ยังคงเป็นประเด็นปัญหาข้ามปีสำหรับรองเท้าวิ่งสุดล้ำจาก Nike ที่ล่าสุดทางด้านสหพันธ์กรีฑานานาชาติเตรียมตรวจสอบถึงคุณสมบัติ และอาจนำไปสู่การสั่งแบนห้ามนักกีฬาใช้ในการแข่งขันในอนาคต หลังมีความกังวลถึงคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยให้ได้เปรียบคู่แข่งขัน
หลังจากที่โลกได้เห็นผลงานของสุดยอดนักวิ่งชายอย่าง เอเลียด คิปโชเก ที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ด้วยการวิ่งมาราธอนในเวลาที่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงได้เมื่อปีกลาย และได้เห็น บริจิด คอสเก สุดยอดนักวิ่งหญิงชาวเคนยา สามารถวิ่งทำลายสถิติโลกของ พอลลา แรดคลิฟฟ์ ที่ยืนยงมาตั้งแต่ปี 2003 ได้ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 14 นาที 4 วินาที ในการแข่งขันมาราธอนที่ชิคาโก เมื่อเดือนตุลาคมปีกลาย ซึ่งเร็วกว่าสถิติเดิมถึง 81 วินาที ทำให้มีการถกเถียงกันอย่างมากถึงความเหมาะสมของรองเท้า Nike Vaporfly ที่ทั้งสองยอดนักวิ่งสวมใส่
รองเท้าในตระกูล Vaporfly ของ Nike ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าประเภทลู่หรือลาน ถูกจับตามองจากการที่มีพื้นรองเท้าที่หนาและมีแผ่นคาร์บอน ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนสปริงช่วยให้การวิ่งทำได้ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่ปฏิวัติโลกของการวิ่งอย่างสิ้นเชิง และช่วยให้คิปโชเกสามารถทำในสิ่งที่ไม่เคยมีมนุษย์คนไหนทำได้มาก่อน
ขณะที่ในรายของ คอสเก ซึ่งลงแข่งขันชิคาโก มาราธอน มีรายงานว่า รองเท้าที่คอสเกสวมใส่เป็นรองเท้า Nike Vaporfly Next% ที่มีพื้นรองเท้าที่หนาขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย ซึ่งอาจจะผิดกฎระเบียบที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว โดยทางด้าน Nike ไม่เคยตอบคำถามในเรื่องของเทคโนโลยีที่ใช้ในรองเท้าแต่อย่างใด และทำให้เกิดความกังวลในโลกของนักวิ่ง
ทางด้านสหพันธ์กรีฑานานาชาติเองก็มีความกังวลเกี่ยวกับรองเท้าที่มีความพิเศษและสามารถให้นักกีฬามีความได้เปรียบจากนักกีฬาคนอื่น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม และต้องการที่จะจัดระเบียบใหม่ในแบบเดียวกับที่วงการว่ายน้ำได้ทำการจัดการกับชุดว่ายน้ำสุดล้ำที่ช่วยให้สามารถว่ายได้เร็วขึ้น โดยคาดว่าจะมีการประกาศกฎใหม่สำหรับรองเท้าวิ่งทั้งในประเภทลู่และลาน ซึ่งจะทำให้รองเท้า Nike ในแบบเดียวกับที่คิปโชเกและคอสเกสวมใส่นั้นถูกแบนจากการแข่งขันหลังจากนี้ และมีการออกระเบียบใหม่ให้ส่วนรองรับการกระแทก (Midsole) จะถูกจำกัดความลึกไม่ให้มีมากเกินไปจนสามารถใส่แผ่นคาร์บอนที่จะช่วยในเรื่องของการวิ่งได้
หากมีการเปลี่ยนแปลงกฎและมีการแบนรองเท้าของ Nike จริง คาดกันว่าหลังจากนี้อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษกว่าที่จะมีใครทำลายสถิติของคอสเกได้ และทำให้วงการวิ่งหญิงกลับไปเหมือนในยุคปี 80 ที่สถิติโลกส่วนมากเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ท่ามกลางเครื่องหมายคำถาม เพราะในเวลานั้นโลกยังไม่มีการตรวจสอบการใช้สารกระตุ้นอย่างจริงจัง และสถิติส่วนใหญ่เป็นของนักกีฬาที่มาจากยุโรปตะวันออก
อย่างไรก็ดี The Guardian สำนักข่าวอังกฤษรายงานว่า รองเท้าดังกล่าวอาจจะไม่ถูกแบนจากการแข่งขันอย่างถาวร แต่จะมีการควบคุมคุณสมบัติของรองเท้าผ่านกฎระเบียบในการออกแบบรองเท้า
คิปโชเก: ถ้าเทคโนโลยีก้าวหน้าเราก็ต้องไปกับมัน
ด้านเอเลียด คิปโชเก สุดยอดนักวิ่งชาวเคนยา วัย 35 ปี ออกมาตอบโต้ในกรณีนี้โดยยืนยันว่ารองเท้าวิ่งที่ผลิตโดย Nike นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ยุติธรรมแล้ว โดยยกตัวอย่างของรถแข่งฟอร์มูลาวันที่รถทุกทีมใช้ยางจากบริษัทเดียวกันหมดแต่ความแตกต่างที่จะทำให้ชนะอยู่ที่เครื่องยนต์
“รองเท้าพวกนี้แฟร์” คิปโชเกกล่าวตอบโต้ “ผมซ้อมอย่างหนัก เทคโนโลยีกำลังเติบโตก้าวหน้า และเราก็ควรจะเดินหน้าไปพร้อมกับเทคโนโลยี ในการแข่งฟอร์มูลาวัน รถทุกคันก็ใช้ยางของ Pirelli หมด แต่ทำไม Mercedes-Benz ถึงเป็นรถที่ดีที่สุด ก็เพราะเครื่องยนต์ไง
“ดังนั้นสำหรับคนที่ต่อต้านรองเท้านี้ ผมจะบอกว่ามันอยู่กับคน ไม่ใช่รองเท้า เหมือนกับมันอยู่ที่คนขับ ไม่ได้อยู่ที่คนผลิตยางรถยนต์”
แต่ทางด้าน จอน บราวน์ นักวิ่งมาราธอนที่เคยจบที่ 4 ในการแข่งขันโอลิมปิก 2 ครั้งไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวของคิปโชเก “จากหลักฐานมากมายที่ปรากฏในตอนนี้มันบ่งบอกว่ารองเท้าทำให้พวกเขามีความได้เปรียบอย่างมาก ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องยุติธรรม นักกีฬาที่ยิ่งใหญ่กำลังติดกับในใยที่ผิดของ Nike”
ผลการตรวจสอบและการประกาศของสหพันธ์กีฬานานาชาติยังต้องรอติดตามกันต่อไป แต่เวลานี้เชื่อว่าค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าทาง Nike ได้แจ้งกับนักกีฬาในสังกัดแล้วว่าจะไม่สามารถใช้รองเท้า Vaporfly สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ฤดูร้อนที่กรุงโตเกียวในช่วงกลางปีนี้ได้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- www.thetimes.co.uk/article/nike-s-record-breaking-running-shoe-to-be-banned-x8cpq29cp
- www.thetimes.co.uk/edition/sport/eliud-kipchoge-in-new-nike-vaporfly-running-shoe-row-w66v5pxdf
- www.theguardian.com/sport/2020/jan/15/nike-shoes-revolutionised-marathon-times-unlikely-banned-eliud-kipchoge
- www.thetimes.co.uk/article/womens-world-records-are-a-nonsense-brigid-kosgeis-fits-right-in-xmr5qrk5c