×

คำถามต่อไปหลังจากพบผู้ติดเชื้อ ‘โอไมครอน’ รายแรก

07.12.2021
  • LOADING...
โอไมครอน

ไม่ใช่ว่าไทยจะพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ‘หรือไม่’ หากแต่ ‘เมื่อไร’ จะพบผู้ติดเชื้อมากกว่า (Not if, but when) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลายคนอาจมีคำถามทำนองนี้ เพราะจำนวนประเทศที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แต่จนถึงตอนนี้ทุกคนทราบแล้วว่าไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนรายแรกเป็นชายสัญชาติอเมริกา อายุ 35 ปี อาชีพนักธุรกิจ อาศัยอยู่สเปน 1 ปี ได้รับวัคซีน Johnson & Johnson 1 เข็ม เดินทางผ่านโครงการ Test & Go ถึงประเทศไทยวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 

 

โครงการ Test & Go เป็นนโยบายเปิดประเทศแบบไม่กักตัว ผู้เดินทางจะตรวจหาเชื้อทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมง ครั้งที่ 2 เป็นการตรวจ RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึงไทย หากไม่พบเชื้อจะสามารถเดินทางได้ทุกพื้นที่ และครั้งที่ 3 เป็นการตรวจ ATK ด้วยตนเองเมื่อมีอาการหรือในวันที่ 6-7 แต่นักธุรกิจรายนี้ตรวจพบเชื้อตั้งแต่วันแรกที่เดินทางมาถึง (ทราบผลวันที่ 1 ธันวาคม) และส่งตัวอย่างตรวจยืนยันสายพันธุ์วันที่ 3 ธันวาคม

 

เมื่อวาน (6 ธันวาคม) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวว่าว่าพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนรายแรกเป็นประเทศที่ 47 ของโลก คำถามต่อไปหลังจากนี้มีอะไรบ้าง 

 

1. ทำไมผู้ติดเชื้อรายแรกนี้ถึงไม่น่ากังวล? 

เพราะเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ (Imported Case) ผ่านโครงการ Test & Go ซึ่งมีระบบคล้ายสถานที่กักตัวทางเลือก (ASQ) คือเดินทางด้วยรถและเส้นทางที่กำหนด (Sealed Route) จากสนามบินเข้าที่พัก และตรวจหาเชื้อ หากไม่พบเชื้อถึงจะออกจากที่พักได้ ผู้ติดเชื้อจึงไม่ปะปนกับคนทั่วไป และจากการสอบสวนโรคมีผู้สัมผัสที่โรงแรม 17 คน และพนักงานในสนามบิน 2 คน ซึ่งน่าจะติดตามได้ทั้งหมด

 

2. สายพันธุ์โอไมครอน น่ากังวลหรือไม่?

ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่าสายพันธุ์โอไมครอนแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมา 2-5 เท่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการน้อยคล้ายโรคไข้หวัด ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้เสียชีวิต แต่นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่าผู้ติดเชื้อในช่วงแรกเป็นกลุ่มอายุน้อย และมีประวัติได้รับวัคซีนจึงยังไม่สามารถสรุปความรุนแรงของสายพันธุ์ใหม่ได้ ส่วนประสิทธิผลของวัคซีนต้องรอผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ

 

จากข่าวผู้ติดเชื้อรายแรกของไทย 2 รายแรกของฮ่องกง และผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักร ส่วนใหญ่เคยได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์แล้ว แสดงว่าสายพันธุ์นี้น่าจะหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ (ยังสรุปไม่ได้ว่าประสิทธิผลของวัคซีนลดลงเป็นเท่าไร เพราะผู้ที่เดินทางระหว่างประเทศได้ในขณะนี้ต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบอยู่แล้ว) ถึงแม้ประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อจะลดลง แต่ถ้าประสิทธิผลป้องกันอาการรุนแรงยังสูงอยู่เหมือนกับสายพันธุ์ที่ผ่านมา สายพันธุ์นี้ก็จะไม่น่ากังวลสำหรับผู้ใหญ่ 

 

3. โครงการ Test & Go ไปต่อใช่หรือไม่?

ในแง่ดีโครงการนี้สามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนรายแรกได้ และถ้าหากเปลี่ยนจากการตรวจ RT-PCR เป็น ATK (ตามที่ ศบค. อนุมัติให้เริ่มใช้ 16 ธันวาคม 2564 แต่ต่อมา ครม. มีมติให้ใช้ RT-PCR เหมือนเดิมแล้ว) ก็อาจตรวจไม่พบ เนื่องจากปริมาณไวรัสต่ำมาก (Ct 30-33) แต่ในแง่ร้ายคือโครงการนี้จะตรวจหาเชื้อด้วย ATK ในวันที่ 6-7 อีกเพียงครั้งเดียว หากระยะฟักตัวของไวรัสเท่าเดิมคือ 14 วันก็อาจตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อบางราย

 

ผู้เดินทางที่สามารถเข้าโครงการ Test & Go มีทั้งหมด 63 ประเทศ ซึ่งไม่มีประเทศในทวีปแอฟริกาที่พบการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนในช่วงแรก ส่วนผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือประเทศเสี่ยงสูง 8 ประเทศ ไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม (ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทย) และประเทศอื่นในทวีปแอฟริกาจะต้องกักตัว 14 วันตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม และตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR ทั้งหมด 3 ครั้ง ทว่าขณะนี้สายพันธุ์โอไมครอนเริ่มระบาดนอกทวีปแอฟริกาแล้ว

 

4. สถานการณ์ในยุโรปเป็นอย่างไร?

ข้อมูล ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2564 สหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน 336 ราย และจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทุก 2 วัน ประเทศในสหภาพยุโรปพบ 212 รายใน 18 ประเทศ โดย 3 อันดับแรกคือ โปรตุเกส 34 ราย เดนมาร์ก 32 ราย ฝรั่งเศส 25 ราย ส่วนสเปนซึ่งผู้ติดเชื้อรายแรกของไทยเดินทางมาพบ 7 ราย ทั้ง 4 ประเทศนี้สำนักข่าว The New York Times คาดว่าน่าจะมีการระบาดภายในประเทศ (Local Transmission) แล้ว

 

ดังนั้นโครงการ Test & Go จึงมีโอกาสตรวจพบและตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศมากขึ้น ในเมื่อฝั่งเศรษฐกิจเดินหน้าเปิดประเทศเต็มที่ ฝั่งสาธารณสุขน่าจะมีตัวเลือกอยู่ 3 ทาง คือกลับไปใช้การกักตัวชั่วคราว (เหมือนเกาหลีใต้) ปรับเพิ่มมาตรการบางอย่างเพื่อลดความเสี่ยง หรือไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ขึ้นกับเป้าหมายในการอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID-19) ของประเทศไทย และต้องตัดสินใจภายใต้ข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์โอไมครอนที่ยังไม่ครบถ้วน

 

5. มาตรการในปัจจุบันเพียงพอหรือไม่? 

นพ.โอภาสกล่าวถึงมาตรการป้องกัน VUCA คือการฉีดวัคซีน (Vaccination) ให้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยฉีดแล้ว 95 ล้านกว่าโดส เข็มที่ 1 ครอบคลุมคนไทยเกิน 75% เข็มที่ 2 เกิน 60% (แต่ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงซึ่งควรจะใกล้เคียง 100%) ส่วนผู้ที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้วขอให้รอการประกาศแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุขให้มารับเข็มกระตุ้น ซึ่งคาดว่าช่วงธันวาคม 2564 – มกราคม 2565 จะเร่งฉีดกระตุ้นให้มากที่สุด

 

มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล (Universal Prevention) เช่น การสวมหน้ากาก การล้างมือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล มาตรการ COVID-FREE Setting และการตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยง (รวมเป็นตัวย่อว่า VUCA) นอกจากนี้กรมควบคุมโรคจะยกระดับการเฝ้าระวัง ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ และสถานที่ท่องเที่ยว สุ่มตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงและคลัสเตอร์ผู้ป่วยไข้หวัด และส่งตัวอย่างเชื้อที่พบจากผู้เดินทางหรือรายที่น่าสงสัยหาสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 

 

หลังจากประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนรายแรกก็มีคำถามตามมาอีกจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับทั้งไวรัสและมาตรการของรัฐบาล ช่องโหว่ของโครงการ Test & Go ซึ่งเชื่อมโยงกับสถานการณ์การระบาดในยุโรป การฉีดวัคซีนตามเป้าหมาย (ไม่ว่าจะมีสายพันธุ์ใดระบาดก็ตาม หรือต้องปรับเป้าหมายใหม่) และที่สำคัญเป้าหมายของการอยู่ร่วมกับโควิด ซึ่งไวรัสน่าจะยังมีการกลายพันธุ์อีกระหว่างกลายเป็นเชื้อประจำถิ่น ทั้งหมดนี้น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในสัปดาห์นี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X