วันนี้ (3 กรกฎาคม) เพจเฟซบุ๊ก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669 โพสต์ข้อความชี้แจงกรณีการร้องเรียนของอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพ เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยการปฏิบัติการล่าช้าของ สพฉ.
ระบุว่า สืบเนื่องจากระบบ ITEMS Call Center ไม่สามารถใช้งานในส่วนปรับปรุงและตั้งเบิกได้ รวมถึงไม่สามารถนำส่งข้อมูลที่ตั้งเบิกเข้าระบบเบิกจ่าย (E-Budget) ได้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2565 (รอบตั้งเบิกเดือนธันวาคม ปี 2565 รอบแรก)
ทำให้ สพฉ. ต้องพัฒนาระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉินในรูปแบบ Web Version และระบบเบิกจ่าย (E-Budget) เพื่อทดแทนระบบเดิม โดยเริ่มเปิดใช้งานได้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 และให้นำเข้าข้อมูลปฏิบัติการที่ออกปฏิบัติการช่วงเดือนมีนาคม ปี 2566 เพื่อปรับปรุงตั้งเบิก ส่วนข้อมูลก่อนหน้าที่มีการคีย์ในระบบเดิม สพฉ. จะดึงข้อมูลเข้าระบบใหม่ และเริ่มให้ สสจ. ปรับปรุงและตั้งเบิกได้วันที่ 1 สิงหาคม 2566 นั้น
สพฉ. ขอเรียนให้ทราบว่า สพฉ. มีงบประมาณที่เพียงพอตามแผนงบประมาณปี 2566 จำนวน 969 ล้านบาท โดยการจ่ายเงินจะคำนึงถึงความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สพฉ. ได้จ่ายเงินชดเชยไปแล้วตามแผนการดำเนินการ จำนวน 160 ล้านบาท (ในรอบตั้งเบิกเดือนตุลาคม ปี 2565 รอบแรก ถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 รอบสอง) ซึ่งมีจำนวนหน่วยที่ได้รับค่าชดเชยปฏิบัติการแล้วประมาณ 2,500 หน่วย
โดย สพฉ. มีแผนดำเนินการจ่ายค่าชดเชยตามแผนงบประมาณปี 2566 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- รอบตั้งเบิกเดือนมีนาคม ปี 2566 รอบแรก ถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2566 รอบแรก ได้ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว กำหนดจ่ายวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 จำนวนราว 1,800 หน่วย งบประมาณรอบแรกราว 33 ล้านบาท และรอบสองราว 269 ล้านบาท
- รอบตั้งเบิกเดือนพฤษภาคม ปี 2566 รอบสอง ถึงเดือนมิถุนายน ปี 2566 รอบสอง จะดำเนินการจ่ายต่อไปตามแผนการที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ สพฉ. จะเร่งดำเนินการจ่ายค่าชดเชยตามแผนการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม ปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 969 ล้านบาท โดยการเบิกจ่ายจะเป็นไปตามข้อมูลที่ สสจ. นำส่ง อย่างไรก็ตามต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้
ด้าน นาวาเอก (พิเศษ) พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อบางหน่วย จนมีการพิจารณาพักการออกปฏิบัติการชั่วคราว ซึ่งที่ทราบข้อมูลมีเป็นจำนวนน้อย โดยปัจจุบันหน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศส่วนใหญ่ยังดำเนินการออกปฏิบัติการให้บริการประชาชนผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินอยู่ตลอด สพฉ. ยืนยันว่า มีงบประมาณที่เพียงพอและมีความพร้อมที่จะจ่ายค่าชดเชยในปี 2565-2566 ได้ในทันที ตามระเบียบแนวทางที่กำหนดไว้แล้ว
อ้างอิง: เพจเฟซบุ๊ก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669