จับตาท่าทีของประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ กับการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กสหรัฐฯ ท่ามกลางความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น!
ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วเมื่อ Nippon Steel Corporation (NSC) บริษัทผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ประกาศเข้าซื้อกิจการเหล็ก (Take Over) U.S. Steel หรือ United States Steel Corp บริษัทผู้ผลิตเหล็กคู่แข่งรายใหญ่อันดับ 27 ของโลกในสหรัฐฯ
การเทกโอเวอร์ U.S. Steel ถือเป็นประเด็นสะเทือนอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ไม่น้อย เนื่องจากบริษัทนี้ถือเป็นบริษัทเก่าแก่ถึง 122 ปี ทั้งยังเป็นบริษัทผู้บุกเบิกแวดวงอุตสาหกรรมเหล็กสหรัฐฯ ที่สำคัญครั้งหนึ่งยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘Nippon Steel’ ขึ้นแท่นผู้ผลิตเหล็กเบอร์ 2 ของโลก ควัก 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เทกโอเวอร์คู่แข่ง ‘U.S. Steel’
- วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ในวันที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ คัมแบ็ก!
- เครดิตภาษี EV ของ โจ ไบเดน ได้ผล! ค่ายรถและผู้ผลิตแบตเตอรี่ญี่ปุ่น เกาหลี แห่ตั้งฐานผลิตที่สหรัฐฯ
ด้วยเหตุผลนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จึงได้ออกมาประกาศคัดค้านข้อเสนอซื้อ U.S. Steel ที่ Nippon Steel เสนอไว้ในมูลค่า 14.9 พันล้านดอลลาร์ โดยไบเดนระบุใจความสำคัญว่า
“บริษัทเหล็กกล้าแห่งนี้อยู่คู่กับสหรัฐฯ มานานกว่า 100 ปี เราจะต้องรักษาบริษัทของอเมริกันที่ดำเนินงานและเป็นเจ้าของโดยชาวอเมริกันต่อไป”
Financial Time รายงานว่า น่าสนใจว่าท่าทีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังสะท้อนถึงอำนาจที่ไบเดนกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในช่วงเดินสายหาเสียง ก่อนจะถึงศึกเลือกตั้งปลายปี ดังนั้นเขาจำเป็นต้องรักษาคะแนนเสียงของกลุ่ม ‘Blue State’ (รัฐสีน้ำเงิน หมายความว่า รัฐในสหรัฐอเมริกาที่ผู้ออกเสียงลงคะแนนส่วนใหญ่มักให้การสนับสนุนผู้เข้าแข่งขันและนโยบายของพรรคเดโมแครต) เพื่อท้าชิง โดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน
U.S. Steel ก่อตั้งในปี 1901 โดย J.P. Morgan และ Andrew Carnegie เป็นบริษัทเก่าแก่ที่ผู้บุกเบิกแวดวงอุตสาหกรรมเหล็กสหรัฐฯ ครั้งหนึ่งเคยเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งของสหรัฐฯ ยุคสงครามโลก กระทั่งระยะหลังยุค 70 เจอวิกฤตก็มีแต่ทรงกับทรุด จนปี 1991 ถูกถอดออกจาก 30 บริษัทอุตสาหกรรมใหญ่สุดของดัชนี Dow Jones
ทว่าคำประกาศดังกล่าวอาจทำลาย ‘ความสัมพันธ์’ กับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตร
โดยที่ผ่านมาไบเดนบอกกับชาวอเมริกันเสมอว่า เขาจะเป็นประธานาธิบดีที่สนับสนุนสหภาพแรงงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และให้การสนับสนุนกลุ่มแรงงาน
อย่างไรก็ดี ยังไม่ชัดเจนว่า ไบเดนจะใช้อำนาจตามกฎหมายระงับข้อตกลงขายกิจการครั้งนี้หรือไม่ ท่ามกลางคณะกรรมการเพื่อการลงทุนต่างประเทศของสหรัฐฯ (CFIUS) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่พิจารณาทบทวนการลงทุนของต่างชาติในบริษัทของอเมริกา สามารถเสนอให้ระงับข้อตกลงนี้ได้ด้วยเหตุผลภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ
โดยเมื่อเดือนธันวาคม ทำเนียบขาวแถลงการณ์ว่า ข้อเสนอขายกิจการนี้ต้องผ่าน ‘การไตร่ตรองอย่างรอบคอบ’ เนื่องจากบริษัทแห่งนี้เป็นเหมือนหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมประเทศ เป็นความมั่นคงของชาติ
Nippon Steel ย้ำดีลวิน-วินทั้งสองฝ่าย เสริมแกร่งสหรัฐฯ-จีน
ขณะที่ Nippon Steel ชี้แจงล่าสุดว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะเอื้อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย รวมถึงสหภาพแรงงาน และความมั่นคงของสหรัฐฯ เองด้วย นอกจากจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรม ยังเสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ สร้างแต้มต่อกับจีน ดังนั้น บริษัทเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามกฎหมาย และหวังว่าข้อตกลงนี้จะผ่านการพิจารณาและดำเนินการเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์
Nippon Steel ย้ำว่าจะไม่มีการปลดพนักงานหรือปิดโรงงานจากผลของการซื้อกิจการครั้งนี้อย่างแน่นอน จนถึงอย่างน้อยในห้วง 3 ปี
การเมืองภายในเสี่ยงสะเทือนความสัมพันธ์ญี่ปุ่น
หลายสำนักข่าวต่างประเทศรายงานสอดคล้องกันว่า แม้ว่าไบเดนจะไม่ได้คัดค้านตรงๆ เสียทีเดียว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่ระดับผู้นำประเทศจะเข้ามาแทรกแซงข้อตกลงทางธุรกิจ เว้นแต่จะเป็นช่วงปีที่มีการเลือกตั้ง
แม้ว่า Nippon Steel จะยืนยันหนักแน่นในการซื้อกิจการ U.S. Steel แต่ความเสี่ยงที่จะเผชิญการต่อต้านจากทำเนียบขาวอาจส่งผลให้ข้อตกลงดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่
เพราะอาจเสี่ยงสะเทือนความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นให้สั่นคลอน ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นพันธมิตรรายสำคัญของสหรัฐฯ โดยนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่น มีกำหนดจะจัดการประชุมสุดยอดกับโจไบเดน ณ กรุงวอชิงตัน ในวันที่ 10 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยมีวาระหารือประเด็นด้านความร่วมมือด้านความมั่นคง แต่ปัญหาการเทกโอเวอร์ U.S. Steel ขณะนี้ อาจทำให้บรรยากาศในการประชุมไม่สู้ดีนัก เนื่องจากบทบาทของ U.S. Steel ในการผลิตเหล็กที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ และความสัมพันธ์ญี่ปุ่นในฐานะชาติพันธมิตร ภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคงตั้งแต่ปี 1951
ดังนั้น คงต้องจับตาการเมืองภายในประเทศของสหรัฐฯ ที่กำลังชี้ชะตาว่าบริษัทเอกชน 2 แห่งจะตัดสินใจอย่างไร
ภาพ: China News Service / Contributor / Getty Images
ส่องผู้ผลิตเหล็ก 5 อันดับ ของโลกอยู่ในมือใครบ้าง
ข้อมูลจากสมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) รายงานยอดรวมการผลิตเหล็กดิบทั่วโลกอยู่ที่ 1,878 ล้านตัน ปัจจุบันผู้ผลิตและซัพพลายเออร์อุตสาหกรรมเหล็กของโลก ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตจากจีน ซึ่ง Nippon Steel Corporation อยู่อันดับ 4
โดย 5 อันดับ มีดังนี้
- China Baowu Steel Group Corporation กลุ่ม Baowu เป็นของรัฐบาลจีน ปัจจุบันถือเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยกำลังผลิต 131.84 ล้านเมตริกตัน
- ArcelorMittal ที่ตั้งของ ArcelorMittal บริษัทอยู่ในลักเซมเบิร์ก มีกำลังผลิตเหล็ก 68.89 ล้านตัน
- Ansteel Group กลุ่ม Ansteel ดำเนินการโดยรัฐบาลจีน กำลังผลิต 55.65 ล้านตัน บริษัทนี้เป็นซัพพลายเออร์ป้อนอุตสาหกรรมทางรถไฟและการขนส่งรายใหญ่ที่สุดของประเทศอีกด้วย
- Nippon Steel Corporation เป็นของญี่ปุ่น มีกำลังผลิต 44.37 ล้านตัน หากบริษัทเทกโอเวอร์ U.S. Steel สำเร็จจะเพิ่มกำลังการผลิตเหล็กดิบ 20 ล้านเมตริกตันเป็น 66 ล้านตัน และจะทำให้เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ ในทันที
- Shagang Group กลุ่ม Shagang เป็นของบริษัทเอกชนจีน และเป็นผู้ผลิตเหล็กเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ มีกำลังผลิตเหล็กดิบได้ 41.45 ล้านตัน
อุตสาหกรรมเหล็กไทยเสี่ยงรอวันล่มสลาย
สำหรับสถานการณ์เหล็กไทยปัจจุบัน ไทยเป็นผู้นำเข้าสินค้าเหล็กมากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา แม้ความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยมีทิศทางปรับตัวดีจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่การผลิตสินค้าเหล็กภายในประเทศกลับสวนทาง
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญกระแสสินค้าจากจีนเข้ามาแย่งตลาด
“อุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากสุดจากการทุ่มตลาด (AD) และการทะลักของชิ้นส่วนโครงสร้างเหล็กจากจีน จนกำลังการผลิตเหล็กตกต่ำเหลือไม่ถึง 20% ขณะนี้มีแนวโน้มทรุดลง หากภาครัฐยังดำเนินการต่างๆ ไม่ทันการณ์ โรงงานเหล็กไทยจะต้องปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานอีกจำนวนมาก”
เกรียงไกรระบุอีกว่า “ขณะนี้ทราบว่ามีโรงงานเหล็กจีนรายใหญ่ 2 แห่งเข้ามาตั้งโรงงานในไทย”
ด้าน วิกรม วัชระคุปต์ ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2567 อุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 2% ต่อปี มูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท จากการก่อสร้างของภาครัฐ มูลค่า 8.1 แสนล้านบาท
ส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่อง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟฟ้า โครงการมอเตอร์เวย์ และการก่อสร้างในภาคเอกชนมูลค่าประมาณ 5.98 แสนล้านบาท ขยายตัว 3% ต่อปี คาดการณ์ว่าจนถึงปี 2568 จะเติบโตขึ้น 3.5-4% ต่อปี ”
“แต่ไทยจะต้องเร่งปรับตัวภายใต้กฎ Green Construction และอนาคตอันใกล้ ESG จะเป็นความท้าทาย เป็นแรงกดดันอย่างมาก ผู้ประกอบในซัพพลายนี้ต้องปรับตัวให้เท่าทันประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอีกด้วย” วิกรมกล่าว
อ้างอิง:
- https://www.ft.com/content/e0219409-b863-41fb-bbcb-6be9ad6f0a4e
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-03-14/nippon-steel-defends-us-deal-after-biden-comes-out-against-bid?utm_source=website&utm_medium=share&utm_campaign=copy
- https://www.reuters.com/markets/us/biden-say-us-steel-must-remain-domestically-owned-operated-2024-03-14/
- https://www.marketscreener.com/quote/stock/NIPPON-STEEL-CORPORATION-6491235/news/The-world-s-top-10-steelmakers-45597161/
- https://edition.cnn.com/2023/12/18/investing/us-steel-nippon-steel-deal