×

กระบวนการ Brexit กำลังเดินไปทางไหน: ถอดบทเรียนกรณี Brexit จากมุมกฎหมาย

07.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

25 Mins. Read
  • Brexit เริ่มต้นขึ้นในสายตาของอียู เมื่อ เทเรซา เมย์ ยื่นหนังสือแจ้งความจำนงออกจากอียูให้กับนายโดนัลด์ ทัสก์ ในวันที่ 29 มีนาคม 2017 ที่ผ่านมา ตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 แห่งสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป (Treaty on European Union หรือ TEU)
  • คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) ได้ออกข้อบังคับ กำหนดรายละเอียดการเจรจาและจุดยืนของอียู ในการเจรจากับสหราชอาณาจักร และคณะกรรมาสหภาพยุโรป (European Commission) ที่ได้รับมอบอำนาจจากคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป จะดำเนินการเจรจากับสหราชอาณาจักร ในวันที่ 19 มิถุนายน 2017 หรือ 11 วันหลังการเลือกตั้ง
  • ข้อตกลง Brexit จะต้องผ่านกระบวนการให้ความเห็นชอบของทั้งสองภาคีเจรจา ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะต้องผ่านเสียงข้างมากแบบ Qualified Majority ของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และได้รับความเห็นชอบจากสภายุโรป (European Parliament)
  • หากสหราชอาณาจักรยินดีที่จะปล่อยให้ระยะเวลา 2 ปี ในการเจรจาผ่านเลยไป สหราชอาณาจักรจะออกจากอียูแบบอัตโนมัติ หรือแบบไม่มีข้อตกลง (No Deal)
  • Brexit สะท้อนว่า การออกจากองค์การระหว่างประเทศที่มีอำนาจเหนือรัฐอย่าง อียู ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการระบบกฎหมายภายในของประเทศใหม่

     แถลงการณ์ยุบสภาของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์นั้น ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่สถานการณ์การเมืองที่ไม่มั่นคงของสหราชอาณาจักร โดยเน้นไปที่การกล่าวหาโจมตีพรรคการเมืองอื่นๆ (ยกเว้นพรรค UKIP) และสภาขุนนางว่าสร้างความแตกแยก ขัดขวางการทำงานของเมย์ เพื่อนำสหราชอาณาจักรออกจากอียู (EU) และเล่มเกมการเมืองโดยอาศัยความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นเครื่องต่อรอง

     แต่นักวิเคราะห์หลายคนกลับเห็นว่า การตัดสินใจประกาศการเลือกตั้งก่อนครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง (Snap Election) นั้นมีเหตุผลที่แท้จริงมาจากเหตุอื่นๆ เช่น ความไม่สามัคคีกันภายในของพรรคอนุรักษนิยม แรงกดดันจากพรรคแห่งชาติสกอตแลนด์ (SNP) ที่ต้องการให้จัดการลงประชามติให้สกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักร และต้องการยืดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเมย์เอง  เพราะเป็นเวลาที่ดีที่เธอจะจัดการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคของเธอกำลังได้รับคะแนนนิยมอย่างท่วมท้น เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าความนิยมในพรรคอนุรักษนิยมจะลดต่ำลงในปี 2020 เมื่อสหราชอาณาจักรออกจากอียูอย่างเป็นทางการ

     ความเข้าใจเกี่ยวกับ Brexit นั้นสำคัญต่อการทำความเข้าใจบริบทของการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ เพราะนี่อาจเป็นการเลือกตั้งภายในของสหราชอาณาจักรครั้งสุดท้ายก่อนการออกจากอียู และอาจจะเป็นการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียวที่แต่ละพรรคต้องหาเสียงเกี่ยวกับกระบวนการ Brexit รวมไปถึง Brexit กลายเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องไปถึงนโยบายอื่นๆ

     Brexit คืออะไร กำลังเดินไปทางไหน และอาเซียนควรถอดบทเรียนอะไรจากครั้งนี้บ้าง?

 

 

Brexit คืออะไร?

     Brexit หรือ British Exit นั้นเป็นกระบวนการที่สหราชอาณาจักรในฐานะรัฐสมาชิกหนึ่งออกจากอียู และสิ้นสุดสมาชิกภาพในอียู ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อสนองผลการลงประชามติที่เห็นชอบการออกจากอียูของสหราชอาณาจักรในวันที่ 23 มิถุนายน 2016 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราควรเน้นย้ำคือ ในขณะนี้สหราชอาณาจักรยังคงเป็นรัฐสมาชิกของอียู และ Brexit นั้นไม่ได้เสร็จสมบูรณ์ ณ วันลงประชามติ อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ แต่เป็น ‘กระบวนการ’ ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อรัฐสภารับรองผลการลงประชามติ แต่ Brexit เริ่มต้นขึ้นในสายตาของอียู เมื่อเมย์ยื่นหนังสือแจ้งความจำนงออกจากอียูให้กับนายโดนัลด์ ทัสก์ (Donald Tusk) ในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสภาพยุโรป (European Council) ในวันที่ 29 มีนาคม 2017 ที่ผ่านมา ตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 แห่งสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป (Treaty on European Union หรือ TEU)[1] (ซึ่งไม่ใช่มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนอย่างที่สื่อบางเจ้ารายงานแต่อย่างใด เพราะสนธิสัญญาลิสบอนเป็นเพียงสนธิสัญญาแก้ไข TEU เท่านั้น)

 

กระแสต่อต้านยุโรปที่ก่อตัวในชาวอังกฤษเกิดขึ้นจากอะไร

     ถ้าจะถามว่า Brexit เกิดขึ้นเพราะอะไร คงยากที่จะตอบคำถามนี้แบบครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยคำตอบใดคำตอบหนึ่ง แต่เป็นที่คาดกันว่า Brexit นั้นเกิดขึ้นเพราะการผสมผสานของปัจจัยต่างๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจภายในของสหราชอาณาจักร ปัญหาการอพยพและการแบกรับภาระผู้อพยพในอียู ปัญหาเชิงโครงสร้างว่าด้วยการตัดสินใจในอียู และวาทกรรมเกี่ยวกับการสูญเสียอำนาจอธิปไตยของสหราชอาณาจักร เมื่อปัจจัยต่างๆ ถูกขับเคลื่อนด้วยความคิดของกลุ่มแนวคิดต่อต้านอียู (Eurosceptic) ที่ก่อตัวมาตั้งแต่ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะเข้าร่วมอียู (หรือ EEC ในขณะนั้น) และฝังรากลึกลงในพรรคอนุรักษนิยม และพรรคเอกราชสหราชอาณาจักร (UKIP) จึงเป็นผลให้วาทกรรมต่อต้านอียูในฐานะสถาบันทางการเมืองเฟื่องฟู และเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้สนับสนุนการลงประชามติออกจากอียู (Leave Camp) ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่ากระบวนการ Brexit นั้นเกิดขึ้นจากความไม่พอใจในสถานภาพที่เป็นอยู่ (Status Quo) ของประชาชนที่กระจายตัวอยู่ในประเทศอังกฤษ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร) นอกกรุงลอนดอน [1] ซึ่งความไม่พอใจดังกล่าวอาจเกิดจากความไม่พอใจในผลงานของรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ประกอบกับความไม่พอใจในการบริหารงานของอียู (ซึ่งอาจจะเกิดจากความผิดพลาดของอียูเอง และความผิดพลาดที่นักการเมืองสหราชอาณาจักรยัดเยียดให้กับอียู)

 

กระบวนการ Brexit กำลังจะเดินไปในทางไหน

     ในการทำความเข้าใจกระบวนการ Brexit คงหนีไม่พ้นการพิจารณามาตรา 50 TEU หรือสนธิสัญญาว่าด้วยสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดกระบวนการออกจากอียูของสมาชิกไว้ และมีสาระสำคัญดังนี้  

     1. กระบวนการ Brexit จะเริ่มจากสหราชอาณาจักร ‘ตัดสินใจ’ ออกจากอียูตามรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักรเอง ซึ่งในมุมมองของกฎหมายสหราชอาณาจักรนั้น การออกจากอียูจะทำให้กฎหมายอียู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายภายในของสหราชอาณาจักรในขณะนี้สิ้นสภาพ และจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายอียูในระบบกฎหมายสหราชอาณาจักรอีกด้วย ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่สามารถใช้อำนาจพิเศษของตน (Prerogative Powers) แต่เพียงอย่างเดียว โดยปราศจากความเห็นชอบจากรัฐสภา (Sanction of Parliament) ดังนั้นการตัดสินใจออกจากอียูตามรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักรนั้นต้องอาศัยความเห็นชอบของรัฐสภา ทำให้รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรต้องพิจารณาและออกพระราชบัญญัติว่าด้วยสหภาพยุโรป ค.ศ. 2017 คือหนังสือแจ้งความจำนงออกจากสหภาพยุโรป เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  

     2. เมื่อสหราชอาณาจักรได้ตัดสินใจออกจากอียูแล้ว ก็ต้องแจ้งการตัดสินใจนี้ให้กับคณะมนตรีแห่งสภาพยุโรปทราบ ซึ่งเมย์ก็ได้ยื่นหนังสือแจ้งความจำนงออกจากอียูให้กับคณะมนตรีแห่งสภาพยุโรปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หมายความว่าสหราชอาณาจักรและอียูจะต้องทำการเจรจา และจัดทำข้อตกลงว่าด้วยการออกจากอียูภายใน 2 ปี ไม่เช่นนั้นสหราชอาณาจักรจะออกจากอียูโดยอัตโนมัติ และกฎหมายอียูจะสิ้นผลบังคับในสหราชอาณาจักรทันทีหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลา 2 ปี (ซึ่งก็คือวันที่ 29 มีนาคม 2019) ทั้งนี้ระยะเวลา 2 ปีนี้อาจสั้นลงหากสหราชอาณาจักรและอียูสามารถเจรจาและจัดทำข้อตกลงว่าด้วยการออกจากอียูได้ก่อนกำหนด (ซึ่งเป็นไปได้ยาก) หรืออาจขยายออกไปถ้าคณะมนตรีแห่งสภาพยุโรปและรัฐสมาชิกอื่นๆ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขยายระยะเวลา 2 ปีดังกล่าว (ซึ่งก็เป็นไปได้ยากอีกเช่นกัน)  

     3. ไม่นานหลังจากที่เมย์ได้ยื่นหนังสือแจ้งความจำนงออกจากอียู คณะมนตรีแห่งสภาพยุโรปได้ลงมติเห็นชอบแนวปฏิบัติ (Guidelines) ที่จะกำหนดหลักการและวัตถุประสงค์กว้างๆ เพื่อการเจรจาออกจากอียูของสหราชอาณาจักร ซึ่งต่อมาคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) ได้มอบอำนาจให้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ดำเนินการเจรจากับสหราชอาณาจักร โดยกำหนดให้เริ่มการเจรจากับสหราชอาณาจักรในวันที่ 19 มิถุนายน 2017 และออกข้อบังคับ (Directives) กำหนดรายละเอียดการเจรจาและจุดยืนของอียู ในการเจรจากับสหราชอาณาจักร ทั้งนี้เพื่อสนองการมอบอำนาจดังกล่าว คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกร่างหนังสือแสดงจุดยืนของอียู ในการเจรจากับสหราชอาณาจักร เบื้องต้นจุดยืนมี 2 ประเด็นคือ ประเด็นด้านสิทธิพลเมืองและการชำระหนี้ของสหราชอาณาจักรให้แก่อียู  

     4. เมื่อการเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรและอียูเสร็จสิ้น ข้อตกลงการออกจากอียูของสหราชอาณาจักรจะต้องผ่านกระบวนการให้ความเห็นชอบของทั้งสองภาคีเจรจา ในฝั่งอียูนั้นมาตรา 50 กำหนดไว้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะต้องผ่านเสียงข้างมากแบบ Qualified Majority ของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และได้รับความเห็นชอบจากสภายุโรป (European Parliament) และเมื่อสิ้นสุดกระบวนการดังกล่าวจึงจะถือว่ากระบวนการ Brexit นั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เว้นเสียแต่ว่าสหราชอาณาจักรจะยินดีที่จะปล่อยให้ระยะเวลา 2 ปีข้างต้นผ่านเลยไป อันจะเป็นผลให้สหราชอาณาจักรออกจากอียูแบบอัตโนมัติ หรือแบบไม่มีข้อตกลง (No Deal)

 

สมุดปกขาว (White Paper) กำหนด 12 จุดยืน Brexit ของอังกฤษ

     นอกจากความคืบหน้าทางฝั่งอียูแล้ว สหราชอาณาจักรเองก็ได้เตรียมพร้อมสำหรับการเจรจาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มาไม่น้อย เห็นได้จากความกระตือรือร้นในการจัดเตรียมแนวนโยบายการเจรจาก่อนการยื่นหนังสือแจ้งความจำนงออกจากอียู และตีพิมพ์สมุดปกขาวว่าด้วยการออกจากสหภาพยุโรป และความร่วมมือรูปแบบใหม่กับสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรที่แสดงถึงจุดยืนหลักๆ ของสหราชอาณาจักร 12 ประการ อันได้แก่  

     1. ความแน่นอนและชัดเจนในการเจรจาของสหราชอาณาจักร

     2. เรียกคืนอำนาจในการจัดการระบบกฎหมายของสหราชอาณาจักร

     3. ความเป็นเอกภาพของสหราชอาณาจักร  

     4. รักษาความสัมพันธ์และอาณาเขตเดินทางร่วมกัน (Common Travel Area) ที่มีอยู่กับไอร์แลนด์    

     5. ควบคุมการอพยพของพลเมืองสหภาพยุโรป    

     6. รักษาสิทธิของพลเมืองยุโรปในอังกฤษและชาวอังกฤษในยุโรป  

     7. คุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง    

     8. การค้าเสรีกับตลาดเดียวยุโรป  

     9. ทำข้อตกลงทางการค้าใหม่กับประเทศอื่นๆ  

     10. ตั้งเป้าเป็นที่หนึ่งด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม  

     11. สร้างความร่วมมือในการต่อต้านอาชญากรรมและก่อการร้าย    

     12. การนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปอย่างราบรื่น

     ซึ่งในรายละเอียดมีความแตกต่างจากจุดยืนของอียูอยู่ไม่น้อย แต่อย่างไรก็ดีสหราชอาณาจักรเองก็ยังถูกวิจารณ์ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความไม่พร้อมในการจัดตั้งทีมเจรจา หรือปัญหาจุดยืนของสหราชอาณาจักรที่ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ

 

อุปสรรคในการรื้อโครงสร้างกฎหมายอังกฤษหลัง Brexit

       นอกจากอุปสรรคในการเจรจากับอียูแล้ว สหราชอาณาจักรเองยังต้องเผชิญกับการจัดระบบกฎหมายภายในใหม่แบบยกเครื่อง เพราะกฎหมายอียูนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายภายในของสหราชอาณาจักรมานานกว่า 45 ปี และมีความเกี่ยวพันเกือบทุกแง่มุมของการบริหารราชการแผ่นดิน และความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น การเงิน แรงงาน สาธารณสุข โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรจะต้องเตรียมการยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเลิกกฎหมาย (หรือ Great Repeal Bill) ซึ่งจะยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยประชาคมยุโรป ค.ศ. 1972 (ซึ่งกำหนดให้กฎหมายอียูมีค่าบังคับอย่างเช่นกฎหมายภายใน) ให้อำนาจรัฐสภาในการคัดเลือกกฎหมายอียูที่ผูกพันสหราชอาณาจักรก่อน Brexit ว่ากฎหมายใดจะยังคงอยู่ต่อไปหลัง Brexit และให้อำนาจรัฐสภาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างและลดความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้หรือตีความกฎหมายในระบบกฎหมายภายในของสหราชอาณาจักร

 

ประเด็นสำคัญในการเจรจา Brexit มีอะไรบ้าง

     1. ‘ลำดับ’ การเจรจาการออกจากอียู และ ‘ความสัมพันธ์ใหม่’ กับอียู

     ประเด็นการเจรจามีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม โดยประเด็นแรกคือ การเจรจาให้กระบวนการ Brexit ไม่สะดุด และไม่ให้เกิดผลกระทบกับพลเมืองของทั้งชาวอังกฤษและชาวยุโรป เนื่องจากมาตรา 50 TEU ไม่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับประเทศสมาชิกที่ตัดสินใจออกจากอียูไว้ชัดเจน และไม่ได้กล่าวถึงขั้นตอนการเจรจาความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ของรัฐสมาชิกกับอียูภายหลังการออกจากอียูไว้ แต่มาตรา 50 TEU กล่าวไว้แต่เพียงว่า การเจรจาข้อตกลงออกจากอียูนั้นต้อง ‘คำนึงถึง’ (taking account of) กรอบความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างรัฐสมาชิกนั้นกับอียูด้วย จึงเป็นที่ถกเถียงกันว่าสหราชอาณาจักรจะสามารถเจรจาความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ภายหลัง Brexit ควบคู่ไปกับการเจรจาข้อตกลง Brexit เลยได้หรือไม่

     แต่สหราชอาณาจักรเองก็ยังคงย้ำจุดยืนที่จะเจรจาการออกจากสหภาพยุโรปพร้อมกับการเจรจากรอบความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูภายหลังจาก Brexit ในขณะที่อียูไม่เห็นด้วยและย้ำในแนวปฏิบัติว่า อียูจะแบ่งระยะเวลาการเจรจาออกเป็นสองช่วงคือ 1. ช่วงแรกจะเป็นเรื่องการเจรจาการออกจากอียูเพื่อสร้างความแน่นอน และแก้ปัญหาสิทธิและหน้าที่ระหว่างอียูและสหราชอาณาจักรให้ลงตัวก่อนที่จะเข้าสู่การเจรจาในช่วงที่สอง 2. ซึ่งเกี่ยวกับการเจรจากรอบความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรและอียูภายหลังจาก Brexit แต่ช่วงที่สองของการเจรจาจะเริ่มต้นขึ้นก็ต่อเมื่อการเจรจาในช่วงที่หนึ่งมีความคืบหน้าเพียงพอ ซึ่งหมายความว่าหากดำเนินขั้นตอนการเจรจาอย่างที่อียูเสนอข้อตกลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูจะลงนามและมีผลบังคับใช้ภายหลัง Brexit ดังนั้นอียูจึงเสนอให้ทำการเจรจาความตกลงในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Arrangement หรือ Implementation Period) ไปพร้อมกับการเจรจาออกจากสหภาพยุโรปในช่วงแรก เพื่อให้การเปลี่ยนความสัมพันธ์ในฐานะรัฐสมาชิกอียูมาสู่ประเทศคู่ค้าของอียูไม่สะดุดหยุดลง

 

     2. ประเด็นเรื่อง ‘เนื้อหา’ ที่อียูและสหราชอาณาจักรจะเจรจาระหว่างกัน

     อียูและยูเคจะต้องหันมาเจรจาเนื้อหาความตกลงออกจากอียูอย่างเช่น 1. ประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิของประชาชนชาวสหราชอาณาจักรในอียู และพลเมืองของอียูในสหราชอาณาจักร 2. ประเด็นเรื่องเงินที่สหราชอาณาจักรค้างชำระกับอียู (อาจมีมูลค่าสูงถึง 6 หมื่นล้านยูโร) 3. ประเด็นเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศไอร์แลนด์ (ซึ่งเป็นรัฐสมาชิกอียู) กับเขตไอร์แลนด์เหนือของสหราชอาณาจักร 4. ประเด็นเรื่องเขตอำนาจของศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรประหว่างและภายหลัง Brexit และองค์กรที่จะมีอำนาจในการตีความข้อตกลงการออกจากอียู

     อย่างไรก็ตามเนื้อหาการเจรจาและจุดยืนของสหราชอาณาจักรอาจเปลี่ยนแปลงไป หากพรรคแรงงานหรือพรรคเสรีประชาธิปไตยได้เข้ามาเป็นรัฐบาลของสหราชอาณาจักรโดยการเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าคิดว่าหากพรรคทั้งสองชนะการเลือกตั้งขึ้นมาจริงๆ จุดยืนของสหราชอาณาจักรและเนื้อหาของการเจรจา Brexit จะเปลี่ยนแปลงไปในทันทีหรือไม่ และจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด เพราะพรรคทั้งสองจะมีเวลาในการเตรียมตัวเพื่อการเจรจาเพียง 11 วันเท่านั้นก่อนเริ่มเจรจาในวันที่ 19 มิถุนายนที่จะถึงนี้

 

No Deal ดีกว่า Bad Deal จริงหรือไม่

     สำหรับคำถามว่าการออกจากอียูแบบไม่มีข้อตกลง (no deal) หรือที่เปรียบเปรยว่าเหมือนกับการตกเหวนั้น จะดีกว่าการมีข้อตกลงแย่ (bad deal) อย่างที่เมย์และพรรคอนุรักษนิยมใช้ในการหาเสียงหรือไม่ คงยากที่จะตอบได้อย่างชัดเจน เพราะไม่มีใครรู้แน่ว่า no deal นี้จะหมายถึงการไม่มีข้อตกลงออกจากอียูไม่มีข้อตกลงในช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือไม่มีข้อตกลงในเรื่องความสัมพันธ์ในอนาคตของอียูและสหราชอาณาจักร และคงยากจะที่ประเมินว่า bad deal นี้จะออกมาแย่แค่ไหน เช่น สหราชอาณาจักรจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ จากข้อตกลงใหม่นี้เลย แต่กลับต้องชำระหนี้ให้กับอียูอย่างมหาศาล หรืออาจได้รับสิทธิประโยชน์บางส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการชำระหนี้มหาศาลให้กับอียู เป็นต้น ความไม่ชัดเจนของ no deal และ bad deal ทำให้ทิศทางสามารถออกมาได้หลายรูปแบบ อย่างไรก็ดี อาจเรียกได้ว่า no deal ก็คือ bad deal รูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดีกับทั้งเศรษฐกิจและสังคมของทั้งอียูและสหราชอาณาจักร อย่างน้อยก็เพราะผลของ no deal นั้นจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนในความสัมพันธ์ระหว่างอียูและสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นไปอีก และจะทำให้เกิดกำแพงศุลกากรขึ้นทันทีในเกาะไอร์แลนด์ อีกทั้งยังส่งผลให้อียูและสหราชอาณาจักรจะต้องกลับมาทำการค้าระหว่างกันบนข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ในทันที อาจทำให้การส่งออกสินค้าจากสหราชอาณาจักรไปยังอียู ซึ่งจากการประเมินแล้วมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้องเสียภาษีศุลกากรในมูลค่ากว่า 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี แนวทางการเจรจาที่เหมาะสมจึงไม่น่าจะเป็นการหาว่า no deal ดีกว่า bad deal หรือไม่ แต่น่าจะเป็นการหาข้อตกลง (หรือ deal) อะไรสักอย่างระหว่างอียูและสหราชอาณาจักรก่อนที่จะมาพิจารณาว่า deal นั้นจะดีกว่าหรือแย่กว่า no deal หรือไม่ อย่างไร

 

สิ่งที่ประเทศอื่นและอาเซียนควรถอดบทเรียนจาก Brexit

     นอกจากผลกระทบทางการค้าและการเมืองแล้ว Brexit ยังมีความสำคัญในทางกฎหมายหลายประการที่ประเทศอื่นๆ ควรจะต้องติดตามและเรียนรู้เพื่อเป็นบทเรียน เช่น การออกจากองค์การระหว่างประเทศที่มีอำนาจเหนือรัฐอย่างอียู การจัดการความยุ่งยากของระบบกฎหมายภายในของรัฐเมื่อออกจากองค์การระหว่างประเทศ  และการจัดการความสัมพันธ์ของระบบกฎหมายภายในของรัฐ ระบบกฎหมายระดับสหภาพ และกฎหมายระหว่างประเทศที่ซับซ้อนและยากเกินกว่าที่จะรับมือโดยอาศัยความรู้และความเข้าใจในระบบกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความเข้าใจกฎหมายทั้งสามระบบอย่างเป็นองค์รวม

     แม้ว่าประเทศไทยเองอาจจะไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การเหนือรัฐอย่างเช่นอียู แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาเซียนเองที่ใช้อียูเป็นแรงบันดาลใจ ก็อาจจะสร้างผลกระทบทางกฎหมายอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศไทยได้ในอนาคต (แม้ว่าขณะนี้อาเซียนจะไม่ได้สร้างระบบกฎหมายระดับภูมิภาคขึ้นมาอย่างอียูก็ตาม) และถ้าสักวันหนึ่ง ประเทศไทยจะออกจากอาเซียนก็คงต้องพิจารณาบทเรียนของ Brexit ไว้ไม่มากก็น้อย (แม้ว่ากฎบัตรอาเซียนเองจะไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดขั้นตอนการออกจากอาเซียนอย่างมาตรา 50 TEU ก็ตาม)

     บทเรียนที่เราได้รับจาก Brexit นั้นคงจะหนีไม่พ้นความจริงที่ว่า การลง ‘ประชามติ’ เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจของรัฐ แต่ด้วยตัวการลงประชามติเองไม่ได้รับรองหรือการันตีคุณภาพของการตัดสินใจเสมอไป การลงประชามติจึงต้องทำควบคู่ไปกับการให้ข้อมูลแก่ประชาชนผู้มีสิทธิลงประชามติอย่างรอบด้าน เพื่อให้ประชาชนสามารถลงประชามติด้วยการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ครบถ้วน (informed decision) เพื่อให้ประชามติสะท้อนการตัดสินใจของประชาชนได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้เพื่อป้องกันสภาวะ post-truth (หรือ สภาวะยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นไม่ได้) อย่างที่เกิดขึ้นในกรณีของ Brexit

     การรวมกลุ่มกันในระดับภูมิภาคเองไม่ได้สร้างผลดีได้เสมอไป อย่างวลีที่ว่า ‘ของฟรีไม่มีในโลก’ และการรวมกลุ่มเองก็ไม่จำเป็นต้องเติบโตอย่างต่อเนื่องแบบไม่มีการลดระดับ สำคัญอยู่ที่ว่าการรวมกลุ่มนั้นจะปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงและสะท้อนความคิดและความเห็นของประชาชนในแต่ละประเทศสมาชิกให้มากที่สุดได้อย่างไร อาเซียนแม้จะมีข้อด้อยอยู่หลายประการจากการรวมตัวอย่างหลวมๆ แบบไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก แต่ Brexit เองก็ทำให้เห็นว่าการรวมตัวกันแบบอาเซียนเองก็มีข้อดีที่อาจจะช่วยลดแรงกดดันของอาเซียนเองในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศสมาชิก และทำให้อาเซียนไม่อาจได้รับการตำหนิหรือรับผิดชอบใดๆ ในความล้มเหลวภายในของประเทศสมาชิก

     จากบทเรียนของ Brexit และการหันขวาของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอาจทำให้เราคิดได้ว่า แท้จริงแล้วโลกาภิวัตน์นั้นไม่ใช่ลัทธิการเมืองหรือเศรษฐกิจที่เราจะเลือกได้ว่าจะให้เกิดหรือมีขึ้นหรือไม่ แต่เป็นข้อเท็จจริงที่มีขึ้นแล้ว คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเราจะจัดการโลกาภิวัตน์นี้อย่างไร ในอีกแง่มุมหนึ่ง Brexit จึงเหมือนการทดสอบขอบเขตของโลกาภิวัตน์ที่จะทำให้เราพอเข้าใจในคำถาม(โลกแตก)ที่ว่า ขอบเขตของโลกาภิวัตน์ในแต่ละกรณีควรจะอยู่ตรงไหน และควรจะจัดการขอบเขตโลกาภิวัตน์นั้นอย่างไร

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

     – eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/ALL/?uri=celex%3A12012M%2FTXT

     – goo.gl/PdPNa4

     – www.consilium.europa.eu/en/press/press-releases/2017/04/29-euco-Brexit-guidelines

     – www.consilium.europa.eu/en/press/press-releases/2017/05/22-Brexit-negotiating-directives

     – ec.europa.eu/commission/publications/draft-eu-position-papers-article-50-negotiations_en

    – www.gov.uk/government/speeches/the-governments-negotiating-objectives-for-exiting-the-eu-pm-speech

     – www.gov.uk/government/publications/the-great-repeal-bill-white-paper

     – www.theguardian.com/politics/2017/jan/03/uk-ambassador-to-eu-quits-amid-Brexit-row

     – www.publications.parliament.uk/pa/cm201617/cmselect/cmfaff/1077/1077.pdf

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X