×

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเตรียมลงพื้นที่สังเกตการณ์ทั้งเจ้าหน้าที่-กลุ่มเคลื่อนไหว การชุมนุม 24 มิ.ย. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
23.06.2021
  • LOADING...
ชุมนุม 24 มิ.ย.

ตามที่กลุ่มต่างๆ ได้นัดหมายการชุมนุมสาธารณะเพื่อแสดงท่าทีหรือข้อเรียกร้องทางการเมืองในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 นั้น

 

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะกรรมการสมานฉันท์ ได้หารือและเห็นพ้องต้องกันว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเป็นรากฐานในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนในการใช้เสรีภาพดังกล่าวบนหลักการสันติวิธี ทั้งสององค์กรจึงเห็นร่วมกันว่าควรส่งผู้แทนลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์และติดตามการชุมนุมในวันดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมโดยตรง

 

ทั้งนี้ กสม. ได้มอบหมาย ศยามล ไกยูรวงศ์ และ ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งเป็นผู้แทนลงพื้นที่ ขณะที่คณะกรรมการสมานฉันท์ได้มอบหมายให้ ศ.สุริชัย หวันแก้ว และ รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ กรรมการสมานฉันท์ เป็นผู้แทนลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมในเขตกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564

 

กสม. และคณะกรรมการสมานฉันท์ขอยืนยันว่า การลงพื้นที่สังเกตการณ์ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่มใดหรือสนับสนุนความเห็นทางการเมืองของฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่เป็นการปฏิบัติงานตามภารกิจ เพื่อติดตามว่าเสรีภาพในการชุมนุมได้รับการคุ้มครองหรือไม่ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในการดูแลการชุมนุมและการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ วิธีการที่ใช้ในการควบคุมการชุมนุมเป็นไปตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วนกับสถานการณ์หรือไม่

 

ขณะเดียวกันการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือไม่ การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธอย่างแท้จริงหรือไม่

 

การลงพื้นที่ของ กสม. และคณะกรรมการสมานฉันท์ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์หรือสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ ตามมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 และตามนโยบายของ กสม. ชุดปัจจุบันที่มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม การส่งเสริมวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนที่เคารพความแตกต่างในความคิดเห็น การเคารพสิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบของกฎหมาย อันจะนำไปสู่ความปรองดองในสังคม การไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช้ถ้อยคำที่แสดงถึงการดูถูก ดูหมิ่น หรือสร้างความเกลียดชัง หรือลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

 

กสม. เห็นว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องร่วมกันสร้าง ปกป้อง ดูแล และรักษา ซึ่ง กสม. มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ประชาสังคม ภาคเอกชน ภาครัฐ รวมถึงสถาบันวิชาการ สื่อมวลชน และคนรุ่นใหม่ ในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X