×

#nnevvy จากดราม่าแฟนคลับสู่กระแสต่อต้านจีน ทำไมสงครามโซเชียลครั้งนี้จึงลุกลามระดับโลก

โดย Master Peace
15.04.2020
  • LOADING...

กระแสดราม่าข้ามประเทศจากแฮชแท็ก #nnevvy ใน Twitter กลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วโซเชียลมีเดียของไทย จีน ฮ่องกง และไต้หวัน ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา โดยสำนักข่าวชั้นนำของโลกอย่าง CNN และ BBC ต่างรายงานถึงปรากฏการณ์การต่อต้านจีนผ่านโซเชียลมีเดียที่เกิดขึ้นในวงกว้าง ซึ่งจากแฮชแท็กจุดเริ่มต้นได้ขยายเพิ่มเป็น #China, #ชานมข้นกว่าเลือด และ #StopMekongDam โดยแฮชแท็กหลังสุดเป็นการขยายเพิ่มเติมจากกระแสความไม่พอใจจีน จากรายงานข่าวการกักเก็บน้ำในแม่น้ำโขงจนส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน



เรื่องราวที่ทำให้ #nnevvy ติดเทรนด์ใน Twitter เริ่มจากแฟนคลับชาวจีนที่คลั่งไคล้นักแสดงหนุ่มไทย วชิรวิชญ์ ชีวอารี หรือ ‘ไบร์ท’ จากซีรีส์ เพราะเราคู่กัน 2gether The Series ออกอาการไม่พอใจที่พบว่าไบร์ทคบหากับแฟนสาวที่ชื่อ นิว (ที่มีชื่อบัญชี Instagram ตรงกับแฮชแท็ก nnevvy) ต่อมาเรื่องราวบานปลาย เมื่อไบร์ทรีทวีตโพสต์หนึ่ง ซึ่งเป็นรูปพร้อมแคปชันที่เรียกฮ่องกงว่า ‘ประเทศ’ ส่งผลให้แฟนคลับจีนคอมเมนต์โจมตีโบร์ท ซึ่งต่อมานักแสดงหนุ่มต้องออกมาขอโทษ แต่ก็ไม่สามารถระงับกระแสความโกรธจากเหล่าชาวเน็ตจีนที่ประกาศคว่ำบาตรซีรีส์ของนักแสดงหนุ่มที่ออกอากาศในจีน



ประเด็นที่เกิดขึ้นบานปลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ หลังชาวเน็ตไทยตอบโต้แฟนคลับจีนเรื่องการเรียกฮ่องกงเป็นประเทศ ก่อนที่ชาวเน็ตฮ่องกงและไต้หวันที่ต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่จะออกมาผสมโรงช่วยไทยปะทะคารม จนกลายเป็นสงครามดราม่าระหว่างจีนและฝ่ายต่อต้านจีนไปในที่สุด



เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นที่จับจ้องจากนานาชาติ โดยเฉพาะสื่อตะวันตกอย่าง CNN Reuters ต่างพากันรายงานข่าวกระแสแฮชแท็ก #nnevvy



Reuters ระบุว่า ประเด็นดราม่านี้ทำให้กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยจับมือกันต่อต้านนักรบไซเบอร์ที่สนับสนุนรัฐบาลจีน ขณะที่ CNN ชี้ว่าสงครามดราม่านี้อาจเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและประชาคมโลก



CNN ยังรายงานว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีชาวเน็ตจีนชาตินิยมไม่น้อยพากันเล็ดลอดจากระบบ Great Firewall ที่ปิดกั้นระบบอินเทอร์เน็ตในจีน และออกไปตอบโต้ความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนในโซเชียลมีเดียของตะวันตกอย่าง Facebook และ Twitter



หลายคนเข้าไปแสดงความเห็นโจมตีเพจของหน่วยงานรัฐบาลไต้หวันหรือกลุ่มสนับสนุนชาวอุยกูร์ ตลอดจนเพจของธุรกิจต่างๆ ที่ต่อต้านจีน



Global Times สื่อของทางการจีนรายงานว่า แฮชแท็ก #nnevvy ถูกพูดถึงในโพสต์ข้อความต่างๆ บน Weibo แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลักของจีนมากกว่า 1.4 ล้านโพสต์ และมียอดวิวมากกว่า 4.64 พันล้านวิว



“ไอดอลนั้นไม่มีความหมายเลยเมื่อเป็นเรื่องสำคัญของประเทศของเรา” Global Times รายงานความเห็นจากชาวเน็ตจีนคนหนึ่ง



ด้านนักเคลื่อนไหวและนักการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐบาลจีน ต่างก็แสดงท่าทีสนับสนุนนักแสดงหนุ่มไทยและแฟนสาวที่ตกเป็นประเด็นในเรื่องนี้ โดย โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวฮ่องกง โพสต์ภาพถ่ายซีรีส์ของนักแสดงหนุ่มพร้อมข้อความว่า ฮ่องกงยืนเคียงข้างเพื่อนชาวไทยผู้รักในเสรีภาพ ต่อต้านการรังแกจากจีน และตั้งความหวังถึงขั้นสร้างพันธมิตรในเอเชียเพื่อต่อต้านลัทธิเผด็จการ



“บางทีเราสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นแบบใหม่ในเอเชีย ที่ต่อต้านลัทธิเผด็จการทุกรูปแบบ” หว่องกล่าว



ขณะที่สำนักข่าว Al Jazeera รายงานว่า นักวิเคราะห์การเมืองและนักเคลื่อนไหวหลายคนมองกระแสดราม่า #nnevvy ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์พิเศษ ทั้งในแง่ปริมาณและการแพร่กระจายดราม่าไปทั่วภูมิภาค ซึ่งมีปัจจัยมาจากชีวิตประจำวันของประชาชนที่ถูกบังคับกักตัวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องเข้าไปแสดงความเห็นในโลกออนไลน์มากขึ้น



“นี่ถือเป็นสงครามภูมิศาสตร์การเมืองข้ามชาติทาง Twitter ที่ไทยเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นครั้งแรก เราเห็นประชาชนตั้งคำถามต่อท่าทีและอิทธิพลของจีน ประเด็นของนักแสดงหนุ่มนั้นเป็นเพียงปลายของภูเขาน้ำแข็ง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว



นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งแฮชแท็กที่ปรากฏในสังคมออนไลน์ของชาติตะวันตก อินเดีย และไต้หวัน คือแฮชแท็ก #boycottChina ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการโพสต์ข้อความแสดงความไม่พอใจและตอบโต้จีนทั้งในเรื่องการขยายอิทธิพลด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และกล่าวหาจีนที่เป็นต้นตอปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19



ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิชาการประจำ German Institute of Global and Area Study และสถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกระแสแฮชแท็ก #boycottChina ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ว่า สะท้อนกระแสโต้กลับในนโยบายต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่พยายามขยายอิทธิพลจีนในเอเชีย แอฟริกา ออสเตรเลีย และยุโรป ผ่านโครงการพัฒนาและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ



ขณะที่จีนถูกชาติตะวันตกพูดถึงในฐานะเผด็จการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยและชาวฮ่องกง แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนานั้น จีนไม่ต่างกับเจ้าอาณานิคมใหม่ ซึ่งจันจิรามองว่านักรบไซเบอร์จีนอาจตอบโต้ด้วยการพยายามเปลี่ยนทิศทางเรื่องเล่าที่กล่าวถึงคนจีนและรัฐบาลจีน เพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางและภาพลักษณ์ของจีนให้เป็นประโยชน์กับนโยบายทั้งภายในและต่างประเทศ



อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ตอบโต้กระแสดราม่าที่เกิดขึ้นว่าเป็นความพยายามวางแผนสร้างปัญหา และยืนยันความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลจีนและไทยที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในหลายๆ ด้าน รวมถึงการรับมือโรคโควิด-19



“บางคนใช้โอกาสในการปลุกปั่นความขัดแย้งบนอินเทอร์เน็ตสร้างความแตกแยกในความคิดเห็นของประชาชน ล้อเล่นกับความสัมพันธ์ไทย-จีน แผนของพวกเขาจะไม่สำเร็จ” กระทรวงการต่างประเทศจีนระบุในแถลงการณ์

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X