วันนี้ (20 สิงหาคม) เวลา 10.30 น. วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เสนอปรับปรุงกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจโรคจิตหรือโรคอารมณ์ผิดปกติโดยคณะกรรมการแพทย์ของ ก.พ. ก่อนประกาศราชกิจจานุเบกษา สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ. ดังกล่าว มีการยกเลิก ‘โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ’ ซึ่งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ออกจากลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน ขณะที่มีการเสนอให้โรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ เป็นลักษณะต้องห้าม
ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ กรณีการแก้ไขร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรคดังกล่าว ว่าอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงการมีงานทำของกลุ่มคนพิการทางจิตสังคม และกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตและโรคอารมณ์ผิดปกติ และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและตีตราว่าบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถทำงานได้ อันนำไปสู่การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความพิการหรือสุขภาพ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา กสม. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อกรณีการกำหนดให้โรคจิตหรือโรคอารมณ์ผิดปกติ เป็นลักษณะต้องห้ามของการเข้ารับราชการพลเรือน โดยมีผู้แทนสำนักงาน ก.พ. ผู้แทนหน่วยงานด้านสุขภาพจิต คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ วุฒิสภา และภาคีเครือข่ายคนพิการ ร่วมให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะ
ผลจากการประชุมหารือปรากฏรายงานข้อเท็จจริงยืนยันว่า กลุ่มคนพิการทางจิตสังคมและกลุ่มผู้ป่วยทางจิตเวชฯ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและหายขาดจากโรคได้ หากได้รับการบำบัดรักษาฟื้นฟูต่อเนื่อง และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ปฏิบัติงานได้
ในทางกลับกัน ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. …. กลับไม่ได้ระบุลักษณะของโรคร้ายแรงอื่นที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือเรื้อรัง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ไว้ด้วย ดังนั้น การระบุชื่อ ‘โรคจิตหรือโรคอารมณ์ผิดปกติ’ ไว้เป็นการเฉพาะ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความพิการหรือสุขภาพ และอาจเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณารับคนเข้าทำงาน อันส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของกลุ่มคนพิการทางจิตสังคม และกลุ่มผู้ป่วยทางจิตเวช โรคจิตฯ
ซึ่งขัดแย้งกับนโยบายการส่งเสริมการมีงานทำของคนพิการในหน่วยงานของรัฐ และไม่สอดคล้องตามหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีให้การรับรอง
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่าการระบุให้โรคจิตหรือโรคอารมณ์ผิดปกติเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน อาจส่งผลให้กลุ่มคนพิการทางจิตสังคมและกลุ่มผู้ป่วยทางจิตเวชฯ ปฏิเสธการเข้าสู่กระบวนการรักษา และทำให้สถานการณ์ความเจ็บป่วยทางจิตเวชในสังคมมีความรุนแรงมากขึ้น
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า ในเบื้องต้นที่ประชุมจึงมีข้อเสนอแนะให้มีการแก้ไขร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. …. ข้อ 4.2 โดยนำชื่อ ‘โรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders)’ ออกจากร่างกฎ ก.พ. ดังกล่าว และนำข้อความในกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 ข้อ 5 ‘โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ตามที่ ก.พ. กำหนด’ มาใช้ มีความครอบคลุมโรคโดยรวมแล้ว และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานอย่างแท้จริงได้
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้สำนักงาน ก.พ. ศึกษาและพัฒนาระบบการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการ โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความพิการหรือสุขภาพ
“การกำหนดให้โรคจิตหรือโรคอารมณ์ผิดปกติที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรัง เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน ต้องคำนึงถึงสิทธิของคนพิการ ซึ่งรวมถึงสิทธิของผู้ป่วยทางจิตเวช โรคจิต และโรคอารมณ์ผิดปกติ โดยเฉพาะประเด็นสิทธิในการทำงาน สิทธิในโอกาสที่จะหาเลี้ยงชีพโดยงานซึ่งตนเลือกหรือรับอย่างเสรี รวมถึงการที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสุขภาพด้วย ทั้งนี้ กสม. จะรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการ ก.พ. ต่อไป” วสันต์กล่าว