ในตลาดรองเท้าสนีกเกอร์ที่ร้อนแรงอย่างไม่หยุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในแบรนด์รองเท้าชื่อดังที่เป็นที่หมายปองของบรรดาคนรักสนีกเกอร์ทั้งหลายอย่าง ‘Nike’ กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มีปัญหามากที่สุด โดยปัญหานั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากเรื่องยอดขายหรือกระแสความนิยม แต่เป็นเรื่องของ ‘บอต’ ที่ทำให้รองเท้าไม่ได้ไปถึงผู้บริโภคตัวจริง หากแต่ตกอยู่กับเหล่าพ่อค้ารีเซลเลอร์แทน
เรื่องนี้ Nike ไม่ได้นิ่งนอนใจโดยทางด้าน ลูซี เราส์ (Lucy Rouse) รองประธานและผู้จัดการใหญ่ของแผนก SNKRS แอปพลิเคชันสำหรับรองเท้าสนีกเกอร์โดยเฉพาะของ Nike ได้ยืนยันว่าตลอดมาบริษัทมีความพยายามที่จะจัดการเรื่องการซื้อรองเท้าผ่านระบบให้มีความยุติธรรมและโปร่งใสมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- พ่อไม่เข้าใจ! ทำไมวัยรุ่นถึงหันมาใส่รองเท้า ‘Dad Sneakers’ กันเต็มเมือง แถมกังวลราคาจะ ‘แพงขึ้น’ ด้วย
- รีสต๊อกวนไป! ความเจ็บปวดของสนีกเกอร์เฮด เมื่อเดินไปที่ไหนก็พบ ‘Dunk Panda’ เกลื่อนเมือง
- ‘Dad Shoes’ อย่าง New Balance กลายเป็นรองเท้าสุดฮิตของคนทุกเจนได้อย่างไร? (และความลับในรหัสตัวเลขรุ่น)
“เรารู้ว่าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้ ผมขอพูดด้วยความสัตย์จริง แต่สิ่งที่ทำให้เราภูมิใจก็คือกระบวนการที่เราได้เริ่มขึ้นกับงานที่เรากำลังทำอยู่” เราส์กล่าว
สิ่งที่ Nike พยายามทำเพื่อจัดการคือปัญหาใหญ่อย่างเรื่องของ ‘บอต’ และ ‘รีเซลเลอร์’ ซึ่งในเดือนตุลาคมปีกลายได้มีการเพิ่มเงื่อนไขในการจำหน่ายโดย Nike ขอสงวนสิทธิ์ในการที่จะยกเลิกคำสั่งซื้อ หรือการคิดเงินค่าธรรมเนียมเพิ่ม
ไปจนถึงการจำกัดจำนวนการซื้อหรือปฏิเสธการเข้าถึงของผู้ใช้ที่เข้ามาซื้อสินค้าเพื่อนำไปขายต่อ โดย Nike จะยกเลิกคำสั่งซื้อหากพบว่าเป็นคำสั่งซื้อแบบอัตโนมัติหรือมีการสั่งซื้อเกินกว่าจำนวนที่กำหนด
อย่างไรก็ดี ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ภายในบริษัท Nike เองมีความพยายามจัดการเรื่องนี้มาโดยตลอด ในการประชุมภายในเมื่อเดือนมีนาคมปี 2021 มีการพูดถึงเรื่องความโปร่งใสของการเปิดตัวรองเท้ารุ่นลิมิเต็ดทั้งหลาย ซึ่งความพยายามในการจัดการเรื่องบอตนั้นเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ Nike จะต้องพยายามหาทางจัดการให้ดีกว่านี้
ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ระบบการจัดการบอตของ Nike สามารถจัดการบอตได้สำเร็จกว่า 98% แต่ทุกเดือนจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาถึง 12.8 หมื่นล้านครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้เชื่อว่า 50% เป็นบอต
“ทุกเดือนเราจะพบกับคนที่พยายามจะเข้าระบบหลังบ้านของเราเพื่อหาวันวางจำหน่ายรองเท้า และตอนนี้เราเจอกับความท้าทายในการจัดการกับพ่อค้ามือที่ 3” เราส์กล่าว
อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวลดลงไปมากในช่วงที่ผ่านมา และจากความสำเร็จในการวางจำหน่ายรองเท้ารุ่นฮิต Air Jordan 1 High ‘Lost and Found’ ที่มีการรีสต๊อกไปในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา รวมถึง Air Jordan 1 รุ่น Travis Scott ‘Olive’ ที่ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยทำให้เชื่อว่าแนวทางที่ทำมาเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว
แต่งานนี้คงต้องต่อสู้กันอีกยาว บนความหวังของเหล่าสนีกเกอร์เฮดที่อยากมีรองเท้าราคาป้ายสวมใส่กับเขาบ้าง
ภาพ: Matt Jelonek / Getty Images
อ้างอิง: