ธงสีรุ้งนับร้อยพลิ้วไหวตามจังหวะเพลงและเสียงเชียร์อันกึกก้อง ป้ายข้อความมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Love is love, Proud to me! และผู้คนจำนวนมากที่ดูแตกต่าง ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเดินขบวนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT Pride หรือที่นิยมเรียกกันว่า Pride Parade) ที่ไม่เพียงจัดขึ้นทุกปีที่เมืองต้นกำเนิดงานอย่างมหานครนิวยอร์ก แต่ยังรวมไปถึงเมืองต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน โตเกียว มุมไบ ฮานอย รวมทั้งกรุงเทพมหานครของเราในช่วงปลายปีนี้
เบื้องหลังภาพความสนุกสนานของ LGBT Pride ในปัจจุบันเริ่มต้นจากการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกใช้ความรุนแรง และการถูกตีตราว่าคนกลุ่ม LGBT มีความผิดปกติทางจิต จนในยุคก่อนครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ชาว LGBT คิดว่าการเปิดเผยตนเองและการแต่งงานกับคู่รักของตนคงเป็นเพียงแค่ความฝัน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) อันเป็นจุดเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่ไม่เพียงส่งผลต่อชุมชนชาว LGBT ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อชาว LGBT ทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
ช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปีที่มีข่าวเดินขบวน LGBT Pride จากฝั่งอเมริกา และโซนประเทศยุโรปในช่วงฤดูร้อน เชื่อว่าใครหลายคนก็คงตั้งคำถามอยู่ในใจว่า ทำไมพวกเขาต้องใส่เสื้อผ้าแฟนซีมาเฉลิมฉลองกัน ในเมื่อหลายประเทศเหล่านั้นก็มีกฎหมายรับรองการแต่งงานสำหรับคนรักเพศเดียวกันแล้ว
หรือแม้กระทั่งคำถามที่ว่า ทำไมไม่มี Straight Pride (การเดินขบวนสำหรับคนรักต่างเพศ) รวมถึงความคิดที่ว่าทำไมต้องเฉลิมฉลองในความแตกต่างนี้
จุดเริ่มต้นของ LGBT Pride จากการจลาจลสโตนวอลล์
ในปี ค.ศ. 1969 เป็นช่วงที่คนรักเพศเดียวกันนั้นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย รวมทั้งการแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิดถือเป็นเรื่องที่ผิดในสังคม การได้ใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยเป็นตัวของตัวเอง แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และเสี่ยงต่อการถูกจับกุมในบาร์ Stonewall Inn ย่านกรีนวิช วิลเลจ ที่มีเจ้าของเป็นมาเฟียนั้น เป็นสิ่งที่คุ้มค่าสำหรับชาว LGBT ในสมัยนั้น
เช้ามืดของวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 ตำรวจมาตรวจบาร์ตามปกติ แต่สิ่งที่ต่างจากปกตินั้นคือผู้คนในบาร์ขัดขืนการเลือกปฏิบัติของตำรวจ เพราะที่ผ่านมาคนเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อที่ถูกกลั่นแกล้งและทำให้อายเพียงเพราะพวกเขาเป็นตัวเอง การจลาจลปะทุขึ้นจากความรุนแรงระหว่างสองฝ่าย จนขยายวงกว้างออกมาบนถนนบริเวณหน้าบาร์ ทั้งตำรวจและฝูงชนก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนเหตุการณ์คืนนั้นค่อยๆ ยุติลง โดยคืนต่อมานั้นจำนวนผู้ชุมนุมก็มากขึ้นหลายพันคน
เหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่ชาว LGBT ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพทางเพศ ไม่ยอมจำนนต่อการถูกละเมิดสิทธิ รวมทั้งกล้าประกาศตัวตนว่าตัวเองแตกต่างบนท้องถนน คำว่า Gay Power! ถูกส่งเสียงตะโกนอย่างกึกก้องในเช้ามืดวันนั้น หลังจากที่ต้องคอยหลบซ่อนตัวตนมาโดยตลอด แม้การเคลื่อนไหวทางสิทธิของชาว LGBT จะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์เสมือนเป็นแรงผลักดันร่วมที่สำคัญ ซึ่งส่งผลต่อผู้คนที่ได้เห็นข่าวผ่านหน้าโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ทั่วโลก
เหตุการณ์ครั้งนี้นำมาสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT Pride March) ครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1970 ที่เมืองนิวยอร์ก และอีก 3 เมืองใหญ่อย่าง ลอสแอนเจลิส ซานฟรานซิสโก และชิคาโก เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สโตนวอลล์
Viet Pride 2016 เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม
Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจ
LGBT Pride ในเมืองต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาจัดในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ และเป็นการเฉลิมฉลอง Pride Month
ค.ศ. 2000 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น ‘เดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน’ (Gay & Lesbian Pride Month) และใน ค.ศ. 2009 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น ‘เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ’ (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month) เพิ่มการตระหนักรู้ถึงความหลากหลายในกลุ่ม LGBT
เมืองต่างๆ ทั่วโลกนั้นจะมีตารางการจัด LGBT Pride แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของสภาพอากาศ รวมถึงวันสำคัญต่อชุมชน LGBT ในประเทศนั้น
ประเทศในยุโรปจะจัดงานช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายน ในปี 2017 หลายเมืองก็ประกาศวันจัด LGBT Pride แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Pride in London (8 กรกฎาคม 2017) Pride Amsterdam (29 กรกฎาคม 2017) ส่วนในทวีปเอเชียนั้น Tokyo Rainbow Pride จัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว Taiwan LGBT Pride (28 ตุลาคม 2017) และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Metro Manila Pride (24 มิถุนายน 2017) ถือว่าเป็น LGBT Pride ที่ยาวนานที่สุดในอาเซียน ซึ่งจัดมาแล้วกว่า 20 ปี
แต่ทั้งนี้เมืองต่างๆ ทั่วโลกก็ร่วมแสดงความภาคภูมิใจในช่วงเดือนมิถุนายนด้วยเช่นกัน
Pink Dot 2015 ของสิงคโปร์ ซึ่งมีชื่อที่ล้อกับชื่อเล่น ‘Red Dot’ ของประเทศ
Straight Pride งานแห่งความภูมิใจของคู่รักชายหญิง
แม้ LGBT Pride ทั่วโลกนั้นจะไม่มีการกีดกันคนรักต่างเพศไม่ให้เข้าร่วมเดินขบวน รวมถึงทำกิจกรรมต่างๆ แต่ในช่วงปลายยุค 1980s กลุ่มอนุรักษนิยมในสหรัฐอเมริกาที่ไม่เห็นด้วยกับ LGBT Pride ก็ตั้งคำถามว่า ทำไมไม่มีการเฉลิมฉลองของคนรักต่างเพศในขบวน LGBT Pride บ้าง
ใน ค.ศ. 1990 จึงมีการจัด Straight Pride (ความภาคภูมิใจของคนรักต่างเพศ) ขึ้นที่บริเวณมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ แอมเฮิร์สต์ รัฐแมสซาชูเซตส์ โดยกลุ่มที่มีชื่อว่า Young Americans for Freedom ที่มีผู้เข้าร่วม 50 คน แต่ขณะเดียวกันมีผู้คัดค้านงานนี้กว่า 500 คน
และในปี ค.ศ. 2015 มีการจัด Heterosexual Pride ในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน โดยมีผู้เข้าร่วมขบวนเพียงหนึ่งคนซึ่งก็คือ ‘ศิลปิน’ ผู้จัดงานนั่นเอง
ปัจจุบันแม้แนวคิดอนุรักษนิยมจากชาวรักต่างเพศ (บางกลุ่ม) จะยังคงมีอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนรักเพศตรงข้ามและสนับสนุนสิทธิของชาว LGBT ซึ่งชาว LGBT เรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘พันธมิตร’ หรือ ‘Ally’ โดยบางครั้งจะมีการใช้ตัวย่อ LGBTIQA ซึ่งหมายถึง Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Intersex, Queer/Questioning และ Ally แต่ในหลายกรณีนั้น A ใน LGBTIQA จะหมายถึง Asexual ได้เช่นกัน
หนึ่งในกลุ่มพันธมิตรผู้คอยสนับสนุนสำคัญที่เราจะเห็นจากขบวนพาเหรดหลายแห่ง ก็คือบรรดาผู้ปกครอง พวกเขามักเดินขบวนพร้อมป้ายข้อความ เช่น “Proud of my gay son” และ “Proud of my lesbian daughter and her wife” เป็นการแสดงออกถึงการเข้าใจ การยอมรับ และความภาคภูมิใจในตัวตนของลูก
เพราะไม่ว่าลูกจะแตกต่างจากบรรทัดฐานของสังคม แต่ก็ยังเป็นลูกคนหนึ่งของพวกเขานั่นเอง
ธงสีรุ้ง สัญลักษณ์แห่งความหลากหลายและความภูมิใจ
หนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของ LGBT Pride ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาว LGBT ก็คือ ‘ธงสีรุ้ง’ ซึ่งออกแบบสร้างสรรค์โดยกิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาว LGBT หลังจากฮาร์วีย์ มิลก์ (Harvey Milk) นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวผู้เปิดเผยตนเองว่าเป็นเกย์ท้าทายนายกิลเบิร์ตให้สร้างสัญลักษณ์ของชุมชน LGBT เพื่อใช้ในการเดินขบวน
ธงสีรุ้งผืนแรกที่ย้อมสีด้วยมือถูกใช้ในงาน Gay Freedom Day Parade ที่เมืองซานฟรานซิสโก ปี ค.ศ. 1978 มีทั้งหมด 8 สี แต่ละสีมีความหมาย ได้แก่ สีชมพูเฉดฮอตพิงก์ (เพศ), สีแดง (ชีวิต), สีส้ม (การเยียวยา), สีเหลือง (แสงอาทิตย์), สีเขียว (ธรรมชาติ), สีเทอร์ควอยส์ (ศิลปะ), สีน้ำเงินคราม (ความปรองดอง) และสีม่วง (จิตวิญญาณของมนุษย์)
นายกิลเบิร์ตเคยให้สัมภาษณ์กับ CBS Chicago ถึงธงสายรุ้งว่า
“สายรุ้งเป็นสิ่งสวยงามของธรรมชาติ แสดงถึงสีทุกสีรวมทั้งสีที่เรามองไม่เห็นด้วย ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นตัวแทนของคน เพราะแต่ละคนก็เป็นเหมือนสีที่หลากหลาย ประกอบไปด้วยเพศสภาพ เชื้อชาติ อายุ ศาสนา”
หลังจากนั้นไม่นานธงสีรุ้งก็เหลือเพียง 6 สี ตามที่ใช้อยู่ปัจจุบัน สีชมพูแบบฮอตพิงก์ถูกตัดออก เพราะผ้าสีนี้หายากและมีราคาสูง ส่วนสีเทอร์ควอยส์ถูกปรับเฉดให้เป็นสีฟ้า และสีน้ำเงินครามก็ถูกตัดออก เพื่อให้สามารถเดินขบวนแบ่งสีอย่างสมดุลกัน
Metro Manila Pride 2016 เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
ฉลองความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ
เดิมทีนั้น LGBT Pride เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศที่จะมีสิทธิเสรีภาพ และได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐอย่างเท่าเทียม จนกระทั่งช่วงหลัง ค.ศ. 1991 ถึงปัจจุบัน LGBT Pride ไม่ได้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการเฉลิมฉลองถึงชีวิตของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย ซึ่งเหตุผลของการเฉลิมฉลองนั้นก็หลากหลายแตกต่างกันไป
“อนาคตที่ไร้การเลือกปฏิบัติ และทุกคนมีสิทธิทางกฎหมายเท่าเทียมกัน” (“Heritage of Pride works toward a future without discrimination where all people have equal rights under the law.”) เป็นทั้งเหตุผลและจุดมุ่งหวังที่ผู้จัด NYC Pride ยังคงจัดงานนี้ รวมถึงผู้จัด LGBT Pride ที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน แม้นิวยอร์กจะอนุญาตให้คนรักเพศเดียวกันแต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (Equal Marriage) ได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 แต่ก็ยังมีการเลือกปฏิบัติต่อชาว LGBT รวมทั้งการใช้ความรุนแรงตั้งแต่การทำร้ายร่างกายจนถึงการฆาตกรรม อีกทั้ง NYC Pride ยังเป็นเหมือนสัญลักษณ์การต่อสู้ที่สืบต่อมาจากเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์อีกด้วย
เพราะจะว่าไปแล้ว มีเพียง 22 ประเทศจากหลายร้อยประเทศทั่วโลกเท่านั้น ที่มีกฎหมาย Equal Marriage แม้ว่ายุคนี้จะเป็นศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม
สร้างพื้นที่ ‘เปิด’ ให้ LGBT
LGBT Pride เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัย (safe space) สำหรับชาว LGBT เพราะไม่ใช่ LGBT ทุกคนจะเติบโตมาในครอบครัวที่ให้การยอมรับ หรือได้ใช้ชีวิตในสังคมที่เปิดกว้าง ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน ที่ทำงาน ศาสนา หรือกลุ่มเพื่อน บางคนไม่สามารถเปิดตัว (come out) กับที่บ้านได้ แต่ LGBT Pride ทำให้พวกเขาได้พบปะกับชาว LGBT คนอื่นๆ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตซึ่งกันและกัน
LGBT Pride หลายๆ แห่ง นอกจากการเดินขบวนแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ เช่น การฉายหนัง การจัดสัมมนา และหากมองย้อนกลับไปในอดีตก่อนยุคที่โซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันต่างๆ จะเป็นที่นิยม การได้พบปะคนที่มีตัวตนเหมือนตัวเราในสังคมคงไม่ใช่เรื่องง่าย
LGBT Pride จึงเสมือนเป็น ‘พื้นที่’ เปิดเผยตัวตนและทำให้เห็นถึงความหลากหลายของชาว LGBT ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เพื่อสร้างการยอมรับในสังคม เนื่องจากในหลายๆ สังคมยังไม่มีการบอกเล่าถึงเรื่องราวของพวกเขาในสื่อกระแสหลัก หรือการเสนอภาพแทนของคนกลุ่มนี้ในสื่อ (representation) ด้วยตัวละครที่ไม่มีมิติ และผลิตภาพซ้ำ เช่น กะเทยต้องเป็นตัวตลก ไบเซ็กชวลต้องเป็นคนเจ้าชู้ ครอบครัวคนรักเพศเดียวกันไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ดี รสนิยมทางเพศไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เป็นต้น
นอกจากสีรุ้งทั้ง 6 เฉดสีนี้จะเป็นสีสันหลักของ LGBT Pride การแต่งกายสุดแฟนซีราวกับงานคาร์นิวัลที่เห็นได้ตามภาพข่าวทุกปีเองก็เป็นอีกสีสันความสนุกของงานเช่นกัน และไม่ใช่ทุกคนในขบวนพาเหรดจะใส่ชุดแฟนซีเท่านั้น ผู้เข้าร่วมงานสามารถเลือกใส่เสื้อผ้าที่สะท้อนถึงตัวตนของตัวเองมากที่สุด หลายคนเลือกใส่ชุดประจำวัน หรือขบวนจากภาครัฐใน LGBT Pride ของหลายๆ เมือง จะใส่ชุดเครื่องแบบ ทั้งตำรวจ ทหาร นักดับเพลิง หมอ และพยาบาล ที่สวมชุดมาเต็มยศ มีทั้งที่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นหนึ่งในชาว LGBT และเพื่อสนับสนุนเพื่อนพี่น้องชาว LGBT อย่างภาคภูมิใจ
Phuket Pride ปี 2015 จัดที่บริเวณหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต
LGBT Pride ในประเทศไทย
กว่า 11 ปีแล้วที่ LGBT Pride ครั้งสุดท้ายถูกจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ใน ค.ศ. 2006 ก่อนหน้านั้นมีการเดินขบวนอยู่หลายปี แต่ส่วนมากผู้เข้าร่วมมักเป็นนักกิจกรรม ชาวเกย์และกะเทยในแวดวงบาร์ และธุรกิจเกี่ยวกับเกย์ที่จัดโดยภาคธุรกิจ ซึ่งยังไม่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ รวมทั้งยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงประชาชนมากนัก
และที่ผ่านมายังมีการจัด IDAHOT (International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia) หรือ ‘วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ’ ที่ตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี และที่จังหวัดภูเก็ตก็มีการจัด Phuket Pride มาตลอดทุกปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1999 โดยผู้ร่วมขบวนเป็นพนักงานจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกย์และกะเทยในหาดป่าตอง และชาวต่างชาติเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการเดินขบวน LGBT Pride ที่เชียงใหม่เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009 แต่ถูกขัดขวางจากผู้ต่อต้าน จนไม่สำเร็จและยกเลิกงานไป
ในปี 2017 Bangkok Pride 2017 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 พ.ย.-3 ธ.ค. (อาจมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด) ในงานจะมีการเดินขบวน LGBT Pride ในวันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม และวันที่ 29 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสิทธิความหลากหลายทางเพศในไทย โดยรายละเอียดและตารางกิจกรรมจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบเร็วๆ นี้
Viet Pride 2015 เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม
นิยาม LGBT Pride ด้วยตัวคุณเอง
แท้จริงแล้วนิยามของ LGBT Pride ที่มีจุดหมายในการเปิดเผยตัวตน และแสดงออกถึงความภาคภูมิใจก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน เพราะตัวงานอาจจะไม่ถูกจริตถูกใจชาว LGBT และผู้ร่วมสนับสนุนไปเสียทุกคน บางคนมองว่าไม่ตอบโจทย์ในการดำเนินชีวิต เพราะยังไม่สามารถเปิดเผยตัวตนในที่สาธารณะได้ด้วยเหตุผลเรื่องครอบครัวหรืออาชีพการงาน แต่ทุกคนก็สามารถเลือกวิธีที่จะแสดงความภาคภูมิใจของตัวเองออกมาได้ในหลายวิธี
THE STANDARD ชวนคุยกับเหล่านักกิจกรรม LGBT ชาวไทยที่มีโอกาสได้เข้าร่วม LGBT Pride ทั้งไทยและต่างประเทศ มาพูดถึงนิยามของงาน และสิ่งที่อยากเห็นใน LGBT Pride ของไทย
“Pride คือความภาคภูมิใจ ทุกคนมีสิทธิที่จะภูมิใจ ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนก็สามารถภูมิใจได้ สามารถขยายความภูมิใจนี้ ทำในรูปแบบไหนก็ได้… ปัญหาคือคนไทยไม่อยากเปิดตัว น้อยคนที่จะกล้าออกมาแสดงความภาคภูมิใจในที่สาธารณะ อาจเพราะเกรงใจที่บ้าน แต่แค่มีใจอยากทำ อยากแสดงออก ก็ลุกขึ้นมาทำเลย” สุไลพร ชลวิไล นักวิชาการและนักกิจกรรมอิสระ
“Pride คืองานที่ชาว LGBT ออกมาแสดงออกถึงความภาคภูมิใจ แต่ที่ผ่านมาเหมือนเป็นงานจัดตั้ง ไม่ใช่ว่ารู้สึกภูมิใจแล้วออกมาเดินขบวน ไม่เหมือนที่อื่นๆ ที่เกิดมาจากการถูกกดทับร่วมกันเลยออกมาเดินขบวน… Pride มันมาจากความภาคภูมิใจ ต้องหาแก่นของเราให้เจอ แล้วนำมาแสดงร่วมกันให้คนอื่นได้เห็น” ดนัย ลินจงรัตน์ ผู้อำนวยการสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย
“Pride คืองานให้ทุกคนได้มาร่วมกัน สร้างการยอมรับในสังคม เป็นพื้นที่ให้ LGBT มีตัวตน… คาดหวังว่าจะได้เห็น Pride ที่เป็นงานสำหรับทุกคน อยากให้เป็นงานที่ทุกคนภูมิใจ ให้ทุกคนมาร่วมกัน เป็นเพื่อน เป็นครอบครัว และทำให้เกิดการยอมรับอย่างเท่าเทียมกัน” นิกร อาทิตย์ ประธานองค์กรบางกอกเรนโบว์
แล้วคุณล่ะ อยากเห็น LGBT Pride แบบไหนในเมืองไทย?
ขอบคุณ
คุณสุไลพร ชลวิไล (นักวิชาการและนักกิจกรรมอิสระ)
คุณดนัย ลินจงรัตน์ (ผู้อำนวยการสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย)
คุณนิกร อาทิตย์ (ประธานองค์กรบางกอกเรนโบว์)
อ้างอิง:
– www.hrc.org/blog/the-history-of-lgbt-pride-from-1970-to-now
– mashable.com/2014/06/10/pride-parade-evolution
– time.com/3937766/us-supreme-court-countries-same-sex-gay-marriage-legal
วันสิทธิความหลากหลายทางเพศ มีที่มาจากวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ณ วันนั้นมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อความในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน (แบบ สด. 43) ใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 4 (แบบ สด. 5) และใบสำคัญ (แบบ สด. 9) ในส่วนที่ระบุว่าตน ‘เป็นโรคจิตถาวร’ การระบุเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และทำให้เสื่อมเสียหรืออับอาย ซึ่งในที่สุดศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนใบสำคัญที่ระบุข้อความว่า ‘เป็นโรคจิตถาวร’ และแก้ไขเป็น ‘ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด’ ใน พ.ศ. 2554