×

Qatar Crisis เพื่อนบ้านตัดสัมพันธ์กาตาร์ครั้งใหญ่ ขั้วความสัมพันธ์ในภูมิภาคที่อาจเปลี่ยน

06.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • หลายประเทศโลกอาหรับตัดสินใจตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2017 โดยกล่าวหาว่ากาตาร์สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย
  • นับเป็นการตัดความสัมพันธ์รุนแรงระหว่างในประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยกาตาร์ถูกตัดความสัมพันธ์ทั้งถูกระงับเที่ยวบิน ตัดเส้นทางคมนาคม และงดการส่งออกอาหารไปยังกาตาร์
  • การตัดความสัมพันธ์ครั้งนี้จะกระทบต่อชาวกาตาร์ที่พึ่งพิงอาหารจากประเทศเหล่านี้ นอกจากนี้การปิดพรมแดนยังอาจกระทบต่อกาตาร์ที่กำลังจะจัดฟุตบอลโลกในปี 2022
  • ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การกล่าวหาว่ากาตาร์สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายนั้นมีความซับซ้อนกว่านั้นคือ กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย รวมถึงกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซียอื่นๆ มองทิศทางการเมืองในภูมิภาคที่ต่างกัน โดยกาตาร์นั้นมีแนวคิดปฏิรูปทางการเมือง โดยมีสำนักข่าวอย่าง Al Jazeera เป็นสื่อที่ทำข่าวของประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลในประเทศแถบนี้ ซึ่งซาอุดีอาระเบียมองว่าเป็นภัยคุกคาม
  • ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าขณะที่สหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบียมองว่ากลุ่ม Muslim Brotherhood คือกลุ่มก่อการร้าย แต่ในประเทศแถบนี้บางกลุ่มมอง Muslim Brotherhood คือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง
  • ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ความสัมพันธ์อาจยังไม่ถึงขั้นลุกลามไปถึงการใช้กำลังทางทหาร แต่จะส่งผลให้ขั้วความสัมพันธ์ในภูมิภาคเดิมเปลี่ยน คือกาตาร์กับอิหร่านที่เป็นขั้วตรงข้ามซาอุดีอาระเบียอาจร่วมมือกันมากขึ้น และอาจนำไปสู่บรรยากาศสงครามตัวแทนที่ยิ่งเด่นชัด เช่น ลิเบีย

     หลายประเทศโลกอาหรับตัดสินใจตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2017 โดยกล่าวหาว่า กาตาร์เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มนักรบไอเอสและอัลกออิดะห์ แต่กาตาร์ปฏิเสธข้อกล่าวหาของประเทศเพื่อนบ้าน

     นับเป็นการตัดความสัมพันธ์ครั้งรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในกลุ่มประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย โดยเฉพาะกาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย ที่ก่อนหน้านี้ร่วมมือกันสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลของซีเรีย โดยกาตาร์ถูกตัดความสัมพันธ์ทั้งถูกระงับเที่ยวบิน ตัดเส้นทางคมนาคม และงดการส่งออกอาหารและน้ำตาลไปยังกาตาร์

     การตัดความสัมพันธ์ครั้งนี้จึงกระทบต่อชาวกาตาร์จำนวนมาก ที่กำลังอยู่ในช่วงถือศีลอด นอกจากนี้การปิดพรมแดนยังอาจส่งผลกระทบต่อสถานะของกาตาร์ในการเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก ปี 2022

     ทำไมกาตาร์ถึงถูกตัดความสัมพันธ์รุนแรง จนอาจทำให้ขั้วความสัมพันธ์ในภูมิภาคเปลี่ยน และบรรยากาศสงครามตัวแทนที่อาจยิ่งเด่นชัด

การตัดความสัมพันธ์ครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตเหมือนในอดีต

แต่เป็นการตัดความสัมพันธ์ทางพรมแดนครั้งแรก

Photo: ALI KHALIL, AFP

 

เหล่าประเทศอาหรับพร้อมใจกันตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์

     ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน เยเมน รวมไปถึงเขตปกครองด้านตะวันออกของลิเบีย ตัดสินใจร่วมกันตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ โดยตัดเส้นทางคมนาคม และหยุดการส่งออกอาหารให้กับกาตาร์ เช่น ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หยุดการส่งออกน้ำตาล ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดแคลนอาหารและสิ่งของ และจะกระทบต่อชาวกาตาร์ที่กำลังถือศีลอดในช่วงเวลานี้ เพราะ 80 เปอร์เซ็นต์ ของอาหารในกาตาร์นั้นนำเข้ามาจากประเทศเหล่านี้ ล่าสุดมีรายงานว่า รถบรรทุกขนส่งอาหารหลายพันคันไม่สามารถขับผ่านพรมแดนเข้าไปในกาตาร์ได้แล้ว

     นอกจากนี้ ยังให้ชาวกาตาร์ที่ยังอยู่ในประเทศเหล่านี้เดินทางกลับกาตาร์ภายใน 2 สัปดาห์ โดยซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และอียิปต์ ได้สั่งห้ามเครื่องบินของกาตาร์ลงจอดอีกด้วย และล่าสุดสายการบินเอทิฮัด, เอมิเรตส์, ฟลายดูไบ และแอร์อาระเบีย ได้สั่งเลื่อนเที่ยวบินทั้งหมดที่บินออกจากและเข้ากรุงโดฮาอย่างไม่มีกำหนด  ขณะที่สายการบินกาตาร์ได้ประกาศบนเว็บไซต์ว่า จะเลื่อนสายการบินทั้งหมดที่จะเดินทางไปยังซาอุดีอาระเบียเช่นกัน

     การตัดความสัมพันธ์ครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตเหมือนในอดีต แต่เป็นการตัดความสัมพันธ์ทางพรมแดนครั้งแรก โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียกับกาตาร์ที่เป็นพันธมิตรกันมายาวนาน ศ. ดร. จรัล มะลูลีม ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “เหตุการณ์ในกาตาร์เหนือความคาดหมาย เนื่องจากสองประเทศนี้เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกันมาก่อน เพราะเคยร่วมกันสนับสนุนกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลซีเรีย”

 

เหล่าประเทศอาหรับกล่าวหาว่ากาตาร์สนับสนุนกลุ่มนักรบหัวรุนแรง

     กาตาร์คือประเทศเล็กๆ ในอ่าวอาหรับที่มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 2.5 ล้านคน และยังเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐอเมริกา อาจารย์ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า แท้จริงแล้วกลุ่ม Muslim Brotherhood นั้นเป็นคนละกลุ่มกับกลุ่มไอเอส

     “ซาอุดีอาระเบียเชื่อมโยงกลุ่มนี้ไปกับกลุ่มไอเอสด้วย ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นคนละขบวนการกัน ซึ่งการเชื่อมโยงกลุ่ม Muslim Brotherhood กับกลุ่มไอเอส จะทำให้กาตาร์ดูเหมือนว่าสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย” ซึ่งกาตาร์ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของประเทศเพื่อนบ้าน

     อาจารย์ศราวุฒิอธิบายว่า มันเกิดมาจากรากเหง้าที่กาตาร์และซาอุดีอาระเบียมองอนาคตของโลกอาหรับไม่เหมือนกันตั้งแต่สมัยอาหรับสปริง ที่เกิดการลุกฮือของประชาชนในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ “กาตาร์มองว่าการเมืองในตะวันออกกลางจะต้องปฏิรูปมากขึ้น ในช่วงอาหรับสปริงกาตาร์เลยให้การสนับสนุนกลุ่ม Muslim Brotherhood ที่มีความคิดว่าอยากเห็นแนวปฏิรูปการเมืองในสังคมอาหรับ แต่ซาอุดีอาระเบียมองว่าแนวความคิดนี้เป็นภัยคุกคามต่อระบอบการเมืองของตัวเอง และในสมัยอาหรับสปริงซาอุดีอาระเบียไม่สามารถยับยั้งกระแสนี้ได้ หลังจากที่กลุ่ม Muslim Brotherhood ถูกรัฐประหาร ซาอุดีอาระเบียจึงมองว่ากลุ่มนี้เป็นผู้ก่อการร้าย แต่กาตาร์เห็นอกเห็นใจกลุ่มนี้ที่ถูกรัฐประหาร”

 

Photo: MANDEL NGAN, AFP

 

ท่าทีของสหรัฐฯ ต่อการตัดความสัมพันธ์กาตาร์ครั้งนี้

     เมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้วประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เพิ่งเดินทางมาเยือนซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล โดยประกาศว่าเขาอยากเห็นความร่วมมือของประเทศในโลกอาหรับในการปราบปรามการก่อการร้าย

     แต่หลังจากประเทศต่างๆ ตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ในครั้งนี้ สหรัฐฯ ประกาศว่าต้องการสานรอยร้าวของประเทศเหล่านี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า “เราไม่ต้องการเห็นความแตกแยกที่ถาวรในภูมิภาคนี้” โดยยังบอกอีกว่าจะส่งตัวแทนจากสหรัฐฯ หากประเทศสมาชิก Gulf Cooperation Council (ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บาห์เรน, กาตาร์ และโอมาน) เจอกันเพื่อหารือในเรื่องนี้

     อย่างไรก็ตาม อาจารย์ศราวุฒิมองว่า สหรัฐอเมริกาอาจจะอยู่ข้างซาอุดีอาระเบีย “เนื่องจากสหรัฐมองว่า Muslim Brotherhood เป็นกลุ่มก่อการร้ายเหมือนกัน เขามองว่า Muslim Brotherhood เป็นแม่ข่ายขบวนการของกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์เพื่อต่อสู้กับการปกครองในอิสราเอล และเราทราบกันดีว่าผลประโยชน์สูงสุดอีกอย่างของสหรัฐฯ คือการรักษาความปลอดภัยให้กับอิสราเอล เรื่องก็เลยเกี่ยวโยงกัน การที่ทรัมป์ประกาศให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มก่อการร้ายเพื่อลดความชอบธรรมของกลุ่มนี้”

     การที่สหรัฐฯ ต้องเลือกอิสราเอลนั้น อาจาราย์ศราวุฒิอธิบายว่า ผู้มีอิทธิพลในการเมืองอเมริกาคือ ชาวยิว หรือ Jewish Lobby “แน่นอนว่าอเมริกาถือว่าเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย และสูตรความสัมพันธ์คือ Oil for Security คือน้ำมันแลกกับความมั่นคง สหรัฐจึงเลือกอิสราเอลก่อนประเทศกลุ่มอ่าวเปอร์เซียหรือกาตาร์   วันนี้กลุ่มที่มีอิทธิพลในการเมืองอเมริกาคือชาวยิว แล้วชาวยิวเหล่านี้สนับสนุนให้มีประเทศอิสราเอล” ขณะที่อาจารย์จรัลชี้ว่า “ผมมองฝ่ายที่หันมาต่อต้านกาตาร์ว่าสนับสนุนผู้ก่อการร้ายหรือสหรัฐฯ เองก็ใช้ความรุนแรงในพื้นที่นี้เหมือนกัน”

     อย่างไรก็ตาม อาจารย์ศราวุฒิประเมินว่า สหรัฐอเมริกาน่าจะไม่ถึงกับตัดขาดกับกาตาร์ เนื่องจากสหรัฐฯ มีผลประโยชน์ในกาตาร์เหมือนกัน คือฐานทัพใหญ่ของสหรัฐฯ ในกาตาร์ ซึ่งเราสามารถเห็นได้ว่าสหรัฐฯ ออกมาแสดงท่าทีให้แต่ละประเทศปรองดองกัน

 

Photo: MANDEL NGAN, AFP

 

บรรยากาศสงครามตัวแทนที่อาจจะยิ่งซับซ้อนและความสัมพันธ์ในภูมิภาคที่อาจเปลี่ยนขั้ว

     ก่อนหน้านี้กาตาร์และซาอุดีอาระเบียคือ 2 ประเทศที่เป็นพันธมิตรร่วมกันในการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลซีเรีย อาจารย์ศราวุฒิมองว่า อาจส่งผลให้กลุ่มต่อต้านไอเอสนั้นอ่อนแอลง นอกจากนี้การเข้าไปสนับสนุนกลุ่มต่างๆ ในประเทศอื่นๆ ของ 2 ประเทศนี้จะซับซ้อนยิ่งขึ้น

     “ในระยะหลังมีสงครามหลายแห่งในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างกาตาร์นั้นสนับสนุนกลุ่มนิยมแนวทางศาสนาในสงครามกลางเมืองในลิเบีย ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุนอีกฝ่าย มันเลยยิ่งซับซ้อน ความขัดแย้งที่ไม่ได้เกิดจากปัญหาเล็กๆ น้อยๆ สองประเทศนี้จะยิ่งแข่งกันมีอิทธิพล ซึ่งชัดเจนอยู่แล้วว่าบรรยากาศสงครามตัวแทนจะยิ่งชัดขึ้น”

     นอกจากนี้พันธมิตรกลุ่มประเทศ GCC ที่เคยเหนียวแน่นแล้วสั่นคลอนเช่นนี้ จะส่งผลให้ขั้วสัมพันธ์ในภูมิภาคเปลี่ยน เพราะกาตาร์กับอิหร่านอาจจะจับมือกันมากขึ้น ซึ่งอิหร่านเป็นขั้วตรงข้ามโดยตรงกับซาอุดีอาระเบีย

     “กาตาร์อาจจะพยายามเข้าไปพูดคุยกับอิหร่านมากขึ้น เพราะกาตาร์มองว่าอิหร่านเป็นตัวสำคัญ เพราะทะเลระหว่างสองประเทศนี้มีก๊าซธรรมชาติเยอะมาก ผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่ แล้วพอกาตาร์ไปใกล้ชิดอิหร่าน ก็เลยทำให้ซาอุดีอาระเบียไม่พอใจ อิหร่านอาจจะเดินเกมในเชิงรุกมากขึ้น คือเข้ามาสร้างความสัมพันธ์กับกาตาร์ บรรยากาศสงครามตัวแทนจะชัดขึ้น นอกจากนี้อาจหันไปจับขั้วกับตุรกีที่มีพันธมิตรจากที่เราเห็นซาอุดีอาระเบียเป็นพี่ใหญ่ เราอาจจะเห็นกาตาร์และตุรกีทำงานร่วมกันมากขึ้น และอาจสร้างขั้วอำนาจที่อิงแอบไปยังรัสเซีย”

     อย่างไรก็ตาม อาจารย์ศราวุฒิมองว่า ความขัดแย้งระหว่างกาตาร์กับประเทศเหล่านี้ยังไม่น่าลุกลามไปถึงความขัดแย้งทางทหารโดยตรง และกาตาร์ยังคงเป็นหนึ่งในสมาชิกประเทศ GCC อยู่

     “ผมมองว่า 6 ประเทศนี้เขามีศาสนา ประวัติศาสตร์เป็นพี่น้องกัน ในอนาคตไม่สามารถจะลุกลามไปเป็นความขัดแย้งทางทหารได้หรอก แล้วซาอุดีอาระเบียก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะทำแบบนั้น พวกเขาน่าจะยังพูดคุยกันได้ผ่านเวทีของ GCC หรือ OIC (องค์การความร่วมมือกลุ่มอิสลาม) เพื่อสร้างความสามัคคีกัน

     “แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าแก้ไขไม่ได้ ขั้วอำนาจพันธมิตรก็อาจจะเปลี่ยนไป”

 

อ้างอิง:

     – Reuters

     – AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising