก็พยายามให้เกิดมาตรฐาน ท่านเองก็ระมัดระวังการถูกวิจารณ์ว่าเป็นสองมาตรฐาน ทำไมคดีแบบเดียวกัน แต่ได้รับโทษไม่เหมือนกัน ก็พอดีเป็นผู้พิพากษาคนละคนไง เป็นศาลคนละศาล บางทีคดีแบบเดียวกันก็อาจเป็นโทษที่ไม่เหมือนกันก็ได้ เช่น โทษตั้งแต่ 5-20 ปี ก็อาจจะตัดสินออกมาที่ 5 ปี 20 ปี หรือมาที่ 10 ปี แล้วพฤติการณ์แห่งคดีของแต่ละคดีมันก็แตกต่างกัน ความหนักเบา เหตุลดโทษ เหตุบรรเทาโทษ มันก็แตกต่างกัน

     ศาลท่านก็เกรงว่าจะถูกครหาว่าสองมาตรฐาน ก็เลยเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ยี่ต๊อก’ ถ้าเป็นคดีแบบนี้ เช่น 3-15 ปี เอาไปเลย 5 ปี ทุกคนต้องโดนคดีเท่านี้ ทีนี้ปัญหาของเรื่องคืออะไร เขาให้เป็นช่วงเอาไว้ว่าเป็น 3-15 ปีนี่แปลว่าอะไร ศาลสามารถจะปรับลดได้ตามความเหมาะสม ตามข้อเท็จจริง พอมียี่ต๊อก ศาลก็ไม่กล้าปรับไปตามข้อเท็จจริง เพราะกลัวจะเดือดร้อนขึ้นมาว่าทำไมถึงไม่ทำตามแนวทางปฏิบัติ ผลลัพธ์คืออะไรครับ

     ความพยายามไปสร้างมาตรฐานสิ่งที่เรียกว่ายี่ต๊อก ผลลัพธ์ก็คือการเป็นผู้พิพากษาก็เท่ากับไม่มีดุลพินิจอีกต่อไป

     กลายเป็นว่าในกรณีซึ่งควรจะผ่อนหนักให้เป็นเบาหรือลงโทษขั้นต่ำสุดก็เป็นไปไม่ได้ ในกรณีซึ่งต้องไม่ควรต้องใช้เงินในการประกันตัวก็ไม่กล้าที่จะไม่ใช้ เพราะที่ผ่านมาเขาใช้เงินประกันตัวกัน นี่คือปัญหาครับ ยี่ต๊อกคือคำแนะนำ วงเงินประกันเป็นแค่คำแนะนำ ถ้าไปถามผู้พิพากษาดูว่ามียี่ต๊อกไหม เขาบอกเปล่า นี่ไม่ใช่ยี่ต๊อก แต่เป็นคำแนะนำ ซึ่งทุกคนทำตามคำแนะนำกันหมด นี่คือปัญหา

 

 

แสดงว่าอัตราโทษจะสูงต่ำไม่ได้สัมพันธ์กับคนว่าจะหนีหรือไม่หนี?

     ที่ไม่เป็นธรรมพอกันอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของโทษหนัก ถ้าเป็นข้อหาหนัก เป็นโทษหนัก ก็จะไม่ให้มีการประกันตัว ผมบอกไปว่าเรื่องที่เหลื่อมล้ำที่สุดก็คือเรื่องเงิน แต่เรื่องโทษหนักมันไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำเสียทีเดียว เพราะคนจนคนรวยก็ถูกตั้งข้อหาหนักได้หมด แต่มันไม่เป็นธรรม เพราะตำรวจเขาตั้งข้อหาหนักไว้ก่อน จากประมาทก็เป็นพยายามฆ่า

     ดังนั้นพอเราไปเอาโทษจากข้อหาที่ตำรวจตั้งให้หนักไว้ก่อน ในการจะกำหนดว่าจะให้ประกันหรือไม่ก็เกิดปัญหาอีก ถ้าจะเปลี่ยนจากระบบการใช้เงินมาดูโทษแทน ก็ไม่ได้ เพราะตำรวจไม่อยากให้ประกันใช่ไหม ตั้งข้อหาหนักๆ ไปเลยก็ประกันตัวไม่ได้แล้ว ดังนั้นเรื่องแรกที่ไม่ควรจะดูก็คือเรื่องของเงิน ไม่ควรใช้ อันที่สองคือเรื่องโทษ ก็ไม่ควร ต้องใช้วิธีอื่น ต้องประเมินว่าจะหนีหรือไม่หนี

 

นี่เป็นเหตุผลที่หลายคนถูกขังระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไรหรือเปล่า

     ถูกต้อง คดีเราก็ล่าช้าอยู่แล้วนะครับ แม้ว่าศาลจะปรับปรุงกระบวนการให้เร็วขึ้น กว่าจะยกฟ้องบางทีก็หลายปี อย่างเร็วก็ปีกว่า แล้วเราจำคดีเชอรี่ แอน ได้ไหมครับ จำเลย 4 คน ถูกตำรวจ 2 คนสร้างหลักฐานอันเป็นเท็จขึ้นมา แล้วก็ปรักปรำจนศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลย 4 คนให้ประหารชีวิต จำเลย 4 คนเขาก็อุทธรณ์ ฎีกา แล้วก็ขอประกันตัว แต่ทราบไหมครับ ประมาณปี 2530 เงินประกัน 4 แสนบาท เมื่อ 30 ปีที่แล้วนะครับ 4 แสนบาท ก็ติดคุกไป จนกระทั่ง 7 ปีต่อมาศาลถึงจะยกฟ้อง แล้วถามว่าเวลา 7 ปีในคุก ใครจะคืนให้เขา มีคนหนึ่งตายในคุกไปเลยจากความเครียด จากที่เขาเป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว อีก 2 คนก็ออกมาตายนอกคุกเพียงแค่ 6 เดือนหลังจากศาลยกฟ้อง จากสภาพที่เราไม่อาจปฏิเสธได้เลย สภาพอันแออัดในคุกมีผลสำคัญแน่ อีกคนหนึ่งที่รอดมาแล้วตายหลังสุดก็พิการตลอดชีวิตและถูกซ้อมในคุก แล้วทุกคนคือสภาพเดียวกันหมดครับ บ้านแตกสาแหรกขาด เมียทิ้ง เมียไปมีสามีใหม่อะไรต่างๆ

     คนเข้าไปอยู่หลังลูกกรงเพราะว่าไม่มีเงินประกันตัว เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา กับพี่น้องร่วมประเทศของเรา เราจะนิ่งเฉยต่อไปได้อย่างไร

     เรารู้มานาน นักกฎหมายรู้มานานแล้วว่ามีปัญหานี้อยู่ แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่เราจะคิดทำอะไรอย่างจริงจังอย่างครั้งนี้ แล้วครั้งนี้เป็นครั้งที่ใกล้เคียงที่สุด มีคนลงชื่อแล้ว 3 หมื่นคน แล้วก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวในสื่อต่างๆ ทั้งสื่อกระแสหลัก ทั้งสื่อที่เป็นสื่อใหม่ และนี่คือจุดที่เราคิดว่า ถ้าประชาชนช่วยกัน ผมเชื่อมั่นครับว่าเรานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแน่คราวนี้

คนเข้าไปอยู่หลังลูกกรงเพราะว่าไม่มีเงินประกันตัว เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา กับพี่น้องร่วมประเทศของเรา เราจะนิ่งเฉยต่อไปได้อย่างไร

 

แล้วจะแก้อย่างไร เปลี่ยนไปใช้วิธีไหนในการประกันตัว

     ระบบการประกันตัวเพื่อให้เป็นหลักประกันว่าผู้ต้องหาจะต้องกลับมาขึ้นศาลใหม่คราวหน้า ต้องไม่หนี เมื่อเรื่องเงินไม่ได้ผล เพราะถ้าเขาจะหนี เขาก็หนีได้ เราควรเปลี่ยนเป็นวิธีอื่นที่ได้ผลมากกว่า

     ระบบที่ใช้ในสหรัฐอเมริกาและในยุโรปเรียกว่าระบบ ‘ประเมินความเสี่ยง’ คือเนื่องจากเหตุผลในการเรียกหลักประกันก็เพื่อเป็นหลักประกันว่าจำเลยจะกลับมาขึ้นศาล ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นเหตุเป็นผลกว่าและได้ผลกว่าคือใช้ระบบประเมินว่าจำเลยมีความเสี่ยงที่จะหนีไหม จำเลยมีความเสี่ยงหรือไม่ที่จะไม่กลับมาขึ้นศาล ประเมินหลายอย่างมาก ประเมินทั้งประวัติการทำผิด ประวัติการเคยหนี เรื่องของสถานะในชุมชน เป็นที่นับหน้าถือตาไหม มีความน่าเชื่อถือ เป็นจิตอาสา เป็นจิตสาธารณะ ดูหลายอย่างประกอบกัน ถ้าผลประเมินออกมาว่ามีความเสี่ยงว่าจะหนี เพราะเคยหนีมาแล้ว แบบนี้ศาลก็จะไม่ให้ประกันไม่ว่าจะมีเงินมากแค่ไหน

     แล้วถ้าเป็นคนจน ถ้ามีความเสี่ยงว่าจะหนี ก็ต้องไม่ให้ประกันเหมือนกันครับ ไม่เกี่ยวว่าจนหรือรวย ถ้ามีความเสี่ยงว่าจะหนีก็ต้องไม่ให้ประกัน

     ถ้าเกิดความเสี่ยงปานกลางก็ต้องหามาตรการอื่นช่วย เช่น ติดกำไลข้อเท้าที่เป็น GPS มีการควบคุมบริเวณ มีการกักบริเวณ มีการรายงานตัวทุกสัปดาห์ แล้วถ้าเกิดมีความเสี่ยงน้อยถึงน้อยมากว่าจะหนี แบบนี้ก็ให้ประกันได้ นี่ล่ะครับ มันได้ผลกว่าแน่นอน

 

ระบบประเมินความเสี่ยง ประเทศไทยใช้บ้างหรือยัง

     ประเทศไทยมีใช้แล้ว 12 ศาลจากทั้งหมด 200 กว่าศาล ก็ประมาณสัก 5% เราก็หวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะมีการใช้ในเรื่องนี้ให้มากขึ้น

 

ระบบประกันความเสี่ยงจะช่วยลดอัตราการหนีอย่างไร

     จากที่ใช้กัน ระบบประเมินความเสี่ยงได้ผลดีกว่ามาก แต่ในช่วงต้น ฐานข้อมูลในการที่จะเอามาใช้ในการพิจารณาว่าพฤติกรรมแบบไหนที่จะมีการหนีหรือไม่หนี ข้อเท็จจริงแบบไหนที่จะเอามาตัดสินว่าจะให้ประกันในทางปฏิบัติ ระบบนี้เริ่มต้นในอเมริกาก่อนยุโรปหลายประเทศ ถ้ายิ่งใช้ไปก็จะยิ่งแม่น แต่ก่อนอื่นเราต้องยอมรับก่อนว่าเงินไม่ได้ผล เพราะทั้งเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม ต้องเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนไปสู่อะไรล่ะ ระบบประเมินความเสี่ยงดีที่สุดครับ เราต้องมาสร้างเครื่องมือนี้ให้มันได้ผลดีขึ้น ยังไงก็ไม่แย่กว่าระบบใช้เงินแน่นอน

     ระบบประเมินความเสี่ยงไม่มีทางแย่กว่า แย่สุดคือเสมอตัว ซึ่งไม่มีทางแย่เท่ากันอยู่แล้ว ระบบใหม่ยังไงก็ดีกว่า เพราะไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และสอง ระบบประเมินความเสี่ยงดีกว่าการใช้เงินอยู่แล้ว เพราะคนใช้เงินจำนวนมากเพื่อซื้ออิสรภาพ พอประกันปุ๊บแล้วรู้ตัวว่าตัวเองติดคุกแน่ ทิ้งเงินประกันแล้วหนีเลย

 

 

แล้ววิธีประเมินความเสี่ยงมันมีความเสี่ยงในตัวเองไหม

     เนื่องจากว่ามีการใช้แล้วนะครับ เช่น ในต่างประเทศและในประเทศไทยก็มีการใช้แล้ว 12 ศาล ผมไม่ห่วงเลยครับว่าจะมีปัญหา สำคัญคือเรากล้าใช้หรือเปล่า เราจะเริ่มต้นใช้หรือยัง

     ผมพูดสรุปอีกทีว่า ถ้าเรากลัวว่าระบบประเมินความเสี่ยงจะทำให้จำเลยหนี คำถามของผมคือ แล้วระบบการใช้เงินนี่เราไม่กลัวหรือครับว่าจำเลยจะหนี ก็หนีอยู่แล้ว ถ้าเขาคิดว่าเขาจะถูกพิพากษา ติดคุก เงินสูงแค่ไหนเขาก็หนี นึกออกไหมครับว่า ระบบการใช้เงินไม่ได้ผลและก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เราจึงต้องเริ่มต้นพูดเรื่องนี้กันแบบนี้ ต้องเปลี่ยนแปลง

     ดังนั้นสิ่งที่สังคมควรจะช่วยกันทำ คนในกระบวนการยุติธรรมควรช่วยกันทำ มาสร้างระบบนี้ให้มันดียิ่งขึ้น ให้มันได้ผลยิ่งขึ้น วัดผลได้เที่ยงตรงมากขึ้น

อย่าไปคิดว่ากฎหมายอย่างเดียวจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ไม่จริงครับ กฎหมายจะเขียนดีแค่ไหน ถ้าคนในสังคมไม่ใช้ ไม่ทำตาม ก็เป็นแค่ตัวหนังสือ แล้วอย่าลืมว่าคนที่ติดคุก ถึงวันหนึ่งก็ต้องกลับสู่สังคม

สังคมจะได้อะไรกลับมาจากการปฏิรูปสิ่งเหล่านี้

     เราต้องเข้าใจว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม แล้ววิธีการที่จะดูแลมนุษย์ด้วยกัน สมาชิกด้วยกัน วิธีดูแลที่ดีกว่ากฎหมายคือสังคม กฎหมายต้องมี เพราะว่าเราจะใช้แค่ความคิดเห็นไม่ได้ มันคงขัดแย้งกัน มันต้องมีกติกาในการอยู่ร่วมกัน กติกามันคือการตกลงกันนี่แหละ ไฟแดงแปลว่าหยุด ไฟเขียวแปลว่าไป ตรงขาว-แดงแปลว่าห้ามจอด จะกินบุฟเฟ่ต์ควรต้องเข้าคิว เข้าลิฟต์ บีทีเอส หรือจะเข้าห้องน้ำ มันควรต่อแถวกัน มันคือกติกาเพื่อไม่ให้เกิดการใช้กำลังตัดสินปัญหา

     แต่ว่าพื้นฐานของกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวโดยขาดพลังทางสังคมก็ไปไม่รอด มันต้องไปด้วยกันทั้งกติกาที่ดีกับพลังทางสังคมด้วย

     อย่าไปคิดว่ากฎหมายอย่างเดียวจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ไม่จริงครับ กฎหมายจะเขียนดีแค่ไหน ถ้าคนในสังคมไม่ใช้ ไม่ทำตาม ก็เป็นแค่ตัวหนังสือ แล้วอย่าลืมว่าคนที่ติดคุก ถึงวันหนึ่งก็ต้องกลับสู่สังคม ทุกคนหลงผิดได้ ทุกคนพลาดได้ ประเด็นคือเราจะทำอย่างไรกับคนที่พลาดไปแล้ว คนที่เป็นอาชญากรรมโดยกำเนิดมีจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ถ้ามีก็น้อยมาก คนส่วนใหญ่ไม่ใช่

     เราควรเอาคุกไว้ขังคนที่เป็นอาชญากรแท้ๆ ร้ายแรงดีกว่า คนที่หลงผิดไป เราควรหาวิธีการที่ทำอย่างเหมาะสม แน่นอนครับ ถ้าเขาทำผิดจริงก็ควรต้องลงโทษเขา แต่เมื่อลงโทษแล้ว ถึงจุดหนึ่งเขาต้องกลับคืนสู่สังคมแบบเป็นพลเมืองดีอีกครั้งหนึ่ง แล้วสำคัญกว่านั้นคืออะไร ถ้ายังไม่ผิดก็ต้องอย่าเอาเขาไปขังไว้ เขาต้องออกมาสู้คดีนอกคุกได้

 

 

รูปธรรมต่อจากนี้ในการรณรงค์แคมเปญคืออะไร

     ความจริงเราจะรอให้ครบ 6 หมื่นรายชื่อ ถามว่าทำไมต้อง 6 หมื่นรายชื่อ เดิมทีที่เครือข่ายทำเรื่องนี้เขาตั้งไว้ที่ 1 หมื่นคนแล้วไปยื่นเลย ซึ่งความจริงทำได้นานแล้ว ผมเป็นคนเสนอเองครับว่า 1 หมื่นคนมันน้อยเกินไป เราควรทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวในสังคมให้มากว่าทำไมต้องทำ เพราะว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้เพียงแค่ว่าคณะกรรมการปฏิรูปฯ คิดว่ามันดีแล้วก็เปลี่ยนแปลง

     ถ้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต้องเพราะว่าสังคมเห็นว่ามันต้องเปลี่ยนแปลง และสำคัญคือเรื่องนี้ผู้พิพากษาสามารถทำได้เลย แม้ว่าจะไม่มีการปฏิรูปอะไร เพราะว่าตามกฎหมาย เรื่องนี้เป็นดุลพินิจของศาลอยู่แล้ว ศาลจึงสามารถเปลี่ยนได้ทันที เป็นระบบประกันตัวโดยใช้การประเมินความเสี่ยง ทำมาแล้ว 12 ศาลในประเทศไทย ดังนั้นศาลและผู้พิพากษาจำนวนมากเขาก็ลังเลใจ

     การเปลี่ยนแปลงมันธรรมดาอยู่แล้วครับ เพราะหากเปลี่ยนแปลงไป ถ้าเกิดผลร้ายขึ้นมา เช่น คำถามที่คนถามมากเลยว่าถ้าเกิดใช้ระบบใหม่แล้วผู้ต้องหาหนีล่ะ ระบบใหม่ถ้าใช้แล้วจำเลยหนีจะว่าอย่างไร ศาลก็คงคิดแบบนี้ ก็คงไม่กล้าใช่ไหมครับ แต่พอมีคนมาลงชื่อกันมากๆ ออกสื่อต่างๆ มาก เกิดกระแสความตื่นตัวมากๆ มันคือการแสดงออกของสังคมในการสื่อสารไปยังผู้พิพากษา คือการสื่อสารของสังคมไปยังศาลครับว่าประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อมั่นครับว่ามันจะเกิดความเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นหนึ่งเสียงของท่าน เราสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ครับ

เป้าหมายถึงที่สุดคืออะไร

     ทุกคนนะครับ ไม่ว่ายากดีมีจน สถานะทางสังคมอย่างไรก็แล้วแต่ อาชีพ หน้าที่การงาน ในกระบวนการยุติธรรม ทุกคนต้องเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายและต่อหน้าศาล ใครทำผิดก็ต้องรับโทษกันไป ไม่ใช่คนไปติดคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัว ผมว่าเรื่องนี้สำคัญมากที่เราจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

     ปัญหาสังคมมันเกิดขึ้นเยอะ เพราะเราเอาพ่อ เอาแม่ หัวหน้าครอบครัว คนทำมาหาเลี้ยงในครอบครัวเอามาขังไว้โดยที่เขายังไม่กระทำความผิด ปัญหาก็เกิดขึ้นตามมามากมาย การเอาคนไปขังไว้โดยที่ยังไม่ผิด เอาไปขังไว้เพียงเพราะไม่มีเงินประกันมันก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างที่นึกไม่ถึง การเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ไม่มีอะไรยากเลย เพราะไม่มีอะไรแย่ไปกว่าเรื่องนี้แล้ว การใช้เงินประกันตัว ถ้าเปลี่ยนระบบใหม่จะมีแต่ดีกว่า

     ผมถึงอยากเชิญชวนนะครับ ทุกท่านที่เกี่ยวข้องในระบบกระบวนการยุติธรรม เรามาเปลี่ยนแปลงกันเถอะครับ ความเหลื่อมล้ำอย่างร้ายแรงที่สุด ไม่มีอะไรแย่กว่าการใช้เงินเป็นหลักประกันอีกแล้ว ทุกคนสามารถเปลี่ยนได้ แม้ว่าท่านจะไม่ใช่คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งก็มาร่วมลงชื่อกับเราได้ครับ ส่งสารจากเรา ส่งความคิดจากเราไปให้ถึงศาล ไปให้ถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศครับว่าเราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง หนึ่งเสียงของท่านสามารถช่วยคนหนึ่งคนที่ติดคุกอยู่ได้นะครับ เราตั้งเป้าไว้ 6 หมื่นคน เพราะเราต้องการให้เท่ากับจำนวนคนที่ติดคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัว 6 หมื่นคนครับ ดังนั้นหนึ่งเสียงของท่าน เราสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้ครับ

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X