×

นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับปัญหาเชิงโครงสร้าง

09.08.2023
  • LOADING...

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนคิดจะเอาน้ำเต้าหู้คั้นสดๆ จากถั่วเหลืองที่ปลูกเอง เครื่องดื่มโปรดของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ไปเยี่ยมไข้ที่บ้าน 

 

แต่พอโทรศัพท์ติดต่อไป คนใกล้ชิดบอกว่าตอนนี้ท่านป่วยหนักจนกินอะไรไม่ได้แล้ว

 

แม้จะเตรียมใจรับสภาพ แต่พอทราบข่าววันที่ท่านจากไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 แล้วใจหายจริงๆ

 

ผู้เขียนอ่านหนังสือท่านมายาวนานตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน เคยไปหาท่านเมื่อครั้งเป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อขอให้เป็นที่ปรึกษานิตยสารสารคดีที่ผู้เขียนทำงานอยู่

 

นึกถึงวันคืนเก่าๆ ที่เคยเดินทางไปกับท่านหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม เช่น เมื่อครั้งไปเยี่ยมชาวบ้านที่ยึดเขื่อนปากมูลที่ขวางกั้นแม่น้ำมูลจนชาวบ้านเดือดร้อนจากอาชีพประมง หรือชาวบ้านที่กำลังประท้วงการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก หินกรูด ที่จะก่อมลพิษครั้งใหญ่ ฯลฯ

 

ยังจำได้ว่าประมาณปี 2543 ตอนเราไปดูชาวบ้านสำรวจชนิดพันธุ์ปลาแม่น้ำมูล ตอนที่ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์มาสำรวจอย่างจริงจัง แกตั้งประเด็นว่า “ชาวบ้านรู้หมดว่าปลาพันธุ์อะไร ชื่ออะไร เพราะอยู่กับแม่น้ำมาตลอดชีวิต แต่พวกเราก็ไม่ตื่นเต้น หากเป็นนักวิชาการมาสำรวจ เราจะตื่นเต้นเชื่อถือมากกว่า เพราะอะไร

 

“ที่อื่นๆ ในโลกว่ากันว่ารัฐเล็กลง แต่ในเมืองไทย รัฐเล็กลงแต่ดันไปอยู่ข้างทุน เพราะฉะนั้นก็จะเกิดการเผชิญหน้ากับชาวบ้านตลอดเวลา โดยทุนหลบไปนอนสบายๆ ปล่อยให้รัฐตีกับคนจนเอง เช่น อยู่ดีๆ ยกที่ 7 แสนไร่ให้นายทุนจีนปลูกยูคาลิปตัส ลองชาวบ้านไปถอนกล้ายูคาฯ ออกสิ ตำรวจมาแล้ว”

 

อาจารย์บอกว่านี่คือส่วนหนึ่งของปัญหาเชิงโครงสร้าง

 

ทุกวันนี้เวลาพูดถึงปัญหาสังคมในวงสนทนา หรือทางสื่อต่างๆ จะได้ยินคำนี้บ่อยๆ คือ ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’

 

แม้แต่พรรคก้าวไกลที่ได้รับคะแนนจากการเลือกตั้งปี 2566 สูงที่สุด ก็ชูนโยบายการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นหลัก

 

ขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับสอง ชูนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก

 

ปัจจุบันดูเหมือนว่าประชาชนจำนวนมากในสังคมเริ่มเห็นว่าปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องของความผิดปกติ ความไม่ยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างต่างๆ ในสังคม อันได้แก่ กฎระเบียบ, กลุ่มคนต่างๆ, สถาบัน, องค์กร, ผู้มีอำนาจในสังคม, การเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง, การผูกขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน, ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ฯลฯ เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ

 

อาจารย์นิธิน่าจะเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่กระตุ้นให้ผู้คนรู้จักและเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ตั้งแต่ไม่ค่อยมีคนสนใจ เรียกว่าแทบจะทุกเวทีที่แกไปพูดหรืออภิปรายเกี่ยวกับปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ว่าปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นปัญหาที่สะสมมานาน และเป็นสาเหตุพื้นฐานที่ก่อให้เกิดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมในสังคม และถ้าเริ่มต้นแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างไม่สำเร็จ ก็จะแก้ปัญหาสังคมได้ยาก เช่นเดียวกับการกลัดกระดุมเม็ดแรก

 

 

“ประเทศไทยตั้งแต่อดีตเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่กึ่งผูกขาดโดยคนกลุ่มหนึ่ง หรือ Oligopoly ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาด้านอื่นๆ ของประเทศ โดยมีสาเหตุจากสังคมไทยขาดสำนึกในความเท่าเทียมของประชาชนในฐานะ ‘คนร่วมชาติ’ เดียวกัน เนื่องจากไม่เคยผ่านประสบการณ์กู้เอกราชเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน เป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ได้เป็นอาณานิคม ยังไม่มีการเปลี่ยนสังคมทั้งสังคม จึงมองเห็นคนในสังคมแบบมีชนชั้น และกลายเป็นกลุ่มคณาธิปไตยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทหาร นักการเมือง หรือนายทุน เข้ามาแบ่งผลประโยชน์กัน กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจกึ่งผูกขาดโดยคนกลุ่มหนึ่งในที่สุด ตลาดที่มีผู้ขายเพียงน้อยราย คนจำนวนน้อยเพียงหยิบมือเดียวมีผลต่อตลาดมากกว่าร้อยละ 70-80… Oligopoly คือคอร์รัปชันที่ยิ่งใหญ่มากๆ ในสังคมไทย และไม่ค่อยมีคนพูดถึง” 

 

30 ตุลาคม 2557 งานเสวนา ‘รัฐไทยกับการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ’

 

เมื่อครั้งที่ท่านเคยเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศได้แสดงทัศนะไว้น่าสนใจว่า

 

“ความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิ อย่าพูดแต่เพียงว่ามีกฎหมายเท่าเทียมกัน เพราะในทางปฏิบัติ กรณีโสเภณีแจ้งความว่าถูกข่มขืน ตำรวจก็ไม่รับแจ้งความ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับทัศนคติของหญิง-ชาย ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจ หมายถึงอำนาจตามที่กฎหมายกำหนด ไม่สามารถใช้ได้จริง…ตำรวจจราจรไม่กล้าจับรถเบนซ์ เพราะกลัวว่าคนขับจะมีอำนาจเกินกว่าจะบังคับใช้ ความเหลื่อมล้ำด้านศักดิ์ศรี คนบ้านนอก, คนอีสาน, คนชนกลุ่มน้อย, ชาวเล หรือชาวเขา ล้วนแต่ถูกปฏิบัติโดยไม่ได้รับความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม…ปัญหาเขื่อนปากมูล เขื่อนเดียวสร้างไฟฟ้าเลี้ยงคนทั้งห้างพารากอนยังไม่พอ แต่ทำร้ายวิถีชีวิตของชาวประมงร่วมแสนคน

 

“ปัญหาโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาให้เกิดความเป็นธรรมได้ เพราะโครงสร้างบังคับให้ตั้งแต่ตำรวจยันผู้พิพากษาต้องปฏิบัติตามกรอบอย่างเคร่งครัด แม้จะมีความสงสารก็ตาม จนต้องยึดถือแต่เอกสารราชการ แต่ไม่เคยลุกออกจากบัลลังก์แล้วไปดูในพื้นที่ สัมผัสกับความจริง ร่องรอยหลักฐานอีกเยอะแยะ

 

“การจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น เราผูกอำนาจไว้ที่ส่วนกลางหมด ฉะนั้น คนในท้องถิ่นจะจัดการบริหารทรัพยากรตนเองไม่ได้ หากใครเข้าถึงอำนาจส่วนกลางได้มากก็สามารถเข้าถึงการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นได้มาก เช่น หากมีความสัมพันธ์กับนักการเมือง ย่อมสามารถระเบิดภูเขาหลังบ้านคนอื่นได้ เพราะอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง ไม่ใช่อยู่ที่เจ้าของบ้าน ดังนั้น ใครที่ใหญ่โตขึ้นมาจึงต้องพยายามเชื่อมโยงเข้ามาถึงอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรให้ได้มากที่สุด นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเจ้าพ่อต้องควักกระเป๋าเลี้ยง สส. ขนลูกน้องไปเป็นรัฐมนตรี นี่คือเหตุผลว่าทำไมทุกคนพยายามแทรกเข้าไปอยู่ในการเมืองส่วนกลาง…ต้องทำให้อำนาจเหล่านี้กระจายออกไปให้ถึงมือคนอย่างทั่วถึง ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ ต้องมีอำนาจในการสั่งหยุดโรงงานจนกว่าจะตรวจสอบว่าปลอดภัย”

 

19 มีนาคม 2554 งานเสวนา ‘ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย มุมมอง และความคิด’

 

“สังคมไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่มาก โดยปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นล้วนเกิดจากความผูกพัน 3 ประการ คือ รัฐ ทุน และสังคม ซึ่งเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่สามารถต่อรองกันได้ เพราะรัฐกับทุนที่มีอำนาจการบริหารจัดการสูงเกินกว่าที่ภาคสังคมจะสามารถเข้าตรวจสอบถึง จึงทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของฐานะชนชั้น ตราบใดที่สังคมไทยยังพบความเหลื่อมล้ำ ก็ย่อมต้องเกิดความอยุติธรรมในสังคมด้วย ส่งผลให้ประเทศชาติไม่สามารถพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจได้…หัวใจในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือการปฏิรูปอำนาจ รัฐต้องกระจายอำนาจบริหารและการตัดสินใจให้ส่วนท้องถิ่นให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดเวทีการต่อรอง ก่อเกิดการดูแลระบบสาธารณูปโภคของท้องถิ่นเอง รวมถึงงบประมาณเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน”

 

17 มิถุนายน 2553 งานเสวนา ‘แผ่นดินเดียวกัน แต่เหมือนอยู่กันคนละโลก’

 

อาจารย์นิธิน่าจะเป็นปราชญ์ผู้ฉลาดหลักแหลมที่สุดคนหนึ่งเท่าที่สังคมไทยเคยมีมา

 

ตลอดชีวิตของท่านมีแต่ความอ่อนน้อมถ่อมตนกับชาวบ้าน อยู่เคียงข้างกับคนยากคนจน แต่แข็งกร้าวกับเผด็จการทุกรูปแบบ ใช้งานเขียนเป็นอาวุธคอยทิ่มแทงความอยุติธรรมทั้งปวง ใช้ตัวอักษรเป็นประทีปส่องแสงให้กับผู้คนในสังคมยามสิ้นหวัง ไม่เคยละทิ้งอุดมการณ์และหลักการเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศจนลมหายใจสุดท้าย

 

อีกนานทีเดียวที่เราจะได้เห็นบุคคลเช่นนี้

 

กราบอาจารย์ครับ

 

ภาพ: นิตยสารสารคดี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X