โรคทางพันธุกรรมดูไกลเกินเอื้อมที่จะควบคุมได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จนผู้คนต้องดูแลตัวเองหรือเพียงรอเข้ารับการรักษาเท่านั้น แต่คงไม่มีวิธีการใดจะเด็ดขาดไปกว่าการตัดยีนร้ายที่มีมาตั้งแต่กำเนิดไปเลย
ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ดีเอ็นเอกลายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสามารถถูกกวาดล้างออกไปจากตัวอ่อนมนุษย์ได้แล้วผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า คริสเปอร์/แคสไนน์ (CRISPR/Cas9)
การทำงานของคริสเปอร์คือการให้สารพันธุกรรมตรวจจับและจู่โจมสิ่งแปลกปลอมออกไป โดยให้เอ็นไซม์แคสไนน์ที่ถือยีนแบบเดียวกันเป็นตัวชี้ว่าตัวไหนที่ต้องถูกกำจัด
คณะนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ได้ทำการทดลองบนตัวอ่อนมนุษย์ 54 ตัว โดยเป็นการผสมระหว่างไข่ของผู้บริจาคที่มีสุขภาพแข็งแรง และอสุจิพาหะโรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมที่มีการกลายพันธ์ุจากยีน MYBPC3 โดยไข่และอสุจิที่ถูกนำมาใช้ได้รับการยินยอมจากผู้บริจาคแล้ว และไม่มีการนำตัวอ่อนไปฝังในมดลูกแต่อย่างใด
โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมถือเป็นโรคที่พบได้ทั่วไป โดยในประชากร 500 คน ต้องมีสักคนที่เป็นอาการดังกล่าว ซึ่งสามารถทำให้หัวใจวายเฉียบพลันได้ หากพ่อแม่คนใดคนหนึ่งมีสารพันธุกรรม ก็สามารถทำให้เด็กที่เกิดมามีโอกาสครึ่งต่อครึ่งที่จะแบกเชื้อมาด้วย
ผู้วิจัยจาก Oregon Health and Science University ได้นำคริสเปอร์ที่มีรหัสยีนเดียวกันฉีดเข้าไปพร้อมการผสมเพื่อสร้างตัวอ่อน โดยผลการทดลองชี้ว่า ตัวอ่อน 72 เปอร์เซ็นต์ปลอดสารพันธุกรรมที่สร้างโรคทางหัวใจนี้
เทคโนโลยีคริสเปอร์ที่เพิ่งกล่าวถึงไปนี้เป็นที่คาดหวังว่าสามารถนำไปต่อยอดเพื่อใช้ในการ ‘ออกแบบเด็ก’ และแก้ไขพันธุกรรมอื่นๆ ในอนาคตได้อีก
ในปี 2015 คณะกรรมการจริยธรรมทางชีวภาพสหประชาชาติออกมาเรียกร้องให้ยุติการตัดแต่งยีนตัวอ่อนมนุษย์ ด้วยเหตุเกรงกลัวว่าอาจถูกนำมาใช้ในการปรับแต่งมนุษย์ ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการในสหรัฐอเมริกามองว่าควรอนุญาตให้มีการตัดต่อได้ในอนาคตเพื่อทำลายโรคร้ายต่างๆ
Photo: CNN
อ้างอิง:
- i2.cdn.turner.com/cnn/2017/images/08/02/nature23305_proof4.pdf
- www.vox.com/science-and-health/2017/8/2/16083300/crispr-heart-disease
- edition.cnn.com/2017/08/02/health/crispr-human-embryos-gene-editing-study/index.html
- www.channelnewsasia.com/news/health/disease-gene-edited-in-human-embryos-in-scientific-first-9087104