×

กสม. เผย กระทรวงการต่างประเทศตอบกรณีวันเฉลิมหายที่กัมพูชาอยู่ระหว่างสอบสวน พบต่ออายุวีซ่าถึงแค่สิ้นปี 2560

โดย THE STANDARD TEAM
02.07.2020
  • LOADING...

วันนี้ (2 กรกฎาคม) วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่าตามที่ กสม. ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสม. มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและทำความจริงให้ปรากฏ กรณี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมการเมืองชาวไทยหายไปจากหน้าอาคารที่พักในกรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา นั้น 

 

ต่อมาปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2563 แจ้งกลับมายังสำนักงาน กสม. ดังต่อไปนี้

 

  1. ทันทีที่ได้รับทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่าวันเฉลิมถูกลักพาตัวในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เวลาประมาณ 18.00 น. ในวันรุ่งขึ้น (5 มิถุนายน) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาเพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามตัววันเฉลิม

 

  1. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (พี่สาวของวันเฉลิม) และตัวแทนของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights: TLHR) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้กระทรวงการต่างประเทศติดตามและให้ความช่วยเหลือวันเฉลิม รวมทั้งได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวันเฉลิมเพิ่มเติม โดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ตามนัยข้อ 1 ให้สิตานันท์และผู้แทน TLHR ทราบ

 

  1. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ตอบกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นการดำเนินการของรัฐบาลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือวันเฉลิม โดยได้แจ้งการดำเนินการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ตามข้อ 1 และข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ 

3.1 รัฐมนตรีฯ ไม่เคยได้รับแจ้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าวันเฉลิมเป็นบุคคลที่อาจเป็นภัยต่อประเทศในด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ

 

3.2 รัฐมนตรีฯ ได้ตอบคำถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นบทบาทของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ว่าวันเฉลิมไม่ได้มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยตามนิยามของ UNHCR ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการตรวจสอบแล้วพบว่าสภาพความเป็นอยู่และปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ของวันเฉลิมไม่ได้เข้าข่ายการเป็นผู้ลี้ภัยของ UNHCR โดยเชื่อว่า UNHCR รับทราบและติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี UNHCR ต้องรอการชี้แจงและข้อมูลจากทางการกัมพูชาเช่นเดียวกัน 

 

  1. เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ได้เข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา (รัฐมนตรีช่วยว่าการคนที่อาวุโสที่สุด) ซึ่งได้มอบหนังสือให้แก่เอกอัครราชทูตฯ โดยมีสาระสำคัญว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าวันเฉลิมมีประวัติการเดินทางเข้าออกกัมพูชาหลายครั้งระหว่างปี 2557-2558 ครั้งล่าสุดเดินทางเข้ามากัมพูชาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 และได้รับการต่ออายุการตรวจลงตราถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ทั้งนี้ทางการกัมพูชายังไม่สามารถยืนยันเหตุการณ์นี้ได้ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง 

 

  1. เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือตอบกลับหนังสือร้องเรียนของสิตานันท์ แจ้งผลการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศตามข้อ 4

 

  1. เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ได้นำส่งข้อมูลทะเบียนรถยนต์ที่สันนิษฐานว่าเป็นรถยนต์คันที่ใช้ก่อเหตุตามข้อมูลในหนังสือของสิตานันท์ให้แก่กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป

 

  1. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ได้ติดตามความคืบหน้าของการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทางการกัมพูชาเป็นระยะๆ จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกัมพูชาแจ้งว่ายังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมแต่อย่างใด

 

“ขอขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศที่ได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีการหายตัวไปของวันเฉลิม กสม. ยังคงติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวต่อไปอย่างใกล้ชิด และหวังว่าจะได้รับทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อประสานการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่วันเฉลิมและครอบครัวต่อไป” วัสกล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X