×

เผยโฉมว่าที่นวัตกรรุ่นใหม่จากโครงการ ‘แค่ใจก็เพียงพอ’ โดย นิสสัน สนามประลองไอเดียสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมที่มุ่งหวังให้ทุกคนในสังคมคือ ‘ผู้ชนะ’ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
07.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • นวัตกรรมต้นแบบของนักศึกษาทั้ง 6 ทีมจากโครงการ ‘แค่ใจก็เพียงพอ’ ของ นิสสัน ประเทศไทย โครงการที่น้อมนำคำสอนแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้โอกาสเยาวชนร่วมมือกับชุมชนสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างอนาคตอันสดใสให้กับประเทศไทย ร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่กับชุมชนบ้านน้ำใส บ้านน้ำโจน และบ้านตะกาดเง้า เพื่อให้ชุมชนใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม สร้างรายได้ และแก้ปัญหาในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ ทีม Mirt ผลงาน ‘อิฐอึดอึดและทางเดินวิบวับ’ นวัตกรรมจากปูนเปลือกหอย, ทีมต้า ผลงาน ‘จันตกาด’ เก้าอี้สนามจากปูนเปลือกหอย, ทีม B.E.Case ผลงาน ‘น้ำใจไบโอชาร์’ ถ่านชีวมวลจากผลทุเรียนตัดแต่งทิ้ง, ทีมฮักนะมันแกว ผลงาน ‘เรียนน้อย’ ภาชนะรักษ์โลก, ทีมกลุ่มใจ ‘Daily Plastic’ แพ็กเกจจิ้งใส่ทุเรียนจากขยะพลาสติก และทีม เดอะ แกลบ คราฟ ผลงาน ‘สายคราฟต์’ แอ็กเซสซอรีชวนตระหนักให้รักษ์โลก 

หลังจากน้องๆ ทั้ง 6 ทีม ซึ่งผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศในโครงการ ‘แค่ใจก็เพียงพอ’ ได้ลงพื้นที่เรียนรู้วิถีชาวบ้านใน 3 ชุมชนของจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ บ้านตะกาดเง้า บ้านน้ำโจน และบ้านน้ำใส เคี่ยวกรำไอเดียเพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่มีประโยชน์ ต่อยอดเป็นธุรกิจหรือบริการที่แตกต่าง สร้างแผนการตลาด ขยายผลต่อได้ในเชิงพาณิชย์ ให้ตอบโจทย์ความต้องการและแก้ไขปัญหาให้ชุมชนได้จริงมาเป็นเวลากว่า 4 เดือน ก็ถึงเวลาที่ นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จะประกาศผลผู้ชนะเลิศเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา

แต่ก่อนจะเฉลยว่าใครคือผู้คว้ารางวัล ขอพาไปดูนวัตกรรมต้นแบบเพื่อสังคมของทั้ง 6 ทีม ที่ได้ส่งมอบ ‘ให้’ กับชุมชน และอะไรคือสิ่งที่ชุมชน ‘ได้’ รับกลับมา

 

 

ทีม Mirt มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลงาน ‘อิฐอึดอึดและทางเดินวิบวับ’ จับเอาปัญหาขยะเปลือกหอย และมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มมูลค่าขยะไร้ค่าให้กลายเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์แก่คนในชุมชนบ้านตะกาดเง้า ที่ต้องสร้างพนังกั้นน้ำตลอดทั้งปี จนได้เป็น อิฐอึดอึดและทางเดินวิบวับ ตีตลาดคนรักการแต่งสวน ไม่เพียงแต่ลดปริมาณขยะเปลือกหอยได้มากกว่า 105 ตันต่อปี อีกทั้งยังสร้างงานและรายได้เสริมให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

 

 

ทีมต้า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กับผลงานที่ชื่อ ‘จันตกาด’ เก้าอี้สนามที่ผลิตจากปูนเปลือกหอยนางรม โดยการนำขยะที่สร้างปัญหาให้คนในชุมชนบ้านตะกาดเง้า ดึงจุดเด่นของปูนที่ผลิตจากเปลือกหอยซึ่งมีน้ำหนักเบา มาดีไซน์เป็นเก้าอี้สนามที่ดูโมเดิร์น งานดีไซน์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากต้นโกงกาง หัวใจแห่งระบบนิเวศของชุมชน ข้อดีของเก้าอี้สนามที่น้ำหนักเบา จึงง่ายต่อการขนย้ายและจัดส่ง เมื่อสร้างองค์ความรู้ที่จะแปลงขยะเปลือกหอยให้เป็นปูนเปลือกหอย ชุมชนอาจต่อยอดผลิตสินค้าอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมในอนาคต

 

 

ทีม B.E.Case มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นอกจากจะหาทางแก้ปัญหาปริมาณผลอ่อนทุเรียนตัดแต่งทิ้งจำนวนมากให้กับชุมชนบ้านน้ำโจนแล้ว ยังคำนึงถึงผลกระทบทางมลพิษสิ่งแวดล้อม จึงพัฒนาผลงานในชื่อ ‘น้ำใจไบโอชาร์’ ถ่านชีวมวลทุเรียน นวัตกรรมจากผลอ่อนทุเรียนตัดแต่งทิ้งในสวนทุเรียน ความพิเศษของถ่านชีวมวลทุเรียนคือ สามารถบำรุงดินได้ดี กักเก็บน้ำได้มาก เก็บสารอาหารในดินได้ ลดการสูญเสียจากการชะล้าง และเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ได้ดีกว่า ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย นวัตกรรมที่จะทำให้ชุมชนบ้านน้ำโจนผลิตปุ๋ยใช้เองได้ ลดต้นทุนการเกษตร เพิ่มรายได้ด้วยการส่งขาย และเป็นชุมชนที่ปราศจากมลพิษทางอากาศ

 

 

ทีมฮักนะมันแกว มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปัญหาทุเรียนลูกน้อยๆ ของชุมชนบ้านน้ำโจน เมื่อนำมาตีโจทย์จากความต้องการของชุมชนที่อยากได้ของที่มีประโยชน์ ใช้งานได้จริง จึงกลายมาเป็นนวัตกรรมภาชนะรักษ์โลกในชื่อ ‘เรียนน้อย’ นำทุเรียนลูกน้อยๆ หรือผลทุเรียนอ่อนตัดแต่งทิ้งในสวนมาผลิตเป็นวัสดุธรรมชาติ 100% ย่อยสลายได้ภายใน 20 วัน ชุมชนได้กำจัดปริมาณทุเรียนอ่อนผ่านการแปรรูปให้เป็นภาชนะที่มีประโยชน์ต่อตนเอง ต่อชุมชน และต่อสิ่งแวดล้อม หากผลิตในปริมาณที่มากขึ้น ยังสามารถนำไปขายเพื่อหารายได้เสริมให้กับคนในชุมชน

 

 

ทีมกลุ่มใจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงาน ‘Daily Plastic’ พลิกโฉม Delivery Packaging เปลี่ยนขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาของคนในชุมชนบ้านน้ำใสด้วยนวัตกรรม ให้กลายเป็นถุงใส่ทุเรียนเกรดพรีเมียม พร้อมหิ้วไปได้ทั่วไทย หรือจะส่งไปรษณีย์ไปก็ไม่บอบช้ำ หนามไม่ตำ ไม่เป็นเชื้อราขณะขนส่ง แถมนำกลับมาใช้เป็นถุงช้อปปิ้งได้อีก สร้างรายได้ให้กับชุมชน และลดปริมาณขยะไปพร้อมกัน นวัตกรรมต้นแบบนี้ไม่เพียงแก้ปัญหาขยะพลาสติก ยังช่วยเพิ่มยอดขายทุเรียนอีกด้วย จากเดิมที่นักท่องเที่ยวไม่กล้าซื้อกลับเพราะกลัวทุเรียนจะบอบช้ำ ขณะเดียวกันดีไซน์แพ็กเกจจิ้งยังดูแปลกใหม่ ดึงดูดความสนใจจากนักช้อปได้

 

 

ทีมเดอะ แกลบ คราฟ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โชว์ผลงานสุดครีเอตในชื่อ ‘สายคราฟต์’ Eco Living Accessories สร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาพลาสติกของคนในชุมชนบ้านน้ำใสด้วยของใช้ประจำวัน เพื่อเตือนให้ทุกคนหันมารักษาและดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัว และปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่ปัญหาเดียวที่คนในชุมชนต้องการแก้ปัญหา ชุมชนอยากได้พื้นที่ทำการเกษตร แต่ขยะที่ถูกฝังกลบกลับยิ่งทำให้ดินในส่วนนั้นปลูกพืชไม่ได้ กำไรจากนวัตกรรมนี้จึงสามารถนำไปแก้ปัญหาพื้นที่บ่อขยะเดิมให้กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกของคนในชุมชน เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

 

ปีเตอร์ แกลลี รองประธานสายงานสื่อสารองค์กร นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

 

“ทุกทีมที่เข้าร่วมโครงการและผ่านมาถึงรอบสุดท้าย ถือว่าเป็นผู้ชนะสำหรับพวกเราทุกคน” ปีเตอร์ แกลลี รองประธานสายงานสื่อสารองค์กร นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกกับน้องๆ ทั้ง 6 ทีม ก่อนจะประกาศผลให้ ทีม Mitr จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศด้วยนวัตกรรม อิฐอึดอึดและทางเดินวิบวับ เปลี่ยนขยะเปลือกหอยจำนวนมากให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่า สร้างรายได้และลดปริมาณขยะเปลือกหอยได้อย่างยั่งยืน

ปีเตอร์ แกลลี กล่าวถึงเกณฑ์การเลือกผู้ชนะในรอบตัดสินที่มีความแตกต่างจากการคัดเลือกในรอบแรก “รอบแรกเราคัดเลือกผู้สมัคร 138 ทีม จาก 33 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศให้เหลือ 6 ทีม โดยคัดเลือกจากแผนนวัตกรรมทางธุรกิจ ความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง และแนวคิดในการสร้างความยั่งยืนของแผนในระยะยาว แต่รอบนี้น้องๆ ทั้ง 6 ทีมได้ลงพื้นที่ชุมชน นำปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนเป็นโจทย์ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้จริง ดังนั้นการยอมรับของชุมชนและความเห็นของคนในชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ชุมชนต้องเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดปัญหาที่มีอยู่ได้ ต้องได้ประโยชน์ โดยในการตัดสิน ทุกชุมชนยอมรับผลงานของทุกทีม เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงต้องตัดสินกันที่ความเป็นไปได้ที่ชุมชนจะสามารถนำไปใช้ได้จริงและตอบโจทย์ความยั่งยืนที่สุด”

“ทุกคนคือผู้ชนะ ไม่ว่ารางวัลจะตกเป็นของใคร” ปีเตอร์ แกลลี ตอกย้ำให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้รับรู้

THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 3 ทีมที่คว้ารางวัล ยิ่งพบว่า แนวคิดที่นิสสันต้องการปลูกฝังพลังงานดีๆ ให้กับเยาวชนผ่านโครงการ ‘แค่ใจก็เพียงพอ’ สำเร็จแล้ว กัลยารัตน์ บุญเยี่ยมธนะดี และ กัญญ์ชนา กอทอง ตัวแทนทีม Mitr จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่คว้ารางวัลชนะเลิศบอกกับเราว่า “เรารักชุมชนไปแล้ว” 

 

ทีม Mitr จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทีมชนะเลิศ และ ปีเตอร์ แกลลี

 

“พวกเราสัมผัสได้ว่าโครงการนี้ให้ใจกับชุมชนมากๆ มันทำให้เราเปลี่ยนวิธีคิดไปเลย จากเด็กกรุงเทพฯ ที่อยู่ในโลกแคบๆ การลงชุมชนเหมือนได้เปิดโลก ยิ่งเราเรียนในคณะที่ทุกอย่างต้องเป็นเรื่องของธุรกิจ ต้องขายให้ได้ ต้องทำกำไร แต่การได้ลงไปเห็นปัญหา มีตัวแปรมาเกี่ยวข้อง โจทย์เราคือต้องสร้างนวัตกรรมที่ชุมชนนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง พอเราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น มองย้อนกลับมาดูตัวเอง พวกเราคุยกันเลยว่าพวกเรามีศักยภาพที่ช่วยเขาได้ เรายังเป็นนักศึกษา เรามีเรี่ยวแรง มีคลังความรู้ ทำไมไม่เอาข้อดีตรงนี้มาช่วยเขา”

ทีม Mitr ได้รับภารกิจให้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านตะกาดเง้า ซึ่งปริมาณขยะเปลือกหอยจำนวนมากกำลังสร้างปัญหาสุขภาวะแก่คนในชุมชน จะนำไปขายก็ได้เพียง 100 บาทต่อเปลือกหอย 1 ตัน

“เราต้องลดปริมาณเปลือกหอย เพิ่มมูลค่าให้กับมัน และต้องสร้างรายได้ให้กับชุมชน พอได้คลุกคลีมากขึ้น ทำให้เห็นว่าขณะที่เศรษฐกิจไทยชะลอ แต่อุตสาหกรรมการสร้างบ้านและแต่งสวนยังคงเดินหน้าต่อได้ ชาวบ้านต้องสร้างโรงเรือนตลอดทั้งปี สร้างพนังกั้นน้ำทะเล กลุ่มคนรักการแต่งสวนก็ต้องการวัสดุที่ดี จึงออกมาเป็น ‘อิฐอึดอึด’ เป็นอิฐประสานในการก่อสร้างโรงเรือนต่างๆ จุดเด่นคือน้ำหนักเบา ค่าอุ้มน้ำต่ำ รองรับน้ำหนักได้มาก และ ‘ทางเดินวิบวับ’ หยิบจุดเด่นของเปลือกหอยที่อุ้มน้ำต่ำ ทำให้อัตราการเกิดตะไคร่น้ำน้อย อัตราการลื่นล้มก็น้อยลงด้วย เคลือบสารเรืองแสงจึงดูดแสงตอนกลางวันและเปล่งแสงตอนกลางคืน ช่วยให้เดินในที่มืดได้โดยไม่ต้องเปลืองไฟ

“วิธีคิดพวกเราเปลี่ยนไปมาก นิยามคำว่ากำไรเปลี่ยนไป ณ ตอนนี้คือทุกคนต้องได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มันถึงเป็นกำไรที่ยั่งยืน คนผลิตได้กำไร หรือผู้บริโภคเสียประโยชน์ มันไม่ใช่การทำธุรกิจที่ดี”

 

กลุ่มใจ จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองชนะเลิศอันดับ 1

 

“ก่อนหน้านี้เราตั้งโจทย์จากงานดีไซน์ ตอนนี้เราเปลี่ยนเป็นนำปัญหาเป็นตัวตั้งแล้วใช้งานดีไซน์แก้ปัญหา” โสรยา ระดาฤทธิ์ และ จิตรา ดวงแสง ตัวแทนทีมกลุ่มใจ จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองชนะเลิศอันดับ 1 บอกเล่าถึงสิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ ‘แค่ใจก็เพียงพอ’

“ที่ผ่านมาพวกเราไม่เคยออกไปถามยูสเซอร์เลยว่าต้องการอะไร เราศึกษาแค่เทรนด์ คิดจากตัวเอง และมั่นใจว่าคนอื่นๆ ต้องชอบสิ่งนี้ แต่โครงการนี้เปลี่ยนมุมมองเราไปเลย จะขายของให้เขาก็ต้องถามผู้ใช้ มันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิดมาก่อน เหมือนเราขยับเข้าใกล้โลกธุรกิจมากขึ้น

“ที่ชุมชนบ้านน้ำใส ปัญหาเริ่มจากขยะพลาสติก ที่เลือกทำถุงใส่ทุเรียนเพราะมันรับรู้ได้ง่าย เห็นปุ๊บรู้เลยว่าต้องถือ ใส่ทุเรียนเสร็จยังเอาไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ นำปัญหามาสร้างประโยชน์ ถ้าเราไม่เปิดใจรับฟังปัญหาของชุมชน เราอาจไม่ได้คิดนวัตกรรมแบบนี้ แต่พอเราเปิดใจ อะไรที่เขาต้องการ อะไรที่เขานำไปใช้งานได้จริงและสร้างรายได้ แบบนี้ถึงจะเรียกว่างานดีไซน์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างแท้จริง”  

 

ทีมเดอะ แกลบ คราฟ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รองชนะเลิศอันดับ 2

 

ในขณะที่ ธาวิน ตั้งบุญญศิลป์ และ หทัยภัทร กสาบสัน ตัวแทนทีมเดอะ แกลบ คราฟ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รองชนะเลิศอันดับ 2 เชื่อว่า “การสร้างจิตสำนึกคือพื้นฐานของความยั่งยืน” จึงกลายเป็นที่มาของโมเดลแอ็กเซสซอรีป่าไม้ น้ำทะเล และขั้วโลก หยิบจับสิ่งใกล้ตัวที่อยากให้คนได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว

“เราอยากให้คนตระหนักว่า แท้จริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวัน เกิดจากการกระทำของตัวเอง เขาอาจจะลืมนึกไปว่าการไม่แยกขยะหรือเผาขยะจะส่งผลกระทบต่อใครบ้าง พวกเราจึงทำโปรดักต์เพื่อส่งเมสเสจให้เห็นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำร้ายใครบ้าง และสิ่งนี้ยังช่วยสร้างรายได้เพื่อให้ชุมชนบ้านน้ำใสนำไปแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทางการเกษตร

“สิ่งที่เราได้กลับมาเยอะมากจากการเข้าร่วมโครงการนี้คือ องค์ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการทำธุรกิจ และยังเปิดมุมมองการออกแบบงานของเราไม่ใช่แค่ดีไซน์สวยหรือตอบโจทย์ลูกค้า แต่ถ้ามันมีความหมายและสร้างคุณค่าให้กับคนอื่นด้วยก็จะดียิ่งกว่า”

จะมองว่านี่คือสิ่งที่น้องๆ ทั้ง 6 ทีม ‘ได้รับ’ ประสบการณ์ที่ดีจากการลงพื้นที่ชุมชนก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เหนือสิ่งอื่นใด ปลายทางของนวัตกรรมครั้งนี้คือการ ‘ให้’ แนวทางการแก้ปัญหาและการดำเนินชีวิตที่ยั่งยืนของชุมชนเช่นกัน ณรงค์กร ภิบาลชนม์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.1 ชุมชนบ้านตะกาดเง้า รู้สึกซาบซึ้งใจที่น้องๆ ตั้งใจช่วยเหลือชุมชนอย่างเต็มที่ “เมื่อก่อนเราไม่รู้จะแก้ปัญหาเปลือกหอยเหล่านี้อย่างไร ทิ้งไว้สัปดาห์หนึ่งก็เหม็นไปหมด วันหนึ่งเปลือกหอยทิ้งกันเป็นตัน สะสมมากขึ้นก็กองกันเป็นไร่ โรงงานแกะหอยก็เสียพื้นที่ พอเด็กๆ คิดที่จะเอาเปลือกหอยไปทำอิฐบล็อกเพื่อสร้างพนังกั้นน้ำหรือปูถนน และขายได้ด้วย คนในชุมชนก็เริ่มมองเห็นว่าเปลือกหอยไม่ใช่ขยะ มันมีมูลค่า สร้างรายได้เสริม สร้างอาชีพได้ เพราะในชุมชนเรามีการสร้างบ้าน สร้างพนังกั้นน้ำตลอด สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนมากๆ ชุมชนมีการคุยกันแล้วว่าคงต้องสานต่อสิ่งที่เด็กๆ ช่วยกันคิดเพื่อแก้ปัญหาให้ชุมชนเราอย่างแน่นอน”

 

ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม ที่ปรึกษาอาวุโสและผู้จัดการโปรแกรม Food Innopolis (สวทช.)

 

“สิ่งที่เราชอบคือ เด็กๆ ได้วิธีการทำงานกับคน นี่จะเป็นสิ่งที่ติดตัวเขาไปตลอด มันเป็น Soft Skill คือคุณค่าแท้จริงที่เด็กจะได้ รางวัลอาจจะไม่ใช่เป้าหมาย” ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม ที่ปรึกษาอาวุโสและผู้จัดการโปรแกรม Food Innopolis (สวทช.) หนึ่งในคณะกรรมการและวิทยากรที่ร่วมลงพื้นที่และมอบแนวคิด Design Sprint Workshop กล่าว

“โครงการประกวด Innovation ในเมืองไทยมีเยอะ แต่โครงการนี้เข้มข้นที่สุดเท่าที่เคยเห็น เด็กๆ ทั้ง 6 ทีมเก่งมาก เพราะต้องบาลานซ์ระหว่างผลิตภัณฑ์กับธุรกิจ โดยที่ชุมชนต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาคิด และพอเป็นเรื่องของ SE (Social Enterprise) ธุรกิจมีกำไรโดยที่ปัญหาชุมชนต้องลดลงด้วย ไม่ง่ายที่จะตอบโจทย์ทั้ง People และ Profit”

ดร.ปรเมษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า เด็กเหล่านี้สามารถพัฒนาไปเป็นนวัตกรที่ดีได้อย่างแน่นอน

นิสสันเองก็เชื่อว่าพลังของคนรุ่นใหม่จะส่งต่อองค์ความรู้และแรงบันดาลใจไปสู่ผู้อื่นได้อีกมาก เช่นเดียวกับที่นิสสันก็ได้รับแรงบันดาลใจดีๆ ให้อยากสานต่อโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไป

แล้วพบกับโครงการดีๆ ครั้งต่อไป แต่จะมาในรูปแบบไหน ต้องติดตาม…

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X