×

ส่งท้ายปี 2021 วงการดนตรีที่ไร้คอนเสิร์ตก็เหมือนชีวิตคู่ที่ไร้เซ็กซ์

29.12.2021
  • LOADING...
วงการดนตรี

HIGHLIGHTS

  • การแสดงดนตรีสดนั้นก็ไม่เคยสูญหายไปไหน ต่อให้จะผ่านยุคแผ่นเสียง เทป ซีดี แนปสเตอร์ มาจนถึงยุคสตรีมมิงแบบเต็มตัว ดนตรีสดก็ยังคงมีอยู่ไว้เติมเต็มทั้งอุปสงค์และอุปทานอย่างสมดุล จนกระทั่งการมาถึงของยุคโควิดนี่แหละ ที่สะเทือนขนบธรรมเนียมทางดนตรีของทั้งโลกแบบยิ่งใหญ่ที่สุด 2 ปีมาแล้วที่สังเวียนรักแห่งนี้ถูกทิ้งร้างไว้ให้เปล่าเปลี่ยว ขาดการเติมเต็มความสุขแก่กันมายาวนานขนาดนี้
  • ถ้าเซ็กซ์คือการแสดงภาษารักของคู่รัก คอนเสิร์ตก็เปรียบเหมือนการแสดงภาษารักแก่กันระหว่างศิลปินกับแฟนเพลง มีการส่งถ่ายพลังให้แก่กันและกันไปมา ผลัดกันรุกผลัดกันรับกระตุ้นเร้าต่อมหฤหรรษ์ ศิลปินคอยขับบรรเลงเพลงรัก ส่วนท่านผู้ชมก็ตอบด้วยการขยับอวัยวะตอบรับตามจังหวะจนเฉอะแฉะไปทั้งร่างด้วยเหงื่อไคลและฮอร์โมนแห่งความสุข ต่างฝ่ายต่างร้องตามสอดประสานตามกันกึกก้อง จนสุขสมอารมณ์หมายกันทั้งสองฝั่ง
  • ถึงแม้เราจะเฝ้าสังเกตการณ์ความงอกเงยของงานศิลปะรูปแบบใหม่อย่าง Virtual Concert อยู่ตลอดอย่างลุ้นระทึก และรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้รับชม แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็ยังถือว่ามันเป็นงานศิลป์แขนงใหม่ ไม่ใช่งานที่จะมาเติมเต็มความรู้สึกในแบบที่เราเคยได้รับจากคอนเสิร์ตเหงื่อซกๆ จากเมื่อ 2 ปีก่อน ไม่เหมือนแก๊สโซฮอล์ที่มาแทนที่น้ำมันเบนซินธรรมดาได้อย่างหมดจด หากแต่เป็นความบันเทิงอีกทางเลือกหนึ่งเท่านั้นในวันที่ทางเลือกแบบดั้งเดิมถูกจำกัด

 

ในขณะที่ดนตรีฮิปฮอปยังคงเป็นกระแสหลักอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันได้พักใหญ่แล้ว แต่เจ้าเชื้อไวรัสโควิดก็ยังคงพัฒนาต่อเนื่องล้ำหน้าไปไกลกว่าวัฒนธรรมและอารยธรรมใดๆ ของโลกเสียอีก ในขณะที่เสียงร้องผ่านเอฟเฟกต์ออโตจูนหนักๆ กำลังล้นตลาดจนถึงขั้นน่าเบื่อไปแล้ว แต่เจ้าโควิดก็ยังคงมีสายพันธุ์ใหม่ๆ มาให้เราได้เซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่องเสมอมาตลอดระยะเวลา 2 ปีแห่งความปังปินาศนี้

 

ในอีกนัยยะหนึ่ง เจ้าโควิดนี่แหละเป็นเหมือนตัวแปรหลักในการสร้างเทรนด์ใหม่ๆ หลายๆ อย่างให้กับโลกเบี้ยวๆ ใบนี้แบบเฉียบพลัน โดยเฉพาะกับวงการดนตรีที่หมุนติ้วจนเกาะกันแทบไม่ทัน บุคลากรในวงการหลายๆ ฝ่ายก็มีอันต้องกระเด็นออกมาสู่วงการขายอาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงวงการไรเดอร์ส่งอาหารและพัสดุ โดยที่ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าจะได้กลับมาสู่วงการดนตรีอีกครั้งเมื่อไร โมเดลของอุตสาหกรรมดนตรีได้เปลี่ยนไปโดยภาคบังคับ แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือพวกเรายังคงอาลัยอาวรณ์อยู่กับโมเดลเดิมที่เคยเติมปากเติมท้องหลายๆ ชีวิตได้อิ่มกว่าหลายเท่านัก และเคยเติมความสุขสมอารมณ์หมายให้กับคนหมู่มากได้มากกว่านี้ หลายๆ ฝ่ายจึงยังทำได้แค่มูฟออนทางกาย แต่ทางจิตใจยังคงฝังจำ ตอกย้ำภาพเก่าๆ ที่เคยรุ่งเรืองยิ่งกว่าก๋วยเตี๋ยวหมูแห่งสุขุมวิท 26

 

รูปแบบการเสพดนตรีได้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อทุกสิ่งอย่างต้องอยู่ภายใต้มาตรการ Social Distancing และยิ่งนานไปอาจจะยิ่งเกิดความเคยชินกับทั้งฝั่งผู้ผลิตและฝั่งผู้บริโภค จนอาจจะไม่กลับไปเป็นรูปแบบเดิมก่อนยุคโควิดอีกแล้วก็ได้ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่ากลัว เพราะจนถึงบัดนี้ยังไม่มีฮีโร่ผู้ใดที่สามารถคิดค้นโมเดลที่ลงตัวไปกว่านี้ได้ แล้วเสียงดนตรีก็อาจจะค่อยๆ จางหายไปจากสยามประเทศ เพราะขาดบุคลากร วงการดนตรีบ้านเราอาจจะกลายเป็นแบบสิงคโปร์ที่ไม่เสพและไม่ผลิตศิลปินในประเทศ มีแต่การนำเข้าเพลงสากลมาเสพเท่านั้น นอสตราดามุสไม่ได้กล่าวไว้ แต่ถ้าปล่อยไว้ก็คงไม่ยากที่จะเกิดขึ้น

 

 

ดนตรีที่ไม่มีคอนเสิร์ตก็เหมือนชีวิตคู่ที่ไม่มีเพศสัมพันธ์

นี่ไม่ได้จั่วหัวขึ้นมาแบบขำๆ นะ ลองนึกย้อนตามไปสิว่า จริงๆ แล้วการแสดงดนตรีสดนั้นได้ถือกำเนิดมาก่อนทุกสิ่งอย่างในอุตสาหกรรมดนตรีตั้งแต่โบราณกาล ดนตรีสมัยก่อนเขาร้องรำกันในวัดในโบสถ์ จนมีการคิดค้นระบบบรรทัดห้าเส้นขึ้นมาเป็นภาษาดนตรีที่สามารถบันทึกลงบนกระดาษได้ เพื่อให้มีการคัดลอกและนำไปเล่นต่อกันอย่างแพร่หลายขึ้น 

 

ดนตรีทุกประเภทล้วนเกิดจากการประกอบกิจกันสดๆ ต่อหน้าธารกำนัลทั้งนั้น จนกระทั่งมีการคิดค้นเทคโนโลยีการบันทึกเสียงขึ้นมานี่แหละ อุตสาหกรรมดนตรีจึงได้มีการต่อยอดขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่การแสดงดนตรีสดนั้นก็ไม่เคยสูญหายไปไหน ต่อให้จะผ่านยุคแผ่นเสียง เทป ซีดี แนปสเตอร์ มาจนถึงยุคสตรีมมิงแบบเต็มตัว ดนตรีสดก็ยังคงมีอยู่ไว้เติมเต็มทั้งอุปสงค์และอุปทานอย่างสมดุล จนกระทั่งการมาถึงของยุคโควิดนี่แหละที่สะเทือนขนบธรรมเนียมทางดนตรีของทั้งโลกแบบยิ่งใหญ่ที่สุด 

 

ทุกวันนี้เราได้แต่อาศัยช่วงเวลาช่องว่างของการกลายพันธุ์มาขโมยจัดคอนเสิร์ต ก่อนที่การระบาดระลอกใหม่จะมาอีกครั้ง เหมือนคนจมน้ำมาตลอด 2 ปีที่ได้มีโอกาสโผล่หัวขึ้นมาหายใจเฮือกสั้นๆ ก่อนโดนกดหัวลงไปในน้ำอีกครั้ง มีเพียงไม่กี่งานที่ได้จังหวะดี เล็ดลอดช่วงแผ่วเล็กๆ ของโควิดมาได้ อย่างเช่นเทศกาล Lollapalooza ที่ชิคาโก ในช่วงวันที่ 29 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2021 โดยมีศิลปินเฮดไลน์อย่าง Post Malone, Foo Fighters และ Miley Cyrus ซึ่งมีผู้เข้าชมถึง 385,000 คน แต่มีเคสการติดต่อของเชื้อโควิดที่เชื่อว่าได้รับมาจากงานนี้เพียง 203 รายเท่านั้นในระยะเวลา 4 วัน ซึ่งถือว่าน้อยมาก

 

 

ที่ผ่านมารายได้ของทั้งอุตสาหกรรมดนตรีทั่วโลกพึ่งพิงการจัดแสดงคอนเสิร์ตเป็นหลัก จนกระทั่งโดนซัดด้วยคลื่นโควิดทำให้เป๋หนักไปตั้งแต่ปี 2020 จนปัจจุบันก็ยังไม่หวนคืน เช่นเดียวกับความสุขสมอารมณ์หมายทางโสตประสาทที่ขาดการเติมเต็ม

 

ถ้าเซ็กซ์คือการแสดงภาษารักของคู่รัก คอนเสิร์ตก็เปรียบเหมือนการแสดงภาษารักแก่กันระหว่างศิลปินกับแฟนเพลง มีการส่งถ่ายพลังให้แก่กันและกันไปมา ผลัดกันรุกผลัดกันรับกระตุ้นเร้าต่อมหฤหรรษ์ ศิลปินคอยขับบรรเลงเพลงรัก ส่วนท่านผู้ชมก็ตอบด้วยการขยับอวัยวะตอบรับตามจังหวะจนเฉอะแฉะไปทั้งร่างด้วยเหงื่อไคลและฮอร์โมนแห่งความสุข ต่างฝ่ายต่างร้องตามสอดประสานตามกันกึกก้อง จนสุขสมอารมณ์หมายกันทั้งสองฝั่ง แม้กระทั่งคอนเสิร์ตจบสิ้นแล้วก็ยังคงตรึงติดอารมณ์มิรู้ลืมทุกคราวที่นึกถึง

 

รูปแบบการเสพดนตรีแบบ Interactive และ Primitive ตรงไปตรงมาที่สุดเช่นนี้ยากจะหารูปแบบไหนมาเสมอเหมือนหรือทดแทน แม้ความละเมียดละไมอาจจะหาได้จากบทเพลงในเวอร์ชันสตูดิโอที่ผ่านการบันทึกเสียงและตัดต่อมาแล้วอย่างเรียบร้อยเหมือนหนัง 18+ ชั้นดีที่คมชัดเมื่อคุณสมัครสมาชิกแบบพรีเมียม ไม่ต่างอะไรกันกับการเสพสมดนตรีผ่านสื่อสตรีมมิงแบบ HD โดยไม่มีโฆษณามาขวางกั้นระหว่างเราให้บ่มิสม แต่การเสพดนตรีที่บรรเลงสดๆ ย่อมให้อรรถรสและบรรยากาศที่แตกต่างยิ่งนัก เสน่ห์ของการแสดงแต่ละครั้งนั้น คือถึงแม้จะเป็นเพลงเดิมศิลปินซ้ำ แต่ลีลาท่วงท่าในแต่ละการแสดงย่อมแตกต่างไปในแต่ละรอบ ความประทับใจจึงติดตรึงในประสบการณ์ของทั้งสองฝั่ง

 

2 ปีมาแล้วที่สังเวียนรักแห่งนี้ถูกทิ้งร้างไว้ให้เปล่าเปลี่ยว ขาดการเติมเต็มความสุขแก่กันมายาวนานขนาดนี้ ย่อมมีผลต่อสุขภาพของชีวิตรักแน่นอน ต่อให้ผูกพันแค่ไหนก็ต้องมีอันจืดจางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พ่วงมาด้วยความไม่สมบูรณ์ของสุขภาพจิตที่ขาดการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขมานานจนหน้าแก่เกินวัย…ช่างน่าเศร้า

 

 

Virtual Concert ช่วยคลายเหงาได้จริงหรือ?

ทีแรกเราก็ตื่นเต้นตุ้บตั้บตามประสาคนเห่อประสบการณ์ใหม่ๆ แหละน่า อะไรที่ไม่เคยทำหรือไม่เคยสัมผัสย่อมปลุกเร้าอารมณ์ได้ซู่ซ่า ยิ่งมีการเสริมโปรดักชันด้วยวิชวลเอฟเฟกต์ต่างๆ ก็ยิ่งว้าว มีผู้จัดหลายรายที่ทำผลงานได้เยี่ยมยอด ช่วยส่งเสริมให้การแสดงของศิลปินเด้งผ่าสัญญาณไวไฟออกมาจากหน้าจอ สอดรับกันไปกับการแสดงอย่างนวลเนียน จนราวกับว่านี่คือจุดเริ่มต้นของศิลปะประยุกต์รูปแบบใหม่ล่าสุดที่ถูกนำพามาด้วยเงื่อนไขของโรคระบาดอันถูกคิดค้นและจัดแสดงมาตั้งแต่ปี 2020 และล้ำขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับอย่างรวดเร็ว โดยมีข้อได้เปรียบคือภาพและเสียง ทุกสิ่งอย่างคมชัดกว่าคอนเสิร์ตแบบดั้งเดิมที่เราต้องแลกคุณภาพของภาพและเสียงดีๆ มาด้วยค่าบัตรที่แพงขึ้นเพื่อที่จะได้อยู่ในตำแหน่งที่สัมผัสการแสดงได้เต็มอรรถรสที่สุดตามกำลังทรัพย์

 

กรณีของ Virtual Concert ที่เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดในปี 2021 ว่าเป็นหมุดหมายทางนวัตกรรมของด้านนี้ มีตัวอย่างดังนี้

 

  1. Ariana Grande in Fortnite

เป็นการแสดงแบบ Interactive ของ Ariana Grande ที่ครีเอตสุดๆ ด้วยการเอาวิดีโอเกมมาผสมผสาน ทำให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในการเล่นเกมไปด้วยในโลกแห่งเสียงเพลงของ Ariana และมี Virtual Tour ที่ Ariana ต้องออกไปแสดงในสถานที่ต่างๆ ในโลกเสมือน

 

ที่ฉลาดขึ้นไปอีกคือมีการขายไอเท็มในเกมเป็น Virtual Merchandise ซะด้วยสิ เพราะฉะนั้นรายได้จากการขายเสื้อยืด หมวก เข็มกลัด หรืออะไรต่างๆ หน้างานคอนเสิร์ตก็ถูกแปรเปลี่ยนเป็นการจำหน่ายของที่ระลึกในโลกเสมือน คราวนี้จะทำออกมาเวอร์วังแค่ไหนก็ได้ มีทั้งชุดบลิงๆ ที่ Ariana ใส่ในการแสดง Virtual Show และเครื่องประดับระยิบระยับต่างๆ ตามสไตล์ของเธอ ซึ่งคงไม่สามารถทำออกมาขายจริงได้แน่ๆ หน้างานคอนเสิร์ตแบบปกติในโลกจริง

 

 

  1. Billie Eilish in Spatial Web

เป็นงานแสดงอาฟเตอร์ปาร์ตี้ของงาน The Consumer Electronics Show (CES 2021) ซึ่งเป็นปีที่จัดอีเวนต์นี้ในรูปแบบเวอร์ชวลทั้งหมดเป็นครั้งแรก จากเดิมทีที่เคยจัดที่เมืองลาสเวกัสมาโดยตลอด ภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘การร่วมทางอย่างห่างไกลในวันที่ความชิดใกล้ถูกจำกัด’

 

และเนื่องจากงาน CES เป็นงานอีเวนต์แสดงเทคโนโลยีเกี่ยวกับด้านเสียง โชว์ในครั้งนี้จึงใช้ระบบเสียงแบบ Spatial Audio ที่กำลังเป็นที่ผลักดันของกลุ่มผู้ผลิตมาใช้ซะเลย ซึ่งมีจุดเด่นคือ เสียงที่ได้ยินจะให้ความรู้สึกเหมือนเราได้เข้าไปยืนอยู่ในสถานที่จริง ทิศทางของแหล่งกำเนิดเสียงราวกับมาจากรอบตัว 360 องศา ซึ่งก็ต้องมาจับตาดูกันว่าระบบ Spatial Audio นี้จะดันขึ้นหรือเปล่าในหมู่ผู้บริโภค เพราะอย่างทาง Apple Music เองก็เริ่มพยายามผลักดันฟอร์แมตนี้อย่างเต็มที่ในปี 2021 นี้

 

 

  1. Secret Sky 2021

อีกงานที่ให้ผู้เข้าชมสร้าง Username และใช้อวตารแทนตนเองในโลกเสมือน คล้ายกับภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One โดยที่สมาชิกจากทั่วทุกมุมโลกสามารถสนทนาแลกเปลี่ยนกันได้ราวกับเป็นเพื่อนดูคอนเสิร์ตที่ยืนอยู่ข้างๆ ที่แม้ว่าตัวจริงอาจจะอยู่กันคนละทวีป งานนี้เหมือนเป็นเครื่องยืนยันว่าในอนาคตอันใกล้นี้ระบบ VR ต้องเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเราแน่นอน เราจะสั่นกลัวหรือสั่นสู้กับการมาถึงของ Metaverse ในเร็วๆ นี้?

 

 

  1. The Weeknd – The TikTok Experience

เป็นโชว์ดนตรีโดยใช้แอนิเมชันเป็นตัวแทนศิลปิน โดยที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมได้โดยการจุดดอกไม้ไฟในงาน (ในโลกเสมือนนะ) ที่สามารถใส่ข้อความและชื่อของผู้จุดได้แบบเรียลไทม์เพื่อให้กำลังใจศิลปิน

 

 

นอกจากนี้ผลงาน Virtual Concert ภายในประเทศไทยเราเองก็มีที่งดงามอยู่ไม่น้อย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจหรอก เนื่องจากบ้านเรามี Visual Artist ฝีมือดีอยู่มากมายอยู่แล้ว และนี่ก็เป็นโอกาสที่จะได้นำเสนอผลงานที่มาเป็นแพ็กเกจแปะมือระหว่างภาพและเสียงให้มาอยู่คู่กันในวันที่ทุกคนรอดูอยู่ที่บ้าน แต่ในเชิงธุรกิจ ผลตอบรับอาจไม่คุ้มทุน หากต้องการจัดโปรดักชันขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณเยอะ โชว์ในลักษณะนี้จึงมีอันต้องผสมปนเปกันไประหว่างงานประเภทโชว์พลังทางศิลปะซึ่งมาพร้อมกับต้นทุนที่สูง กับโชว์เล็กๆ แบบบ้านๆ เพื่อบรรเทาความคิดถึงกันระหว่างศิลปินกับแฟนเพลงเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะเฝ้าสังเกตการณ์ความงอกเงยของงานศิลปะรูปแบบใหม่อย่าง Virtual Concert อยู่ตลอดอย่างลุ้นระทึก และรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้รับชม แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็ยังถือว่ามันเป็นงานศิลป์แขนงใหม่ ไม่ใช่งานที่จะมาเติมเต็มความรู้สึกในแบบที่เราเคยได้รับจากคอนเสิร์ตเหงื่อซกๆ จากเมื่อ 2 ปีก่อน ไม่เหมือนแก๊สโซฮอล์ที่มาแทนที่น้ำมันเบนซินธรรมดาได้อย่างหมดจด หากแต่เป็นความบันเทิงอีกทางเลือกหนึ่งเท่านั้นในวันที่ทางเลือกแบบดั้งเดิมถูกจำกัด

 

 

ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อวนกลับมาเปรียบเทียบกับเรื่องใต้สะดือตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็เหมือนกับชีวิตบางช่วงของคู่รักที่มีอันต้องพลัดพรากไปต่างถิ่น ด้วยหน้าที่การงานหรือการศึกษาต่อ การจัด Virtual Concert ก็คงเหมือน Sex Chat หรือ Sex Video Call ที่ถูกใช้ในการช่วยประคับประคองความสัมพันธ์ระยะไกลไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางไปทำผิดศีลเรี่ยราด แน่นอนว่ามันคงเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ในครั้งแรกๆ ที่ได้ทดลอง ความตื่นเต้นที่ได้จากความขวยเขิน และเงื่อนไขของข้อจำกัดที่ถูกตีกรอบอยู่ในหน้าจอมันช่างเร้าใจ แต่ท้ายที่สุดแล้วสัมผัสที่แท้จริงแบบที่ใช้ประสาทสัมผัสครบทั้ง 5 ส่วนพร้อมๆ กันนั้น หามีครรลองอื่นใดมาทดแทนได้เป็นไม่มี รูปรสกลิ่นเสียงแบบต้นตำรับรักเดิมๆ ก็ยังคงเป็นหนทางหลักในการประคองความสัมพันธ์และการดำรงซึ่งเผ่าพันธุ์ไว้ตราบนานเท่านาน จะ Virtual Sex หรือ Virtual Concert มันก็เป็นเพียงพลังงานทดแทนในวันที่ขาด เพราะโรคระบาดทำเราห่างไกล แต่สุดท้ายสักวันหนึ่งมนุษย์เราก็ต้องพยายามดึงเอาวิถีชีวิตแบบเดิมๆ กลับมาให้จงได้

 

ลองย้อนนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ บางคอนเสิร์ตที่เสียงมัวซัวฟังไม่รู้เรื่องจนหงุดหงิดกันทั้งคนเล่นและคนดู เพราะผู้ออกแบบคอนเสิร์ตฮอลล์ไม่คำนึงถึงระบบอะคูสติกใดๆ ทั้งสิ้น หรือระบบการจัดการหน้างานคอนเสิร์ตที่เจอผู้จัดงงๆ มาจัดระบบ ให้เราต้องเอาบัตรอ่อนไปแลกบัตรแข็งแล้วไปต่อคิวแลกริสต์แบนด์ (Wristband) อีกทีอยู่ 2 ชั่วโมง แล้วใส่ริสต์แบนด์ต่อคิวเข้างานด้วยกระบวนการแบบซ้ำซ้อนอีกชั่วโมงครึ่ง จนวงเขาเล่นกันไป 4-5 เพลงแล้ว คนดูยังเข้าฮอลล์ได้ไม่ครบ 

 

แค่นี้ยังไม่พอ ลองนึกถึงพื้นเหนียวๆ จากคราบเบียร์ ที่ทุกคอนเสิร์ตต้องมีคนเมาทำเบียร์หก และเราต้องกลับบ้านมาล้างรองเท้าครั้งใหญ่ทุกครั้ง แต่นั่นก็เป็นแค่เพียงเรื่องยิบย่อยเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคุณูปการของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คอยเป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับงานคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีเสมอมา ไหนจะเจอคอนเสิร์ตที่จัดวันเดียวกับงานมอเตอร์โชว์และงานแสดงสินค้าโอทอปจนรถติดยาวม้วนขึ้นไปถึงบนทางด่วน ทุกอุปสรรคเหล่านี้ที่เราเคยหงุดหงิดล้วนกลับกลายเป็นความทรงจำที่สวยงาม ว่ากว่าเราจะได้ดูการแสดงของศิลปินโปรดนั้นต้องแลกมาด้วยความยากลำบากแค่ไหน

 

วงการดนตรี

View from the stage stadium. Vocalist of a popular pop band on the background of the flashlights of phones during a concert. Fans switch on lights on smart phones on tribunes. Crowd waving cellphones

 

สภาพของนักดูคอนเสิร์ต ณ ตอนนี้ก็คงไม่ต่างกับนักโทษขังเดี่ยวที่รอการปลดปล่อย หนทางแห่งอิสรภาพทางโสตประสาทจะได้กลับมาในปี 2022 นี้หรือไม่ หรือเรายังคงต้องเสพ Virtual Concert บรรเทาอาการเสี้ยนต่อไป ยังคงต้องเป็นที่ติดตามกัน หรือ Metaverse จะช่วยเมตตา พาเราวาร์ปเข้าไปสู่คอนเสิร์ตในโลกเสมือนที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นถึงในระดับ 4D ที่เราจะสามารถรู้สึกได้ถึงพลังของศิลปินที่โถมมาปะทะเบื้องหน้า รวมไปถึงความอับชื้นของเหงื่อไคลของผู้ร่วมเข้าชม และกลิ่นเต่าจากคนข้างๆ แบบสี่มิติที่จำลองมาได้อย่างละเอียดทุกอณู

 

‘No Music, No Life… Neither does Sex’ ไม่เชื่อลองไปหาดูภาพยนตร์เรื่อง 9 Songs จากปี 2004 ที่กำกับโดย Michael Winterbottom สิ ความสุข 2 รูปแบบที่มาด้วยกันในสมัยที่ยังไม่มีโควิด คุณอาจจะได้เห็นศิลปินคนโปรดของคุณปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้บ้างก็ได้ อย่างน้อยสัก 1 วง แล้วคุณจะคิดถึงคอนเสิร์ตมากขึ้น รวมถึงความสุขที่เกิดขึ้นหลังคอนเสิร์ตด้วย!?

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising