×

กสม. ชี้ กรณีทหารเยี่ยมครอบครัวผู้ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาที่ปัตตานีเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ กอ.รมน. แก้แนวปฏิบัติ

โดย THE STANDARD TEAM
10.03.2022
  • LOADING...
กสม. ชี้ กรณีทหารเยี่ยมครอบครัวผู้ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาที่ปัตตานีเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ กอ.รมน. แก้แนวปฏิบัติ

วันนี้ (10 มีนาคม) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย วสันต์ ภัยหลีกลี้ และ ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวประจำสัปดาห์ระบุว่า ตามที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ว่าผู้ร้องซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดปัตตานีมีความกังวลจากการที่เจ้าหน้าที่กองร้อยทหารพรานที่ 4202 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 เข้าตรวจเยี่ยมบ้านพักและสอบถามถึงสามีของผู้ร้อง เนื่องจากสามีของผู้ร้องเคยตกเป็นจำเลยในคดีวางระเบิดห้างสรรพสินค้าในจังหวัดปัตตานี 

 

แม้ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้อง และสามีของผู้ร้องได้รับการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ทหารได้มาที่บ้านพักหลายครั้ง จนทำให้สามีของผู้ร้องเกิดความหวาดกลัว จึงเดินทางไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ทหารยังมาที่บ้านพักของผู้ร้องอีกหลายครั้งเพื่อสอบถามความเป็นอยู่ รายละเอียดส่วนบุคคล การใช้ชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งถ่ายรูปผู้ร้องและถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชนผู้ร้อง ทำให้ผู้ร้องและครอบครัวเกิดความวิตกกังวลและหวาดกลัว จึงขอให้ตรวจสอบ

 

เรื่องนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การเข้าตรวจค้นและการเข้าพบปะเยี่ยมเยียนเครือญาติบุคคลเป้าหมายเป็นไปเพื่อสอบถามข้อมูล ซึ่งในการเข้าพบแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่จะแสดงตน แจ้งสังกัด รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการเยี่ยมเยียน และมีการลงบันทึกการตรวจเยี่ยมทุกครั้ง 

 

ส่วนกรณีการไปพบปะที่บ้านพักเพื่อเยี่ยมเยียนบุคคลที่เคยถูกจับกุมและพ้นโทษแล้ว เป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า โดยใช้ชุดจรยุทธ์ในพื้นที่ ซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองหมู่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ

 

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 ได้รับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลไว้ การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 17 ที่ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงความเป็นอยู่ส่วนตัวโดยพลการไว้เช่นเดียวกัน 

 

กรณีตามคำร้องแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า การที่เจ้าหน้าที่เดินทางไปพบผู้ร้องที่บ้านพักเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายพิเศษเพื่อวัตถุประสงค์อันเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือการป้องกันอาชญากรรม แต่การดำเนินมาตรการนั้นจะต้องยึดหลักความได้สัดส่วนระหว่างการดำเนินมาตรการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์กับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการแทรกแซงหรือการรุกล้ำสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวด้วย 

 

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องและครอบครัวมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และสามีผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลเป้าหมาย มิได้พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว แต่การที่เจ้าหน้าที่ไปพบผู้ร้องที่บ้านพักตั้งแต่ปี 2559-2564 หลายสิบครั้ง โดยที่ผู้ร้องไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และบางครั้งมีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวในลักษณะติดตาม ตรวจสอบ และเมื่อพิจารณาถึงครอบครัวของผู้ร้องที่มีแต่ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และเด็กแล้ว การที่เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด พร้อมอาวุธครบมือ ไปพบที่บ้านพัก ย่อมสร้างความวิตกกังวลและความหวาดกลัวให้กับครอบครัวของผู้ร้อง มีผลทำให้ผู้ร้องและครอบครัวใช้ชีวิตโดยไม่ปกติสุข 

 

การกระทำของเจ้าหน้าที่กรณีนี้จึงไม่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับผลกระทบที่เกิดขึ้น และไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ระบุให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหากระทบต่อสิทธิมนุษยชน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวในการอยู่หรือพักอาศัย (Territorial Privacy) อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเห็นควรมีมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า สรุปได้ดังนี้

 

  1. ควรยกเลิกแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ให้หน่วยทหารในพื้นที่ตรวจเยี่ยมหรือติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของเครือญาติ ซึ่งเป็นผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง

 

  1. ควรปรับปรุงแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการเข้าตรวจเยี่ยมเครือญาติบุคคลเป้าหมายที่คำนึงถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้มีความเหมาะสม ได้สัดส่วน และลดผลกระทบที่จะเกิดกับเครือญาติกลุ่มเป้าหมายในสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว โดยร่วมมือกับผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนในพื้นที่ หรือหน่วยงานอื่นในพื้นที่ ในการเข้าตรวจเยี่ยมร่วมกัน และดำเนินการให้เหมาะสม เช่น หากครอบครัวใดมีเฉพาะผู้หญิงและเด็กพักอาศัยอยู่ในบ้าน ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้หญิงเข้าตรวจเยี่ยมด้วย เป็นต้น

 

  1. ควรเผยแพร่กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือแนวทางปฏิบัติ ที่มีลักษณะเป็นหลักประกันสิทธิให้กับประชาชน ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในรูปแบบและภาษาที่ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าใจได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้ อันเป็นการลดปัญหาผลกระทบจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X