×

กสม. แนะ BTS เพิ่มห้องน้ำในสถานีรถไฟฟ้า-ติดตั้งประตูกั้นชานชาลา เพื่อคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ

โดย THE STANDARD TEAM
29.09.2022
  • LOADING...
กสม. แนะ BTS

วันนี้ (29 กันยายน) วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ระบุว่า ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า BTS ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (ผู้ถูกร้อง) ไม่มีความปลอดภัย เนื่องจากบางสถานีไม่มีประตูกั้นชานชาลา และเห็นว่ายังขาดสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะห้องน้ำภายในสถานีที่มีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ และไม่ถูกสุขลักษณะ จึงขอให้ตรวจสอบ

 

กสม. ได้พิจารณาคำร้อง บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนและคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 56 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร

 

นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ สิทธิของผู้บริโภคที่ได้รับการรับรองไว้ข้างต้นย่อมมีผลผูกพันให้รัฐ รวมถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดบริการสาธารณะจะต้องบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิเช่นว่านั้น

 

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกร้องได้จัดให้มีห้องน้ำเพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการครบทั้ง 60 สถานี โดยผู้ใช้บริการสามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ประจำสถานีเพื่อขอใช้บริการได้ และมีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดเป็นประจำ

 

สำหรับประเด็นการติดตั้งประตูกั้นชานชาลา แม้ผู้ถูกร้องจะติดตั้งประตูกั้นชานชาลาไว้จำนวน 11 สถานี จากจำนวนสถานีทั้งหมด 60 สถานี คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 18 ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของจำนวนผู้โดยสารแต่ละสถานี แต่ผู้ถูกร้องได้ดำเนินการเพื่อรักษาความปลอดภัยบริเวณสถานีรถไฟฟ้าภายใต้คำแนะนำของบริษัทภายนอกและมีมาตรการลักษณะเดียวกันทุกสถานี ไม่ว่าสถานีนั้นจะมีประตูกั้นชานชาลาหรือไม่ ทั้งยังติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ใช้บริการ จึงเห็นว่าผู้ถูกร้องได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ในฐานะผู้บริโภคตามสมควรแก่กรณีแล้ว จึงไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่ผู้ร้องได้ร้องเรียน

 

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าห้องน้ำบริเวณพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า BTS จำนวนมากเน้นให้บริการพนักงานบริษัทฯ และส่วนใหญ่ไม่มีป้ายแสดงให้ผู้ใช้บริการรับทราบว่ามีห้องน้ำให้บริการอยู่บริเวณใดของสถานี หรือหากต้องการใช้ห้องน้ำจะสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้อย่างไร รวมถึงการมีประตูกั้นชานชาลาเพียง 11 สถานี จาก 60 สถานี อาจทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวกที่เพียงพอและอาจเกิดอันตรายที่ไม่คาดคิดได้

 

กสม. จึงเห็นควรให้มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถูกร้อง และกรุงเทพมหานคร (กทม.) สรุปได้ดังนี้

 

ให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ปรับปรุงและเพิ่มห้องน้ำสาธารณะที่สามารถรองรับการใช้งานของประชาชนผู้ใช้บริการได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการใช้งานของทุกคนที่มิใช่เพียงพนักงานของบริษัทฯ และประชาสัมพันธ์แก่ผู้ใช้บริการได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งและการใช้บริการห้องสุขาภายในสถานีรถไฟฟ้าแต่ละแห่ง

 

ทั้งนี้ให้ กทม. กำกับดูแลการก่อสร้างห้องน้ำสาธารณะให้เพียงพอแก่การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า BTS ด้วย

 

นอกจากนี้ให้บริษัทฯ ติดตั้งประตูกั้นชานชาลาเพิ่มเติมในสถานีรถไฟฟ้าที่มีข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ในสถานีดังกล่าวมากขึ้นในระดับที่เทียบเคียงกับสถานีที่มีการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาอยู่แล้ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising