×

‘ดร.นิเวศน์’ มองดีล ‘ทรูรวมดีแทค’ ลดการแข่งขันในอุตสาหกรรม อาจกระทบผู้บริโภคในระยะยาว ชี้ความคิดเห็นคณะกรรมการ กขค. ยังเป็น Significant Risk

23.11.2021
  • LOADING...
TRUE และ DTAC

การประกาศควบบริษัทระหว่าง TRUE และ DTAC เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ที่ปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น Tech Company มากขึ้น ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วน รวมถึงในตลาดทุนไทยและนักลงทุนหุ้นคุณค่า 

 

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นคุณค่าของตลาดทุนไทย เปิดมุมมองต่อดีลการควบ 2 บริษัท Telco คือ TRUE และ DTAC ว่า ท้ายที่สุดแล้วดีลนี้น่าจะผ่านไปได้ด้วยดี และสามารถจัดตั้งบริษัทใหม่ได้ตามแผน อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จะยังเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม เพราะการรวมบริษัทครั้งนี้ทำให้เหลือผู้เล่นในตลาดเพียง 2 เจ้า ซึ่งอาจทำให้รายใดรายหนึ่งมีอำนาจควบคุมตลาดมากไป และทำให้การแข่งขันในตลาดน้อยลง ซึ่งจะกระทบกับผู้บริโภคในที่สุด 

 

ดร.นิเวศน์ กล่าวว่า หากประเมินโอกาสในการได้รับความเห็นชอบจาก กขค. ดีลนี้น่าจะได้รับความเห็นชอบในท้ายที่สุด และการจัดตั้งบริษัทใหม่น่าจะทำได้สำเร็จตามแผน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือความเห็นของ กขค. ในเรื่องการมีอำนาจควบคุมตลาดมากเกินไป  

 

โดยหากเทียบกับเคสในต่างประเทศ ซึ่งมีกฎหมายต่อต้านการผูกขาด หรือ Antitrust จะพบว่าในต่างประเทศมีการต่อต้านเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ตลาดเสียสมดุล และป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งมีอำนาจทางการตลาดมากเกินไป หรือมีขนาดใหญ่เกินไป โดยในเคสต่างประเทศ กฎหมายนี้ถูกใช้เพื่อกำกับให้ผู้ประกอบการที่มีขนาดธุรกิจใหญ่ไปแตกบริษัทออกเป็นบริษัทย่อยๆ ด้วยซ้ำ 

 

แต่สำหรับประเทศไทย ยอมรับว่ายังไม่เห็นเคยการใช้กฎหมายเรื่องนี้บังคับให้เอกชนแตกกลุ่มบริษัทออกเป็นบริษัทย่อย แต่จะเป็นลักษณะของการกำหนดเงื่อนไขพิเศษแก่เอกชนรายใหญ่มากกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการผูกขาดทางการตลาด

 

“จึงเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วก็น่าจะได้รับความเห็นชอบและดำเนินการได้ตามแผน แต่ก็น่าจะถูกกำหนดเงื่อนไขพิเศษบางอย่าง เพื่อให้ตลาดและผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบในภายหลัง” 

 

ดร.นิเวศน์ กล่าวเพิ่มว่า ส่วนตัวแล้วมองว่าอุตสาหกรรม Telco ในไทยควรมีผู้เล่นมากกว่า 3 ราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และเพื่อเป็นทางเลือกที่หลากหลายของผู้บริโภค เพราะ Telco หรือการโทรคมนาคมและการสื่อสารนับว่าเป็นสินค้าและบริการพื้นฐานของสาธารณชน ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่ประชากรน้อยกว่าประเทศไทย แต่ก็มีผู้เล่นในตลาด Telco มากถึง 4-5 ราย ซึ่งสังเกตได้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการในสิงคโปร์ก็สามารถทำดำเนินธุรกิจอย่างมีกำไรได้ ในขณะที่ผู้บริโภคก็ได้เข้าถึงบริการที่ราคาสมเหตุสมผล

 

“แต่จะโทษภาคเอกชนของไทยก็ไม่ได้ เพราะอาจจะมีข้อผิดพลาดมาตั้งแต่การวางกฎกติกามาตั้งแต่แรกสำหรับธุรกิจ Telco ประกอบกับบริบทในประเทศไทยที่ธุรกิจ  Telco มาถึงจุดอิ่มตัว ตอนนี้กำลังเป็น Dump Pipe ไม่สามารถเติบโตได้อีกแล้ว จึงต้องขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆ เพิ่ม” ดร.นิเวศน์ กล่าว

 

สำหรับประโยชน์ของการรวมบริษัทกันครั้งนี้ ประการแรกที่ชัดเจนคือสามารถลดค่าใช้จ่ายประจำ รวมถึงลดงบลงทุนได้ ซึ่งจะทำให้ได้เห็นรายได้ปรับเพิ่มขึ้นในทันทีที่รวมกันแล้วเสร็จ ขณะที่กำไรก็จะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อโครงสร้างต้นทุนประจำและค่าใช้จ่ายเริ่มนิ่ง 

 

นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโดยรวม คือทำให้การแข่งขันไม่รุนเรงเหมือนที่ผ่านมา โดยเห็นได้จากราคาหุ้น ADVANC ที่ปรับเพิ่มขึ้นในวันที่ประกาศดีลเช่นเดียวกัน แม้ว่าการรวมกันของ TRUE และ DTAC จะทำให้ ADVANC เสียตำแหน่งผู้นำด้านส่วนแบ่งทางการตลาดก็ตาม 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะยาว ซึ่งแม้ในระยะสั้น ทั้ง TRUE และ DTAC อาจจะมีการให้คำมั่นหรือลงนามในสัญญาว่าจะไม่ปรับขึ้นค่าบริการ โดยอาจกำหนดระยะเวลาไว้ แต่ในเชิงการทำธุรกิจแล้วไม่สามารถตรงค่าบริการไว้ได้ตลอดไป ท้ายที่สุดการมีผู้เล่นในตลาดเพียง 2 รายก็จะกระทบต่อผู้บริโภคอยู่ดี

 

ส่งท้าย ดร.นิเวศน์ ฝากถึงนักลงทุนว่า ควรมองภาพรวมระยะยาวก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้นกลุ่ม Telco เพราะจากนี้จนถึงวันที่ดีลสำเร็จ อาจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นระหว่างทางและกระทบต่อราคาหุ้นด้วย อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มเทเลนอร์อาจจะรวมธุรกิจครั้งนี้เพื่อ Exit จากประเทศไทยเมื่อรวมกิจการแล้วเสร็จ เหมือนกับที่ทยอย Exit จากหลายประเทศในภูมิภาคนี้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising