×

ชมคลิป: รู้จักเขตห้ามบิน และระเบิดสุญญากาศในสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน

โดย THE STANDARD TEAM
09.03.2022
  • LOADING...

ช่วงหลายวันที่ผ่านมา การกำหนด ‘เขตห้ามบิน’ ในยูเครน กลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง หลังเกิดคำถามขึ้นว่า สหรัฐฯ และ NATO ควรกำหนดเขตห้ามบินในน่านฟ้ายูเครนหรือไม่ เพื่อปกป้องชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์ในยูเครนจากการตกเป็นเป้าโจมตีทางอากาศของรัสเซีย

 

ขณะที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ออกมาประกาศเตือนว่า ประเทศใดก็ตามที่กำหนดเขตห้ามบินในน่านฟ้ายูเครน จะถือเป็น ‘ผู้มีส่วนร่วมในความขัดแย้งทางทหาร’ ในสงครามรัสเซีย-ยูเครนทันที

 

นอกจากนี้ รัสเซียยังเผชิญข้อกล่าวหาว่าอาจมีการใช้อาวุธร้ายแรงอย่างระเบิดสุญญากาศ (Vacuum Bombs) หรืออาวุธเทอร์โมบาริกในสมรภูมิยูเครน

 

รายการ KEY MESSAGES จะพาทุกท่านมาทำความเข้าใจกับคำว่า ‘การกำหนดเขตห้ามบิน’ และทำความรู้จักกับระเบิดสุญญากาศ สองคีย์เวิร์ดสำคัญที่ถูกพูดถึงในสงครามครั้งนี้

 

เขตห้ามบินคืออะไร?

 

‘เขตห้ามบิน’ หรือ No-fly Zone หมายถึงน่านฟ้าในดินแดนใดก็ตามที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตที่ไม่อนุญาตให้อากาศยานบินเข้าไป ซึ่งโดยปกติแล้วอาจกำหนดเพื่อปกป้องพื้นที่อ่อนไหว เช่น ที่อยู่ของเชื้อพระวงศ์ ทำเนียบผู้นำประเทศ สนามกีฬาที่มีการแข่งขัน หรือสถานที่ที่มีการรวมตัวของฝูงชน

 

ส่วนในบริบททางการทหารนั้น เขตห้ามบินออกแบบมาเพื่อสกัดเครื่องบินไม่ให้บินเข้าน่านฟ้าหวงห้าม ซึ่งจะต้องกำหนดโดยวิธีการทางทหารเท่านั้น และโดยปกติจะใช้ป้องกันการโจมตีหรือการสอดแนมของข้าศึก ด้วยเหตุนี้การจัดตั้งเขตห้ามบินจะเปิดทางให้ฝ่ายที่กำหนดสามารถยิงเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามที่ล่วงล้ำเข้ามาในเขตหวงห้ามได้

 

ทำไมการกำหนดเขตห้ามบินของ NATO ในยูเครน จึงเป็นภัยต่อรัสเซีย

 

ดังนั้น การจัดตั้งเขตห้ามบินในสงครามรัสเซีย-ยูเครนนี้จะทำให้กองกำลังของ NATO เข้าไปเผชิญหน้ากับเครื่องบินรัสเซียโดยตรง โดย NATO จะสามารถยิงเครื่องบินรัสเซียที่ตรวจพบในน่านฟ้าได้หากจำเป็น

 

ในอดีต NATO เคยกำหนดเขตห้ามบินในประเทศบอสเนียและลิเบียมาแล้ว ถึงแม้จะไม่มีพันธกรณีในการส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปช่วยสู้รบก็ตาม ดังนั้นหากกำหนดเขตห้ามบินก็เปรียบเหมือนการที่ชาติ NATO เข้าไปมีส่วนร่วมในสมรภูมิ

 

ท่าทีล่าสุดของ NATO ในการกำหนดเขตห้ามบิน

 

แม้มีเสียงเรียกร้องจากประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี และรัฐบาลยูเครน ให้ชาติพันธมิตรกำหนดเขตห้ามบินในยูเครน แต่สหรัฐฯ และ NATO ยืนกรานว่าจะไม่ทำเช่นนั้น เพราะหวั่นเกรงว่าจะทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียดและเลวร้ายลง 

 

ขณะที่ปูตินย้ำเตือนว่า การกำหนดเขตห้ามบินจะเกิดผลร้ายแรงตามมา ไม่เพียงแต่กับยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทั้งโลกด้วย

 

อย่างไรก็ตามการสู้รบที่เกิดขึ้นเข้าสู่สัปดาห์ที่สองแล้ว แต่จะเห็นได้ว่ารัสเซียใช้กองกำลังทางอากาศอย่างจำกัด ถึงแม้จะมีข่าวว่ารัสเซียส่งเครื่องบินรบโจมตียูเครน แต่ก็เป็นรุ่นเก่า ส่วนพวกรุ่นใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีระดับสูงยังไม่เห็นข่าวว่ารัสเซียเอามาใช้ในสงครามครั้งนี้ 

 

แม้แต่ เดวิด เดปทูลา นายทหารของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ซึ่งเคยบัญชาการเขตห้ามบินบนน่านฟ้าทางเหนือของอิรัก ยังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ว่า เขารู้สึกประหลาดใจที่รัสเซียไม่พยายามครองน่านฟ้าตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมชื่นชมกองทัพยูเครนที่ทำได้ดีเกินคาดในการยืนหยัดต่อสู้กับผู้รุกรานอย่างรัสเซีย

 

รู้จัก ‘ระเบิดสุญญากาศ’

 

อย่างไรก็ตาม รัสเซียเผชิญข้อกล่าวหาว่าอาจมีการใช้อาวุธร้ายแรงอย่าง ระเบิดสุญญากาศ’ (Vacuum Bombs) หรืออาวุธเทอร์โมบาริก ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับหลายฝ่าย เพราะอานุภาพการทำลายล้างของมันมีประสิทธิภาพสูงมาก

 

อาวุธเทอร์โมบาริก หรือ ‘ระเบิดสุญญากาศ’ เป็นอาวุธสองขั้นตอนที่สร้างแรงระเบิดขนาดมหึมา โดยยิงจากจรวดหรือกระสุนปืนใหญ่ ซึ่งประจุระเบิดครั้งแรกจะเปิดเปลือกออกและกระจายละอองลอยของเชื้อเพลิงไปรอบๆ เพื่อให้เกิดเป็นกลุ่มควัน จากนั้นประจุระเบิดที่ 2 จะทำให้เกิดประกายไฟขนาดใหญ่ สร้างการระเบิดที่รุนแรง คลื่นแรงดันขนาดใหญ่ และสุญญากาศ ในขณะที่ออกซิเจนในอากาศรอบๆ ถูกดูดเข้าไป ซึ่งอานุภาพของมันสามารถสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง

 

รัสเซียใช้ระเบิดสุญญากาศในยูเครนหรือไม่?

 

โดยก่อนหน้านี้ ออกซานา มาร์คาโรวา ทูตยูเครนประจำสหประชาชาติ เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าทหารรัสเซียใช้ระเบิดสุญญากาศในยูเครน แต่มาร์คาโรวาก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม และยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ารัสเซียใช้อาวุธชนิดนี้ 

 

อย่างไรก็ตามทีมข่าว CNN เคยถ่ายภาพยานพาหนะติดเครื่องปล่อยจรวดเทอร์โมบาริกของรัสเซียที่ลำเลียงเข้าสู่ประเทศยูเครน 

 

โดยอาวุธเทอร์โมบาริกที่พบในขบวนรถทหารของรัสเซียในยูเครนนั้นรู้จักกันในชื่อเครื่องปล่อยจรวดหลายลำกล้อง TOS-1A ซึ่งมีพิสัยยิงอยู่ที่ราว 4 กิโลเมตร และรัศมีการระเบิดแผ่ขยายออกไปประมาณ 1,000 ฟุต หรือ 0.3 กิโลเมตร

 

มีกฎห้ามใช้ระเบิดสุญญากาศในสงครามหรือไม่?

 

ข้อมูลจาก BBC ระบุว่า ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศที่ห้ามใช้อาวุธนี้โดยเฉพาะ แต่หากมีประเทศใดใช้อาวุธเทอร์โมบาริกโจมตีพลเมืองในพื้นที่ที่มีสิ่งปลูกสร้าง โรงเรียน หรือโรงพยาบาล อาจถูกตัดสินว่าก่ออาชญากรรมสงครามภายใต้อนุสัญญากรุงเฮกปี 1899 และปี 1907

 

นี่คือสองคีย์เวิร์ดสำคัญที่ถูกพูดถึงในสงครามครั้งนี้ และไม่ว่าเราในฐานะพลเมืองโลกจะมีมุมมองต่อชนวนเหตุของสงครามครั้งนี้อย่างไร แต่อย่าลืมว่าในสงครามผู้ที่เจ็บปวดและสูญเสียที่สุดคือพลเมืองที่ไม่มีอาวุธ พวกเขาต้องอพยพทิ้งบ้านเกิดเพื่อหนีตาย พวกเขาอาจต้องสูญเสียคนรักในชีวิต และพวกเขามีชีวิตจริง และก็มีชีวิตเดียวเหมือนกับพวกเรา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X