วันนี้ (8 พฤษภาคม) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 16/2568 โดยชี้ประเด็นสำคัญว่าการที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขอความร่วมมือให้ระงับการเผยแพร่งานวิจัยของ ศาสตราจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ เรื่อง ‘ในนามของความมั่นคงภายใน: การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย’ ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน
สืบเนื่องจากแถลงข่าวของ พล.ต. วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน. เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567 ที่ขอให้ระงับการตีพิมพ์และเผยแพร่งานวิจัยดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ผู้วิจัยไม่มีความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และข้อมูลวิจัยไม่ครอบคลุมเพียงพอ กสม. ระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบในการแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการ โดยเฉพาะเมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับเหตุการณ์ที่ กอ.รมน. เข้าพบผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยล่วงหน้าก่อนวันเปิดตัวงานวิจัยเพียงหนึ่งวันโดยไม่ประสานงานล่วงหน้า
กสม. ระบุชัดเจนว่า แม้ กอ.รมน. จะอ้างว่าเป็นเพียง ‘การขอความร่วมมือ’ มิใช่คำสั่งโดยตรง แต่ด้วยความไม่สมดุลของอำนาจรัฐ การดำเนินการดังกล่าวย่อมส่งผลให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระของนักวิจัยและสถาบันวิชาการ กสม. เห็นว่า ข้อโต้แย้งของ กอ.รมน. เกี่ยวกับคุณภาพงานวิจัยเป็นเพียงการวิพากษ์ในเนื้อหา ไม่ใช่เหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายในการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้รับรองเสรีภาพทางวิชาการอย่างชัดเจน โดยต้องไม่ขัดต่อหน้าที่หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งยังเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 และแนวปฏิบัติด้านเสรีภาพทางวิชาการ พ.ศ. 2564 รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชนสากลตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และข้อเสนอแนะจากยูเนสโก (UNESCO)
จากการพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและหลักสิทธิมนุษยชน กสม. มีมติให้เสนอแนะต่อ กอ.รมน. ให้ยุติการแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการของศาสตราจารย์พวงทอง พร้อมเสนอให้จัดทำนโยบายที่ชัดเจนไม่ให้มีการลิดรอนสิทธิดังกล่าวในอนาคต ขณะเดียวกัน เสนอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะต้นสังกัดคุ้มครองนักวิชาการในสังกัดให้สามารถใช้เสรีภาพในการวิจัยได้อย่างปลอดภัยและเต็มที่
กรณีนี้สะท้อนถึงความจำเป็นของการปกป้องพื้นที่ปลอดภัยทางปัญญาในสังคมประชาธิปไตย ที่การตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจรัฐไม่ควรถูกมองว่าเป็นภัย แต่เป็นหัวใจของความก้าวหน้าและความรับผิดชอบของสถาบันต่างๆ ต่อสาธารณะ