×

พื้นที่เสี่ยงต่ำไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย เปิดแนวทางใหม่ CDC ให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามระดับความเสี่ยง

01.03.2022
  • LOADING...

ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ประชาชนมากกว่า 70% ในสหรัฐอเมริกาไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะอีกต่อไป ภายหลังศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) ประกาศแนวทางประเมินความเสี่ยงของโควิดในชุมชนใหม่ แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงต่ำ ปานกลาง และสูง โดยแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงสูงเท่านั้น CDC มีเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงอย่างไร และประเทศไทยจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หรือไม่

 

เกณฑ์ประเมินความเสี่ยงเดิม

 

หลังจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) ประกาศแนวทางประเมินความเสี่ยงของโควิดในชุมชนใหม่ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ทำให้เกิดการเปรียบเทียบภาพสองภาพระหว่างภาพแผนที่ที่ประเมินด้วยเกณฑ์เดิมกับเกณฑ์ใหม่ ว่าการระบาดของโควิดหายไปภายใน 1 วัน เพราะภาพที่ใช้เกณฑ์เดิม พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นสีแดง ในขณะที่ภาพที่ใช้เกณฑ์ใหม่ จะมีทั้งสีเขียว-เหลือง-ส้มปะปนกันไป และพื้นที่เสี่ยงสูงสุด (สีส้ม) ลดลงเหลือประมาณ 40%

 

 

‘ระดับการระบาดในชุมชน’ (Levels of Community Transmission) เป็นแนวทางประเมินความเสี่ยงเดิม ส่วนแนวทางใหม่เรียกว่า ‘ระดับโควิดในชุมชน’ (COVID-19 Community Levels) ถึงแม้อาจฟังดูคล้ายกัน แต่คำที่ถูกตัดออกไปคือ ‘การระบาด’ (Transmission) นั่นคือ CDC ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์การแพร่เชื้อในชุมชนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่จะสนใจสถานการณ์ผู้ป่วยอาการรุนแรง และความสามารถของระบบสาธารณสุขในชุมชนด้วย

 

สำหรับแนวทางเดิม CDC ประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 มีเป้าหมายเพื่อการจำกัดการแพร่เชื้อในชุมชน ในระหว่างที่รอการวิจัยและกระจายวัคซีน แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

  • สีแดง: สูงมาก (High)
  • สีส้ม: สูง (Substantial)
  • สีเหลือง: ปานกลาง (Moderate)
  • สีน้ำเงิน: ต่ำ (Low)

 

พิจารณาจากตัวชี้วัด 2 ข้อ คือ

  • อัตราป่วยรายใหม่ต่อ 1 แสนประชากรใน 7 วันที่ผ่านมา
  • ร้อยละการตรวจพบผลบวกด้วยวิธี RT-PCR (% Positive) ใน 7 วันที่ผ่านมา

 

 

แนวทางนี้บอกสถานการณ์การระบาดในชุมชนได้ครอบคลุม (ตามชื่อ) เพราะประเมินจากอัตราป่วย ถ้าอัตราป่วยเพิ่มขึ้น แสดงว่าการระบาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับ % Positive ซึ่งสะท้อนความเหมาะสมของการตรวจหาเชื้อ ถ้า % Positive สูง แสดงว่ายังตรวจหาเชื้อได้น้อย ควรเพิ่มการตรวจเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ ต่อด้วยการสอบสวนโรคติดตามผู้สัมผัส จะได้ควบคุมการระบาดได้ ส่วนประชาชนควรระมัดระวังตัวเพิ่มขึ้น เพราะอาจยังมีผู้ติดเชื้ออีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงการตรวจ

 

ทว่าเกณฑ์นี้ไม่ได้สะท้อนความรุนแรงของโรค หรือแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข เพราะระดับภูมิคุ้มกันของประชาชนที่สูงลดความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ทั้งอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น ความครอบคลุมของเข็มกระตุ้น (Booster) ในกลุ่มเสี่ยง และอัตราการติดเชื้อที่สูงในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ทำให้มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมียาต้านไวรัส และการตรวจหาเชื้อที่เข้าถึงได้มากขึ้น CDC จึงเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการลดผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมแทน

 

แนวทางประเมินความเสี่ยงใหม่

 

นำมาสู่แนวทางประเมินความเสี่ยงใหม่ ซึ่งมีตัวชี้วัด 3 ข้อ ได้แก่

  • อัตราป่วยรายใหม่ต่อ 1 แสนประชากร (รวม 7 วัน)
  • อัตรารักษาตัวในโรงพยาบาลต่อ 1 แสนประชากร (รวม 7 วัน)
  • อัตราครองเตียงของผู้ป่วยโควิด (เฉลี่ย 7 วัน)

 

 

ถึงอัตราป่วยรายใหม่จะเป็นตัวชี้วัดเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเกณฑ์แบ่งระหว่างความเสี่ยงต่ำกับปานกลาง-สูง ซึ่งเดิมถ้ามากกว่า 100 รายต่อ 1 แสนประชากร คือ จะถือว่ามีความเสี่ยง ‘สูง’ (เทียบกับกรุงเทพฯ ซึ่งมีประชากรประมาณ 8.5 ล้านคน จะเท่ากับ 8,500 รายต่อสัปดาห์หรือ 1,200 รายต่อวัน) แต่แนวทางใหม่ใช้เกณฑ์ 200 รายต่อ 1 แสนประชากร ถ้ามากกว่านี้จะถือว่าไม่ใช่ความเสี่ยงต่ำ (เทียบกับกรุงเทพฯ คือ 17,000 รายต่อสัปดาห์หรือ 2,400 รายต่อวัน) 

 

สมมติว่ามีอัตราป่วยรายใหม่มากกว่า 200 รายต่อ 1 แสนประชากร ถัดมาจะต้องพิจารณาอัตรารักษาตัวในโรงพยาบาล ถ้าน้อยกว่า 10 รายต่อ 1 แสนประชากรจะถือว่าความเสี่ยง ‘ปานกลาง’ แต่ถ้ามากกว่าจะถือว่าความเสี่ยง ‘สูง’ (เทียบกับกรุงเทพฯ คือ 850 รายต่อสัปดาห์) และพิจารณาอัตราครองเตียงเฉลี่ย ถ้าน้อยกว่า 10% ต่อวันจะถือว่าความเสี่ยง ‘ปานกลาง’ แต่ถ้ามากกว่าจะถือว่าความเสี่ยง ‘สูง’ โดยยึดตามระดับความเสี่ยงที่สูงที่สุดระหว่าง 2 ตัวชี้วัดนี้

 

ทั้งนี้ CDC มีหลักการในการเลือกตัวชี้วัดว่าจะต้องเป็นข้อมูลที่มีการรวบรวมในระดับเคาน์ตี (County หรือเขตการปกครองที่ต่ำกว่ารัฐ) มีความครอบคลุมในระดับประเทศ สะท้อนเป้าหมายในการเน้นความรุนแรงของโรค หรือแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข และมีการรายงานอย่างน้อยรายสัปดาห์เพื่อที่จะสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการควบคุมโรคได้ทันเวลา อีกทั้งยังมีการวิเคราะห์สหสัมพันธ์ (Correlation) ของตัวชี้วัดกับการระบาดและความรุนแรงของโรคในอีก 3 สัปดาห์ถัดไปด้วย

 

คำแนะนำการปฏิบัติตัวในแต่ละระดับมีดังนี้

  • ทุกพื้นที่ ต้องได้รับวัคซีนและเข็มกระตุ้น และตรวจหาเชื้อเมื่อมีอาการ
  • พื้นที่สีเหลือง ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการสวมหน้ากาก
  • พื้นที่สีส้ม สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในภายในอาคาร (Indoor) ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ รวมถึงโรงเรียน โดยไม่คำนึงถึงประวัติการได้รับวัคซีน

 

สังเกตว่าการปรับมาตรการในครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนที่อเมริกาอยู่ในช่วงขาลง หลังผ่านจุดสูงสุดของการระบาดเมื่อกลางเดือนมกราคม 2565 ด้วยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เกือบ 1 ล้านคนต่อวัน แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 70,000 รายต่อวัน ซึ่งกลับลงไปใกล้เคียงกับช่วงท้ายของระลอกเดลตาแล้ว ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มเท่ากับ 76.9% ครบ 2 เข็ม 65.1% (ต่ำกว่าไทย) และเข็มกระตุ้น 28.5%

 

การประเมินความเสี่ยงของไทย

 

สำหรับประเทศไทยก็อาจเตรียมตัวหลังผ่านการระบาดของโอมิครอนในช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเมื่อปลายธันวาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขเคยประกาศระดับความเสี่ยง (Risk) และระดับการเตือนภายจากโควิด (Alert Level) ไว้แล้ว โดยแบ่งระดับความเสี่ยงแบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่

  • เสี่ยงต่ำมาก (Very Low)
  • ต่ำ (Low)
  • เสี่ยงปานกลาง (Moderate)
  • เสี่ยงสูง (Substantial)
  • วิกฤต (High)

 

ใช้ตัวชี้วัด 2 ข้อ คือ

  • อัตราป่วยต่อ 1 แสนประชากรต่อวัน เฉลี่ย 7 วัน (รักษาในโรงพยาบาล) 
  • อัตราครองเตียงเหลืองแดงต่อวัน เฉลี่ย 7 วัน

 

ตัวชี้วัดแรกแบ่งเป็น 5 ระดับ ระดับสูงสุดคือมากกว่า 50 รายต่อแสนประชากรต่อวัน (สำหรับกรุงเทพฯ คือ 4,250 รายต่อวัน) ไขว้กับตัวชี้วัดหลัง ซึ่งเป็นแบ่งเป็น 4 ระดับ เริ่มต้นที่อัตราครองเตียงเหลืองแดงน้อยกว่า 50% เป็นตารางประเมินความเสี่ยง (Risk Matrix) 5×4 ดังภาพประกอบ

 

 

ข้อมูลจากการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดที่มีอัตราครองเตียงเหลือง-แดงมากที่สุดคือ ภูเก็ต 69.0% รองลงมาเป็นสมุทรปราการ 39.0% และสุราษฎร์ธานี 37.2% ส่วนกรุงเทพฯ ยังอยู่ที่ 19.6% ในขณะที่อัตราป่วยรายใหม่เฉลี่ย 35.1 รายต่อ 1 แสนประชากรต่อวัน เมื่อนำมาเทียบในตารางจะได้ระดับความเสี่ยง ‘ต่ำ’ (สีเหลือง) แต่หากใช้แนวทางของ CDC จะได้ความเสี่ยง ‘สูง’ จึงยังต้องสวมหน้ากากต่อ

 

อย่างไรก็ตาม ‘ระดับความเสี่ยง’ จะไม่เท่ากับ ‘ระดับการเตือนภัย’ เพราะในการเตือนภัย (ขณะนี้เป็นระดับ 4) กระทรวงสาธารณสุขยังคำนึงถึงความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มในกลุ่ม 607 และการพบการระบาดแบบคลัสเตอร์เกินศักยภาพการควบคุมโรคของพื้นที่ และเกิดขึ้นพร้อมกันหลายจังหวัด/ภูมิภาคด้วย ซึ่งคำแนะนำการปฏิบัติตัวจะขึ้นกับระดับการเตือนภัย และขณะนี้ทุกระดับการเตือนภัยยังแนะนำให้สวมหน้ากากอยู่

 

โดยสรุปในต่างประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดมากขึ้นหลังจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนมีแนวโน้มลดลง บทความนี้ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) ประกาศแนวทางประเมินความเสี่ยงของโควิดในชุมชนใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความรุนแรงจากโควิดและผลกระทบต่อสังคม ใช้ตัวชี้วัด 3 ข้อ ได้แก่ อัตราป่วยรายใหม่ อัตรารักษาตัวในโรงพยาบาล และอัตราครองเตียงของผู้ป่วยโควิด 

 

แบ่งความเสี่ยงเป็น 3 ระดับคือ ต่ำ-ปานกลาง-สูง สังเกตว่า CDC ลดความสำคัญของจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยกำหนดเกณฑ์อัตราผู้ป่วยรายใหม่สูงขึ้น และเพิ่มตัวชี้วัดเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคและศักยภาพของระบบสาธารณสุข แล้วแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามระดับความเสี่ยงในชุมชน ซึ่งพื้นที่เสี่ยงต่ำประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก พื้นที่เสี่ยงปานกลางแนะนำเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และพื้นที่เสี่ยงสูงแนะนำให้ทุกคนสวมกากภายในอาคารสาธารณะ

 

อ่านเพิ่มเติม

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising