วันนี้ (9 สิงหาคม) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง การสังเกตการณ์การชุมนุม 7 สิงหาคม 2564 ระบุว่า
ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองของเครือข่ายกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่ม REDEM บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 นั้น กสม. ขอยืนยันการปฏิบัติหน้าที่ในการสังเกตการณ์และเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นอิสระ ให้ความเป็นธรรม และรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน
จากการสังเกตการณ์การชุมนุมในวันดังกล่าว กสม. มีข้อห่วงใยเป็นอย่างยิ่งในเรื่องการใช้ความรุนแรงเข้าปะทะกันของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและผู้ชุมนุมบางส่วน โดยมีข้อสังเกตเบื้องต้นว่า การจัดตั้งสิ่งกีดขวางเพื่อสกัดกั้นการชุมนุม การใช้อาวุธ อุปกรณ์ ตลอดจนขั้นตอนในการควบคุมฝูงชน ยังไม่ได้เป็นไปในลักษณะจากเบาไปหาหนัก ไม่ได้สัดส่วน และไม่สอดคล้องกับหลักสากล จนส่งผลให้ผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง สื่อมวลชน และประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
ด้านกลุ่มผู้ชุมนุม ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนได้ตระเตรียมและใช้อาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธในการตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ อันไม่เป็นไปตามหลักการการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จนทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมการชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต กสม. จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายพิจารณาร่วมกันดังนี้
- ขอให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงโดยผู้ชุมนุมต้องใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอย่างแท้จริง ขณะที่รัฐบาลต้องมีแนวทางในการจัดการและควบคุมฝูงชนให้สอดคล้องกับหลักการสากลของสหประชาชาติ (UN Basic Principle on the Use of Forces and Firearms by Law Enforcement Officials) โดยให้เป็นไปตามขั้นตอน และได้สัดส่วนที่เหมาะสม รวมทั้งใช้ความอดทนอดกลั้นในการรับฟังเสียงของประชาชนที่เห็นต่าง
- ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมโดยสงบกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงแบบแยกแยะ ในกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงอันทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นหรือทรัพย์สินของทางราชการ เจ้าหน้าที่จะต้องเร่งนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็ว เพื่อสร้างความกระจ่างให้แก่สังคมและลดความคลางแคลงใจต่อกันของทุกฝ่าย
- ขอให้มีกลไกหรือช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้จัดการชุมนุมและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เพื่อให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อันจะช่วยให้ลดการเผชิญหน้าและความรุนแรงลง
- การแก้ไขปัญหาในระยะยาว กสม. ขอสนับสนุนให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการหารือเพื่อหาทางออกของปัญหาร่วมกันด้วยแนวทางสันติวิธี
ทั้งนี้ กสม. จะหยิบยกกรณีการชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ขึ้นตรวจสอบในรายละเอียดต่อไป
อย่างไรก็ดี ภายใต้วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในชาติ กสม. ขอเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างสร้างสรรค์ โดยยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง พร้อมร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยการรับฟังเสียงของทุกฝ่าย เพื่อให้ประเทศชาติสามารถก้าวผ่านวิกฤตการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ไปได้