×

โปรโมตงาน NFT ผ่านช่องทางเหล่านี้อย่างไรให้ปัง

04.01.2022
  • LOADING...
NFT

HIGHLIGHTS

1 min. read
  • ยอด Follower ใน Twitter คือตัวชี้วัดความดังของศิลปินและมูลค่างานในความรู้สึกของบรรดานักสะสม เนื่องจากหากชื่อเสียงของศิลปินหรือโปรเจกต์มีเเนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น มูลค่าของงานหรือคอลเล็กชันก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นับเป็นเเรงจูงใจหลักให้ผู้ลงทุนซื้อมาเก็บไว้ทำกำไร
  • แพลตฟอร์ม Discord ถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยหากจะขายงานเป็นคอลเล็กชันใหญ่เเบบร้อยพันหรือหมื่นชิ้น เพราะกลไกหลักของ Discord ในวงการ NFT คือการสร้างคอมมูนิตี้เพื่อให้มีกลุ่มคนจำนวนที่มากพอมาซื้องานให้หมด
  • ตอนนี้ Metaverse เจ้าใหญ่ๆ มีด้วยกันสองเจ้า คือ Decentraland เเละ Sandbox โดยในสองที่นี่ ศิลปินจะเอาผลงานไปใส่ในป้ายบิลบอร์ดตามแกลเลอรีของคนอื่นได้ตามเรตค่าโฆษณา ไม่ก็ซื้อหรือเช่าที่ดินเพื่อทำนิทรรศการโชว์ผลงาน รวมถึงการสร้างเกมที่มีความเกี่ยวโยงกับคอลเล็กชัน NFT เพื่อเพิ่มเอกลักษณ์ ฟังก์ชัน เเละความแปลกใหม่

เมื่อเวลาผ่านไป การเเข่งขันในตลาด NFT ยังคงดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีศิลปินหน้าใหม่เข้ามาลงงานขายทุกวัน บางคนผ่านไปหลายเดือนก็ยังขายไม่ได้ บางคนถูกหวย ขายได้เพียงครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้งเเล้วก็ขายไม่ได้อีกเลย เเต่ก็ยังมีบางคนที่ขายงานได้เรื่อยๆ ด้วยราคาที่สูงอย่างคงที่ นำมาซึ่งความสงสัยว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้สามารถขายงานได้อย่างต่อเนื่อง คำตอบนั้นคงหนีไม่พ้นเรื่องของการตลาด เพราะหากการตลาดดี โอกาสที่เราจะปล่อยงานได้ก็สูงตามไปด้วย ดังนั้นจึงจะเป็นการดีถ้าเหล่าครีเอเตอร์จะลองศึกษาช่องทางการตลาดต่างๆ เหล่านี้ที่เรานำมาฝากกัน พร้อมเผยเทคนิคที่ช่วยให้เราขายงานได้มากขึ้นด้วย

 

 

1. Twitter

 

เป็นช่องทางสำคัญมากที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะตลาด NFT ทั้งหมดนั้นอยู่ใน Twitter ซึ่งยอด Follower คือตัวชี้วัดความดังของศิลปินและมูลค่างานในความรู้สึกของบรรดานักสะสม เนื่องจากหากชื่อเสียงของศิลปินหรือโปรเจกต์มีเเนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น มูลค่าของงานหรือคอลเล็กชันก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นับเป็นเเรงจูงใจหลักให้ผู้ลงทุนซื้อมาเก็บไว้ทำกำไร ดังนั้นการมีฐานแฟนคลับที่เเข็งเเกร่งจะทำให้เรามีชัยไปกว่าครึ่ง 

 

เเล้วเราจะเพิ่มยอดคนตามได้อย่างไรถ้าเราเพิ่งเริ่ม หรือถ้าเราอยากเเซงคนอื่นที่มีเยอะกว่า? 

 

การเพิ่มคนติดตามนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งเเบบฟรีเเละเสียเงิน ซึ่งเเบบเเรก ได้เเก่ การใส่แฮชแท็กดังๆ เช่น #NFTs #NFTCommunity #NFTGiveaway เป็นต้น หรือขยันเข้า Twitter Spaces หรือฟีเจอร์สนทนากลุ่มคล้าย Clubhouse ในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่ว่าคนฟังจะได้เข้าไปดูเพจ Twitter ของเรา เเละกดติดตามในขณะที่เรากำลังพูดให้ความรู้ หารือ หรือโฆษณาผลงานตัวเอง 

 

เเต่หากมีงบการตลาดมากกว่าชาวบ้าน วีธีที่ได้ผลอย่างหนึ่งคือการจ้างอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นสาย NFT โดยเฉพาะ ซึ่งก็มีหลายระดับเเละหลายราคา ตั้งเเต่ 0.05 eth ไปจนถึง 5 eth หรือประมาณ 6 เเสนกว่าบาท เเละบาง Account ก็อาจเป็นของปลอมจึงต้องระวังให้ดี นอกจากนี้การใช้งบอย่างคุ้มค่าอีกวิธีคือการซื้อผู้ติดตาม ไลก์ คอมเมนต์ เเละรีทวีต เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ เเละเพื่อให้ผลงานที่โพสต์ออกมาไม่จมไปกับหลายพันโพสต์ที่มีแฮชแท็กเดียวกัน เเต่ไม่ว่าจะใช้เทคนิคไหน หัวใจสำคัญคือคอนเทนต์ที่ดีเเละความสม่ำเสมอ ควรโพสต์อย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้งทุกวัน

 

2. Discord

 

แพลตฟอร์มนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยหากจะขายงานเป็นคอลเล็กชันใหญ่เเบบร้อยพันหรือหมื่นชิ้น เพราะกลไกหลักของ Discord ในวงการ NFT คือการสร้างคอมมูนิตี้เพื่อให้มีกลุ่มคนจำนวนที่มากพอมาซื้องานให้หมด ดังนั้นจำนวนคนในคอมมูนิตี้จะต้องสัมพันธ์กับจำนวนชิ้นงานที่จะปล่อย เช่น หากมีงาน 10,000 ชิ้น จะต้องมีอย่างน้อยหมื่นกว่าคน เพราะอาจมีบางคนที่ไม่ซื้อ เเละการสร้างคอมมูนิตี้นั้นเป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเทให้เสมือนงานประจำ เพราะมีคนไม่น้อยที่เป็นนักเทรด NFT เเบบรายวัน คอยนั่งอยู่หน้า Discord ตลอดเวลา เพื่อดูเวลาซื้อขายที่เหมาะสม 

 

เนื่องจากราคาเเละกระเเสความสนใจสามารถเปลี่ยนภายในไม่กี่นาทีหรือชั่วโมง ดังนั้นคนสร้างคอมมูนิตี้จะต้องมีการอัปเดตถี่ๆ เพื่อความเชื่อมั่นจากผู้เเสวงหาผลกำไร อาจมีกิจกรรมเเจกของชิงรางวัล ประกวดการทำมีมหรือวาดรูปต่างๆ การให้รายละเอียดเกี่ยวกับคอลเล็กชัน เช่น ราคา วันปล่อยโรดแมป เเละความคืบหน้าอื่นๆ ซึ่งคนที่จะเข้ามาในคอมมูนิตี้คือคนที่มาจาก Twitter หรือคนที่มาจากโปรเจกต์อื่นที่ประสบความสำเร็จและขายออกหมดเเล้ว

 เเต่เราจะต้องซื้องานของเขาต่อเพื่อที่จะได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในคอมมูนิตี้เหล่านั้น เเล้วคนในนั้นก็จะเชื่อใจเเละยกขบวนมาสบันสนุนคอลเล็กชันของเรา กรณีนี้มีตัวอย่างเกิดขึ้นเเล้วจากสมาชิก Bored Ape Yacht Club ที่ออกมาทำคอลเล็กชันของตัวเองโดยมีชาวลิงทั้งกลุ่มออกมาร่วมสนับสนุน

 

เเต่เช่นเดียวกับทุกอย่าง สมาชิก Discord ก็เป็นสิ่งที่สามารถซื้อได้ไม่ต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ เเละถ้าเราไม่มีเวลาหรือไม่มีคนในการทำให้ทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น การจ้างเอเจนซีโฆษณาเเบบมืออาชีพก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก เเต่จะได้ผลไหม ก็ต้องลองเสี่ยงจ้างดู 

 

3. Metaverse

 

ถัดจากช่องทางการตลาดแบบสามัญมาสู่ช่องทางใหม่ๆ กันบ้าง การโฆษณางานก็สามารถทำได้ใน Metaverse เช่นเดียวกัน ณ ตอนนี้ Metaverse เจ้าใหญ่ๆ มีด้วยกันสองเจ้า คือ Decentraland เเละ Sandbox โดยในสองที่นี้ ศิลปินจะเอาผลงานไปใส่ในป้ายบิลบอร์ดตามแกลเลอรีของคนอื่นได้ตามเรตค่าโฆษณา ไม่ก็ซื้อหรือเช่าที่ดินเพื่อทำนิทรรศการโชว์ผลงาน รวมถึงการสร้างเกมที่มีความเกี่ยวโยงกับคอลเล็กชัน NFT เพื่อเพิ่มเอกลักษณ์ ฟังก์ชัน เเละความแปลกใหม่ เเต่ทว่า Metaverse ก็ยังเป็นเรื่องที่ใหม่เเละด้วยตัวแพลตฟอร์มที่ยังไม่สมบูรณ์ คนจึงยังเข้าไม่ถึง ซึ่งข้อเสียคือผู้เล่นอาจยังไม่เยอะ เเต่ข้อดีคือที่ดิน ค่าเช่า เเละค่าโฆษณายังไม่เเพงมากนัก ถ้าเริ่มก่อนอาจได้เปรียบ

 

4. Facebook 

 

ท้ายที่สุดนี้คือ Facebook นั่นเอง ถึงเเม้ตลาดจะไม่ได้อยู่ในนี้เพราะคนไทยมักไม่ค่อยซื้อ NFT ส่วนใหญ่เน้นไปทางขาย เเต่คอมมูนิตี้ NFT Creator ในเมืองไทยก็มีขนาดที่ใหญ่เเละเเข็งเเกร่งมาก ดังที่เห็นในกลุ่ม NFT and Crypto Art Thailand ที่มีสมาชิกเกินกว่าสองเเสนคน ดังนั้นการโพสต์งานที่มีความน่าสนใจจะทำให้คนในกลุ่มไปช่วยสนับสนุนเเละติดตามใน Twitter หรือ Foundation App นอกเหนือการติดตามเเล้ว เรายังสามารถต่อยอดได้ด้วยการสร้างเครือข่ายจากคนใน Facebook เป็นกลุ่มย่อยใน Twitter เพื่อให้มีศิลปินคนไทยด้วยกันหลายๆ คนมารีทวีตโพสต์งานของเรา งานจะได้ออกไปสู่สายตาคนมากขึ้นเพราะผู้ติดตามของศิลปินคนอื่นๆ ก็จะเห็นงานของเราอีกทีด้วย เเต่เราก็ต้องช่วยรีทวีตงานของคนอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เราพึ่งพาซึ่งกันเเละกัน

 

นอกจากสี่ช่องทางนี้ก็ยังมีช่องทางอื่นๆ เช่น YouTube, TikTok การลงโฆษณาบนเว็บ Crypto ต่างๆ ฯลฯ ทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีทุน เวลา เเละความเข้าใจเรื่องของการตลาด NFT ที่ลึกซึ้ง ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องทำครบทุกข้อ เเต่การพยายามทำทุกวิถีทางก็อาจทำให้งานที่ขายไม่ออกมานาน พลิกกลับมาขายได้ในช่วงเวลาที่ตลาดกำลังอิ่มตัวเช่นนี้

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising