×

กสม. มีมติหยิบยกโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะขึ้นตรวจสอบด่วน แนะ ศอ.บต. ทบทวนกระบวนการรับฟังความเห็น

โดย THE STANDARD TEAM
15.12.2021
  • LOADING...
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

วันนี้ (15 ธันวาคม) เมื่อเวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย วสันต์ ภัยหลีกลี้ และ ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 12/2564 กรณี กสม. มีมติหยิบยกเรื่องการดำเนินโครงการ ‘เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา’ ขึ้นตรวจสอบเป็นการเร่งด่วน และขอให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พิจารณาทบทวนกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ตามที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีกล่าวอ้างว่า การดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มิได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง และการดำเนินโครงการอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยที่ประชาชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้ปักหลักชุมนุม ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงสัญญาในการแก้ปัญหา ซึ่งจะต้องจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) แบบมีส่วนร่วมก่อนดำเนินการโครงการนั้น 

 

กสม. ได้ติดตามเฝ้าระวังและลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ขอให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ชุมนุมและเร่งรับฟังเสียงของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งมีมติในการประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 52/2564 (27) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 หยิบยกและรับเรื่องร้องเรียนข้างต้นไว้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 สำนักงาน กสม. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการ ศอ.บต. ขอให้พิจารณาทบทวนกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนในโครงการดังกล่าว เนื่องจากได้รับทราบข้อเท็จจริงว่า ระหว่างวันที่ 13-23 ธันวาคม 2564 มีการจัดรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งใช้รูปแบบการประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทาง Zoom Cloud Meeting เท่านั้น โดย กสม. เห็นว่ากระบวนการรับฟังความเห็นจำเป็นต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจและสามารถแสดงความเห็นของตนได้อย่างเสรี การใช้รูปแบบการประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงช่องทางเดียว ย่อมส่งผลให้ประชาชนที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถรับทราบข้อมูลและแสดงความเห็นของตนได้ตามสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยเฉพาะต่อโครงการนี้ที่ยังปรากฏความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน 

 

ดังนั้น กสม. จึงขอให้ ศอ.บต. พิจารณาทบทวนกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน โดยเพิ่มรูปแบบหรือช่องทางที่เหมาะสมและหลากหลายยิ่งขึ้น เช่น การจัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นในพื้นที่ดำเนินโครงการ เป็นต้น หรือชะลอการรับฟังความเห็นไว้ก่อนจนกว่าจะพิจารณาข้อเรียกร้องของประชาชนแล้วเสร็จ 

 

กสม. ขอขอบคุณที่คณะรัฐมนตรีมีมติวานนี้ (14 ธันวาคม) ให้หน่วยงานรัฐชะลอโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ไว้ก่อน จนกว่าจะดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) แล้วเสร็จ โดยให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดให้มีการทำ SEA โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอของภาคประชาชน เช่น เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

 

อย่างไรก็ดี กสม. ขอเน้นย้ำให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกฝ่ายอย่างรอบด้านตามกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยและจริงใจ โดยกลไกของคณะกรรมการในการจัดทำ SEA ควรประกอบด้วยนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน องค์กรภาคสังคมหรือสถาบันวิชาการที่มีความรู้และประสบการณ์ในการจัดกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อวางแผนเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับศักยภาพของการพัฒนาพื้นที่ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้กำหนดอนาคตของพวกเขาร่วมกันโดยไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง

 

วสันต์กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นแล้ว แต่ในระหว่างการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามคำร้องนี้ ตัวแทนชาวบ้านผู้ร้องได้มีหนังสือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ขอถอนคำร้องจากการตรวจสอบเพื่อใช้สิทธิตามกฎหมายผ่านช่องทางอื่นแทน เรื่องร้องเรียนครั้งก่อนจึงเป็นอันยุติลง

 

อย่างไรก็ดี การตรวจสอบโครงการดังกล่าวในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ กสม. มีความห่วงใยและให้ความสำคัญในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงรับคำร้องใหม่พร้อมหยิบยกขึ้นตรวจสอบ โดยจะเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและโดยเร่งด่วน เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการอำนวยความเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชนให้แก่ทุกฝ่าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X