บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus) ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยในระหว่างงานแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยระบุว่า ตนไม่คิดว่าในภาวะเทียบเท่าศึกสงครามเช่นนี้ (โควิด-19) ระบบสถาบันการเงินจะเดือดร้อนถ้าไม่ทำ ‘กำไร’ แม้แต่บาทเดียวตลอดทั้งปีนี้ (รวมถึงแนวโน้มของการไม่ปันผล)
“นี่เป็นภาวะสงคราม ดังนั้นจะคิดภายใต้เงื่อนไขความปกติไม่ได้ นี่เป็นส่วนหนึ่งของหลักการความยั่งยืน ถ้าระยะสั้นไม่หายแล้วมันจะมีระยะยาวได้อย่างไร ความยั่งยืนหมายความว่า ‘อดผลประโยชน์เฉพาะหน้า’ เพื่อมี ‘อนาคตที่ดี’ ต่อให้ปีนี้ไม่กำไรก็รับได้ เพราะทุนยังอยู่และแน่นพอสมควร ต้องแลกประโยชน์เฉพาะหน้าเพื่อแบกให้ระบบประเทศไปต่อได้ และไปคว้าประโยชน์ในระยะยาวแทน
“ถ้าให้มองโจทย์ว่ารายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ ‘ไม่มีเลย’ ในปีนี้ ถามว่าเป็นอะไรไหม ในภาวะสงคราม (โควิด-19) มันก็เป็นสิ่งที่รับได้ว่าจะต้องเกิดความสูญเสีย เราอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ ดังนั้นใครจะบอกได้ว่า ‘รายได้ที่ควรได้’ คืออะไร มันต้องให้ระบบรอดก่อนแล้วเราถึงจะมีอนาคต ธนาคารก็พัฒนาบริการต่างๆ มาโดยตลอดบนพื้นฐานที่ดี แต่ว่าถ้าระบบเศรษฐกิจโดยรวมไปไม่รอด ธนาคารก็ไปไม่รอด แต่เชื่อว่าในระยะยาวมันก็จะมีกำไรพอสมควร ทุกคนต้องเข้าใจการสละสั้นเพื่อเอายาว”
สำหรับการแถลงข่าวในวันนี้ ทางธนาคารกสิกรไทยได้ออกมาตรการการให้ความช่วยเหลือพิเศษสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ใน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย
- สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงาน SME: เพื่อช่วยลูกค้าธุรกิจ SME ขนาดเล็กที่มีพนักงานไม่เกิน 200 คน โดยเชิญลูกค้าเข้าร่วมโครงการและสนับสนุนเงินทุนเพื่อใช้ในการจ้างพนักงานให้มีรายได้และอยู่รอดด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% ฟรีค่าธรรมเนียมทุกประเภท ไม่ต้องมีหลักประกัน ระยะเวลากู้ 10 ปี และไม่ต้องผ่อนชำระคืนเงินกู้ 1 ปี วงเงินกู้ของแต่ละบริษัทจะขึ้นอยู่กับจำนวนพนักงาน โดยพนักงานจะได้รับเงินคนละ 8,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน รวมวงเงินปล่อยกู้ 1,000 ล้านบาท มีธุรกิจ SME ที่เชิญร่วมโครงการกว่า 1,000 บริษัท และจะช่วยพนักงานได้กว่า 41,000 คน
- เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์: โดยมูลนิธิกสิกรไทยมอบเงินเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ นำร่องในโรงพยาบาลรัฐ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 45 แห่ง มีบุคลากร 5,083 คน โดยแต่ละคนจะได้รับเงินรายเดือน เดือนละ 4,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งตลอดทั้งโครงการคาดว่าจะช่วยเหลือบุคลากรได้กว่า 20,000 คน รวมเงินช่วยเหลือ 300 ล้านบาท
ขณะที่ประเด็น New Normal ที่จะเกิดขึ้นหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 และส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจหรือสังคมไทยนั้น บัณฑูรเชื่อว่าประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดและความสามารถโดยรวมเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันต่อกรกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างทัดเทียม
“ก่อนจะมีโรคระบาดเกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยก็ไม่ได้จะแข็งแรงมาก ความสามารถในการค้าขายกับโลกก็เริ่มแผ่วลงในทุกๆ วัน ตัวเลขประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจก็น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แสดงว่าเศรษฐกิจไทยมีความอ่อนแออยู่ในขั้นหนึ่งแล้ว นั่นก็ยิ่งทำให้เราประเมินว่าต้องแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจด้วย ทีนี้เมื่อเจอโจทย์สำคัญ (โควิด-19) อันดับแรกต้องทำอย่างไรก็ได้ให้รอดก่อน
“ประการถัดมาคือเมื่อหลังจากที่โรคระบาดจบลง ก็ต้องมองให้ออกว่าเมื่อถึงเวลานั้นจะหากินอย่างไร ถ้าทำแบบเดิมๆ ก็จะสู้คนอื่นไม่ได้ องค์ความรู้การค้าขายแบบเดิมๆ ปลูกพืชผลแบบเดิมๆ มันก็ไปไม่รอด ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนทุกอย่าง เปลี่ยนความสามารถโดยรวมของประเทศไทยเพื่อให้สามารถค้าขายกับคนในโลกนี้ให้ได้
“นอกจากนี้การที่ระบบเศรษฐกิจประเทศพึ่งพาแต่ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลักกว่า 20% ของ GDP ประเทศก็เป็นหนึ่งในต้นตอปัญหาสำคัญที่ทำให้ไทยได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าประเทศอื่นๆ”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า