“ถ้าคุณมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า มันก็ทำให้คุณก้าวไปได้ถึงดวงอาทิตย์” คำนิยมที่แสดงถึงเจตนารมณ์อันเป็นที่มาของโลโก้ Nissan ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
หลังจากที่ Nissan ผจญกับปัญหานานัปการตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุดอย่าง คาร์ลอส กอส์น ถูกจับกุมและกล่าวหาว่ากระทำความผิด มาจนถึงผลการดำเนินงานขาดทุนครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี
พร้อมกับการเปิดเผยแผนการดำเนินงานใหม่ทั้งหมด และทิศทางของรถยนต์ที่ประกาศว่าจะมี 12 รุ่นใหม่เปิดตัวในช่วง 18 เดือนนับจากนี้
3 ปีกับการออกแบบ ‘โลโก้ใหม่’ ในรอบ 20 ปี
แผนงานดังกล่าวเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนแล้วในการแถลงข่าวครั้งล่าสุดของ Nissan กับการเปลี่ยน ‘โลโก้ใหม่’ ในรอบ 20 ปี ทีมออกแบบของ Nissan ระบุว่าโลโก้นี้ใช้เวลากว่า 3 ปีในการคิดและดำเนินการทุกขั้นตอนจนตกผลึกอย่างที่เห็น ซึ่งสะท้อนถึงปรัชญาในความกล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับโลกยุคดิจิทัลเวลานี้
ในด้านหนึ่ง การใช้เวลา 3 ปีสร้างโลโก้ใหม่แสดงถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจที่ละเอียดอ่อนกว่าจะออกมาเป็นโลโก้ชิ้นนี้ได้ แต่อีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่สิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมาก ระยะเวลา 3 ปีกับการออกแบบโลโก้ใหม่ 1 ชิ้น
แน่นอนว่าเราไม่มีทางทราบถึงปริมาณงานของทีมออกแบบว่ามีมากเพียงใด แต่กระบวนการทำงานที่เหมือนขี่ช้างจับตักแตนเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพของการดำเนินกิจการอย่างไม่ต้องสงสัย
ทั้งนี้ โลโก้ใหม่ของ Nissan นั้นจะถูกนำมาใช้งานเป็นครั้งแรกในรถยนต์รุ่นใหม่ชื่อ ‘Nissan Ariya’ (นิสสัน อริยะ) ที่ Nissan เปิดตัวมาพร้อมกับโลโก้ใหม่ในคราวนี้ด้วย
Nissan Ariya รถไฟฟ้าคันใหม่ในรอบ 10 ปี
โดย Nissan Ariya นั้นเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดโมเดลที่ 2 นับจาก Nissan เปิดตัว Nissan Leaf (นิสสัน ลีฟ) เป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ที่แล้ว (Nissan Leaf เจเนอเรชันที่ 2 เปิดตัวเมื่อปี 2017)
สำหรับ Nissan Ariya นั้นมีระยะทางวิ่งได้ไกลสุดถึง 610 กิโลเมตร และมีกำลังสูง 290 กิโลวัตต์ โดยมีให้เลือก 4 รุ่นย่อยตามขนาดกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ประกอบไปด้วย
- รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ แบตเตอรี่ขนาด 65 kWh ระยะทางวิ่งสูงสุด 450 กิโลเมตร กำลัง 160 กิโลวัตต์ แรงบิด 300 นิวตันเมตร
- รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ แบตเตอรี่ขนาด 90 kWh ระยะทางวิ่งสูงสุด 610 กิโลเมตร กำลัง 178 กิโลวัตต์ แรงบิด 300 นิวตันเมตร
- รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ แบตเตอรี่ขนาด 65 kWh ระยะทางวิ่งสูงสุด 430 กิโลเมตร กำลัง 250 กิโลวัตต์ แรงบิด 560 นิวตันเมตร
- รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ แบตเตอรี่ขนาด 90 kWh ระยะทางวิ่งสูงสุด 580 กิโลเมตร กำลัง 290 กิโลวัตต์ แรงบิด 600 นิวตันเมตร
วางราคาเริ่มต้นประมาณ 5 ล้านเยน หรือราว 1.5 ล้านบาท มีกำหนดวางจำหน่ายในญี่ปุ่นช่วงกลางปี 2021 และจะจำหน่ายในยุโรป อเมริกา และจีน ราวปลายปีเดียวกัน
นัยแฝงที่ Nissan ซ่อนอยู่
เมื่อมองถึงการเปิดตัวในลักษณะนี้ถือว่ามีนัยแฝงอยู่หลายประการ
ประการหนึ่งคือการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค การเปิดตัวโลโก้ใหม่แสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ใหม่และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้ในกระบวนการสร้างแบรนด์จำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง เมื่อแบรนด์ประสบข่าวด้านลบอย่างต่อเนื่องจึงต้องทำอย่างเร่งด่วน ซึ่งนับว่า Nissan เดินเกมถูกต้องตามตำรา
ประการต่อมา การเปิดตัวรถใหม่ล่วงหน้าเป็นเวลานานนับปีในลักษณะนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่สำหรับแบรนด์ที่เป็นแมสโปรดักชันอย่าง Nissan ไม่ใช่เรื่องปกติ นอกจากการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาพลักษณ์ใหม่แล้วยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า Nissan มีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำหน้าแบรนด์อื่นอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการตอกย้ำให้เห็นภาพว่า Nissan จะสามารถเปิดตัวรถตามที่ประกาศไว้ 12 รุ่นใน 18 เดือนได้ เพราะหากทำได้จริงดังที่ประกาศไว้ นั่นหมายความว่า Nissan จะเปิดตัวรถใหม่แทบทุกเดือน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก และยังไม่เคยเห็นแบรนด์ใดทำได้ในปริมาณมากขนาดนี้มาก่อน
เหนืออื่นใด การเปิดตัว Nissan Ariya ที่เป็นรถไฟฟ้าแบบล่วงหน้าเช่นนี้ยังเป็นการชะลอการตัดสินใจของลูกค้าที่จะเทใจไปคบหาแบรนด์อื่นให้ต้องหยุดรอดู Nissan Ariya ก่อน
เพราะด้วยข้อมูลที่เปิดเผยมาข้างต้น นับว่า Nissan Ariya เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด รวมถึงราคาที่เปิดมานั้นเรียกว่า ‘ฆ่า Tesla’ (Tesla Killer) ได้อย่างสบายๆ ขอเพียงผลิตได้ทันตามความต้องการของลูกค้า
ดังนั้นการเปลี่ยนโลโก้และเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่แบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อนในคราวนี้จึงเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกยกฝูง และเป็นทิศทางที่น่าจะทำให้ Nissan พลิกฟื้นกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง
เกือบมีดราม่าชามใหญ่ เพราะ Nissan Kicks e-Power
สำหรับนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จะต้องดำเนินตามรอยทางของบริษัทแม่อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ประเด็นสำคัญในเวลานี้ของนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) คือข้อสงสัยเกี่ยวกับการลงโชว์รูมของ Nissan Kicks e-Power (นิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์) รถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ Nissan เปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทยเป็นแห่งแรกของโลก (โฉมไมเนอร์เชนจ์) แต่ทว่ากลับมีการเลื่อนกำหนดรถที่จะลงโชว์รูมในไทยออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ภาพ: Nissan.co.th
เหนืออื่นใด ประเด็นนี้เกือบจะกลายเป็นดราม่าชามใหญ่ เนื่องจากมีการส่งรถ Nissan Kicks e-Power กลับไปเปิดตัวและจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่รถดังกล่าวผลิตและประกอบในประเทศไทย (นิสสัน มอเตอร์ ให้นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) เป็นฐานการผลิต Nissan Kicks e-Power และส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก) แต่ประเด็นนี้จบลงเมื่อมีกระแสข่าวว่าเป็นการส่งไปล่วงหน้าก่อนเกิดปัญหาขึ้น
เหตุการณ์ดังกล่าวหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในแบรนด์ และทำให้ลูกค้าบางส่วนเปลี่ยนใจหันไปซบอกคู่แข่งตามพฤติกรรมการซื้อรถของลูกค้าชาวไทยที่ชอบการได้เห็นและสัมผัสกับรถคันจริงที่ตัวเองจะซื้อ (คือซื้อคันที่ตัวเองดูอยู่ตรงหน้าในเวลานั้น) รวมถึงการได้ทดลองขับ เนื่องจาก Nissan Kicks e-Power ใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง e-Power ที่คนไทยยังไม่คุ้นเคย ดังนั้นลูกค้าจึงมีความต้องการที่จะลองสมรรถนะให้แน่ชัดก่อน
ทั้งนี้การเลื่อนลงโชว์รูมดังกล่าวจากกระแสข่าวที่สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานตรงกัน โดยระบุว่าเกิดจากปัญหาชิ้นส่วนบางรายการจากผู้ผลิตชิ้นส่วนไม่สามารถผลิตและส่งมาประกอบที่โรงงานของ Nissan ได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงงานต้องปิดไปชั่วคราว และไม่สามารถส่งชิ้นส่วนมาให้ Nissan ได้
ปัญหาดังกล่าวอยู่นอกเหนือการควบคุมของนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ที่จะสามารถจัดการได้ โดย (ว่าที่) ลูกค้าบางส่วนรับทราบและเข้าใจ ยินดีที่จะรอต่อไป แต่ (ว่าที่) ลูกค้าอีกส่วนไม่สามารถรอได้ จึงถือว่าเป็นการเสียโอกาสครั้งสำคัญของนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) ในการขาย ท่ามกลางตลาดรถยนต์ไทยที่หดตัวอย่างรุนแรงเวลานี้
ภาพ: Nissan.co.th
หากเปรียบเทียบ Nissan ในห้วงเวลานี้คงไม่ต่างจาก ‘เรือสำเภา’ ที่ลอยอยู่กลางทะเล เปลี่ยนกัปตันเรือ และกำลังอุดรูรั่ว พร้อมกับปรับทิศทางใบเรือใหม่
แต่แล้วพายุลูกใหญ่กลับโหมกระหน่ำเข้ามาซ้ำ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์และทำให้ทุกคนเห็นว่า Nissan เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะยืนอยู่คู่กับลูกค้าทุกคนได้หรือไม่ เมื่อพายุผ่านพ้นไป
แน่นอน เราเชื่อว่า Nissan ทำได้
ภาพ: https://www.nissan.co.th/vehicles/new-vehicles/kicks.html
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์