×

NIA เปิดตัว นวัตกรรม ‘ธนาคารน้ำระบบปิด’ แก้วิกฤตภัยแล้ง และน้ำท่วมในชุมชน

11.09.2019
  • LOADING...
ธนาคารน้ำระบบปิด

เมื่อวานนี้ (10 ก.ย. 2562) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และเทศบาลตำบลหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท เปิดตัวสองนวัตกรรม โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) และโครงการการบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในพื้นที่ชุมชนหนองมะโมง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในระดับชุมชน พร้อมทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค 

 

วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม NIA กล่าวว่า NIA ตระหนักถึงความสำคัญของการขจัดอุปสรรคความยากจนและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระดับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการภัยพิบัติ สาธารณสุข การศึกษา การเกษตร ฯลฯ จึงได้มีการดำเนินโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่เป้าหมายด้วยนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ ที่มีการพัฒนาต้นแบบหรือโมเดลที่สำเร็จแล้วให้สามารถกระจายสู่ชุมชน หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในจังหวัดยากจนของประเทศ 

 

ธนาคารน้ำระบบปิด

 

โดยพื้นที่เป้าหมายนำร่องตอนนี้มีทั้งหมด 3 ระยะ คือ 

  • ระยะที่ 1 ชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน, ชุมชนอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และ ชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท 
  • ระยะที่ 2 ชุมชนจะรัง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี, ชุมชนเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และ ชุมชนแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 
  • ระยะที่ 3 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกชุมชน

 

ซึ่งตัวอย่างของโครงการที่ประสบความสำเร็จ และแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) สำหรับชุมชนหนองมะโมง และโครงการการบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์พื้นที่ชุมชนหนองมะโมง ซึ่งทั้งสองโครงการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในระดับชุมชน พร้อมทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค หรือกิจกรรมอื่น เช่น การเกษตร การเป็นแหล่งศึกษาดูงานและต้นแบบให้กับชุมชนอื่น 

 

ขณะเดียวกัน ชูชีพ สุพบุตร นายกเทศบาลตำบลหนองมะโมง กล่าวว่า แต่เดิมชุมชนหนองมะโมงมีปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งมาเป็นเวลากว่า 100 ปี แต่การนำนวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) มาใช้ช่วยให้ชุมชนไม่ต้องประสบกับสภาวะขาดแคลนน้ำได้อย่างเด็ดขาดและเป็นรูปธรรม ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านสามารถนำน้ำมาใช้ได้ตลอดทั้งปีแม้อยู่ในฤดูที่ฝนทิ้งช่วง นอกจากนี้ ยังทำให้ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น 

 

“เนื่องจากความสามารถของการอุ้มน้ำของพื้นดินที่มีประสิทธิภาพ และยังเป็นต้นแบบให้หลายๆ พื้นที่ที่ประสบปัญหาเดียวกันได้มีการเข้ามาศึกษาดูงาน พร้อมนำโมเดลนี้ไปใช้แก้ไขปัญหาตามที่ชุมชนนั้นๆ กำลังเผชิญ โดยในการพัฒนานวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดินยังมีคุณประโยชน์ในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ลดอัตราการระเหยของน้ำ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและป้องกันไฟป่า และยังช่วยลดความเสียหายในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การกัดเซาะของถนน หรือป้องกันถนนขาดเมื่อมีฝนตกหนักได้เป็นอย่างดีอีกด้วย” ชูชีพ กล่าวทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X