×

ฮ่องกง หนึ่งในพื้นที่ค่าเช่าบ้านแพงที่สุดในโลก

02.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 mins read
  • ฮ่องกงมีพื้นที่ราว 1,100 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แต่กลับมีประชากรสูงถึง 7.5 ล้านคน เกาะแห่งนี้จึงเป็นเขตที่มีประชากรอาศัยกันอยู่อย่างหนาแน่นที่สุดเขตหนึ่งของโลก (ราว 7,050 คนต่อตารางกิโลเมตร) ส่งผลให้ราคาค่าเช่าของที่พักอาศัยพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ห้องพักขนาดเล็กผิดกฎหมายที่มีประตูทำด้วยตะแกรงเหล็กนี้เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อว่า ‘Coffin Cubicles’ ด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกับโลงศพผสมกับกรงสัตว์นี้ แม้จะไม่สะดวกสบาย แต่ชาวฮ่องกงที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำในสังคมกว่า 2.4 แสนคนก็จำต้องพักอาศัย เนื่องจากค่าเช่าที่อยู่อาศัยภายในเมืองมีราคาเเพงมากเกินไป

     ฮ่องกง หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตที่มีผู้ไปเยือนปีละหลายล้านคน เป็นเขตบริหารพิเศษที่อยู่ภายใต้การปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ และเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาเพิ่งจะมีการจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีที่สหราชอาณาจักรส่งมอบเกาะแห่งนี้คืนให้แก่จีน หลังจากหมดสัญญาเช่าในปี 1997

 

 

     ตึกสูงระฟ้า โรงเเรมระดับ 5 ดาว เเสงไฟนีออนระยิบระยับยามค่ำคืน ย่านธุรกิจและช้อปปิ้งที่มีชื่อเสียง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่เบื้องหลังตึกรามบ้านช่องที่สวยงามและทันสมัยก็ยังมีมุมที่แสงไฟแห่งความเจริญเดินทางไปไม่ถึง ใครจะรู้ล่ะว่ามีชาวฮ่องกงกว่า 2.4 แสนคนที่ต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่มีพื้นที่เพียง 15-100 ตารางฟุตเท่านั้น

 

 

     ฮ่องกงมีพื้นที่ราว 1,100 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แต่กลับมีประชากรสูงถึง 7.5 ล้านคน เกาะแห่งนี้จึงเป็นเขตที่มีประชากรอาศัยกันอยู่อย่างหนาแน่นที่สุดเขตหนึ่งของโลก (ราว 7,050 คนต่อตารางกิโลเมตร) ส่งผลให้ราคาค่าเช่าของที่พักอาศัยพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเกาะเเห่งนี้แทบไม่เหลือพื้นที่ให้พัฒนาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแล้ว

     Hong Kong Rating and Valuation Department เผยว่า ในปี 1997 ราคาค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ในฮ่องกงอยู่ที่ 10,654 เหรียญสหรัฐต่อ 1 ตารางเมตร ก่อนที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีกเกือบเท่าตัวในปลายปีนั้น ปัจจุบันราคาที่พักอาศัยกระโดดพุ่งสูงขึ้นกว่าช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ราว 364% เลยทีเดียว

 

 

     จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ธุรกิจอพาร์ตเมนต์ผิดกฎหมายที่แบ่งย่อยที่พักเป็นห้องๆ เพียงไม่กี่ตารางฟุตจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับผู้มีรายได้น้อยในฮ่องกง

 

 

     ห้องพักขนาดเล็กที่มีประตูทำด้วยตะแกรงเหล็กนี้เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อว่า ‘Coffin Cubicles’ ด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกับโลงศพผสมกับกรงสัตว์นี้ จึงทำให้สิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้านมีขนาดเล็กลงไปด้วย เนื่องจากพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้อาจจะต้องเเชร์พื้นที่ของห้องครัวร่วมกับห้องน้ำ โดยราคาค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 250 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ราว 8,300 บาท)

 

 

     ภายใต้เงาของความเจริญและหรูหราอู้ฟู่ ยังมีผู้คนอีกมากที่ได้รับผลกระทบจากช่องว่างทางรายได้และความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้สะท้อนจุดบกพร่องในการบริหารจัดการของภาครัฐที่ต้องเร่งแก้ไข

     เบนนี แลม (Benny Lam) ช่างภาพที่ถ่ายภาพฮ่องกงในมุมที่แปลกตาออกไปเหล่านี้เผยความรู้สึกผ่านเฟซบุ๊กของเขาว่า “คุณอาจกำลังแปลกใจว่าทำไมเราถึงต้องสนใจผู้คนเหล่านี้ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราเลย

 

 

     “อันที่จริงผู้คนเหล่านี้อาจจะกำลังรายล้อมอยู่รอบตัวคุณในทุกๆ วัน (หรือวันหนึ่งข้างหน้าในอนาคต) เขาอาจจะกำลังเสิร์ฟอาหารให้คุณอยู่ในร้านอาหาร เขาอาจจะทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่คุณเดิน อาจจะกำลังเก็บขยะหรือกวาดถนนอยู่บนเส้นทางที่คุณใช้

     “แต่มีสิ่งหนึ่งที่พวกเขาแตกต่างไปจากพวกเรา นั่นคือ ‘บ้าน’ ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีชีวิตอยู่ในสภาพเเวดล้อมที่ดี นี่คือคำถามที่เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์”

     แมททิว เจิง (Matthew Cheung) หัวหน้าฝ่ายยุติธรรมและอดีตคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนของเกาะฮ่องกงกล่าวว่า “ทางรัฐบาลมีโครงการที่จะเพิ่มที่พักอาศัยราคาถูกให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งราคาที่พักอาศัยเป็นปัญหาของฮ่องกงมาโดยตลอด และเป็นปัญหาที่เราต้องรีบจัดการ”

 

 

     แม้ภาพถ่ายของเบนนีจะเป็นพื้นที่เฉพาะอย่างเกาะฮ่องกง แต่ภาพเหล่านี้เป็นตัวแทนของกระจกที่สะท้อนถึงความยากจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแทบทุกสังคม สิ่งหนึ่งที่คนรักการถ่ายภาพอย่างเบนนีจะทำได้ นั่นคือการเป็นกระบอกเสียงให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

     จริงอยู่ที่พลังเล็กๆ ของเขาอาจจะไม่เพียงพอในการต่อสู้กับปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ แต่การส่งต่อและสร้างการรับรู้ร่วมกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมของเขา นับเป็น ‘จุดเริ่มต้นที่สำคัญ’ ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในอนาคต

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising