×

กสม. ชี้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ เชียงใหม่ หลังเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอโดยไม่ได้รับความยินยอม-สมัครใจ

โดย THE STANDARD TEAM
24.03.2022
  • LOADING...
วสันต์ ภัยหลีกลี้

วันนี้ (24 มีนาคม) เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 11/2565 โดยมีวาระสำคัญ กรณีที่ชาวบ้านหมู่บ้านแกน้อยหย่อมบ้านถ้ำ และบ้านหนองเขียว ในตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนมากได้รับผลกระทบจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายฝ่ายเข้าปิดล้อมหมู่บ้าน และเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของชาวบ้าน โดยอาศัยเหตุแห่งการปราบปรามการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่แนวชายแดน และ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติหยิบยกกรณีดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพในเคหสถาน ขึ้นมาเป็นเรื่องตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น 

 

จากการแสวงหาข้อเท็จจริงพบว่า ในระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่ทหารกองร้อยทหารม้าที่ 4 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 5 ได้ตรวจยึดยาเสพติดจำนวนมากในพื้นที่แนวชายแดนของอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และตำรวจภูธรภาค 5 ได้สั่งการให้ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ปิดล้อมและตรวจค้นเป้าหมายยาเสพติดในพื้นที่อำเภอฝาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตรวจยึดยาเสพติดได้ และพื้นที่อำเภอใกล้เคียง รวมถึงอำเภอซึ่งมีพื้นที่ติดแนวชายแดน โดยให้ดำเนินการจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมของกลุ่มคนที่น่าสงสัยว่ากระทำความผิดและมีความเกี่ยวเนื่องกับคดียาเสพติด สถานีตำรวจภูธรนาหวายจึงได้ปิดล้อมและตรวจค้นหมู่บ้านแกน้อยหย่อมบ้านถ้ำ และบ้านหนองเขียว ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีกลุ่มชาติพันธ์ลาหู่อาศัยอยู่ และได้เก็บเยื่อบุกระพุ้งแก้มเพื่อตรวจสารพันธุกรรมของชาวบ้านที่อาศัยในหมู่บ้านทั้งสองแห่งจำนวน 51 คน 

 

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 เจ้าหน้าที่ทหารได้ปิดทางเข้า-ออกหมู่บ้านเพียงระยะเวลาชั่วขณะหนึ่ง ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรนาหวายก็ไม่ได้เข้าไปตรวจค้นภายในบ้านพัก เพียงแต่เรียกให้ชาวบ้านออกมา และชาวบ้านได้ให้ความร่วมมือออกมารวมตัวกันที่ศาลาอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน ดังนั้นในชั้นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจค้นหมู่บ้านในตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

อย่างไรก็ตาม กรณีการเก็บเยื่อบุกระพุ้งแก้มเพื่อตรวจสารพันธุกรรมของผู้เสียหายกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมีเอกสารที่แสดงว่าผู้เสียหายกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอม จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการตรวจเก็บสารพันธุกรรม ไม่ทราบวัตถุประสงค์ในการตรวจเก็บ รวมถึงไม่ทราบว่าวิธีการดังกล่าวจะเป็นการพิสูจน์ตนเองว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลำเลียงยาเสพติด อีกทั้งการลงลายมือชื่อให้ความยินยอมเกิดจากการไม่ทราบข้อเท็จจริง เนื่องจากผู้เสียหายจำนวนหนึ่งอ่านหนังสือไม่ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรนาหวายได้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ในการตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมให้กับผู้เสียหายทราบ เพียงแต่ขอความร่วมมือในการตรวจเก็บเท่านั้น 

 

การขอความยินยอมจากผู้เสียหายเพื่อเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมในกรณีนี้ จึงยังไม่สอดคล้องกับหลักการให้ความยินยอมโดยอิสระ ซึ่งกำหนดให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีทางเลือกในการตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ให้ข้อมูลส่วนใดบ้าง และการไม่ให้ข้อมูลในส่วนนั้นต้องไม่เกิดผลเสียแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ในชั้นนี้จึงเชื่อว่าผู้เสียหายกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ที่ถูกตรวจเก็บสารตัวอย่างพันธุกรรมไม่ได้ให้ความยินยอมอย่างสมัครใจโดยอิสระและปราศจากการอยู่ภายใต้อำนาจกดดันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ผู้เสียหายที่ถูกตรวจเก็บไม่กล้าที่จะปฏิเสธบุคคลที่มีอำนาจเหนือกว่า จึงน่าจะอยู่ในภาวะที่จำต้องให้ความยินยอมในการถูกเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม ดังนั้นจึงเห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมของผู้เสียหายโดยไม่ชี้แจงวัตถุประสงค์ให้เข้าใจและได้รับความยินยอมอย่างสมัครใจโดยอิสระ เป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของผู้เสียหายจนเกินสมควรแก่กรณี อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีผู้เสียหายกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ที่ถูกตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมที่ยังเป็นเด็กอายุยังไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ จำนวน 3 ราย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรนาหวายได้ดำเนินการใดๆ ที่คำนึงถึงสิทธิเด็กที่จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงมีมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก เช่น การมีนักสังคมสงเคราะห์ หรือสหวิชาชีพเข้าร่วมในกระบวนการจัดเก็บด้วย ดังนั้นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรนาหวาย จึงเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม อันเป็นการละเมิดสิทธิเด็กอีกประการหนึ่ง 

 

“กสม. เห็นว่า นอกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐจะจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมของชาวบ้านโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกแล้ว ยังมีกระบวนการตรวจและจัดเก็บข้อมูลผลการตรวจสารพันธุกรรมภายใต้นโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกด้วย และเมื่อนโยบายดังกล่าวมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมาย การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงย่อมมีความเสี่ยงที่จะจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และไม่สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วน อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน” วสันต์กล่าว

 

วสันต์กล่าวต่อไปว่า ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สรุปได้ดังนี้

 

  1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เน้นย้ำและทำความเข้าใจให้แก่เจ้าหน้าที่ในการแจ้งข้อมูลที่จำเป็นให้แก่บุคคลที่จะต้องถูกเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม โดยต้องให้ผู้ที่จะถูกจัดเก็บให้ความยินยอมโดยสมัครใจ มิใช่การจำยอม รวมทั้งมีมาตรการพิเศษในการดำเนินการกับกลุ่มชาติพันธุ์และเด็ก เช่น การจัดให้มีล่ามภาษาท้องถิ่น และการมีนักสังคมสงเคราะห์ หรือสหวิชาชีพเข้าร่วมในกระบวนการจัดเก็บด้วย และให้ทบทวนการดำเนินนโยบายภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เกี่ยวกับการดำเนินโครงการเก็บและตรวจสารพันธุกรรมของบุคคลกลุ่มเสี่ยงและจากวัตถุพยานที่เกี่ยวข้องกับคดีเกี่ยวกับยาเสพติดและคดีอาญาอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บตรวจสารตัวอย่างพันธุกรรมของบุคคลจะต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็น และอยู่ภายใต้ความยินยอมที่แท้จริงของผู้ถูกจัดเก็บ 

 

สำหรับกรณีที่เข้าจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมของชาวบ้านที่หมู่บ้านแกน้อยหย่อมบ้านถ้ำ และหมู่บ้านหนองเขียวเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ขอให้สั่งการให้ตำรวจภูธรภาค 5 และศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 5 ประสานกับนายอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ แจ้งผลการตรวจสารพันธุกรรมของผู้ที่ถูกตรวจเก็บตัวอย่างให้รับทราบและเข้าใจผ่านผู้นำชุมชนของทั้งสองหมู่บ้าน ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการยึดยาเสพติดจำนวนมากในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2564 พร้อมสั่งการให้ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 5 ลบหรือทำลายข้อมูลสารพันธุกรรมของชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านที่ถูกตรวจเก็บสารตัวอย่างพันธุกรรมออกจากฐานข้อมูล 

 

  1. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ติดตามการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเก็บและตรวจสารพันธุกรรมของบุคคลของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณประจำปี โดยเน้นย้ำให้การดำเนินโครงการต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน โดยต้องแจ้งข้อมูลที่จำเป็นให้ผู้ที่จะต้องถูกเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมทราบ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ ขั้นตอนและวิธีการจัดเก็บ การนำไปใช้ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ผู้ที่จะถูกจัดเก็บให้ความยินยอมโดยสมัครใจ มิใช่การจำยอม รวมทั้งมีมาตรการพิเศษในการดำเนินการกรณีผู้ถูกจัดเก็บเป็นเด็กด้วย
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising