หากเอ่ยชื่อของ Nitori แล้วหลายคนน่าจะรู้จักว่าคือเจ้าหนูนินจาสุดเก่ง (ไม่ใช่! นั่นมันฮาโตริ) จริงๆ แล้วคือหม้อหุงข้าวสุดล้ำ (ไม่ใช่! นั่นมันฮิตาชิ) จริงๆ แล้วคือพัดลมสุดแรงต่างหาก (ไม่ใช่อีกนั่นแหละ นั่นมันฮาตาริ!)
เอาละ จริงๆ แล้ว Nitori คือแบรนด์สินค้าภายในบ้าน (ถูกแล้ว!) และที่สำคัญคือแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่นนี้กำลังจะมาเปิดสาขาในประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2024 หรือในอีก 1 ปีนิดๆ ข้างหน้า
แน่นอนละว่าหลายคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ได้แวะเวียนไปที่ Nitori เวลาไปเที่ยวญี่ปุ่น หรือบางคนอาจจะเคยมีโอกาสพักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นก็คงจะมีเรื่องราวและความทรงจำเกี่ยวกับแบรนด์นี้กันบ้าง แต่ก็คงมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้จักมักจี่แบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านนี้มากนัก
Nitori มีที่มาที่ไปอย่างไร อะไรคือหัวใจที่ถูกใส่เอาไว้ในเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้น และพวกเขาใช้เพลงดาบอะไรถึงสามารถยืนหยัดต่อต้านการรุกรานของแบรนด์สินค้าตกแต่งบ้านระดับโลกจากแดนไวกิ้งอย่าง IKEA ในประเทศบ้านเกิดได้
รวมถึงทำไมพวกเขาถึงคิดที่จะขยายตลาดมาบ้านเราในอนาคตอันใกล้ด้วย
เปิดตำนาน ニトリ โดยนิโตริซัง
คำว่านิโตริ (Nitori – ニトリ) ในภาษาญี่ปุ่นไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษมาก่อน แต่หากพูดคำว่านิโตริแล้วชาวญี่ปุ่นก็จะอดคิดถึงร้านสินค้าภายในบ้านที่แสนคุ้นเคยขึ้นมา
อยากได้อะไรมาใส่ในบ้านก็ขอให้มาที่นี่! หรือนึกอะไรไม่ออกอยากจะมาเดินเล่นหาไอเดียตกแต่งบ้านเฉยๆ ก็มาที่นี่ได้เหมือนกัน!
Nitori อยู่คู่กับพวกเขามายาวนานตั้งแต่ปี 1967 หรือปัจจุบันอยู่ด้วยกันมานานกว่า 56 ปีแล้ว เรียกว่าเห็นกันมาตั้งแต่รุ่นโอจี้ซัง (คุณปู่คุณตา) โอบ้าจัง (คุณย่าคุณยาย) ผ่านมาถึงโอโต้ซัง (คุณพ่อ) โอก้าซัง (คุณแม่) และมาโกะ (หลานๆ)
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
จุดเริ่มต้นของ Nitori เกิดจาก อากิโอะ นิโตริ ผู้ก่อตั้งร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์เล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองฮอกไกโดทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 1967 ที่เริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองตอนอายุ 24 ปี โดยเริ่มจากร้านเล็กๆ ก่อนที่จะมีการขยายร้านให้ใหญ่กว่าเดิม 3 เท่า แต่ปีถัดมาก็มีบริษัทที่ใหญ่กว่าเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์แบบเดียวกันในขนาดใหญ่กว่าถึง 5 เท่า
นั่นทำให้นิโตริซังแทบล้มละลาย
ในช่วงที่กำลังหน้ามึน เขาตัดสินใจที่จะเดินทางไปเข้าอบรมฝึกการผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่สหรัฐอเมริกา และนั่นได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ไม่เพียงแค่ชีวิตของเขา แต่เป็นวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นด้วยไม่มากก็น้อย
นิโตริซังพบว่าร้านเฟอร์นิเจอร์ในอเมริกานั้นยิ่งใหญ่มโหฬารเป็นเหมือนศูนย์สรรพสินค้า มีการจัดแบ่งโซนต่างๆ เป็นอย่างดี ทุกคนจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ ได้เห็นของจริงว่าเฟอร์นิเจอร์หน้าตาแบบนี้จะไปจัดวางอย่างไรในบ้าน ในราคาที่ถูกกว่าแค่ 1 ใน 3!
“ที่บ้านเราไม่มีอะไรแบบนี้”
ต่อมอิจฉาของเขาเริ่มทำงาน แต่นิโตริซังไม่ได้เป็นคนที่คิดอะไรตื้นๆ แบบนั้น ในช่วงเวลาที่ไปอบรมนั้นเขาได้ความคิดอะไรหลายอย่างกลับมามากกว่าแค่วิชาการทำเฟอร์นิเจอร์
ความจริงที่ค้นพบในการไปอเมริกา
นอกจากความตระการตาของร้านเฟอร์นิเจอร์ในสหรัฐอเมริกาที่ อากิโอะ นิโตริ สัมผัสได้แล้ว เขายังพบกับความจริง 4 ประการที่เจ็บแต่จริง
อย่างแรกคือราคาของสินค้าในอเมริกาถูกกว่าในญี่ปุ่นถึงระดับ 1 ใน 3
อย่างต่อมาคือที่อเมริกามีประเภทสินค้าที่หลากหลาย มีคุณภาพ และใช้งานได้จริงที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นในแบบที่พวกเขาไม่มีในญี่ปุ่น
อย่างที่สามคือเรื่องใหญ่คือ ‘ระบบ’ ของร้านค้า โดยที่ญี่ปุ่นจะเป็นระบบแบบควบคุม (Controlled System) ที่ผู้ผลิตจะอยู่บนชั้นสูงสุดของพีระมิด และร้านค้าจะอยู่ระดับล่างสุด แต่ในอเมริกาจะต่างออกไป บรรดาร้านค้าจะเป็นคนประสานทุกอย่างตั้งแต่การวางแผนไปจนถึงการผลิต การกระจายสินค้าและการวางจำหน่ายที่หน้าร้าน
และอย่างสุดท้ายคือขนาดของร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ในอเมริกาใหญ่กว่าญี่ปุ่นถึง 10 เท่า
ดังนั้นถึงแม้จะมีการพูดกันว่าในขณะนั้น (ปี 1967) ญี่ปุ่นกำลังไล่ตามประเทศที่พัฒนาแล้วได้ทัน แต่ในความรู้สึกของนิโตริซังแล้วเขาเชื่อว่าบ้านเกิดของเขายังตามหลังชาติอย่างอเมริกาอย่างน้อย 50 ปี
ความจริงที่พบและความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทำให้เขาเกิดความต้องการอันแรงกล้าที่จะนำสิ่งที่เขาได้พบเห็นนี้กลับมาที่บ้านให้ได้
ยุทธศาสตร์ 60 ปีสู่ความเป็นหนึ่ง
สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ของชาวอเมริกาในเวลานั้นทำให้ อากิโอะ นิโตริ ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงปรัชญาชีวิตของตัวเองไปอย่างสิ้นเชิง
จากเดิมที่เขาต้องการค้าขายให้ร่ำรวยเพื่อหากำไรเลี้ยงดูชีวิตของตัวเอง คราวนี้นิโตริซังก็ยังต้องการความมั่งคั่งเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือเขาไม่ได้อยากรวยเอง แต่เขาอยากเห็นคนญี่ปุ่นทุกคนร่ำรวยบ้าง และเขาเชื่อว่ามีสิ่งที่เขาช่วยได้
สิ่งที่นิโตริซังคิดว่าเขาสามารถช่วยชาวญี่ปุ่นได้คือการพัฒนาเฟอร์นิเจอร์ดีๆ คุณภาพสูงที่มีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตแบบชาวญี่ปุ่นในราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
ถ้าทุกคนสามารถซื้อเฟอร์นิเจอร์ดีๆ ในราคาที่ถูกได้ก็จะมีเงินเหลือ เพราะไม่ต้องทุ่มลงไปทั้งหมด อีกทั้งคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นด้วย เพื่อจะมีแรงไปทำงานหาเงินซึ่งจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต่อไป
แต่เขาไม่ได้แค่คิด นิโตริซังวางแผนระยะยาวเอาไว้ด้วย ซึ่งแผนระยะยาวของเขานั้นไม่ใช่ระยะเวลาแค่ 5 หรือ 10 หรือ 20 ปี
แผนนั้นเป็นแผนระยะยาวถึง 60 ปี!
โดยใน 30 ปีแรกเขาต้องการให้ Nitori ขยายสาขาออกไปให้ได้ถึง 100 สาขา และทำยอดขายให้ได้ 1 ล้านล้านเยน หรือราว 2.5 แสนล้านบาท
ส่วนในอีก 30 ปีถัดมาเป้าหมายของเขาอยู่ที่การทำให้ Nitori เป็นร้านเฟอร์นิเจอร์อันดับ 1 ของญี่ปุ่นและของโลก มีจำนวนสาขา 3,000 แห่ง และทำยอดขายให้ได้ 3 ล้านล้านเยน หรือราว 7.69 แสนล้านบาท
เป็นเป้าหมายที่ช่างทะเยอทะยานเป็นอย่างยิ่ง
ฝันให้เป็น เย็นให้พอ
จากจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจร้านเฟอร์นิเจอร์เล็กๆ สู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งใหญ่ อากิโอะ นิโตริ ค่อยๆ ก้าวเดินไปสู่เป้าหมายของเขาอย่างรอบคอบ
เขาเริ่มต้นครั้งที่ 2 ด้วยการตั้งศูนย์ค้าส่งเฟอร์นิเจอร์นิโตริ (Nitori Furniture Wholesale Center) ในปี 1972 ก่อนที่จะค่อยๆ เติบโต ขยายกิจการไปอย่างไม่เร่งร้อนจนเกินไป ทำไปทีละขั้น เช่น ในปี 1975 เปิด ‘นันโง สโตร์’ (Nango Store) ร้านค้าในรูปแบบสุดอลังการที่อยู่ในโดมขนาดยักษ์ที่ชิโรอิชิในเมืองซัปโปโร ก่อนจะเริ่มเปิดสาขานอกซัปโปโรแห่งแรกในปี 1981 ที่เมืองโทมาโคมาอิ และเริ่มนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในปี 1986
ในระหว่างนั้นนิโตริซังมีที่ปรึกษาอย่าง ชุนอิจิ อาสุมิ ที่คอยสอนและให้คำแนะนำ
หนึ่งในคำแนะนำที่มีค่าที่สุด คือการสอนเคล็ดลับความสำเร็จของธุรกิจว่าไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาผลกำไรมากที่สุด หากแต่เป็นการตอบแทนกลับคืนสู่สังคมให้มากที่สุด เพื่อเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งนิโตริซังนำมาคิดและตกผลึกได้ว่าสิ่งที่เขาจะตอบแทนสังคมได้คือการเพิ่มจำนวนลูกค้าและร้านค้าให้ได้มากที่สุด
นั่นนำไปสู่การตั้งเป้าหมายสู่การมีสาขา 100 แห่งใน 30 ปีแรก เพราะเขาเชื่อว่ามันเป็นตัวเลขที่พอจะสามารถไปได้ถึงด้วยมาตรฐานในระดับที่ดี ใช้งบประมาณไม่มากและสินค้ามีราคาไม่สูง ซึ่ง Nitori ทำได้จริงๆ ในปี 2003 ที่แม้ช้ากว่าที่ตั้งใจไว้ 1 ปี และแม้ว่ายอดขายจะไปได้ไม่ถึงในระดับที่ตั้งใจที่ 1 ล้านล้านเยน (Nitori ยอดขายได้ 1 แสนล้านเยนในปี 2003) ก็นับว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แล้ว
ถ้าไปได้ถึง 100 สาขา การจะก้าวไปต่อก็ไม่ยาก เป้าหมายต่อไปคือ 200 สาขา ซึ่งถึงตรงนั้น Nitori จะทำทุกอย่างได้เพิ่มเป็น 2 เท่าจากเดิม นำเข้าวัสดุจากทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น และนั่นหมายถึงการที่ต้นทุนต่ำลงซึ่งจะทำให้กำหนดราคาได้ต่ำลงไปอีก
นี่คือเคล็ดลับความสำเร็จที่นิโตริซังเรียนรู้จากการศึกษาเชนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา
เคล็ดวิชา ‘เพลงดาบ’ นิโตริ
อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้พึ่งแค่องค์ความรู้จากคนอื่นเท่านั้น แต่นิโตริซังได้คิดค้นเคล็ดลับความสำเร็จซึ่งเปรียบได้ดัง ‘เคล็ดวิชานิโตริ’ ที่ฟังดูคล้ายกับเพลงดาบนิโตริว หรือดาบสองมือ ศิลปะการต่อสู้ด้วยอาวุธชั้นสูงของญี่ปุ่น
โดยเคล็ดลับไม่ได้อยู่ที่ร้านหรือสินค้า แต่อยู่ที่ ‘คน’
ในช่วง 10 ปีแรก (1972-1982) เขาโฟกัสกับการขยายสาขาของ Nitori ก่อนซึ่งทำได้ 11 แห่ง ก่อนที่หลังจากนั้นในอีก 10 ปีถัดไปสิ่งที่นิโตริซังโฟกัสคือการสร้างกลยุทธ์ในการฝึกฝนคนโดยรับบรรดาเด็กๆ ที่เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเข้ามาทำงานกับ Nitori
ก่อนที่นิโตริจะเปลี่ยนแรงงานธรรมดาเหล่านี้ให้กลายเป็น ‘Specialist’ ที่ไม่เพียงแค่จะมีความมานะบากบั่นเป็นทุนเดิม แต่ยังใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัยในการช่วยพัฒนาบริษัทให้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
และด้วย Specialist ใหม่ๆ เหล่านี้ที่ Nitori ปั้นมากับมือก็คือกำลังสำคัญที่ทำให้บริษัทก้าวไปถึงเป้าหมายในการขยายสาขาให้ได้ถึง 100 แห่งในปี 2003 ซึ่งเมื่อถึงตรงนี้นิโตริซังรู้แล้วเขามีทุกอย่างอยู่ในมือพร้อมหมดแล้วสำหรับการก้าวไปสู่เป้าหมาย
นับจากนั้นเป็นต้นมา พวกเขาเร่งเครื่องสู่เป้าหมายขั้นที่ 2 ของยุทธศาสตร์ 60 ปี ด้วยการไปให้ถึง 3,000 สาขาภายในปี 2032
ในวงเล็บว่า Nitori ยังคงส่งพนักงานปีละ 900 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพนักงานจบใหม่ 400 คนไปศึกษาดูงานที่อเมริกาทุกปี เพราะเขาเชื่อว่ายังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากโรงเรียนการทำธุรกิจด้านเฟอร์นิเจอร์แห่งนี้อีกมาก ในความรู้สึกแล้วแม้กระทั่งในตอนนี้ญี่ปุ่นก็ยังตามหลังอเมริกาอยู่อีก 10-20 ปี
เฟอร์นิเจอร์ เฟอร์นิใจ เพื่อชาวซามูไร
คุยกันเรื่องปรัชญาของนิโตริมามากแล้ว แต่มันจะไม่มีความหมายอะไรเลยหากเราไม่รู้ว่าทำไม Nitori ถึงก้าวขึ้นเป็นเชนใหญ่อันดับหนึ่งในเรื่องสินค้าเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านรวมถึงข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าเดียวที่ผูกขาดแต่อย่างใด
เพราะในญี่ปุ่นนั้นผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องของการทำที่อยู่อาศัยให้น่าอยู่ ทำให้มีเชนสินค้ามากมายที่เข้ามาทำตลาดซึ่งก็รวมถึงคู่แข่งสัญชาติเดียวกันที่ยิ่งใหญ่และทรงพลังอย่าง MUJI ไปจนถึงยักษ์ใหญ่อย่าง IKEA ที่ไม่ว่าเฟอร์นิเจอร์สัญชาติไวกิ้งจะล่องเรือยกพลขึ้นประเทศใดก็ตีแตกได้ทั้งนั้น
แต่ IKEA ก็ล้ม Nitori ไม่ได้ เพราะ อากิโอะ นิโตริ มีภาพฝันในใจที่จะทำให้บ้านของคนญี่ปุ่นทั้ง ‘หรูหรา’, ‘น่าอยู่’ และ ‘อยู่สบาย’
สิ่งที่เป็น Insight ส่วนตัวที่นิโตริซังสั่งสมมาและเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้ Nitori ชนะทุกเจ้านั่นคือความเข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่ รู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับ ‘บ้าน’ ของคนญี่ปุ่น ไปจนถึงความเข้าใจและความพยายามที่จะเข้าใจในความต้องการของคนญี่ปุ่น
เพราะบ้านของชาวญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก มีพื้นที่ในการใช้สอยจำกัด ทุกอย่างที่อยู่ในบ้านจึงต้องอยู่บนหลักพื้นฐานที่สำคัญอยู่ 2 เรื่อง
- ต้องมีประโยชน์ช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น
- ต้องใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด
หรือเราอาจจะพูดง่ายๆ คือเฟอร์นิเจอร์หรือข้าวของเครื่องใช้ที่ดีสำหรับชาวญี่ปุ่นนั้นคือของที่สามารถใส่เข้าไปในบ้านได้!
ดังนั้นถึงเตียงนอนแบบชาวตะวันตกจะสวยและนอนสบายแค่ไหน แต่ถ้ามันไม่สามารถยัดเข้าบ้านหรือเข้าในห้องนอนได้ก็ไม่มีประโยชน์ ที่นอนสำหรับชาวญี่ปุ่นจึงเป็นที่นอนที่เล็กกะทัดรัดเรียกว่าแค่พอนอนได้เท่านั้น เป็นต้น
หรือโต๊ะทำงาน โต๊ะอ่านหนังสือแบบชาวญี่ปุ่นก็จะไม่ได้มีขนาดใหญ่โตอะไร แต่จะเน้นการออกแบบที่มีประโยชน์ใช้สอยคุ้มค่า
สิ่งเหล่านี้คือข้อได้เปรียบที่ Nitori มีเหนือคู่แข่งจากต่างชาติ ซึ่งรวมถึงยักษ์ใหญ่อย่าง IKEA ด้วย
ในขณะเดียวกันพวกเขาก็เหนือกว่าคู่แข่งในบ้านเกิดด้วยโมเดลทางธุรกิจที่ชาญฉลาดซึ่ง Nitori ให้ความสำคัญกับ 3 สิ่งด้วยกันคือ การผลิต, การกระจายสินค้า และการวางจำหน่ายหน้าร้าน ซึ่งก็เป็นองค์ความรู้ที่ได้มาจากในอเมริกาเอง
ในเรื่องของการผลิต Nitori เริ่มกระจายกำลังการผลิตออกไปยังต่างประเทศที่มีแรงงานถูกกว่า ไปจนถึงมีวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ผลิตในราคาต่ำ ทำให้สามารถควบคุมราคาได้อย่างดี ต่อด้วยการกระจายสินค้าอย่างเป็นระบบ มีศูนย์กระจายสินค้าอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ ในขณะที่หน้าร้านนั้นเริ่มจากการฝังตัวอยู่ตามชานเมืองก่อนเพราะมีค่าเช่าที่ต่ำกว่า ได้พื้นที่ใหญ่กว่า สามารถจัดแสดงสินค้าได้อย่างสวยงาม
เรียกว่าคนญี่ปุ่นสามารถไปเดินเล่นที่ Nitori โดยมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าสินค้าแบบนี้จัดวางแบบนี้แล้วจะออกมาหน้าตาแบบนี้ ไม่ต้องคิดเยอะคิดแยะ หรือบางทีสามารถ ‘ลอกการบ้าน’ ของ Nitori ได้เลยด้วยซ้ำ (และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำไมเวลาเราดูหนังหรือซีรีส์ญี่ปุ่นแล้วบ้านญี่ปุ่นสวยน่าอยู่เสมอ)
ไม่ใช่แค่ของใหญ่ แต่ของเล็กๆ ก็ทำมาแบบ ‘คิดมาแล้ว’
ลองฟังรายชื่อไอเท็มเด็ดของ Nitori ดูก่อน
- ถาดใส่ของสำหรับคนซุ่มซ่าม (วางของบนถาดแล้วไม่หล่น ไม่ไหล)
- แก้วสำหรับใส่เครื่องดื่มเย็นโดยไม่มีน้ำซึมออกมา
- เซ็ตหั่น สไลซ์ผัก ทำงานครัวให้ง่ายขึ้นไปอีก
- ชั้นวางแบบใช้เป็นกำแพงหรือตู้เป็นตัวยึด
- ถาดน้ำแข็งรูปทรงต่างๆ
บางอย่างมันอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่สำหรับชนชาติที่ทุกอย่างต้องผ่านการคิดมาแล้ว สินค้าของ Nitori นอกจากจะถูกต้อง ถูกใจ แล้วยังถูกตังค์อีกด้วย
จริงอยู่ที่คุณภาพสินค้าของ Nitori อาจจะไม่ได้ดีเลิศหรือทนทานอะไรมากมายนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ IKEA ที่ก็ยังทนกว่าอยู่ดี แต่เมื่อดีไซน์ดี ประโยชน์ใช้สอยมาก มาพร้อมกับราคาที่ไม่สูงเกินเอื้อม
ก็ไม่แปลกที่ Nitori จะเป็นแบรนด์ที่คนญี่ปุ่นนึกถึงเสมอเวลาอยากได้ของแต่งบ้าน
อรุณเบิกฟ้า ถึงเวลาโบยบิน
เพราะเป้าหมายอยู่สุดขอบฟ้า Nitori รู้ว่าพวกเขาไม่สามารถจะหยุดอยู่ที่แดนอาทิตย์อุทัยได้
Nitori ต้องไปไกลกว่านั้น และนั่นนำไปสู่การเริ่มต้นบุกตลาดใหม่ๆ ตั้งแต่ปี 2004 หรือหนึ่งปีหลังจากที่บรรลุเป้าหมายในครึ่งแรกของยุทธศาสตร์ 60 ปีของพวกเขา
โดยประเทศแรกที่เลือกคือจีน ซึ่งเป็นชาติที่มีจำนวนประชากรสูงที่สุดและกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว Nitori ยกพลขึ้นแผ่นดินแดนมังกรตั้งแต่ปี 2004 ก่อนที่จะเริ่มขยายตลาดอย่างรวดเร็ว จากจุดเริ่มต้นในศูนย์กระจายสินค้า Pinghu ในเมืองเซี่ยงไฮ้ สาขาแรกที่อู่ฮั่นในปี 2014 แล้วขยายไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นใน Huizhou จนถึงล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 พวกเขาเปิดสาขาแรกในกรุงปักกิ่งได้สำเร็จ
“มันเป็นความฝันของเราที่จะมีร้านในปักกิ่งมาตั้งแต่วันแรกที่เราเริ่มเปิดร้านที่จีนแผ่นดินใหญ่ในอู่ฮั่นเมื่อปี 2014”
Nitori ไม่ได้หยุดแค่บนแผ่นดินจีน แต่ยังไปถึงไต้หวัน และข้ามฟ้าไปไกลถึงสหรัฐอเมริกา แผ่นดินที่เป็นเหมือนโรงเรียนของ อากิโอะ นิโตริ โดยเปิดร้านใช้ชื่อว่า Aki-Home ในปี 2013 แม้ว่าปัญหาเรื่องค่าเงินจะส่งผลกระทบร้ายแรงจนตัดสินใจที่จะถอนตัวจากตลาดที่นั่นภายในเดือนเมษายนนี้
แต่นั่นไม่ได้ทำให้ Nitori ท้อ เพราะพวกเขามองเห็นตลาดแห่งใหม่ที่มีศักยภาพสูง นั่นคือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
สวัสดีคนไทย ผมชื่อ Nitori
ตลาดสินค้าเฟอร์นิเจอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงและมีการเติบโตที่น่าจับตามอง โดย Roland Berger บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติเยอรมนีมีการประเมินว่ามูลค่าของตลาดในอาเซียนในปี 2022 นั้นสูงถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 5.18 แสนล้านบาท
โดยที่ยังมีโอกาสเติบโตได้เพิ่มขึ้นอีก 8% ในอีก 5 ปีนับจากนี้
นั่นทำให้ Nitori ตัดสินใจที่จะเจาะตลาดในภูมิภาคนี้ด้วย โดยเริ่มจากในมาเลเซียในเดือนมกราคมปีกลาย และสิงคโปร์ซึ่งเพิ่งจะเปิดสาขาที่ถนนออร์ชาร์ด ย่านช้อปปิ้งที่สำคัญเมื่อเดือนเมษายน และได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวมาเลเซียและสิงคโปร์
เป้าหมายในระยะสั้นนั้นอยู่ที่การขยายตลาดให้ได้ถึง 39 สาขาภายในปีงบประมาณที่จะถึงนี้ ส่วนหลังจากนี้พวกเขาจะบุกตลาดในประเทศไทยต่อ ซึ่งแม้ต้องเปิดศึกหลายด้าน ไม่ว่าจะกับยักษ์ใหญ่อย่าง IKEA ที่เข้ามาครองหัวใจคนไทยร่วมสิบปีแล้ว หรือ MUJI แบรนด์ที่ชูเรื่องสินค้าไร้แบรนด์ซึ่งโหมทำการตลาดในไทยอย่างหนักและได้รับความนิยมสูงในคนไทย ไปจนถึงเชนใหญ่ท้องถิ่นอีกมากมายที่จับตามอง Nitori กันตาเขียว
แต่ อากิโอะ นิโตริ มั่นใจว่าคนไทยกับ Nitori นั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีใจให้กัน เพราะคนไทยชอบสไตล์มินิมัลแบบญี่ปุ่นอยู่แล้ว และเชื่อว่าราคาของ Nitori จะถูกใจคนไทยมากกว่าคู่แข่ง
ตามข้อมูลแล้ว Nitori ตั้งเป้าที่จะตั้งสาขาในกรุงเทพฯ ให้ได้ถึง 10 แห่งก่อน ส่วนหลังจากนี้หากประสบความสำเร็จด้วยดีก็มีโอกาสที่จะขยายตลาดไปยังต่างจังหวัดอีก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในฐานกำลังการผลิตอยู่แล้วด้วยจึงได้เปรียบเรื่องโลจิสติกส์ไปอีก
เรียกว่าประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคนี้ และเป็นหนึ่งในตลาดที่ท้าทายอย่างมาก
ก็ต้องดูกันว่าเพลงดาบนิโตริจะฟาดฟันกับคู่แข่งที่เข้มแข็งในเมืองไทยได้ไหวแค่ไหน ซึ่งยังไม่ต้องรีบร้อนไป ยังเหลือเวลาอีกร่วม 1 ปีกว่าที่เราจะพบคำตอบที่แท้จริงกัน
แต่อย่างน้อยที่สุดวันนี้เราก็น่าจะพอได้รู้จัก Nitori กันมากขึ้นแล้วใช่ไหม 🙂
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ต้องรีบซื้อตุน? เหตุยุค ‘เงินเยน’ อ่อนค่าอาจจบแล้ว! หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ แผ่วกว่าคาด ดึงดอลลาร์อ่อน
- ราคาห้องพักและโรงแรมใน ญี่ปุ่น พุ่งขึ้นแล้ว 10-20% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและเงินเฟ้อ
- ญี่ปุ่นจ๋าพี่มาแล้ว! นี่คือ 5 เซอร์ไพรส์เล็กๆ จากญี่ปุ่นที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
อ้างอิง:
- https://www.nitorihd.co.jp/en/division/business_model.html
- https://www.nitorihd.co.jp/en/about_us/history.html
- https://www.nitorihd.co.jp/en/division/philosophy.html
- https://asia.nikkei.com/Business/Retail/Nitori-IKEA-battle-over-Asia-s-growing-furniture-market
- https://www.timeout.com/singapore/news/nitori-japans-version-of-ikea-has-just-opened-its-doors-along-orchard-road-040422
- https://theculturetrip.com/asia/japan/articles/japans-best-home-and-interior-design-stores/
- http://www.krobkruengjapan.com/10-item-nitori/
- http://www.krobkruengjapan.com/nitori-home-fashion/