×

ตามไปดูวิธีกลั่นไอเดียนวัตกรรมเพื่อสังคมแบบคนรุ่นใหม่ที่ ‘ให้มากกว่า’ แค่การแก้ปัญหา เพราะ ‘ได้มากกว่า’ คือความสุขใจ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
20.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • โครงการ ‘แค่ใจก็เพียงพอ’ ของนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) น้อมนำคำสอนแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างอนาคตอันสดใสให้กับประเทศไทย ให้กับนักศึกษา ให้กับชุมชนท้องถิ่น ภายใต้มรดกอันล้ำค่าและการให้ของกษัตริย์ไทยในอดีตและปัจจุบันทุกพระองค์

เราได้ยินแนวคิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม หรือ Social Innovation กันมานาน ได้เห็นคนตัวเล็กไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ร่วมสร้างสรรค์และผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น อาจเพราะแง่งามของนวัตกรรมเพื่อสังคมไม่ได้ถูกมองเป็นแค่เครื่องมือช่วยสังคมแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การวางรากฐานทางเศรษฐกิจให้เติบโตไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

 

‘แค่ใจก็เพียงพอ’ โครงการที่สร้างความสุขอย่างยั่งยืนผ่านนวัตกรรมเพื่อสังคม
ประเทศไทยก็มีหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ทำเรื่องนี้จริงจัง อย่างการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมผ่านโครงการ ‘แค่ใจก็เพียงพอ’ ของนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ที่ทำต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี และในปี 2562 ก็เป็นปีที่ 3 ที่ยังคงเปิดโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาศักยภาพและทักษะ เรียนรู้ที่จะประยุกต์ใช้ความคิดใหม่และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อมด้วยการแข่งขัน Upcycle Solutions หรือการใช้วัสดุจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้งานแล้วมาสร้างสิ่งใหม่เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน (ประเภททีม) สำหรับนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นปีที่ 3 ขึ้นไปทั่วประเทศที่มีทักษะความสามารถด้านการออกแบบ การสร้างแบรนด์ การสื่อสารการตลาด และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาที่แท้จริงในชุมชนด้วยการสร้างนวัตกรรมให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน  

 

 

นิสสันในประเทศไทยพร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและนวัตกรรมร่วมกันคัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบ ผู้สมัคร 138 ทีม จาก 33 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เหลือ 6 ทีมที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ โดยคัดเลือกจากแผนนวัตกรรมทางธุรกิจ ความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง และแนวคิดในการสร้างความยั่งยืนของแผนในระยะยาวภายใต้โจทย์ ‘แผนพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมคุณค่าสูงเพื่อใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ในชุมชน’ ให้กลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีประโยชน์ สร้างธุรกิจหรือบริการที่แตกต่าง สร้างรายได้ ขยายผลต่อได้ในเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์ความต้องการและแก้ไขปัญหาให้ชุมชนได้

 

 

กิจกรรม Field Survey & Design Sprint Bootcamp เรียนให้รู้ปัญหาจริงจากคนในชุมชน 
ความพิเศษของกิจกรรมในครั้งนี้คือทีมที่เข้ารอบจะได้เข้าร่วม Field Survey & Design Sprint Bootcamp ลงพื้นที่สำรวจ 3 ชุมชนเป้าหมายในจังหวัดจันทบุรี พร้อมทั้งรับฟังปัญหาด้านสิ่งของเหลือใช้ที่เกิดขึ้นในชุมชน แล้วนำปัญหาเหล่านั้นมาออกแบบนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนต่อไป ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม ที่ปรึกษาอาวุโสและผู้จัดการโปรแกรม Food Innopolis (สวทช.) วิทยากรที่ร่วมลงพื้นที่และมอบแนวคิดกระบวนการทำ Field Research ให้กับน้องๆ ทั้ง 6 ทีม บอกถึงสิ่งที่ได้มากกว่าในการลงพื้นที่ครั้งนี้ว่า “การที่น้องๆ ได้ลงชุมชน ได้เจอกับผู้ใช้งานจริง ได้ไปเก็บข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เป็นวิธีการของนักออกแบบนวัตกรรมที่ถูกต้อง ทำให้สามารถคิดนวัตกรรมที่ชุมชนสามารถทำได้จริง เนื่องจากไอเดียที่น้องคิดมาจากบ้านเป็นไอเดียที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ แต่ชาวบ้านกลับเลือกไอเดียที่น้องคิดไม่ถึง”  

 

ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม ที่ปรึกษาอาวุโสและผู้จัดการโปรแกรม Food Innopolis (สวทช.)


สิ่งที่ได้มากยิ่งกว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องคือการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หารือกับคนในชุมชน เพื่อทำการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือแผนธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเพื่อนในกลุ่มและข้ามกลุ่ม ดร.ปรเมษฐ์เชื่อว่าในอนาคตเด็กเหล่านี้สามารถนำเครื่องมือไปออกแบบนวัตกรรมที่ดีทั้งกับตัวเองและชุมชนอื่นๆ ต่อไป   

 


และชุมชนเป้าหมายในจังหวัดจันทบุรีที่นิสสันเลือกเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งของเหลือใช้ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนครั้งนี้ ได้แก่

ชุมชนบ้านน้ำใส
ปัญหาชุมชน มีโครงการส่งเสริมเรียนรู้จากบริษัทและชุมชนต่างๆ มากมาย ทำให้เกิดขยะขวดและถุงพลาสติก ซึ่งไม่สามารถนำไปกำจัดได้ทันเวลา อีกทั้งชุมชนยังมีปัญหาการจัดเก็บขยะจากชุมชนโดยรอบ

ชุมชนบ้านน้ำโจน
ปัญหาชุมชน ในแต่ละปีมีลูกทุเรียนตกมาก ชาวบ้านต้องตัดแต่งและเผาเพื่อกำจัด จึงทำให้เกิดขยะจำนวนมาก

ชุมชนบ้านตะกาดเง้า
ปัญหาชุมชน การกำจัดเปลือกหอยนางรมทำได้ยากและมีปริมาณมาก ทำให้เกิดปัญหาขยะจำนวนมาก 

 


นิธิศ ธนะมูล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งเบญจา (ตัวแทนผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านน้ำใส) ชื่นชมในมุมมองที่แตกต่างของน้องๆ ที่นำปัญหาของหมู่บ้านไปต่อยอดไอเดียที่แม้จะไม่ได้มีมูลค่ากำไรมากมาย แต่ได้กำไรต่อสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้านที่ดีขึ้น ปัญหาขยะและพลาสติกต่างๆ หมดไป ในขณะที่ บุญมาก กิจจริต ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านน้ำโจน บอกว่าเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ และรู้สึกประทับใจกับไอเดียนวัตกรรมต่างๆ ที่เห็นได้ถึงความตั้งใจจริงของเด็กๆ ที่อยากช่วยพัฒนาชุมชนจริงๆ ทางด้าน บรรจง จันทแพทย์ ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านตะกาดเง้า ก็สัมผัสได้ถึงพลังใจจากน้องๆ ที่ลงพื้นที่ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการพัฒนาชุมชนด้วยการนำของเหลือใช้มาพัฒนาจนสร้างรายได้ 

 

 

6 ประสบการณ์ความคิดของ 6 ทีมคนรุ่นใหม่
ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและเห็นถึงปัญหาที่แท้จริงแล้ว และนี่คือผลผลิตที่เกิดจากไอเดียของคนรุ่นใหม่ทั้ง 6 ทีมด้วยเวลาเพียง 3 วัน 2 คืน กลั่นออกมาเป็นไอเดียต้นแบบที่อาจจะพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างแท้จริง 

 

 

ทีมฮักนะมันแกว มหาวิทยาลัยมหาสารคาม / ชุมชนบ้านน้ำโจน
“ยอมรับเลยว่าตอนแรกเรารู้ปัญหาแค่ผิวเผิน พอได้ลงพื้นที่จริงทำให้เราได้แนวคิดว่าควรจะทำอย่างไร ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ชุมชน แต่สามารถนำไปขายต่อได้ หาความต้องการของลูกค้าและชุมชนที่ต้องการสินค้า ต้องหาบาลานซ์เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ ปกติในมหาวิทยาลัยจะสอนเรื่องเหล่านี้ เราต้องทำให้ตอบโจทย์หลายๆ ด้าน ผลิตภัณฑ์จึงจะนำไปใช้ได้จริงๆ” 

 

 

ทีม B.E. Case มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ชุมชนบ้านน้ำโจน
“ถ้าไม่ได้ลงพื้นที่คงนึกภาพไม่ออกว่าคนในชุมชนมีปัญหาอะไร เรื่องพวกนี้สามารถนำมาตีโจทย์ได้ ทำให้เห็นภาพความแตกต่างของ Innovation กับ Invention การออกสินค้าใหม่ต้องเป็น Innovation ที่ตอบโจทย์ตลาด และความท้าทายของโครงการนี้คือชาวบ้านต้องอยากทำกับเรา ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ให้พวกเราและชาวบ้านด้วย”

 

 

ทีมเดอะ แกลบ คราฟ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง / ชุมชนบ้านน้ำใส
“การลงพื้นที่ชุมชนทำให้พวกเราได้ความรู้ที่มากกว่าเรียนในห้องเรียน ทั้งด้านการทำธุรกิจ การทำแบรนด์ ได้ลองทำในสิ่งใหม่ๆ เรามีเครื่องมือช่วยคัดกรอง โดยเฉพาะ Superhero Canvas ทีมเราจึงมีไอเดียที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ให้ชาวบ้าน ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน และต้องทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เวลาลูกค้ามาซื้อสินค้าจะได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ชุมชนดีขึ้น”

 

 

ทีมกลุ่มใจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / ชุมชนบ้านน้ำใส
“แม้จะลงพื้นที่ในระยะเวลาสั้นๆ แต่เราได้ทั้งประสบการณ์นอกห้องเรียน ได้เรียนรู้กระบวนการทำงาน ได้แนวคิดด้าน Design Thinking จึงเกิดเป็นไอเดียที่อยากจะให้ผลิตภัณฑ์เกิดประโยชน์สูงสุดโดยตรงกับชาวบ้าน สร้างจากความต้องการของคนในหมู่บ้านซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับขยะ ไม่ใช่แค่ทำขาย แต่เกิดอิมแพ็กในการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมที่ดีตามมา”

 

 

ทีมต้า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย / ชุมชนบ้านตะกาดเง้า
“พอได้รับรู้ปัญหาของชาวบ้าน ทำให้เราช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด การทำกิจกรรมนี้ยังได้เรื่องของการวางแผนธุรกิจ จากที่แต่ก่อนทำแค่ชิ้นงาน แต่ตอนนี้ต้องคิดถึงการขายด้วย ซึ่งเราไม่เคยเรียนเกี่ยวกับการขายเลย ทำให้ได้ไอเดียดีๆ เราตั้งใจที่จะใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้คนมองเห็นคุณค่าของเศษวัสดุที่ไม่มีค่าแล้วให้เกิดมูลค่าอย่างแท้จริง”

 

 

ทีม Mitr มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / ชุมชนบ้านตะกาดเง้า
“กิจกรรมนี้ทำให้เราได้รู้จักชุมชนมากกว่าที่คิดจนสามารถแตกไอเดียและสรุปไอเดียให้คมขึ้น อย่างชุมชนที่เราลงไปเขามีปัญหาเรื่องเปลือกหอย เราจะทำให้คนที่แกะเปลือกหอยมีรายได้มากขึ้น คนในชุมชนต้องมาร่วมกันกระจายรายได้และช่วยตัวเองในชุมชนก่อนที่คนอื่นจะเข้ามาช่วย ถือเป็นประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้จริงๆ ค่ะ” 

 

 

ความตั้งใจจริงของโครงการ ‘แค่ใจก็เพียงพอ’ ไม่เพียงแต่ปลูกฝังให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันมีใจพร้อมที่จะ ‘ให้มากกว่า’ ด้วยการส่งมอบนวัตกรรมเพื่อสังคมไปสู่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งจากภายใน สามารถดำเนินการสร้างสรรค์ต่อเองอย่างยั่งยืน แต่ต้องการให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ‘ได้มากกว่า’ เงินรางวัลตลอดระยะเวลาการแข่งขัน จึงมอบความรู้จากกูรูในสายงานการตลาด แบรนดิ้ง และการสื่อสารการตลาดเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้เข้าแข่งขันต่อไปในอนาคต  

 


ระหว่างที่รอให้ทั้ง 6 ทีมนำประสบการณ์ที่ได้จากการลงพื้นที่จริงไปผลิตเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อค้นหาผู้ชนะตัวจริงในโครงการวันที่ 12-14 มีนาคม 2563 นิสสันก็ยังไม่หยุดที่ให้ความรู้แก่น้องๆ ทั้ง 6 ทีมผ่านเวิร์กช้อปเพิ่มเติมด้านการออกแบบ การทำการตลาด การสร้างแบรนด์ รวมทั้งการเขียน Storytelling โดยผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ 


มาร่วมลุ้นและเป็นกำลังใจให้คนรุ่นใหม่ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมต่อไป ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารของโครงการนี้ผ่านทางเว็บไซต์ แค่ใจก็เพียงพอ.com, กดไลก์เฟซบุ๊กเพจ แค่ใจก็เพียงพอ หรือกดติดตามผ่านอินสตาแกรม HonorTheKingsLegacyOfficial

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising