×

ส่งสัญญาณไม่ลดดอกเบี้ยต่อ ยืนยัน ธปท. ยังไม่เข้าสู่วงจรการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน

16.10.2024
  • LOADING...

แบงก์ชาติส่งสัญญาณไม่ลดดอกเบี้ยต่อ ยืนยันยังไม่เข้าสู่วงจรการผ่อนคลาย (Easing Cycle) ชี้การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ให้น้ำหนักกับการลดภาระหนี้ครัวเรือนเป็นหลัก ลั่นไร้แรงกดดันทางการเมืองแทรกแซงการตัดสินใจ

 

วันนี้ (16 ตุลาคม) สักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยระหว่างการแถลงผลการประชุม กนง. โดยระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ได้เข้าสู่วงจรการผ่อนคลาย (Easing Cycle) แต่เป็นการค่อยๆ ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเท่านั้น (Recalibrate) จะไม่ใช่การปรับลดแบบเรื่อยๆ

 

สักกะภพยืนยันอีกว่า แรงกดดันทางการเมืองไม่ได้มีส่วนทำให้ กนง. ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ โดยน้ำหนักที่ กนง. ให้มากที่สุดในการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ คือปัจจัยด้านเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability) และความต้องการในการช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนบ้าง

 

“จาก 3 ปัจจัยที่ กนง. ใช้พิจารณา ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน 2 ปัจจัยแรกยังเป็นไปตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ ดังนั้นน้ำหนักในรอบนี้จึงมาอยู่ที่เสถียรภาพทางการเงิน หรือหนี้ครัวเรือน” สักกะภพกล่าว

 

นอกจากนี้ สักกะภพยังระบุว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้อยู่ในระดับที่ยังเป็นกลาง (Neutral) ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ กล่าวคือยังเป็นระดับที่ไม่ได้กระตุ้นหรือฉุดรั้งเศรษฐกิจแต่อย่างใด

 

ส่วนประเด็นเรื่องแนวโน้มการเติบโตของการปล่อยสินเชื่อในระยะต่อไป สักกะภพคาดการณ์ว่า มีแนวโน้มโตชะลอลง แต่ยังมีการพัฒนาอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาต่อเนื่องไป เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ในบางประเภทสินเชื่อ เช่น สินเชื่อรถยนต์ อาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัจจัยเศรษฐกิจขนาดนั้น แต่เป็นผลมาจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า

 

สำหรับประเด็นเรื่องเงินเฟ้อ สักกะภพยืนยันว่า จากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบัน ธปท. ยังไม่เห็นสัญญาณของภาวะเงินฝืด ส่วนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะมีการหารือกับกระทรวงการคลังอีกที พร้อมทั้งอธิบายอีกว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมีหน้าที่หลักคือการดูแลเงินเฟ้อระยะยาวและความผันผวนของเงินเฟ้อ

 

“ความผันผวนของเงินเฟ้อไทยส่วนใหญ่มาจากฝั่งของอุปทานและปัจจัยภายนอกค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นกรอบเงินเฟ้อที่ดีควรจะมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้อีกสิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือเงินเฟ้อไม่ควรจะอยู่สูงเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็น”

 

สักกะภพยังคาดหวังว่าจะเห็นการส่งผ่านการลดดอกเบี้ยในอัตราที่ใกล้เคียงกับอดีต คือเกือบ 50%

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising