วันนี้ (18 ธันวาคม) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง ‘ผิดวินัยจราจร จัดการอย่างไรดี’ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจ เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการมีวินัยจราจรของคนไทย พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.17 ระบุว่าคนไทยไม่ค่อยมีวินัยจราจร รองลงมา ร้อยละ 33.21 ระบุว่าคนไทยค่อนข้างมีวินัยจราจร ร้อยละ 14.73 ระบุว่าคนไทยไม่มีวินัยจราจรเลย และร้อยละ 3.89 ระบุว่าคนไทยมีวินัยจราจรที่ดีมาก
ด้านสิ่งที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันวินัยจราจร พบว่า
ร้อยละ 67.10 ระบุว่าขับรถขณะเมาสุรา
รองลงมา ร้อยละ 58.17 ระบุว่าขับรถย้อนศร
ร้อยละ 45.57 ระบุว่าขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร
ร้อยละ 35.19 ระบุว่าไม่สวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่หรือซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์
ร้อยละ 33.05 ระบุว่าขับรถโดยใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ร้อยละ 26.03 ระบุว่าขับรถหรือจอดรถบนทางเท้า (ฟุตปาธ)
ร้อยละ 24.35 ระบุว่าไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย
ร้อยละ 15.19 ระบุว่าขับรถแซงในที่ห้ามแซง (เช่น แซงบนสะพาน แซงบริเวณทางโค้ง แซงในเส้นทึบ)
ร้อยละ 12.75 ระบุว่าขับรถโดยไม่มีใบขับขี่
ร้อยละ 10.99 ระบุว่าใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ
ร้อยละ 8.78 ระบุว่าดัดแปลงหรือแต่งรถในลักษณะไม่ปลอดภัย
ร้อยละ 7.63 ระบุว่าจอดรถในที่ห้ามจอด หรือจอดรถในช่วงเวลาห้ามจอด
ร้อยละ 6.34 ระบุว่าไม่คาดเข็มขัดนิรภัยในขณะขับรถ
ร้อยละ 4.73 ระบุว่าขับรถบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด
ร้อยละ 2.52 ระบุว่าการขายของบนถนน และขับรถในช่วงเวลาห้ามวิ่ง (รถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป) ในสัดส่วนที่เท่ากัน
สำหรับวิธีการบังคับใช้กฎหมายจราจรของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้การทำความผิดน้อยลงหรือหมดไป พบว่า
ร้อยละ 42.74 ระบุว่าลงโทษตามความผิดที่ได้กระทำ โดยเริ่มจากเบาไปหาหนัก (เช่น ครั้งที่ 1 ตักเตือน, ครั้งที่ 2 ปรับ 1,000 บาท และตัดแต้ม, ครั้งที่ 3 ปรับ 2,000 บาท และตัดแต้ม ไปจนถึงขั้นสูงสุดคือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่)
รองลงมา ร้อยละ 19.92 ระบุว่าตักเตือนสำหรับผู้ทำความผิดครั้งแรก หากทำผิดซ้ำภายใน 1 ปีให้ลงโทษตามกฎหมาย โดยอัตราโทษให้เป็นไปตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม
ร้อยละ 19.47 ระบุว่าตักเตือนสำหรับผู้ทำความผิดครั้งแรก หากทำผิดซ้ำภายใน 1 ปีให้ลงโทษตามกฎหมาย โดยมีการกำหนดอัตราโทษตายตัวสำหรับข้อหานั้นๆ
ร้อยละ 10.00 ระบุว่าจับกุมหรือออกใบสั่งทุกกรณี โดยมีการกำหนดอัตราโทษตายตัวสำหรับข้อหานั้นๆ
ร้อยละ 6.95 ระบุว่าจับกุมหรือออกใบสั่งทุกกรณี โดยอัตราโทษให้เป็นไปตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม
ร้อยละ 0.92 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการให้ประชาชนสามารถแจ้งความผู้ทำผิดกฎจราจรด้วยการส่งหลักฐานเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี (เช่น ภาพถ่าย หรือภาพเคลื่อนไหว) พบว่า ร้อยละ 47.40 ระบุว่าเห็นด้วยมาก
รองลงมา ร้อยละ 31.91 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย
ร้อยละ 10.38 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย
ร้อยละ 10.31 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย
เมื่อถามผู้ที่เห็นด้วยมาก และค่อนข้างเห็นด้วยกับการให้ประชาชนสามารถแจ้งความผู้ทำผิดกฎจราจรด้วยการส่งหลักฐานให้ตำรวจเพื่อดำเนินคดี (จำนวน 1,039 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับการแบ่งสินไหมค่าปรับให้กับประชาชนผู้แจ้งความดำเนินคดีผู้ทำผิดกฎจราจร พบว่า
ร้อยละ 34.35 ระบุว่าเห็นด้วยมาก
รองลงมา ร้อยละ 31.57 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย
ร้อยละ 17.81 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย
ร้อยละ 14.73 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย
ร้อยละ 1.54 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงวิธีการที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด หากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ดีที่สุด พบว่า
ร้อยละ 44.58 ระบุว่ารถที่มีการติดกล้องบันทึกเหตุการณ์ให้สามารถเคลื่อนย้ายรถได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องรอเจ้าหน้าที่
รองลงมา ร้อยละ 35.04 ระบุว่าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปถึงในจุดที่มีอุบัติเหตุให้เร็วที่สุด
ร้อยละ 18.70 ระบุว่าให้ตัวแทนประกันภัยเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุโดยเร็วที่สุด
ร้อยละ 1.68 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ