วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีคือวันสิ่งแวดล้อมโลก และ ‘สิ่งแวดล้อม’ กลายเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจมากในหลายปีให้หลัง เพราะผลกระทบจากการทำลายสิ่งแวดล้อมนั้นเด่นชัดและรุนแรงขึ้นทุกวัน จากที่เราเห็นได้ว่าอุณหภูมิโลกนั้นขยับสูงขึ้นทุกปี
แต่แล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ก็ประกาศแสดงจุดยืนชัดเจนว่าเขาจะนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (The Paris Agreement) ซึ่งคือข้อตกลงที่ทั้ง 195 ประเทศลงนามเห็นชอบต่อข้อตกลงนี้ และมี 147 ประเทศยืนยันแล้วที่จะทำตามข้อตกลงคือร่วมกันควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนอุตสาหกรรม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้โดยเร็วที่สุด
การตัดสินใจครั้งนี้ของทรัมป์สร้างแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้าง ทำให้เราเห็นการตื่นตัวของภาคประชาสังคมทั่วโลก ไปจนถึงผู้นำของมหาอำนาจประเทศอื่น การที่สหรัฐฯ ประกาศจะถอนตัวออกจากความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุด ทิศทางของข้อตกลงปารีสฉบับนี้กำลังจะเดินไปทางไหน อเมริกาจะได้อะไร และโลกจะเสียอะไรบ้าง
Photo: SAUL LOEB, AFP/Profile
เนื้อหาใจความสำคัญของข้อตกลงปารีส ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่ใหญ่ที่สุด
ในปี 2015 ประเทศ 195 ประเทศได้ลงนามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) หรือข้อตกลงว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อน ร่วมกันควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนอุตสาหกรรม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องส่งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำมาทบทวนถึงมาตรการการแก้ปัญหาเป็นประจำ อย่างไรก็ตามข้อตกลงฉบับนี้มีข้อจำกัด เพราะแม้ว่าแต่ละประเทศในตอนนั้นจะลงนามความร่วมมือ และข้อตกลงฉบับนี้จะมีผลผูกพันต่อประเทศนั้นๆ ก็ต่อเมื่อรัฐให้ความเห็นชอบต่อข้อตกลงนี้ กล่าวคือ บางประเทศอย่างเช่นสหราชอาณาจักร
จะต้องไปให้รัฐสภาของตนเห็นชอบก่อนถึงจะกลับมาให้สัตยาบันได้ อย่างเช่นอังกฤษที่ลงนามข้อตกลงฉบับนี้แล้ว แต่รัฐสภายังไม่ได้ตัดสินใจให้สัตยาบัน ซึ่งล่าสุดมี 147 ประเทศยืนยันที่จะทำตามข้อตกลงนี้ หรือเป็นพหุภาคีของข้อตกลงฉบับนี้
นอกจากนี้ความร่วมมือฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อประเทศที่ลงสัตยาบันทั้งหมดปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันอย่างน้อย 55% และข้อผูกมัดในความร่วมมือฉบับนี้จะไม่ได้ถูกดำเนินการในทันที แต่จะเริ่มดำเนินการในปี 2020 ดร. สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว สะท้อนให้เห็นเช่นกันว่า ข้อตกลงนี้สำคัญแต่ไม่ได้มีอำนาจบังคับทุกอย่าง
“ข้อตกลงปารีสเป็นหลักกิโลเมตรที่สำคัญ แต่มันก็ไม่ได้เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่เป็น silver bullet ที่จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่เป็นหลักกิโลฯ มันเป็นความร่วมมือที่ทุกคนจะลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งการลงนามนี้คล้ายกับเป็นสัญญาประชาคม แต่มันก็บังคับกันไม่ได้ทีเดียวหรอก เพราะจริงๆ มันเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่ทุกคนต้องดูแลควบคุมกันเอง ถ้าบอกตรงๆ มันสำคัญ แต่มันก็ไม่ใช่ทุกอย่าง”
การถอนตัวจากความร่วมมือปารีสที่อาจทำให้กลุ่มนายทุนพลังงานถ่านหินได้ประโยชน์
ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีที่แล้ว โดนัลด์ ทรัมป์พูดถึงปัญหาโลกร้อนบ่อยครั้งว่าเป็นเรื่องหลอกลวง และให้คำมั่นว่าจะนำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีส จนกระทั่งวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา เขาได้ทำตามจุดยืนที่เขาเคยแสดงโดยกล่าวว่า ข้อตกลงปารีสฉบับนี้ไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐฯ ทำลายเศรษฐกิจของประเทศ และยิ่งทำให้คนสหรัฐฯ จะสูญเสียงานมากยิ่งขึ้น “ข้อตกลงฉบับนี้นั้นน้อยที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม แต่เป็นโอกาสที่จะให้ประเทศอื่นเข้ามาเอาเปรียบทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ มากกว่า” เขาอ้างว่าความร่วมมือฉบับนี้จะทำให้สหรัฐฯ เสียหายทางเศรษฐกิจถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสูญเสียงานในภาคอุตสาหกรรมถึง 6.5 ล้านงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเขตเหมือง
สหรัฐอเมริกาจึงจะเป็นประเทศที่ 3 หลังซีเรียและนิการากัวที่ตัดสินใจไม่ลงนามต่อข้อตกลงปารีส ที่เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมฉบับครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ อาจารย์ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนมุมมองว่า “โดนัลด์ ทรัมป์พยายามซื้อใจกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์จากการปล่อยมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มอุตสาหกรรม คือเป็นคนที่เขายังไม่ซื้อแนวความคิดหรือบรรทัดฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นแนวความคิดใหม่ พวกเขาเชื่อว่าการพัฒนากับการรักษาสิ่งแวดล้อมมันไปด้วยกันไม่ได้”
ซึ่งการถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสอาจทำให้กลุ่มธุรกิจพลังงานถ่านหินได้ประโยชน์ เพราะพวกเขาต้องการให้พลังงานถ่านหินยังอยู่ในอุตสาหกรรมพลังงาน เพราะรายงานของ Center Global on Energy Policy ระบุว่าในระหว่างปี 2011-2016 การสร้างพลังงานถ่านหินลดลงถึง 27% แต่สิ่งนี้ก็อาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อแรงงานในพลังงานถ่านหิน เพราะปัจจุบันการจ้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในสหรัฐฯ กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
หน่วยด้านพลังงานของสหรัฐฯ ระบุว่าจำนวนลูกจ้างในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนนั้นมากกว่าพลังงานถ่านหินเกือบ 3 เท่า ซึ่งกลุ่มธุรกิจและเทคโนโลยีทั้ง Apple, Google, Microsoft, PG&E มองว่าการอยู่ในข้อตกลงนี้จะทำให้สหรัฐฯ มีพัฒนาการด้านพลังงานสะอาด ซึ่งจะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น และจะทำให้เศรษฐกิจเติบโต สอดคล้องกับที่ ดร. สรณรัชฏ์ชี้ให้เห็นว่า ผู้นำประเทศคนอื่นๆ นั้นเขามองแล้วว่าเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในอนาคตนั้นจะเป็นสีเขียว “ที่มาครง (ประธานาธิบดีฝรั่งเศส) ออกมาแถลงว่าเขาจะ Make Planet Great Again ด้วยการเชื้อเชิญนักวิทยาศาสตร์ และผู้ประกอบการต่างๆ เพราะเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์เขาจึงรู้ว่าเศรษฐกิจ เทคโนโลยีอะไรข้างหน้าจะเป็นเทคโนโลยีสีเขียว แล้วเขาก็พยายามจะดึงดูดมันสมองจากทั่วโลกมาที่ฝรั่งเศส”
Photo: OLIVER HOSLET, AFP/Profile
ทรัมป์ถอนตัวจากความร่วมมือฉบับนี้ เพราะจีนกับอินเดียจะได้ประโยชน์
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มุ่งเน้นโจมตีที่ไปประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและอินเดียว่าเป็น ‘ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด’ และจีนกับอินเดียจะได้ผลประโยชน์จากความร่วมมือฉบับนี้ จากการมีสิทธิที่จะใช้พลังงานถ่านหินไปจนถึงปี 2020 เขากล่าวว่า “จีนจะสามารถสร้างโรงพลังงานถ่านหินได้อีกหลายร้อยโรง แต่เราไม่สามารถสร้างโรงงานถ่านหินได้ แต่จีนทำได้ และอินเดียจะสามารถมีพลังงานถ่านหินเพิ่มเป็นสองเท่าในปี 2020” แต่จากคำกล่าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั้นขัดแย้งกับเนื้อหาในข้อตกลงฉบับนี้ เพราะความร่วมมือฉบับนี้ตั้งใจให้ทุกประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ไม่ได้มีข้อบังคับเรื่องการสร้างโรงงานใหม่ของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ในความเป็นจริงแล้วจีนกับอเมริกาคือ 2 ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในปี 2016
หน่วยงานพลังงานแห่งชาติของจีน ประกาศในเดือนมกราคม ปี 2017 ว่า รัฐบาลจีนได้สั่งยกเลิกการสร้างโรงงานพลังงานถ่านหินไปมากกว่า 100 โรง ขณะที่รายงานของ India’s Economic Times ในปี 2015 ระบุว่าอินเดียตั้งใจเพิ่มพลังงานถ่านหินเป็นสองเท่าในปี 2020 โดยก่อนหน้านี้อินเดียประกาศจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 33-35% ภายในปี 2030 ดังนั้นเป้าหมายการเพิ่มพลังงานถ่านหินของอินเดียหมายความว่า อินเดียจะต้องปรับลดการใช้พลังงานอื่นเพื่อให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศได้ตามเป้า อาจารย์ปองขวัญชี้ให้เห็นว่า “ประเทศจีนที่เคยถูกชี้หน้าว่าไม่เอาเรื่องสิ่งแวดล้อม กลายเป็นว่าตอนนี้จีนเอาจริงกับการคิดค้นพลังงานทางเลือกมากกว่าอเมริกาหลายเท่า และไม่คิดว่าจีนจะมีแนวโน้มเปลี่ยนจุดยืนตัวเองต่อเรื่องการคิดค้นพลังงานทางเลือกด้วย”
ทรัมป์เตรียมยกเลิกเงินสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มธุรกิจเตรียมลงขันบริจาคส่วนที่ขาด
จากสถิติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก จะพบว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่นั้นมีประวัติการปล่อยก๊าซเหล่านี้สูง ภายใต้ข้อตกลงปารีสจึงมีอีกเงื่อนไขความร่วมมือ ซึ่งคือ Green Climate Fund ที่ตั้งเป้าให้ประเทศที่พัฒนาแล้วบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าว่าจะให้ประเทศพัฒนาแล้วบริจาคเงินให้ได้ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 ซึ่งมีประเทศพัฒนาแล้ว 43 ประเทศ รวมถึงประเทศกำลังพัฒนา 9 ประเทศยินดีที่จะทำตามข้อตกลงนี้
โดยก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ประกาศตั้งเป้าว่าจะบริจาคเงิน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเข้ากองทุน ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้กล่าวโจมตีกองทุนนี้ว่าไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐฯ และไม่รู้ว่าเงินบริจาคนั้นจะถูกใช้ไปทำอะไร “ไม่มีใครรู้ว่าเงินเหล่านี้ไปไหน ไม่มีใครเลยที่จะมาบอกเราว่าเงินเหล่านี้จะถูกใช้ทำอะไรหลังจากนี้” โดยในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามานั้นได้บริจาคเงินเข้ากองทุนนี้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Green Climate Fund ได้บอกรายละเอียดไว้ว่า เงินบริจาคจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ จะถูกนำไปสนับสนุนการจัดการทรัพยากรในชุมชนในนามิเบีย การจัดการด้านอาหารในเซเนกัล และการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ในชิลี ดร. สรณรัชฏ์ชี้ให้เห็นว่า “ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม G12 ที่มีประวัติศาสตร์การใช้ค่อนข้างสูง จึงมี commitment (ข้อผูกมัด) ในการให้เงินด้วย แต่ทรัมป์เขาก็ทำเป็นว่าเรื่องอะไรเขาจะต้องลำบาก แต่จริงๆ เมื่อดูตัวเลขต่อหัว อเมริกาปล่อยคาร์บอนสูงที่สุดในโลกอยู่แล้วต่อจำนวนประชากร แล้วจำนวนเงินก็ไม่ได้ให้มากที่สุด เพราะสวีเดนให้มากกว่า”
อย่างไรก็ตาม ดร. สรณรัชฏ์ชี้ให้เห็นถึงพลังของภาคประชาสังคมที่จะเข้ามาสนับสนุนส่วนนี้แทนภาครัฐ “เราจะเห็นกลุ่มฟิลาเดลเฟีย ซึ่งคือกลุ่มธุรกิจต่างๆ เคลื่อนไหวกันเร็วมาก ซึ่งที่ฟิลาเดลเฟียก็ออกมาแถลงอย่างเป็นรูปธรรมเลยว่า ชาวอเมริกันไม่ได้ล้มเลิกข้อตกลงนี้ พร้อมเตรียมแผนหาเงินส่วนที่ยูเอ็นจะต้องสูญเสียจากการถอนตัวของทรัมป์ผ่านการรวมกลุ่มกัน รวมถึงบริษัทน้ำมันด้วย ซึ่งสิ่งนี้น่าสนใจมาก”
Photo: PAUL J. RICHARDS, AFP/Profile
พลังและแรงโต้กลับของภาคประชาสังคมต่อการถอนตัวออกจาก Paris Agreement
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวว่า เขาต้องการเป็นตัวแทนของประชาชนพิตต์สเบิร์ก เมืองทางตะวันตกของรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งคือเมืองอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ไม่ใช่ปารีส โดยเขาไม่ต้องการให้ข้อตกลงฉบับนี้มากระทบต่อแรงงานและภาคอุตสาหกรรมของเมืองนี้ ถ้าหากว่าจุดมุ่งหมายนี้ของเขาคือต้องการเอาใจประชาชนเมืองนี้ สิ่งที่สะท้อนออกมาคงไม่เป็นอย่างที่เขาหวัง เพราะ บิล เพดูโต (Bill Peduto) นายกเทศมนตรีเมืองพิตต์สเบิร์กคือหนึ่งในนายกเทศมนตรีของอีกหลายเมืองของสหรัฐฯ ที่ออกคำสั่ง (Executive Order) ที่มีเนื้อหาใจความว่า แต่ละเมืองจะยังคงสนับสนุนข้อตกลงปารีสอย่างเต็มที่
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก ที่ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาควิชาการ ตระหนักต่อปัญหาเหล่านี้ ดังนั้นการปกป้องโลกของเราเพื่อลูกหลานของเราจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” โดยล่าสุดมีมากกว่า 60 เมืองในสหรัฐฯ ที่ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนข้อตกลงปารีส แม้ว่าผู้นำประเทศของพวกเขาตั้งใจจะถอนตัวออกจากข้อตกลงฉบับนี้ก็ตาม
ดร. สรณรัชฏ์ชี้ให้เห็นว่า แรงต่อต้านที่สะท้อนออกมานั้นมีพลังมาก เพราะไม่ใช่แค่แรงต่อต้านระดับปัจเจกแต่เป็นระดับเมืองและรัฐ “ที่รู้สึกดีมากคือคนอเมริกันเองแสดงพลังซึ่งเป็นความหวังมาก แล้วเราไม่ได้พูดถึงอเมริกันในแง่ของพลเมืองเดี่ยวๆ เพื่อนฝูงที่เศร้าสลดและแถลงกันบนเฟซบุ๊กเท่านั้น แต่เราเห็นการรวมตัว เห็นผู้ว่าฯ พิตต์สเบิร์กออกมาพูดต่อต้านว่าทรัมป์อ้างอย่างโน้นอย่างนี้ไม่จริง แล้วที่ผิดก็คือทรัมป์อ้างว่าคะแนนเสียงของเขามาจากพิตต์สเบิร์กแล้ว จริงๆ ไม่ใช่ เพราะส่วนมากพิตต์สเบิร์กโหวตให้คลินตันด้วยซ้ำ”
นอกจากการออกคำสั่ง (Executive Order) ของเมืองต่างๆ แล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวระดับภาครัฐ นั่นคือผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย และวอชิงตัน ที่รวมตัวกันก่อตั้ง The U.S. Climate Alliance เพื่อร่วมมือกันระหว่างรัฐต่างๆ เพื่อสนับสนุนข้อตกลงฉบับนี้ต่อไป อาจารย์ปองขวัญแสดงมุมมองว่า แท้จริงแล้วท่าทีสุดโต่งของโดนัลด์ ทรัมป์นั้นมีข้อดี เพราะได้กระตุ้นพลังของสังคม “ข้อดีของทรัมป์คือท่าทีของเขามันขาวและดำมาก แล้วมันปลุกให้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะแท้จริงแล้วฮิลลารีกับโอบามาก็มีนโยบายที่สนับสนุนพวกนายทุน แต่ท่าทีของพวกเขามันสีเทา มันเลยไม่ได้กระตุ้นให้คนออกมาต่อต้านอย่างเช่นที่เราเห็นในตอนนี้”
บทบาทของสหรัฐฯ หลังถอนตัวจากข้อตกลงปารีส และจะกระทบต่อโลกอย่างไร
จากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสเพื่อเอาใจนายทุนนั้น เขาอาจได้เสียงสนับสนุนจากคนบางกลุ่มในสหรัฐฯ แต่อาจารย์ปองขวัญชี้ว่า สหรัฐฯ อาจสูญเสียการเป็นผู้นำในเวทีโลก และจีนอาจเข้ามามีบทบาทมากขึ้น “ในเรื่องของข้อตกลงระหว่างประเทศนั้น หากประเทศใดถอนตัวออกจากพหุภาคีต่างๆ หรืออย่างในกรณีนี้จะไม่สามารถทำให้สหรัฐฯ ริเริ่มอะไรได้ เพราะปัจจุบันความร่วมมือต่างๆ มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน จีนจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และสำคัญกว่านั้นคือ การรักษาการเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ จะหมดความน่าเชื่อถือ เพราะคนก็จะพิจารณาเรื่องนี้ด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสหรัฐฯ”
อาจารย์ปองขวัญชี้ว่า ถึงแม้สหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสฉบับนี้ แต่ข้อตกลงฉบับนี้จะยังมีความสำคัญต่อไป “การปรับลดการเพิ่มของอุณหภูมิ หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจไม่ได้เป็นไปตามเป้า แต่ความร่วมมือข้อตกลงฉบับนี้จะยังดำเนินต่อไป เพราะประเทศใหญ่ๆ ใน OECD เอาหมด”
อย่างไรก็ตามการที่ประธานาธิบดีประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ออกมาแสดงจุดยืนเช่นนี้ แน่นอนว่าจะกระทบต่อบรรทัดฐานของสังคม “บรรทัดฐานสิ่งแวดล้อมมันใหม่มาก และมันยังถกไม่เสร็จ คือเราต้องยอมรับว่าคนที่หันมาสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม คือเป็นคนที่ไม่จำเป็นต้องสนใจปากท้องพอสมควรแล้ว คือพอมีพอกินพอสมควร และผู้นำประเทศจึงสำคัญในการสร้างบรรทัดฐานที่มันอาจยังไม่ตกผลึก ซึ่งการที่ทรัมป์ทำแบบนี้คือมันอาจจะเปลี่ยน (Shift) บรรทัดฐานไปอีกแบบ เพราะเวลาประเทศใหญ่พูดมันจะมีคนฟัง อย่างไรก็ตามยังดีที่บรรทัดฐานเรื่องสิ่งแวดล้อมมันมีการปลูกฝังโดยภาคประชาสังคมมาแล้วระดับหนึ่ง กลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อมทำได้ดี”
ด้านดร. สรณรัชฏ์ชี้ว่า ยังคงเร็วไปที่จะคาดการณ์ผลเสียด้านสิ่งแวดล้อมจากการถอนตัวของสหรัฐฯ แต่ภาคประชาสังคมจะเป็นตัวกำหนดอย่างสำคัญ “เรื่องนี้คงต้องดูก่อน ผลกระทบจะไม่ได้เกิดขึ้นแบบทันที แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ เราต้องดูว่าโลกจะมีการตอบรับอย่างไร โดยเฉพาะภายในของอเมริกาเองที่จะเคลื่อนไหวเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร ซึ่งกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้นมีแผนปฏิบัติชัดเจน คือพร้อมที่จะร่วมลงขันให้ยูเอ็นด้วย”
ดร. สรณรัชฏ์กล่าวทิ้งท้ายถึงประเทศไทยว่า “ที่แน่ๆ แทนที่เราจะด่าทรัมป์อย่างเดียว ซึ่งมันก็น่าด่านะ แต่ก็ต้องพิจารณาตัวเองและประเทศเราเองด้วย เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่าเราเองก็ปล่อยคาร์บอนสูงมาก ดังนั้นต้องกลับมาถามตัวเองว่าการที่เราจะลดคาร์บอน ลดการทำลายล้างธรรมชาติ และฟื้นฟูธรรมชาติเราเต็มที่แค่ไหน เราทำได้มากที่สุดหรือยัง ซึ่งต่อให้เราเซ็นข้อตกลงปารีส แต่เราก็ยังอยู่ในสถานะที่น่ากลัวเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ”
แม้นี่จะเป็นความเคลื่อนไหวเบื้องต้น แต่การถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสฉบับนี้ของสหรัฐฯ จึงอาจทำให้กลุ่มทุนพลังงานถ่านหินในสหรัฐฯ ได้ประโยชน์ แต่อาจจะกระทบต่อแรงงานในอุตสาหกรรมพลังงาน และประเทศกำลังพัฒนา
ส่วนในบริบทเวทีโลกนั้นสหรัฐฯ อาจกลายเป็นผู้แพ้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม และเปิดโอกาสให้จีนขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านนี้แทน
อ้างอิง:
- AFP
- https://goo.gl/e7RD4m
- https://goo.gl/P9YvZ2
- https://goo.gl/v3fL8u
- https://goo.gl/VWECV5
- https://goo.gl/kwjLVB
- https://goo.gl/Vtv6Gh
- https://goo.gl/JUCvAS